วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ดีลยักษ์”พิสูจน์ฝีมือ“กสทช.” ผู้บริโภคได้หรือเสียประโยชน์?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ดีลยักษ์”พิสูจน์ฝีมือ“กสทช.” ผู้บริโภคได้หรือเสียประโยชน์?

ในที่สุด…มหากาพย์ดีลใหญ่การควบรวมกิจการระหว่าง “ทรู-ดีแทค” น่าจะเดินหน้าต่อไปได้…แม้! หนทางอาจไม่สวยหรู หรือราบรื่น เพราะทุกก้าวเดินหมายถึง “ผลประโยชน์” ในทุกด้าน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ผลการประชุมนัดพิเศษของ คณะกรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ดกสทช. มีผลคะแนนที่ไม่เป็นเอกฉันท์ 3 เสียง ต่อ 2 เสียง มีมติว่า “ไม่มีอำนาจ” ในการพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้ทั้ง 2 ค่ายมือถือควบรวมกิจการกัน ซึ่งก็เป็นไปตามกระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว

ในเรื่องของการลงมติว่า มีอำนาจ หรือ ไม่มีอำนาจ ในการพิจารณานั้น บอร์ดกสทช. 2 คน เห็นว่า ไม่มีอำนาจในการพิจารณา ขณะที่อีก 2 คน มีมติว่า มีอำนาจในการพิจารณา ส่วนอีก 1 คน งดออกเสียง


ด้วยเหตุนี้ “นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์” ในฐานะประธาน กสทช. จึงใช้อำนาจประธาน เพื่อลงคะแนนเสียงในฝั่งของ “ไม่มีอำนาจ” จึงกลายเป็น 3 เสียง ต่อ 2 เสียง

ทั้ง 3 เสียง เห็นว่า กสทช.มีอำนาจแค่รับทราบเท่านั้น เพราะตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 ข้อ 5 ระบุว่า ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตรายงานต่อ กสทช. แต่ไม่มีอำนาจในปฏิเสธการควบรวม ทำได้เพียงกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม เพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นเท่านั้น

แม้ว่าก่อนหน้านี้ “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ได้ให้ความเห็นทางกฎหมายไว้ชัดเจนว่า การใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาการรวมธุรกิจ เป็นหน้าที่และอำนาจของกสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามกฎหมายก็ตาม

ขณะเดียวกัน! ก่อนหน้านี้…ก็มีการปล่อยเอกสารในเรื่องของมาตรการเยียวยา 14 ข้อ ออกมา จนทำให้ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ต้องแสดงสรรพกำลังออกมาคัดค้านอีกรอบว่า ไม่เห็นด้วยกับมาตรการเยียวยาทั้ง 14 ข้อ

การพิจารณาของกสทช.นัดพิเศษครั้งนี้ ต้องถือว่า เป็นการประชุมที่มาราธอน เพราะใช้เวลาเกือบ 12 ชั่วโมงทีเดียว เพื่อหาทางออกแบบรอมชอม ที่สุด

เพราะ…ไม่ว่าจะมีมติออกมาทางไหน จะหัว…จะก้อย ก็หนีไม่พ้นต้องถูกดำเนินคดีอยู่แล้ว หากไฟเขียวให้ดีลยักษ์เดินหน้าได้ต่อไป ก็ต้องเผชิญกับ ม.157 จากภาคประชาชน แต่ถ้าไม่ให้เดินหน้าต่อ ก็หนีไม่พ้น ที่ภาคเอกชนต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายแน่นอน!!


ที่ผ่านมา “ดีลยักษ์” นี้ถูกจับตาความเคลื่อนไหวทุกทางและตกเป็นข่าวมาโดยตลอด นับตั้งแต่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ กลุ่มเทเลนอร์ จากนอร์เวย์ ได้ประกาศความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน โดย “ทรูและดีแทค” จะปรับโครงสร้างธุรกิจและจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่โดยการควบรวมกิจการเมื่อเดือนพ.ย.ปี 64

ดีลนี้…ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคมไม่น้อย เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ผู้บริโภค “เดือดร้อน” เพราะการแข่งขันในตลาดลดลง โดยเหลือผู้เล่นเพียงแค่ 2 ราย ที่มีส่วนแบ่งการตลาดใกล้เคียงกัน

หากเมื่อ ผู้เล่น หรือ ผู้ประกอบการ ร่วมมือกัน หรือ “ฮั้ว” กัน นั่นหมายความว่า ผู้บริโภค หนีไม่พ้น ต้องเสียเปรียบแน่นอน!!

เพราะก่อนหน้านี้มีผลการศึกษาที่ระบุว่า หากมีการควบรวมค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งผลการศึกษาของที่ปรึกษาทางการเงินทรูและดีแทค พบว่า ช่วงแรกที่มีการควบรวมกิจการ จะมีภาระค่าใช้จ่ายในการเอาดีแทคออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และนำไปรวมธุรกิจในชื่อใหม่ โดยการทำแบรนด์ดิ้ง แผนการตลาด ทำโปรโมชั่นจูงใจให้ลูกค้าอยู่ต่อในระยะแรก จำเป็นต้องลดราคาลง แต่ในระยะยาวค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10%

ไม่เพียงเท่านี้ ก็มีผลการศึกษาในบางส่วนที่ออกมาระบุว่า หากผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมเหลือเพียงรายใหญ่เพียง 2 ราย คือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และ บริษัทใหม่ที่เกิดหลังจากควบรวมแล้ว จะทำให้ค่าใช้บริการแพงขึ้นทันที 20-30%

จนถึงเวลานี้ อาจฟันธงได้ชัด ๆ ไปเลยว่า การควบรวมทรูและดีแทค สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ทั้งหมด ก็ต้องหันมาดูในรายละเอียดของเงื่อนไขที่กสทช.กำหนดออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบนั้น ว่า สุดท้ายแล้ว!!จะช่วยเยียวยาหรือรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคได้มากน้อยเพียงใด?

……………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img