วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSจำไว้ไม่คลิก-ไม่โหลดมั่ว แค่นี้!! เงินก็ไม่หมดกระเป๋า
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จำไว้ไม่คลิก-ไม่โหลดมั่ว แค่นี้!! เงินก็ไม่หมดกระเป๋า

ทำเอาคนไทยตกใจทั้งประเทศ!! หลังเกิดกระแสข่าว “สายชาร์จดูดเงิน” แม้สุดท้ายแล้วเรื่องจะ “โอละพ่อ” กลายเป็นเรื่องกลลวง ไปติดตั้งแอพพลิเคชั่นหาคู่เถื่อน แล้วถูกดูดเงินไปจนหมด

ปัญหาเรื่องแอพฯดูดเงิน ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว และก็นับครั้งไม่ถ้วน บางรายก็ได้รับการดูแล ดำเนินคดี จับกุมตัวผู้กระทำผิดได้ แต่แทบจะนับเคสได้ เพราะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับคดีที่เกิดขึ้น

เอาเข้าจริง…ทั้งหลายทั้งปวง… ก็ขึ้นอยู่กับตัวเองเป็นหลักทั้งนั้น หากไม่โลภ ไม่กดลิงค์มั่ว เพราะความอยากรู้อยากเห็น หรืออยากทดลองอะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่เดือดร้อน

ขนาดสารพัดหน่วยงานออกมา เตือนแล้ว…เตือนอีก…ข่าวคราวก็มีให้เห็นทุกวัน ก็ยังไม่วายตกเป็น “เหยื่อ” นิดหน่อยก็เป็นไร แล้วก็หาได้น้อย เพราะส่วนใหญ่แล้วเจอเคสหนักๆ หมดเนื้อหมดตัว บางรายถึงขั้น “จบชีวิต” ก็มีให้เห็น

แต่!! ในโลกแห่งยุคเสมือน ในโลกของดิจิทัล ข้อมูลทุกอย่างต่างไหลเข้าไหลออกอย่างรวดเร็ว ไล่จับกันไม่ทัน หากฝากความหวังไว้กับผู้คุมกฎ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง คงไม่ทันการณ์

แบงก์ชาติและสมาคมธนาคารไทยชี้แจง


สุดท้าย…ก็ต้องใช้หลักธรรมในพุทธศาสนาที่ว่า “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” เข้ามาช่วยเหลือดูแลตัวเอง !!

ต่อให้ทั้งแบงก์ชาติและแบงก์พาณิชย์ ผนึกกำลังหาทางป้องกัน พัฒนาเครื่องมือและการตอบสนองให้เท่าทัน ให้รวดเร็ว ให้ทันการณ์ รวมไปถึงการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ตาม

แต่การ “ล้อมคอก” ก็ไม่สามารถหยุดยั้งปัญหา “แอพดูดเงิน” ได้ทั้งหมด เหมือนกับ ตำรวจไล่จับผู้ร้าย นั่นแหล่ะ จับเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด

อย่างที่บอก ทุกอย่าง ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนั้นถูกต้องที่สุดแล้ว อย่างเรื่องของ สายชาร์จโทรศัพท์นั้น ดูดเงินได้จริงหรือเปล่า?

พล.อ.ต.อมร ชมเชย


คำตอบจาก “กูรู” อย่าง พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ เลขาฯ กมช. บอกว่า สายชาร์จดูดเงินน่ะ..มีอยู่จริง!! ซึ่งมีการผลิตอยู่ที่ต่างประเทศ

ถามว่า? มีโอกาสมากน้อยแค่ไหน? ที่สายชาร์จนี้จะเล็ดลอดเข้ามาในเมืองไทย บอกได้เลยว่า…มีโอกาสน้อยมาก เพราะไม่คุ้มค่า ราคาแพง ที่สำคัญหากต้องการหลอกลวง แฮกเกอร์ต้องอยู่ใกล้เป้าหมายเท่านั้น

การทำงานของสายชาร์จนี้ จะจำลองตัวเองเหมือน “ไวไฟ” เมื่อแฮกเกอร์อยู่ใกล้ ก็สามารถเชื่อมต่อไปที่สายชาร์จได้ และสามารถจับสิ่งต่าง ๆ หรือข้อมูลในมือถือได้

นอกจากนี้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีคนมาทำอะไรกับโทรศัพท์มือถือก่อน และมีแฮกเกอร์มาดักดูดข้อมูลในบริเวณใกล้เคียง แต่รัศมีต้องไม่ไกลเกินไป แต่ใช่ว่าวางโทรศัพท์ไว้เฉยๆ แล้วจะดูดข้อมูลไปได้

เลขากมช. อธิบายให้เห็นชัดอีกว่า ตามปกติแล้วการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว ต้องถามเจ้าของเครื่องหรือข้อมูลก่อน เช่น การใช้งานฟีเจอร์ในรถสมัยใหม่ที่มี แอปเปิ้ล คาร์เพลย์ ฯลฯ เมื่อเสียบสายครั้งแรกจะมีการถามก่อน ถึงยอมให้ดูดข้อมูลต่างๆ เช่น เพลง เบอร์โทรฯ จากเครื่อง ไม่ใช่ว่าเพียงแค่เสียบสายแล้วข้อมูลที่มีอยู่จะไหลออกมาหมด โดยที่ไม่ได้ทำอะไรกับตัวมือถือ

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา


เช่นเดียวกับ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ที่ระบุว่า สายชาร์จที่ทำมาสำหรับดูดข้อมูลนั้นมีใช้จริง แต่ไม่สามารถเข้าถึงแอพพลิเคชั่น เพื่อดูดเงินออกมาได้

ส่วนใหญ่แล้ว สายชาร์จประเภทนี้ ดูดได้เฉพาะข้อมูลพื้นฐาน หรือข้อมูล GPS รวมทั้ง…ยังเป็นเครื่องมือสำหรับผู้เชี่ยวชาญใช้เฉพาะทางด้านเทคนิคอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม เรื่องเร่งด่วนในเวลานี้ ที่ทุกฝ่ายต้องทำเพิ่มมากขึ้นไปอีก คือ การเตือนให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ  อย่าหลงกลมิจฉาชีพ เข้าไปดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น เพียงเพื่อเข้าไปดูไลฟ์วิว หรือ…หากต้องการติดตั้งแอพพลิเคชั่น ต้องติดตั้งจาก Google Play หรือ App store

มาจนถึงขนาดนี้ จำไว้เลยว่า…คาถาป้องกันตัวเอง ให้รอดพ้นจากบรรดาแอพฯดูดเงินทั้งหลาย จำไว้ให้ขึ้นใจ…ไม่คลิกลิงก์มั่ว-ไม่ดาวโหลดโปรแกรมเถื่อน-อัปเดตโมบายล์ แบงกกิ้ง ให้เป็นปัจจุบัน-ไม่ใช้มือถือเถื่อนที่เจลเบรก-ขยันหาข้อมูลที่ถูกต้อง สุดท้ายรีบแจ้งแบงก์ทันที

เชื่อเถอะ… เพียงแค่นี้ใครก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว นอกจาก “ซวย” ก็เท่านั้น !!

………………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img