วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSรัฐบาลทุ่มสุดตัวเร่ง“แก้หนี้” ขนแบงก์รัฐจัด“โปรฯแรง”อุ้ม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

รัฐบาลทุ่มสุดตัวเร่ง“แก้หนี้” ขนแบงก์รัฐจัด“โปรฯแรง”อุ้ม

รัฐบาลตีฆ้องร้องป่าวว่า…ปีนี้!! เป็น… ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน โดยได้พยายามผลักดัน ทำคลอดสารพัดมาตรการ เพื่อหวังให้ประชาชนคนไทยเดือดร้อนจากการเป็นหนี้น้อยลง

นัยสำคัญ ก็เพื่อให้คนที่เป็นหนี้ “มีโอกาส” ในการหายใจได้มากขึ้น มีเวลาขยับขยายปรับปรุงวิถีชีวิตตัวเอง เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ การใช้ชีิวิตให้ดีขึ้น หลังจากที่ผ่านมาต้องผจญเผชิญสารพัดมรสุม จนหลายรายต้องสิ้นเนื้อประดาตัวไปก็มี

ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนที่แบงก์ชาติ ออกรายงานมาล่าสุด พบว่า…สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไทย ในไตรมาสสอง ของปี 65 ได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 88.2% จากไตรมาสแรก ที่อยู่ที่ระดับ 89.2%

ที่สำคัญ!! เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ก็พบว่า หนี้ครัวเรือน มีอัตราเติบโตเพียงแค่ 3.5% เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำกที่สุดในรอบ 18 ปี

แม้ว่า…ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างล่าสุด จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.76 ล้านล้านบาทก็ตาม!!

บรรดากูรูเศรษฐศาสตร์ ต่างมองในทิศทางเดียวกันว่า หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ได้แก่ หนี้บ้าน หนี้เพื่อการประกอบอาชีพ หนี้เช่าซื้อรถยนต์ ต่างมีอัตราเติบโตที่ช้าลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้อาจสะท้อนว่า ครัวเรือนได้ระมัดระวังการก่อหนี้ก้อนใหญ่ก้อนใหม่ ในช่วงที่เศรษฐกิจและรายได้ของครัวเรือนยังมีความไม่แน่นอนในช่วงวิกฤตโควิด-19

แต่ขณะเดียวกันอาจมองได้ว่า ครัวเรือนมีภาระหนี้เดิมอยู่ในระดับสูง และเริ่มมีข้อจำกัดในการก่อหนี้ใหม่ เพราะฐานะทางการเงินมีสัญญาณอ่อนแอลง โดยที่บรรดารายย่อย รากแก้ว รากหญ้า และภาคครัวเรือน ต่างมีหนี้บัตรเครดิต หนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคล เพิ่มมากยิ่งขึ้น

สัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ได้ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8.2% ของหนี้ครัวเรือนโดยรวม จากที่ไตรมาสแรกของปีนี้ ยังอยู่ที่ 7.9% ขณะที่ไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน อยู่ที่ 7.7%

การเพิ่มขึ้นของหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลครั้งนี้ แสดงให้เห็นได้ว่า ครัวเรือนจำนวนมาก ต้องการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องของตัวเอง รวมทั้งแก้ปัญหาที่มีรายได้ไม่พอกับรายรับ

ด้วยเหตุนี้งานใหญ่!!อย่าง…มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน!! จึงเริ่มอุบัติขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พ.ย. 65 เป็นครั้งแรก ที่อิมแพค เมืองทองธานี

งานนี้หนีไม่พ้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องรับบท “ประธาน” ในการเปิดงานด้วยตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับความตั้งใจที่ต้องการแก้หนี้ให้กับคนไทยให้ตลอดรอดฝั่งให้ได้

ขณะเดียวกันในเมื่อรัฐบาล เป็นคนจัดงาน บรรดาแบงก์รัฐ ก็ต้อง “รับหน้าเสื่อ” งัดสารพัด “แพคเกจแก้หนี้” เข้ามาช่วยเหลือและจูงใจให้ลูกหนี้หันมาปรับหนี้..แก้หนี้..ลดหนี้ กันให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะ “แบงก์ออมสิน” ที่รับบทเจ้าภาพหลักในการจัดงานครั้งแรก

แถมรัฐบาลอนุมัติงบประมาณให้อีก 600 ล้านบาท เพื่อนำไปชดเชยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ในโครงการ “สินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน” หรือชดเชยให้ 30% ของวงเงินโครงการที่จัดวงเงินไว้ที่ 2,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการสินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน ธนาคารจะปล่อยกู้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับคนที่มีรายได้ประจำ พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่แผงลอย หรือผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 1 แสนคน โดยให้กู้ไม่เกิน 20,000 บาท คิดดอกเบี้ยเพียง 0.35% ต่อเดือน

นอกจากดอกเบี้ยจะต่ำกว่าการกู้ยืมเงินนอกระบบอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ยังให้เวลาปลอดเงินต้นในช่วง 6 เดือนแรกอีกต่างหาก ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพียงแค่เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีขึ้นไป ก็ยื่นกู้ได้จนถึง 31 ม.ค. ปีหน้า

รัฐบาลมีกำหนดจัดงานมหกรรมแก้หนี้ทั้งหมด 5 ครั้ง คือ ครั้งแรกวันที่ 4-6 พ.ย.นี้ ที่อิมแพค ถัดไปจะจัดที่จ.ขอนแก่น วันที่ 18-20 พ.ย.65 จากนั้นก็จัดที่จ.เชียงใหม่ วันที่ 16-18 ธ.ค.65 ก่อนข้ามปีไปจัดที่ชลบุรี วันที่ 20-22 ม.ค.66 และ สุดท้ายไปปิดที่สงขลา วันที่ 27-29 ม.ค.66

รัฐบาลคาดหมาย คาดหวังว่า การระดมจัดงานแก้หนี้ โดยนำสินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน มาเป็นตัวชูโรง ครั้งนี้ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ช่วยเพิ่มโอกาส ให้กับประชาชนคนไทยตาดำ ๆ ที่อยู่ในช่วงวิกฤติ

ขณะเดียวกันก็ “พ่วง” สารพัดมาตรการทั้ง ลดหนี้ พักหนี้ พักดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ สินเชื่อใหม่ดอกเบี้ยถูก ให้คำแนะนำในการทำมาหากินเพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น

ทั้งหลาย…ทั้งปวง ก็ต้องมาดูว่าความฝันของรัฐบาลจะเดินทางไปได้ไกลแค่ไหน? เพราะอย่าลืมว่าอนาคตข้างหน้ายังมีมหาพายุรอถล่มอีกหลายลูกกันทีเดียว!!

…………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img