วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSแก้ไม่ตก!! หนี้ครัวเรือน รายได้ไม่พอ รายจ่ายก็ต้อง“กู้”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แก้ไม่ตก!! หนี้ครัวเรือน รายได้ไม่พอ รายจ่ายก็ต้อง“กู้”

รัฐบาลของ “ลุงตู่” ได้กำหนดให้เรื่องของ การไกล่เกลี่ยหนี้ รวมไปถึง การปรับโครงสร้างหนี้ เป็น “วาระของชาติ” มาตั้งแต่ปลายปี 64 ต่อมาจนถึงปี 65 ก็ได้ประกาศให้เป็น ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน

เป้าหมายสำคัญ!! ที่ต้องเร่งแก้ไข เน้นไปที่ 8 กลุ่มสำคัญ ได้แก่

1.การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

2.การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านกลไกธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินของรัฐ

3.การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์

4.การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการ

5.การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม รวมทั้งการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของลูกหนี้

6.การแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

7.การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและเอสเอ็มอี

8.การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน

cr : www.kasikornresearch.com

จากการตระหนักปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็น 14.58 ล้านล้านบาทในปี 64 โดยอัตราส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 90.1% ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนการก่อหนี้ที่สูง เมื่อเทียบกับรายได้

ขณะที่ล่าสุด…ตามข้อมูลของแบงก์ชาติ พบว่า หนี้สินครัวเรือนไทย ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 65 มีจำนวน 14.90 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 86.8% ต่อจีดีพี

ด้วยเพราะ…จำนวนจีดีพีในปี 65 มีจำนวนมากขึ้นเป็น 18.7 ล้านล้านบาท จึงทำให้สัดส่วนต่อจีดีพี ของหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 3 ปี 65 มีสัดส่วนที่น้อยกว่าสิ้นปี 64 แม้จำนวนหนี้สินจะมีมากกว่าก็ตาม

ต้องยอมรับว่า!! ปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็น…ปัญหาเชิงโครงสร้าง!! ของเศรษฐกิจไทยมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีหลังเกิดสถานการณ์โควิด 19 ที่เศรษฐกิจไทยกลับมาทยอยฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน

แต่การฟื้นตัวที่เกิดขึ้น เป็นการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง ที่บรรดากูรูทางเศรษฐศาสตร์ ได้บัญญัติรูปแบบการฟื้นตัวที่ว่า…เป็นเหมือน เค-เชป หรือ ฟื้นตัวเป็นรูปตัว K

แถม!! ค่าครองชีพในแต่ละวันก็สูงปรี๊ด ดอกเบี้ยที่กู้ยืมมาก็มีแต่ปรับขึ้น…ปรับขึ้น!!

ถ้าจะไม่ให้เกิดหนี้ครัวเรือนทับถมกันมากขึ้นไปกว่านี้ จนกลายเป็นปมปัญหาทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุดกึก

สิ่งสำคัญที่สุด ก็ต้องดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ทันเวลา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที

ด้วยเหตุนี้เอง…จึงกลายเป็นที่มาของการเกิด มหกรรมแก้หนี้ ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และการจัดสัญจร 5 ภาค ที่เกิดขึ้นไปแล้วในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ตลอดเวลาในการจัดงานที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนก.ย.65 มาจนถึงเวลานี้ ปาเข้าไปกว่า 4 เดือน แต่ปรากฎว่า…สามารถแก้ไขหนี้ไปได้ราว 50,000 รายการเท่านั้น

มหกรรมแก้หนี้

จากบรรดาผู้ที่เป็นหนี้ทั้งหลายกว่า 4.4 แสนรายการ ที่แห่แหนกันเข้ามาลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แม้ในจำนวนนี้จะมีมากถึง 1 แสนรายการที่ลงทะเบียนไว้ แต่ขาดการติดต่อหรือติดต่อไม่ได้

ขณะที่อีก 1 แสนรายการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด หรือพูดง่าย ๆ ว่ามีเงื่อนไขที่ไม่ถูกต้อง เช่น วงเงินหนี้อาจมีมากกว่าที่กำหนด หรือประเภทหนี้ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ส่วนอีกกว่า 1.5 แสนรายการ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการติดตามแก้ไขหนี้อย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขที่ปรากฎเช่นนี้…ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะบรรดาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ยังตงต้องเดินหน้าต่อเนื่อง เพื่อให้การแก้ไขสัมฤทธิ์ผล และเป็นไปตามเป้าหมายที่ “ลุงตู่” กำหนด

ไม่เพียงเท่านี้!! อย่าลืมว่า ในช่วงนี้อยู่ในห้วงเวลาของ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ที่ทุกแบงก์ไม่ว่ารับหรือเอกชน ต่างเฮโลปรับขึ้นดอกเบี้ยกันไปแล้ว อาจส่งผลให้บรรดาลูกหนี้ต้องแบกรับภาระเพิ่มมากขึ้น

แนวทางแก้ปัญหา ก็ไม่ใช่เพียงแค่ว่า ขยายเวลาชำระหนี้ เพราะอย่างไรหนี้ก็ไม่ลด หากหาเงินมาใช้หนี้ไม่ได้ ก็มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง อะไรก็ตามที่แบงก์ทำได้ ทั้งลดเงินงวดลง เสริมอาชีพให้ สร้างรายได้ เพิ่มเงินกู้ ก็ควรทำ

ที่สำคัญ!! การปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่ ก็ต้องเป็นไปตามกำลัง และเพิ่มระยะเวลาในการผ่อนให้นานที่สุด ไม่เช่นนั้น ก็วนเวียนกลับมามีปัญหาเหมือนเดิม

อย่าลืมว่า ตราบใดที่เศรษฐกิจยังขยายตัวไม่เต็มศักยภาพ เงินในกระเป๋าของคนไทยยังไม่เพิ่มขึ้น เมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่าย หนทางสุดท้ายก็ต้อง “กู้” กลายเป็นหนี้ วนไปเวียนมาอยู่เช่นนี้ เศรษฐกิจไทยก็เดินหน้าไม่ได้ ก็เหมือนกับการขว้างงูไม่พ้นคอ !!

…………….

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img