วันจันทร์, กันยายน 30, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“นรินท์พงศ์”ซัด“สุภา”ปมติงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ไม่ใช่หน้าที่“ป.ป.ช.”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“นรินท์พงศ์”ซัด“สุภา”ปมติงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ไม่ใช่หน้าที่“ป.ป.ช.”

นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ซัด “สุภา” เบรกนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต อ้างมีความเสี่ยงต่อการทุจริต ชี้ไม่ใช่หน้าที่ ป.ป.ช.

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ ว่า

ตามที่ปรากฏข่าวจากสื่อมวลชนว่า อนุกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานคณะทำงาน ได้เสนอร่างข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาโดยมีความเห็นทำนองว่า รัฐบาลไม่ควรดำเนินนโยบาย Digital Wallet เพราะมีความเสี่ยงต่อการทุจริต ผมมีความเห็นดังนี้

  1. ข้ออ้างความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย เพราะมิได้เป็นไปตามที่ได้หาเสียงและแจ้งต่อ กกต. ไว้ว่า จะใช้วิธีบริหารงบประมาณโดยจะไม่กู้เงิน ซึ่งเป็นการทุจริตเชิงนโยบายและอาจผิดกฎหมายเลือกตั้ง นั้น

เห็นว่าการที่รัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท เพื่อเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 แต่คณะรัฐมนตรีไม่เคยแจ้งต่อ กกต. เพราะไม่มีหน้าที่ดังปรากฏในหน้า 4 ของคำแถลงนโยบายของ “คณะรัฐมนตรี” วันที่ 11 กันยายน 2566 เมื่อนโยบายได้แถลงต่อรัฐสภาแล้วคณะรัฐมนตรีย่อมมีอำนาจที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจเป็นการทุจริตเชิงนโยบายตามที่ ป.ป.ช. มีความเห็น ส่วนที่เห็นว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็เป็นอำนาจของ กกต. ที่จะดำเนินการ ส่วน ป.ป.ช. ไม่มีหน้าที่

  1. ข้ออ้างความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่ถือเป็นวิกฤติตามความเห็นของนักวิชาการที่ ป.ป.ช. รับฟังความคิดเห็นมา นั้น

เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น การวินิจฉัยว่าประเทศเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจหรือไม่ จึงเป็นดุลพินิจทางบริหารของคณะรัฐมนตรีโดยมีรัฐสภาเป็นผู้ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบกับดุลพินิจดังกล่าว หากรัฐสภาลงมติไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายก็จะไม่ผ่านรัฐสภา ส่วน ป.ป.ช. ไม่มีหน้าที่และอำนาจแทรกแซงดุลพินิจทางบริหารของคณะรัฐมนตรี

  1. ข้ออ้างความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย เนื่องจากการตราพระราชบัญญัติกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 นั้น

เห็นว่าคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่เพียงเสนอร่างพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 (1) ซึ่งยังไม่มีฐานะเป็นกฎหมาย ส่วนการวินิจฉัยและให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว สมาชิกก็ยังอาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายดังกล่าวได้ตามมาตรา 148 (1) และหากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว การที่คณะรัฐมนตรีจะปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายยิ่งไม่อาจเป็นความผิด เพราะเป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะตามกฎหมายที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว

จึงขอเตือนความจำว่า ป.ป.ช. เป็นองค์กรตรวจสอบ การที่กฎหมายให้อำนาจเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีก็เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายมิได้ให้อำนาจ ป.ป.ช. ก้าวล่วงเสนอแนะว่านโยบายใดควรทำหรือไม่ หรือมีความคุ้มค่าหรือไม่ เพราะเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. จึงควรปรับปรุงข้อเสนอแนะให้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของตน ไม่เช่นนั้นข้อเสนอแนะที่อ้างว่าทำด้วยความหวังดีจะกลายเป็นการล้ำเส้นเพราะอคติแทน

นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์

นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img