วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS'จีเอสพี.-บาทแข็ง-ศก.โลก' วิบากรรมส่งออกไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘จีเอสพี.-บาทแข็ง-ศก.โลก’ วิบากรรมส่งออกไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐประกาศตัดสิทธิ์ GSP “จีเอสพี.” (สิทธิพิเศษด้านภาษีอากร) สินค้าส่งออกของไทย ซึ่งจะมีผลในวันที่ 30 ธันวาคมนั้น “ทรัมป์” อ้างว่า…เนื่องจากไทยไม่สามารถเปิดตลาดนำเข้าหมูจากสหรัฐ แม้ว่าจะมีการเจรจาการค้ามานานกว่า 12 ปีแล้วก็ตาม

โดยในปี 2018 ที่ผ่านมา สมาคมผู้ผลิตเนื้อหมูของสหรัฐ ได้ขอให้สหรัฐ ตัดสิทธิ์ GSP ของไทย เนื่องจากผู้ผลิตของสหรัฐไม่สามารถเข้าถึงตลาดในประเทศไทย

กล่าวสำหรับ “จีเอสพี.” ซึ่งเป็น สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ที่สหรัฐให้การช่วยเหลือทางการค้า โดยลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าให้แก่สินค้าไทย เพื่อให้แข่งขันกับสินค้าจากประเทศพัฒนาแล้วในตลาดสหรัฐได้ กลายเป็นอาวุธ ที่สหรัฐไว้คอยบีบคอหอยเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้ามาตลอด เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วไทยเพิ่งโดนสหรัฐตัดสิทธิ์ มูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4 หมื่นล้านบาท

ล่าสุดประกาศตัดสิทธิ์ จีเอสพี.ไทย อีกเป็นมูลค่า 817 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 25,433 ล้านบาท สินค้าที่โดนหางเลข อาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ ล้อรถยนต์ กระปุกเกียร์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หลอดและท่อทำด้วยยางวัลคาไนซ์ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบางอาหารอบแห้งบางชนิด ฯลฯ รวมเบ็ดเสร็จ 2 รอบนี้ไทยเสียหายแล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้การตัดสิทธิ์จีเอสพี. ไม่ได้แปลว่าผู้ส่งออกไทยจะส่งสินค้าไปตลาดสหรัฐไม่ได้ ซึ่งยังส่งออกได้เหมือนเดิม แต่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ ไม่ใช่อัตราที่เคยได้รับ แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ สินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์นั้น เคยอยู่แบบสบายๆ ไม่ต้องดิ้นรนพัฒนาคุณภาพอะไร ยังไงก็ขายได้ เพราะการได้สิทธิพิเศษทางภาษี ทำให้ได้เปรียบด้านต้นทุนราคาสินค้า จึงถูกกว่าคู่แข่ง แต่หลังจากนี้จะไม่ได้เปรียบคู่แข่งอีกต่อไป

ในด้าน ผู้ส่งออก ก็น่าเห็นใจ เพราะที่ผ่านมาต้องเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติ ชนิด 2 เด้ง ทั้ง วิกฤติเศรษฐกิจโลกตกต่ำจากพิษโควิด-19 ระบาด ประเทศคู่ค้าต่างพากันลดการนำเข้าเน้นการบริโภคสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศมากขึ้น ทำให้รายได้จากการส่งออกของไทย ที่เคยเป็นรายได้หลัก คาดว่าปีนี้จะต่ำสุดในรอบ 11 ปีเลยทีเดียว มิหนำซ้ำที่ผ่านมายังต้องเจอ พิษเงินบาท “แข็งค่า” มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าโดยตรง และล่าสุดก็โดนเพิ่มอีกเด้ง เมื่อสหรัฐตัดจีเอสพี. คราวนี้อาจจะถึงขั้นปิดกิจการปลดคนงานเป็นการสังเวยก็ได้

กระนั้นก็ตาม การที่รัฐบาลปกป้องไม่ให้นำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในหมูจากสหรัฐมาทุ่มตลาดตัดราคา ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะหากยอมให้นำเข้ามาได้ ผู้เลี้ยงหมูบ้านเรา ที่ไม่ได้มีเฉพาะรายใหญ่ๆ แต่ยังมีฟาร์มของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในภาคกลาง เช่น นครปฐม ราชบุรี ชลบุรี และจังหวัดอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ต้องได้รับความเสียหาย คาดว่าไม่น้อยกว่าหลักหมื่นล้านบาท หากเทียบกับความเสียหายของผู้ส่งออกที่โดนตัด GSP ที่ต้องเสียภาษีเพิ่มคิดเป็นไทยกว่า 600 ล้านบาท หักกลบลบกันแล้ว งานนี้การที่รัฐบาลปกป้องผู้เลี้ยงหมู ถือว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

ยิ่งกว่านั้น…เนื้อหมูจากสหรัฐ เลี้ยงโดยใช้สารเร่งเนื้อแดง อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งไทยมีกฏหมายห้ามใช้สารดังกล่าวมานานสิบๆ ปี หากรัฐบาลยอมให้นำเข้าได้ เท่ากับกฏหมายก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ เกษตรกรไทยก็อาจเป็นข้ออ้างเพื่อจะกลับมาใช้สารเร่งเนื้อแดงได้เช่นกัน อย่าลืมเรื่องนี้ป็นเรื่องใหญ่ หน้าที่รัฐบาลนอกจากจะปกป้องเกษตรกรในประเทศแล้ว ยังต้องปกป้องสุขภาพของประชาชนในประเทศด้วย เหมือนญี่ปุ่นที่เคยกีดกันการนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งจากไทยและสหรัฐ เพราะกลัวโรคปากและเท้าเปื่อย เรื่องนี้สู้กันมาเป็นสิบๆ ปี จนทุกวันนี้ไทยก็ยังส่งเนื้อหมูแช่แข็งเข้าญี่ปุ่นไม่ได้

ส่วนเรื่องผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลว่าจะทำอย่างไร จะผ่อนหนักเป็นเบา ด้วยมาตรการต่างๆ ส่วนผู้ส่งออกที่เคยเสวยสุขกับการได้ได้สิทธิ์จีเอสพี. มานาน ทั้งนี้ ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ปีละ 30,000 ล้านเหรียญ นับจากนี้ก็ควรต้องเร่งปรับตัวยกระดับคุณภาพสินค้า ให้สามารถขายในราคาสูงขึ้น รวมถึงการเร่งหาตลาดใหม่ๆ ให้กว้างขึ้น ไม่ใช่รอพึ่งเนื้อนาบุญจากสหรัฐเท่านั้น อย่างไรก็ตามการตัดสิทธิจีเอสพี.ครั้งนี้ คาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกไม่มาก หากเทียบกับผลกระทบจากค่าบาทแข็งค่า ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยมากกว่าหลายเท่า

ดังนั้นหากภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลืออะไรออกมาก็ควรแก้ให้ถูกจุดเกาให้ถูกที่คัน

…………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”



- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img