วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS'จ่ายคนละครึ่ง' กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยหนี้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘จ่ายคนละครึ่ง’ กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยหนี้

หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเติบโตด้วยหนี้และยอดหนี้เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด สถานการณ์ประเทศไทยในอนาคตจึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง หากรัฐบาลและประชาชนยังมีความสุขกับการ “เสพติดประชานิยม”

อย่าลืมว่า…เหตุผลหนึ่งที่ใช้เป็นข้ออ้างของการรัฐประหาร “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” โดย “คสช.” ในปี 57 นั่นคือนโยบาย “ประชานิยม” ที่สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะเดียวกันนับตั้งแต่รัฐบาลคสช. จนถึงรัฐบาลลุงตู่ในปัจจุบัน นโยบาย “ประชานิยม” ก็ยังอยู่และมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดโครงการ “คนละครึ่ง” ที่รัฐบาลช่วยชาวบ้านจ่ายเงินซื้อสินค้าครึ่งหนึ่ง สูงสุดวันละ 150 บาท หรือ 3,000 บาทตลอดโครงการ มีร้านค้าหลายแสนร้านเข้าร่วมกันอย่างคึกคัก ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าในตลาดและร้านค้าห้องแถวที่ไม่เข้าข่ายเข้าร่วมในโครงการรัฐที่ผ่านมา เรียกว่างานนี้ถึงมือร้านค้ารายย่อยระดับชุมชนจริงๆ

นับว่าสอดคล้องกับจุดประสงค์โครงการที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยค่าใช้จ่ายของคนชั้นกลางและคนมีรายได้น้อย ไว้จับจ่ายซื้อสินค้าจำพวกอาหารและเครื่องดื่ม ที่ใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ให้มีเงินสะพัดในระบบมากขึ้น

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย cr / FB ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พูดถึงโครงการนี้ว่า “มาตรการคนละครึ่ง บรรเทาค่าครองชีพให้คนละ 300 บาท/วัน โดยรัฐจะจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง หรือไม่เกิน 150 บาท/วัน รวม 10 ล้านคน วงเงิน 30,000 ล้านบาท ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้ประชาชนน่าจะทำให้เงินหมุนในระบบได้ 2-3 รอบ หรือมากกว่า 60,000 ล้านบาท”

แม้จะเป็นโครงการที่ดีมาก ๆ แต่ในทางปฏิบัติก็มีปัญหา เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าบางคนหัวหมอ ฉกฉวยโอกาสและเอาเปรียบลูกค้าด้วยการขึ้นราคาสินค้าทันที เพราะเห็นว่าอย่างไรลูกค้าก็จ่ายเพียงครึ่งเดียว อย่างร้านกาแฟหลายๆ ร้านเคยขายแก้วละ 60 ก็ ขึ้นเป็น 65 หรือร้านขายอาหารตามสั่งก็ขึ้นราคาอีกจานละ 5 บาท ร้านข้าวแกง ในตลาดปกติตักครั้งละ 35 ตอนนี้ตักครั้งละ 40 บาท

ทั้งนี้คนที่ได้รับผลกระทบ ไม่เฉพาะคนที่เข้าโครงการคนละครึ่งเท่านั้น คนจ่ายเงินสดยิ่งกระทบหนักกว่า แต่สิ่งที่ชาวบ้านกลัวว่า หากหมดโครงการแล้วพ่อค้าแม่ค้าที่ขึ้นราคาไปแล้ว คงยากที่จะลดราคาลงมา เป็นเรื่องธรรมชาติอะไรที่ขึ้นไปแล้วเอาลงลำบาก

ข้อเสียอีกอย่างโครงการนี้ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดนัดคนขายอาหารทางออนไลน์ พวกรายเล็กจริงๆ ถูกแย่งตลาด เท่าที่สอบถามแม่ค้าออนไลน์ บางรายเคยขายได้วันละ 3 พันกว่าบาท หลังจากมีโครงการคนละครึ่ง ยอดขายเหลือแค่พันกว่าบาท เพราะโดน “ร้านค้าคนละครึ่ง” แย่งลูกค้า

แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดนั่นคือ ทำให้ “ชาวบ้าน” เสพติดการได้ของฟรีจนติดนิสัย เหมือนกับที่เคยเสพติดประชานิยม รัฐบาลก็พลอยเสพติดตามไปด้วย ต้องคิดหามาตรการแปลกๆ ใหม่ๆ ลดแลกแจกแถมแบบพิศดารขึ้นเรื่อยๆ เพื่อมาเอาใจชาวบ้าน โดยไม่ต้องคิดเยอะ แค่แจกเงินก็ได้รับความนิยม ยิ่งคราวนี้ผลโพลล์ออกมาเรตติ้งรัฐบาลพุ่งสูงขึ้นจากโครงการ “คนละครึ่ง”

ตอนนี้ลุงตู่จึงเตรียมเร่งอัดฉีดมาตรการลด แลก แจก แถม โดยเตรียมขยายโครงการ “คนละครึ่ง” เปิดโปรโมชันเพิ่มเฟส 2–3 ตามมา โดยที่ทั้งชาวบ้านและรัฐบาลลืมไปว่า เม็ดเงินที่ใช้นั้น ต้องกู้มาโปะโครงการลด แลก แจกมาตลอด สักวันหนึ่งหากถึงจุดหมดรอบ แล้วจะทำยังไงต่อไป

ที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืนโดยเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ในระยะสั้นๆ เช่น ในภาคการท่องเที่ยวที่เน้นเชิงตัวเลข เน้นจำนวนคน เป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงผลข้างเคียง หรือต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม หรือการเน้นกระตุ้นการบริโภค เน้นให้เกิดการกู้ยืมเพื่อให้เกิดการใช้จ่าย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตได้ดี แต่ก็ไม่ได้คำนึงถึงผลข้างเคียงในเรื่องการก่อหนี้ครัวเรือน ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง และยังเป็นความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย

ตัวเลข “บัญชีของประเทศ” สะท้อนชัดเจนว่ารายรับของประเทศที่เคยได้จากการส่งออกและการท่องที่ยวทุกวันนี้รายได้จากทั้งสองทางแทบไม่มีเข้ามา ดังนั้นเม็ดเงินที่รัฐบาลนำมาแจกล้วนมาจากการ “ก่อหนี้” ทั้งสิ้น วันนี้อาจจะใช้จ่ายคนละครึ่ง แต่วันหน้าประชาชนต้องร่วมกันรับผิดชอบจ่ายหนี้ไปเต็มๆ

………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”



- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img