โซเชียลเอาคืนสื่อมวลชนแสบทรวง ซัดทำตัวเป็นผู้วิเศษ ตั้งฉายาให้คนนั้นคนนี้ โดนคืนบ้าง ฉายาสื่อมวลชน ประจำปี พ.ศ.2563 “สื่อ ส่ง ส่วย” หลายค่ายโดนกันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้สื่อทำเนียบฯกับสื่อสภาฯ
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี ของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ที่ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฎิบัติสืบต่อกันมา สะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานรัฐบาล โดยพร้อมใจกันมีมติตั้ง ฉายารัฐบาล ฉายารัฐมนตรี และ วาทะแห่งปี ประจำปี 2563 ร่วมกันดังนี้
ฉายารัฐบาล : VERY “กู้”
เปรียบเปรยการทำงานของรัฐบาล ที่ต้องกอบกู้วิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กู้ชีวิตคนไทยให้อยู่รอดปลอดภัย แม้จะยังไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ แต่ก็ยังดีกว่าหลายประเทศ แม้จะไม่ถึงขั้น very good ก็ตาม ขณะเดียวกัน ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจ และ ปัญหาปากท้องคนไทยที่ต้องแบกรับภาระหนี้สิน และ ภาวะตกงาน บางคนต้องจากโลกนี้ไปด้วยไม่อาจรับได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้เงินสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ มาบรรเทาปัญหา
ฉายา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) : ตู่ไม่รู้ล้ม
เป็นการล้อคำ “โด่ไม่รู้ล้ม” ชื่อยาดองชนิดหนึ่ง สรรพคุณคึกคัก กระปี้กระเปร่า ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สะท้อนถึงการทำงาน ของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ว่าจะประสบปัญหา อุปสรรคการเมือง หรือ ชุมนุมขับไล่ถาโถม ก็ยังยืนหยัดฝ่าฟันอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป
ฉายา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี : ป้อมไม่รู้โรย
ล้อจากคำว่า บานไม่รู้โรย ด้วยภาพลักษณ์ของพี่ใหญ่ 3 ป. ในวัย 75 ปี ยังคงทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีเคียงข้างน้องๆ ได้ แถมยังแผ่บารมีควบเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล เหมือนกับดอกไม้ แม้จะบานนานมากแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้โรย ประกอบกับ วลีติดปากที่มักจะตอบคำถามสื่อมวลชน แทบทุกครั้งว่า ไม่รู้ ๆ อยู่เสมอ
ฉายา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี : ไฮเตอร์ เซอร์วิส
เป็นการยกคุณสมบัติเด่น ของนายวิษณุ ที่สามารถหาทางออก ปัญหาหนักอกของคนในรัฐบาล โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายได้อย่างเชี่ยวชาญ และ มักถูกวิจารณ์เรื่องความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เปรียบได้กับผลิตภัณฑ์ซักฟอกขาวยี่ห้อดัง ที่สามารถล้างคราบสกปรก ให้ขาวสะอาดหมดจดได้ แต่อาจทำให้เนื้อผ้าเสียหาย ขาดความสวยงาม คล้ายกับชื่อเสียงของรัฐบาลที่สึกกร่อนตามไปด้วย
ฉายา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข : ทินเนอร์
ด้วยชื่อ อนุทิน ซึ่งพ้องกับสาระเหยที่มี ทั้งคุณและโทษ ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หากสูดเดาเข้าไปมาก อาจทำลายระบบประสาท กระทบกระเทือนความรู้สึกนึกคิด คล้ายพฤติกรรมการใช้คำพูดที่ขาดความยั้งคิด ส่งผลลบต่อตัวเอง และ รัฐบาลโดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์ จนเป็นประเด็นลดความน่าเชื่อถือของตนเอง เช่น โควิด..กระจอก ไล่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับประเทศ หรือ ตอบโต้กับบุคลากรทางการแพทย์ จนเกิดกระแสต่อต้านหลายครั้ง
ฉายา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ : เช้าสายบ่ายเคลม
สะท้อนการทำงานที่เห็นได้บ่อยครั้ง ว่ามักไม่ตรงต่อเวลา เข้าร่วมประชุมสายสม่ำเสมอ ส่วนในแง่การทำงานมักนิ่งเงียบเมื่อมีประเด็นที่ส่งผลลบต่อตนเองและพรรคประชาธิปัตย์ แต่หากเป็นเรื่องที่เป็นผลดีต่อคะแนนนิยมก็จะรีบเคลมผลงานดังกล่าวทันที
ฉายา นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง : ค้างคลัง
ยังคงไปไม่ถึงดวงดาว โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เปลี่ยนตัวว่าการไปถึง 2 ครั้ง แต่สุดท้ายก็ยังเป็นคนนอกสายตา ถูกรั้งให้อยู่ได้แค่ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น ทั้งที่ทุ่มเทให้กับพรรคอย่างมาก อีกทั้งยังออกตัวแรง แสดงออกชัดเจน ว่า”พร้อมมาก”ที่จะทำหน้าที่นี้ก็ตาม
ฉายา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ศักดิ์สบายสายเขียว
ลือลั่นมากกับปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว และ อีกหลายโครงการ ที่ขัดแย้งกับหลายหน่วยงาน แต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนเกื้อกูลอย่างดีจากนายกรัฐมนตรี โดยระยะหลังเรียกได้ว่า “ขึ้นหม้อ”ตามติดนายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด ส่วนการทำงานในพรรคภูมิใจไทย ก็อยู่อย่างไร้ความกังวล เพราะมีพี่ชายที่ชื่อ เนวิน ชิดชอบ คอยดูแลปัดเป่าทุกข์ภัยต่างๆ ให้
ฉายา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม : พังPORN
สะท้อนการทำงานที่ล้มเหลว ในฐานะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานด้านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักที่ถูกนำมาใช้โจมตีรัฐบาลอย่างหนัก แม้จะเปิดศูนย์ anti-fake news แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และ ล่าสุดเกิดดราม่า หลังสั่งปิดการเข้าถึงเว็บไซต์ปลุกใจเสือป่าชื่อดัง จนเกิดกระแสต่อต้านลุกลามบานปลาย
ฉายา นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ : หวีดดับ
ภาพลักษณ์แกนนำ กปปส. ยังคงเป็นภาพจำ ที่ไม่อาจลบเลือนได้ เช่นเดียวกับนกหวีดที่ถูกยกมาใช้เป็นสัญลักษณ์เปรียบเปรย ได้กำกับดูแลงานกระทรวงเกรดเอ แต่กลับไม่มีผลงานโดดเด่นปรากฎให้เห็น มีเพียงข่าวกระแสต่อต้านรายวัน หนักหน่วงที่สุด คือ ถูกกลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมตัวขับไล่
ฉายา นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน : แชมป์ไตรกีฬา
ไตรกีฬา ประกอบด้วย กีฬา 3 ชนิด คือ วิ่ง วายน้ำ และ ปั่นจักรยาน สะท้อนภาพลักษณ์ได้ครบถ้วนชัดเจน ในบุคลิกที่สื่อมวลชนประจักษ์ ทั้งในตำแหน่งรัฐมนตรี และ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ ที่มีทั้งการวิ่งเต้น การเข้าหาผู้ใหญ่ และ การปลุกปั่นกระแส แม้จะถูกกล่าวหาว่า ลืมบุญคุณผู้ชักนำเข้าสู่การเมือง แต่ก็ไม่สนใจเสียงวิจารณ์ เดินหน้าจนสามารถคว้าตำแหน่งที่ต้องการได้สำเร็จ ทั้งที่เป็นนักการเมือง และ สส.สมัยแรกเท่านั้น
วาทะแห่งปี
“ไม่ออก.. แล้วผมทำผิดอะไรหรือ”
เป็นคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ตอบข้อสักถามสื่อมวลชน พร้อมกับบรรดาคณะรัฐมนตรีที่ยืนเรียงหน้าประกาศความเหนียวแน่น เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังกลุ่มผู้ชุมนุม ยื่นข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง
ภายหลังปรากฎข่าวดังกล่าวออกไป ในโลกโซเชียลก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก โดยมีการเหน็บแนมและตำหนิการตั้งฉายาของสื่อมวลชน อาทิ
-สื่อไทยบางสำนักถืออภิสิทธิ์อวดเป็นผู้วิเศษ ตั้งฉายาให้คนนั้นคนนี้ ผมคนไทยตั้งฉายาให้สื่อบ้าง : สื่อดีไม่มีที่ยืน สื่อส้วมซึมขี้ข้าเข้าข้างคนถ่อย
-ฉายาสื่อมวลชน ประจำปี พ.ศ.2563 “สื่อ ส่ง ส่วย” เพราะสื่อยุคนี้รายงานข่าวราวกับว่าเป็นเมืองขึ้นของนายทุนบางกลุ่ม จึงต้องรายงานข่าวที่ถูกใจไปเป็นบรรณาการนายเงิน โดยการทำงานปีที่ผ่านมายังห่างจากคำว่า เสรีภาพของสื่อมวลชน อีกมากนัก
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น โลกโซเชียล ยังมีการตั้งฉายา “สื่อมวลชน 63” คือ มติชินสินสมพร / ข่าวปดซดน้ำส้ม / เนฉายขายอุดมการณ์ / The Double Standard / ไทยลัด ชัดสามนิ้ว / ว้ายทีวี สื่อสารมวลม็อบ / เจาะตื้นทั่วไทย ห่วงใยธนาธร / ถามเอียงๆ กับจอมขวาน / เวิร์คน้อย พ้อยท์สีส้ม
อีกทั้งยังมีการตั้งฉายาสื่อทำเนียบรัฐบาลว่า “นกน้อยในกะลา” และสื่อสภาฯว่า “กะลาครอบนกน้อย” โดยฉายาแห่งปีคือ “สื่อลิเบอร่าน”