วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSสัญญาณจากใคร‘สว.ลากตั้ง’แผลงฤทธิ์ ตบหน้า“พปชร.” แก้รธน.อย่าย่ามใจ!!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สัญญาณจากใคร‘สว.ลากตั้ง’แผลงฤทธิ์ ตบหน้า“พปชร.” แก้รธน.อย่าย่ามใจ!!!

เนื่องด้วยเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เขียนกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้สลับซับซ้อน-มีการหมากสกัดไว้หลายชั้น จนถูกเรียกเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก จนถึงขั้นอาจแก้ไม่ได้เลย โดยเฉพาะการเขียนให้

“สมาชิกวุฒิสภา” เป็นตัวแปรสำคัญในการจะไฟเขียวหรือเปิดไฟแดงใส่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า เสียงเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรกและวาระสาม นอกจากต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ที่ปฏิบัติหน้าที่แล้ว เสียงเห็นชอบดังกล่าว ยังต้องมีเสียง สว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 84 เสียงของสว. 250 คน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

กลไกดังกล่าว มีการเขียนไว้ตั้งแต่การลงมติวาระแรกขั้นรับหลักการ ดังนั้น หากสว. สกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วาระแรก ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็แท้งตั้งแต่วาระแรกแล้ว

ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน “สภาสูง” จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉลุยหรือร่วง ตั้งแต่วาระแรกได้ หากฝ่ายการเมือง สามารถประสาน-ล็อบบี้กับสว. จำนวนหนึ่งได้ เพื่อให้ออกเสียง-ไม่ออกเสียง อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตัวเองต้องการ ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

cr / www.thaigov.go.th

และด้วยเหตุที่สว.ชุดปัจุบัน 250 คนมาจาการสรรหาในยุคคสช. โดยรายชื่อเกือบทั้งหมด ถูก “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” สแกนโดยละเอียดก่อนส่งโผให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ได้เป็น “สว.ลากตั้ง” กัน 5 ปีเต็มๆ ตั้งแต่ปี 2562

ด้วยเหตุนี้ เมื่อ “บิ๊กป้อม” ไฟเขียวให้ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เดินเกม เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีการวางแผนแบบที่พลังประชารัฐ คิดว่า แยบยลแล้ว คือเสนอร่างแก้ไขรธน.แบบ “มัดรวมห่อ” ด้วยการเอาประเด็นที่จะเสนอแก้ไข ทั้งประเด็นหลัก-ประเด็นรองในมาตราต่างๆ มามัดรวมกัน แล้วเสนอเป็นร่างเดียว คือร่างแก้ไขรธน.ของส.ส.พลังประชารัฐ ที่เสนอไปตั้งแต่ 7 เม.ย.

เพราะพลังประชารัฐ คิดว่า วิธีการแบบนี้ จะทำให้เป้าหมายการแก้ไขรธน.ที่พลังประชารัฐต้องการ ทั้งประเด็นหลักอย่างเช่น แก้ระบบเลือกตั้ง -แก้เรื่องกระบวนการวิธีพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายฯ” โดยเมื่อนำมารวมกับประเด็นรองเช่น แก้ไขเรื่องการประกันตัวชั่วคราวในคดีอาญา ซึ่งพลังประชารัฐไม่ได้หวังมากอยู่แล้ว แต่ทั้งหมด พลังประชารัฐก็นำมามัดรวมกันหมดเสนอเป็นร่างเดียวไปเลย เพื่อที่แม้ต่อให้ ส.ส.-สว.บางคน อาจเห็นด้วยในบางเรื่องเช่น การแก้ไขระบบเลือกตั้ง แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดทำงบประมาณ แต่เมื่อพลังประชารัฐ เสนอมาร่างเดียว ไม่ได้แยกร่างฯ ก็เลยต้องจำใจโหวตผ่านไปก่อนแล้วไปแก้ไข ลงรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการฯ

เรียกได้ว่า หากผ่าน พลังประชารัฐก็ได้หมดเข้าไปทั้งพวง แต่หากไม่ผ่าน ก็ร่วงหมดเช่นกัน แต่เพราะพลังประชารัฐเชื่อว่า แกนนำพรรคสามารถดีลกับสว.จำนวนหนึ่งได้ อย่างน้อยได้แน่เสียงสนับสนุน 84 เสียง อีกทั้งคิดแค่ว่า สว.ชุดนี้ มาจากคสช. จึงต้องเกรงใจพลังประชารัฐ จะยอมพลังประชารัฐทุกเรื่อง

ทำให้แกนนำพลังประชารัฐบางส่วนประเมินว่า ยังไงเสีย ร่างแก้ไขรธน.ของพลังประชารัฐ จึงน่าจะผ่านได้ไม่ยาก เลยทำให้พลังประชารัฐย่ามใจพอสมควร กับการเดินเกมแก้ไขรธน.รอบนี้

ขณะที่พรรคอื่นๆ ทั้งเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ใช้วิธีเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบบ “แยกร่าง-แยกประเด็น” ไปเลย เช่น ประชาธิปัตย์แม้จะเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้ง ให้เป็นบัตรสองใบเช่นกัน เหมือนกับของพลังประชารัฐ แต่ก็แยกไว้เป็นร่างหนึ่งต่างหาก แล้วประเด็นอื่นๆ ก็แยกเป็นร่างอื่นไปเช่น ที่เสนอให้ปิดสวิทช์อำนาจสว.ในการโหวตเลือกนายกฯ

ซึ่งสุดท้าย ก็เป็นร่างของประชาธิปัตย์ ในเรื่องเปลี่ยนระบบเลือกตั้งให้เป็นบัตรสองใบ มีส.ส.เขต 400 คน บัญชีรายชื่่อ 100 คน เพียงร่างเดียว ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ได้ไปต่อในวาระสองฯชั้นกรรมาธิการ  และไปลุ้นในวาระสามต่อไป

หลังมีเสียงสว.โหวตเห็นชอบ เอาด้วยกับร่างฯของประชาธิปัตย์ ที่ให้แก้ไขระบบเลือกตั้ง ที่อยู่ในร่างฉบับที่ 13 ด้วยเสียงสว.เห็นชอบท่วมท้น ร่วม 210 เสียง

ที่แสดงให้เห็นว่า หากพลังประชารัฐใช้วิธี เสนอร่างแบบแยกประเด็น ไม่มัดรวม แบบที่ทำ เช่นแยกเรื่องที่เสนอเปลี่ยนระบบเลือกตั้งออกมา ยังไงก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา จะมีสว.เห็นชอบด้วยจำนวนมากแน่นอน แต่เพราะพลังประชารัฐใช้วิธีเสนอแบบมัดรวม ผลก็เลยออกมาอย่างที่เห็น คือร่างไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ในทางการเมือง ต้องถือว่า รอบนี้พลังประชารัฐเสียหน้าอย่างมาก กับการเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลแต่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วโดนสอยร่วงตั้งแต่วาระแรก

ผิดกับประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรครอง เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงส.ส.อันดับสาม แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างน้อยก็ได้ไปต่อหนึ่งร่างฯ

ที่สำคัญ ใครต่อใครก็รู้กันดีว่า สว.ส่วนใหญ่ชุดนี้ ต่างก็มีความใกล้ชิดกับแกนนำพลังประชารัฐอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่สุดท้าย เมื่อสว.เห็นว่า วิธีการที่พลังประชารัฐ เสนอแก้ไขรธน.มาแบบมัดรวม ยากจะปล่อยผ่านไปได้เพราะสว.จำนวนมาก ไม่เห็นด้วยกับบางประเด็นที่พลังประชารัฐเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลก็เลยต้อง “คว่ำร่างพลังประชารัฐ” ตั้งแต่วาระแรก ชนิดจอดสนิท บารมี “บิ๊กป้อม” ก็ช่วยไม่ได้

งานนี้ เรียกได้ว่า ทำเอาบารมีบิ๊กป้อมในสภาสูง โดนตั้งคำถามเหมือนกันว่า ยังขลังเหมือนเดิมหรือไม่ ที่ไม่สามารถร่วมเข็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคที่ตัวเองเป็นหัวหน้าพรรค ให้ผ่านวาระแรกไปได้ หรือเพราะ พลังประชารัฐ-บิ๊กป้อมย่ามใจ อ่านสถานการณ์พลาด ไม่เช็คกระแสต้านในกลุ่มสว. เลยพลาดในการเดินเกมประสานกับสว.แต่เนิ่นๆ

ทั้งที่แรงต้าน “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา” ของพรรคพลังประชารัฐ จากกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา จริงๆ ออกมา ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ช่วง 21-22 มิ.ย. ก่อนจะโหวตเมื่อ 24 มิ.ย.เสียอีก

เพราะมีการออกมาให้ความเห็นของสว.บางคน ตลอดจนการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการจากสว.บางกลุ่ม ที่ไม่เห็นด้วยกับบางมาตราในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคพลังประชารัฐ

โดยเฉพาะที่พลังประชารัฐเสนอแก้ มาตรา 145 ที่มีเนื้อหาโดยสรุปคือ ถูกมองว่าเป็นการแก้เพื่อลดความเข้มข้นในบทบัญญัติข้อห้ามที่ ไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.งบฯ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย โดยฝ่ายพลังประชารัฐ ที่นำโดย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ-รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พยายามอ้างว่าที่เสนอแก้ไขก็ เพื่อลดอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ก็มีเสียงทักท้วงดังไปทั่วว่า เป็นการทำให้ ลดความเข้มข้นในการห้ามนักการเมือง แทรกแซง-ยุ่งเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณผ่านเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะ “สำนักงบประมาณ” ลงไป โดยแรงต้านดังกล่าว ค่อยๆ เริ่มมาจาก องค์กรต่อต้านคอรัปชั่นฯ จากนั้น ก็มีสว.ขานรับมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมองว่า หากแก้ไขมาตราดังกล่าว จะลดทอนความเป็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง” ลงไป

เช่นเดียวกับกระแสคัดค้านของสว.ที่ไม่เห็นด้วย กับการเสนอแก้ไขมาตรา มาตรา 185 ที่บัญญัติไม่ให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ ซึ่งประเด็นนี้ “ไพบูลย์” พยายามชี้แจงว่า เป็นการเสนอแก้ไขเพื่อให้ส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชน สามารถไปติดต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ให้มาช่วยเหลือประชาชนได้เช่น หากเกิดเหตุน้ำท่วม-น้ำแล้ง เวลาประชาชนเดือดร้อนแล้วไปหาส.ส.ให้ช่วยเหลือ เพราะจะรวดเร็วกว่าไปติดต่อหน่วยราชการ และต่อมาเมื่อ ส.ส. จะไปติดต่อหน่วยราชการเพื่อให้ไปช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะหากมีการทำหนังสือ แม้จะเป็นหนังสือไม่เป็นทางการ แต่เป็นหนังสือแบบขอประสาน ขอความร่วมมือให้ช่วยเหลือประชาชน หากไปทำ ก็จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้

www.thaigov.go.th

พลังประชารัฐเลยเสนอแก้ไขรธน.เพื่อปลดล็อกเรื่องดังกล่าว แต่ประเด็นดังกล่าว สว.จำนวนมาก ก็เห็นตรงกันว่า เป็นการ “เปิดช่อง-เปิดประตู” ให้นักการเมืองเข้าแทรกแซง สั่งการเจ้าหน้าที่รัฐ-หน่วยราชการ ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมืองได้

ทำให้ สว.ก็เห็นตรงกันจำนวนมากว่า หากแก้มาตราดังกล่าว จะลดทอนความเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง ที่เป็นจุดแข็งของรัฐธรรมนูญปี 2560 ลงมาเช่นเดียวกัน

เมื่อกระแสสว.เริ่มก่อหวอดไม่เอาด้วยกับร่างแก้ไขรธน.ของพลังประชารัฐ เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากคำอภิปรายของสว.จำนวนมาก ที่แสดงออกในห้องประชุมตอนอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วว่า ไม่เห็นด้วยกับหลายประเด็นที่พลังประชารัฐเสนอแก้ไข แม้อาจจะมีบางประเด็นเห็นด้วย แต่ก็ไม่สบายใจที่จะโหวตผ่านให้ แม้คนในพลังประชารัฐ โดยเฉพาะ “ไพบูลย์” จะรีบแก้เกม โดยการแสดงท่าทีพร้อมยอมถอย รับปากจะไปแก้ไขเนื้อหาในวาระ 2 เพื่อให้คงกลับไปใช้หลักการเดิมของรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 แต่ก็ไม่ทันการเสียแล้ว

และสว. ก็ยิ่งตกผลึกไปในทางเดียวกันมากขึ้นหลัง “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์” ที่เป็นคนนำรายชื่อสว.ทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯ ออกมาส่งสัญญาณ “ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพลังประชารัฐบางมาตรา”

www.thaigov.go.th

ที่พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณผ่านมาจาก “อนุชา บูรพชัยศรี” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุไว้ 23 มิ.ย ก่อนหน้าการลงมติของที่ประชุมรัฐสภาหนึ่งวันว่า…

“พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 144 และ 185 เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวได้วางหลักการสำคัญห้ามมิให้ ส.ส.และ ส.ว.เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการ หรือจำนวนในรายการของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่สามารถลดหรือตัดทอนรายจ่ายได้เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐธรรมนูญ 2560 นายกรัฐมนตรียังเห็นว่า การจัดทำข้อเสนอโครงการในแต่ละจังหวัด ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นผ่านกระบวนในส่วนต่างๆ ได้ ในส่วนของมาตรา 185 นายกฯ เห็นว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องแล้ว”

พอ “บิ๊กตู่” ส่งสัญญาณมาแบบนี้ชัดๆ สว.ทั้งหมด ก็เห็นพ้องไปในทางเดียวกันหมด เลยจัดการ วิสามัญการเมืองร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพลังประชารัฐ ตั้งแต่วาระแรก ด้วยการที่ไม่่มีสว.แม้แต่คนเดียว ที่ลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพลังประชารัฐ

ผลเลยทำให้ ร่างดังกล่าว แท้งตั้งแต่วาระแรก ชนิดหลายคนคาดไม่ถึง

สิ่งที่เกิดขึ้น ถือเป็นบทเรียนการเมือง ที่ แกนนำพลังประชารัฐบางคน ต้องเรียนรู้ไว้ว่า อย่าชะล่าใจเกินไป เพราะที่เคยคิดว่า บางกลุ่มบางคน สั่งได้หมด ขอได้ทุกเรื่อง เลยเดินเกมยังไงก็ได้ เพราะคิดว่ามีเสียงในรัฐสภา คอยแบ็คอัพทุกเรื่อง แต่ถึงเวลาจริง ๆ เกมที่เดิน หากวางหมากผิด คิดไม่รอบด้าน มุ่งหวังผลการเมืองมากเกินไป สุดท้ายก็จะ “หน้าแตก” อย่างที่เห็น กับการโดน “สภาสูง” สั่งสอน ตบหน้าฉาดใหญ่

………………………………………………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img