“ชวน” ตั้งใจใช้ประสบการณ์การเมือง 16 สมัย 54 ปี ถ่ายทอดข้อมูลให้ประชาชน เผยใช้ช่วงปลายชีวิตขอบคุณชาวบ้านก่อนเป็นอัลไซเมอร์ ปลื้มรักษาฟรี-เบี้ยคนชรามีการสานต่อ
วันที่ 20 มี.ค.66 เวลา 09.35 น. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงประเด็นการตรวจสอบจริยธรรมส.ส. ที่พบว่า มีเรื่องค้างและทำไม่แล้วเสร็จจำนวนมาก ทำให้ถูกมองว่า เป็นการช่วยเหลือกันเองหรือไม่ ว่า กรรมการจริยธรรมชุดนี้ ถือว่าดีที่สุด แม้ตนจะเคยเป็นกรรมการจริยธรรมชุดอื่น แต่ทำงานไม่เท่าคณะกรรมการจริยธรรมชุดนี้ ไม่มีอนุกรรมการที่ช่วยเหลือใคร ตนเป็นผู้ตั้งประธานคณะอนุกรรมการ ซึ่งเป็นถึงรองอัยการ ถือว่ามีความสุจริต และที่ผ่านมา การนำเสนอของคณะอนุกรรมการ ไม่มีกรรมการชุดใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยตามนั้น ทั้งไม่เคยมีการช่วยเหลือ ส่วนกรณีที่ถูกมองว่า การทำงานล่าช้า เพราะมีคนที่ถูกกล่าวหา ขอขยายเวลา ซึ่งตามระเบียบสามารถทำได้ จึงทำให้บางเรื่องขยายเป็นปี สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการประชุมคณะกรรมการจริยธรรมเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งตนได้ทำหนังสือขอบคุณทุกคนแล้ว
นายชวน กล่าวว่า สำหรับหลังการเลือกตั้ง เชื่อว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง พรรคร่วมรัฐบาลคงมีไม่ถึง 19 พรรค และพรรคที่อยู่ในสภาฯ คงไม่ถึง 26 พรรค อย่างไรก็ดี หากยุบสภาฯจะมีเวลาให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันเลือกตั้ง ภายใน 5 วัน โดยโอกาสและความเป็นไปได้จะอยู่ในวันที่ 7 พ.ค. หรือ 14 พ.ค.
“โฉมหน้ารัฐบาลไม่อาจรู้ได้ว่า ใครอยู่กับใคร สื่อมวลชนอาจจะรู้ดีกว่าผม แม้จะมีคนออกมาปฏิเสธก็ตาม ทั้งนี้ผมไม่ขอวิจารณ์ แต่ผมขอให้การทำงานมีความต่อเนื่อง เพราะระบอบประชาธิปไตยการทำงานที่ต่อเนื่องนั้น เป็นประโยชน์กับประชาชน รัฐบาลบางชุดไม่ต่อเนื่องเรื่องนโยบาย เพราะถือว่าไม่ใช่ของเขา เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ผมคิดว่าความต่อเนื่องจะทำให้ให้กฎหมายที่มีปัญหา ซึ่งเป็นประโยชน์ จะไม่ค้างพิจารณาและดำเนินการต่อไปได้ ในสภาชุดต่อไป ผมเชื่อว่าร่างกฎหมายที่ค้างคงทำต่อในสภาชุดต่อไป” นายชวน กล่าว
เมื่อถามว่า ส.ส.รุ่นใหม่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของประธานสภาฯค่อนข้างรุนแรง รู้สึกอย่างไรบ้าง นายชวน กล่าวว่า หน้าที่เราคือฟังและอธิบายไป โดยทั่วไปร้อยละ 99.99 ก็เข้าใจ
เมื่อถามต่อว่า ประชาชนตื่นตัวในการเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด นายชวน กล่าวว่า การที่ไม่มีสภาฯมา 5 ปีอาจทำให้ความทรงจำในอดีตหายไป บางคนลืมว่า อะไรดี อะไรชั่ว คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมา เขาก็ไม่รู้หลายเรื่อง ว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมือง ดังนั้นจึงต้องให้ข้อมูลเขา ขณะเดียวกันส.ส.รุ่นใหม่ก็ไม่ทราบ ซึ่งตนเป็นรุ่นเก่า จึงพอรู้ เพราะเห็นด้วยตาตนเอง ดังนั้นในการหาเสียงครั้งนี้ น่าจะมีส่วนให้ข้อมูลกับประชาชนมากพอสมควร ว่าก่อนหน้าที่จะมาถึงวันนี้บ้านเมืองเป็นอย่างไร การเป็นผู้แทนมา 16 สมัย 54 ปี เห็นตั้งแต่สภาฯมี 219 จนปัจจุบันมี 500 คน วันนี้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก สิ่งที่ดีมีจำนวนมาก แต่สิ่งที่ร้ายก็ตามมาเช่นเดียวกัน ดังนั้นการได้ถ่ายทอดข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจ จะทำให้ประชาชนเข้าใจวิถีทางประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ก็ต้องให้เกียรติพวกเขาในการตัดสินใจ อย่างไรต้องเคารพแ ต่อยากให้การใช้ดุลยพินิจมาจากพื้นฐานความรู้ที่มีความเข้าใจ
“ผมเป็นคนคิดตั้งแต่ต้นในเรื่องการรักษาฟรีเด็กและผู้สูงอายุ ส่วนช่วงวัยกลางๆ ถ้าจนต้องมีบัตรผู้มีรายได้น้อย และสิ่งนี้ก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ทีแปลกคือเบี้ยผู้สูงอายุ กลายเป็นว่าทุกพรรคเห็นด้วยแล้ว โดยมีการเกกันว่า พรรคนั้นพรรคนี้ให้กี่พัน สมัยที่ผมทำไว้ 200-300 บาท จากนั้น 5 ปีกว่า ที่นายทักษิณ (ชินวัตร) เป็นรัฐบาลไม่ได้เพิ่มให้แม้แต่บาทเดียว เพราะมองว่าเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็นนายกฯจึงเพิ่มให้อีก บัดนี้น่าดีใจ และเห็นว่าจะต้องเพิ่มให้เขาในอนาคตด้วย เช่นเดียวกับ กยศ. ผมยอมเสียคะแนน ถ้าจะบอกว่าน้องๆ ที่กู้ยืมเรียนไป ขอได้โปรดคืนเพื่อให้รุ่นน้องต่อไปได้ใช้เรียน” นายชวน กล่าว
เมื่อถามถึงการปราศรัยที่ส่งเสริมให้ประชาชนรับเงินแต่ไม่ต้องเลือกพรรคนั้น ถูกต้องหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ตนไม่สนับสนุน สำหรับตนใช้คำขวัญว่า “ศักดิ์ศรีชาวตรัง ใครอย่ามุ่งหวังซื้อด้วยเงินตรา” “ไม่โกง ไม่กิน ไม่สิ้นชาติ” ตนจำได้ คำเหล่านี้ใช้ได้กับพวกซื้อเงิน ซึ่งบางทีสู้ได้แต่เหนื่อย ช่วงปลายชีวิตสิ่งที่อยากทำคือ ออกไปขอบคุณชาวบ้านก่อนที่จะเป็นอัลไซเมอร์ หรือก่อนที่คนช่วยเราจะล้มหายตายจากไป