วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“ยธ.”ไม่ยืนยันเข้าไปชี้แจง“กมธ.มั่นคงฯ” ปม“ทักษิณ”ชั้น14ชี้ไม่มีอำนาจเรียกสอบ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ยธ.”ไม่ยืนยันเข้าไปชี้แจง“กมธ.มั่นคงฯ” ปม“ทักษิณ”ชั้น14ชี้ไม่มีอำนาจเรียกสอบ

‘ก.ยุติธรรม’ แถลง ไม่สบายใจ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ เชิญไปให้ข้อมูลกรณี ‘ทักษิณ’ ครั้งที่ 2 เผย ส่งหนังสือแจ้งข้อกังวลด้านกฎหมายว่า ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ กมธ.คณะนี้-ซ้ำซ้อนกับ กมธ.ตำรวจ-องค์กรอิสระ ยังไม่ทราบ รมว.ยุติธรรม จะไปให้ข้อมูลพรุ่งนี้หรือไม่


วันที่ 21 พ.ย.67 นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม และผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวเกี่ยวกับการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร ที่โรงพยาบาลตำรวจ ขณะต้องโทษ หลังมีหนังสือเรียกให้ไปให้ข้อมูลเป็นครั้งที่ 2


นายสมบูรณ์ กล่าวว่า กรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ ในสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการตรวจสอบกระทรวงยุติธรรม โดยคณะกรรมาธิการ 2 ชุด ชุดแรกคือ คณะกรรมาธิการการตำรวจ ที่ได้มีหนังสือแจ้งให้กรมราชทัณฑ์ไปให้ข้อเท็จจริงตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 และต่อมาได้มีการนัดหมายไปดูสถานที่เกิดเหตุที่โรงพยาบาลตำรวจแล้ว


ส่วนชุดที่ 2 คือ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ ที่ได้มีหนังสือให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกรมราชทัณฑ์ไปชี้แจงและส่งมอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ครั้วแรกเมื่อวันที่ 7

พฤศจิกายน 2567 โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องไปชี้แจง และล่าสุด กมธ.ชุดนี้ มีหนังสือเชิญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม , อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนเข้าไปชี้แจงเพิ่มเติม โดยนัดหมายในวันพรุ่งนี้ (22 พย 67) ช่วงเช้า
ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า เรื่องนี้กระทรวงยุติธรรม มีความไม่สบายใจ เพราะก็ต้องการที่จะให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรอย่างเต็มที่ แต่เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ตามกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ และข้อระเบียบการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว กรมราชทัณฑ์เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ที่จะเข้ามาตรวจสอบ หรือเชิญเจ้าหน้าที่ไปให้ข้อมูล


ดังนั้น เมื่อกรมราชทัณฑ์ได้รับหนังสือเชิญดังกล่าว จึงมีการเสนอพิจารณาความเห็นไปตามลำดับ และเมื่อวานนี้ (20 พ.ย. 67) รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้มีหนังสือส่งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรและ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ถึงข้อกังวลเรื่องข้อกฎหมาย โดยมีเหตุผล 3 ข้อ ที่กรมราชทัณฑ์ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบของ กมธ. ชุดนี้


ข้อ 1. รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า การที่คณะกรรมาธิการจะศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องใด ต้องเป็นเรื่องในอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ในการตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว ซึ่งในส่วนของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ มีการระบุกรอบอำนาจหน้าที่โดยสรุปไว้ว่า เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ การค้าชายแดน การค้าผ่านแดน จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรนเพื่อการค้า ช่องทางธรรมชาติ ช่องทางตามกฏหมายศุลกากร การเดินทางข้ามแดน การจัดการแรงงานข้ามแดน การส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การแก้ปัญหาชายแดนไทย ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ โดยคำนึงถึงปัจจัยที่กระทบต่อความมั่นคง การส่งเสริมสนับสนุนแก้ไขปัญหาดินแดนและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเรื่องที่เชิญไปให้ข้อมูลนั้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่


ข้อ 2. การดำเนินการเรื่องนี้ ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมาธิการชุดอื่นของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า การดำเนินการของคณะกรรมาธิการ ต้องไม่เป็นเรื่องซ้ำซ้อน หากมีเรื่องที่อาจเกี่ยวข้องกับหลายคณะกรรมาธิการ ก็มีระเบียบกำหนดไว้โดยเฉพาะว่า ต้องรวมเป็นเรื่องเดียว โดยประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นผู้ชี้ว่าคณะกรรมาธิการใด จะเป็นประธานในการตรวจสอบ ดังนั้นกรณีนี้ที่ กมธ.ตำรวจ ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ต่อให้จะเข้าอำนาจหน้าที่ของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ก็ต้องเอาไปรวมกัน จะแยกไม่ได้


ข้อ 3. ปัจจุบันมีองค์กรอิสระหลายองค์กรที่ทำการไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริงเรื่องนี้อยู่ เช่น ป.ป.ช. , สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน , คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งกรมราชทัณฑ์มีความเห็นว่า คณะ กมธ. ควรต้องคำนึงว่า ตอนนี้มีการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระอยู่แล้วด้วย


นายสมบูรณ์ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นเดียวกับที่กรมราชทัณฑ์กังวลว่า คณะกรรมาธิการชุดนี้ทำถูกต้องตามกฏหมาย ระเบียบข้อบังคับหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐมนตรีฯ ให้ความสำคัญและความร่วมมือกับสภาผู้แทนราษฎรมาโดยตลอด แต่ในวันพรุ่งนี้จะไปให้ข้อมูลหรือไม่ ท่านเองก็ยังไม่ได้ให้คำตอบ ส่วนเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ก็ยังไม่ทราบว่าใครจะไปหรือไม่ไปบ้าง เพราะครั้งนี้มีการเชิญมาหลายท่านมาก


“ยืนยันว่า เรื่องนี้ ไม่ได้นำมาอ้างเพื่อที่จะปกปิดหรือไม่ให้ข้อมูล หรือไม่มีหลักฐานที่จะแสดงต่อคณะกรรมาธิการ เพราะตอนนี้ก็มีหลายหน่วยงานที่ทำการตรวจสอบอยู่แล้วอย่างเข้มข้น จึงไม่มีสิ่งไหนที่จะปกปิดได้อยู่แล้ว และทุกหน่วยงานที่เคยได้ชี้แจงไปแล้ว ก็มีเอกสารให้ครบถ้วน”
ทั้งนี้ ความเห็นดังกล่าว ไม่ได้เป็นการปิดประตูการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการชุดนี้ เพียงแต่เป็นการทำหนังสือท้วงติง แสดงความเห็นไป ซึ่งผู้ที่จะชี้ขาดได้ก็คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร หากท่านมีดุลพินิจว่า อยู่ในอำนาจหน้าที่ ก็ต้องเข้าไปให้ข้อมูลอยู่แล้ว


เมื่อถามว่า เหตุใดในการที่คณะ กมธ.ชุดนี้ เชิญไปครั้งแรก จึงเข้าไปให้ข้อมูล ไม่โต้แย้งว่าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องการให้ความร่วมมือในการตรวจสอบมากที่สุดอยู่แล้ว ครั้งแรกที่มีหนังสือมา จึงขออะไรก็ให้ไป และไม่ได้มีการเชิญบุคคลเข้าไปให้ข้อมูลเยอะเท่าครั้งนี้ แต่เมื่อครั้งนี้มีการเชิญมาหลายคน รวมถึงผู้บริหารระดับสูง จึงได้มีการพูดคุยกันหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายเลขาฯ และฝ่ายกฎหมาย ซึ่งมีการแสดงข้อกังวลเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา
แต่ยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ไปชี้แจงในครั้งแรก แล้วมีวิวาทะกับประธานคณะ กมธ. คือ นายรังสิมันต์ โรม แต่ยอมรับว่าเมื่อโดนตรวจสอบก็ต้องกลัวอยู่แล้ว และไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณ โดยเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่จบไปแล้ว ตอนนี้เป็นเพียงขั้นตอนของการตรวจสอบ และไม่ขอตอบกรณีที่ว่า หากอนาคต เกิดกรณีเดียวกันกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีความวุ่นวายเช่นนี้หรือไม่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img