วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSจับตา“เด็กจบใหม่”ถูกเมิน ต้องเร่งอัพสกิลให้ได้งาน!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับตา“เด็กจบใหม่”ถูกเมิน ต้องเร่งอัพสกิลให้ได้งาน!!

ทุกวันนี้ พรรคการเมือง ต่างออกนโยบายหาเสียงสารพัดสารเพ เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงที่มากที่สุด ก่อนนำไปสู่การเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเรื่อง การเพิ่มเงินเดือน ก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่หยิบยกกันขึ้นมา ในสารพัดรูปแบบ

ทั้ง…เรื่องของ การเพิ่มค่าแรง การเพิ่มเงินเดือน ให้กับ ผู้ที่จบป.ตรี หรือแม้กระทั่ง การเว้นภาษีให้กับมนุษย์เงินเดือนที่มีไม่ถึง 40,000 บาท และอีกมากมาย

หลังพ้นมหันตภัยโควิด-19 ระบาด การมีงานทำเริ่มกลับมา เริ่มกลับเข้าสู่ระบบกันมากขึ้น ยกเว้น ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะภาคโรงแรม ที่ยังขาดแรงงานหลายล้านคน

แม้สถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในความเป็นจริง ต้องยอมรับว่า ยังมีคนตกงานอีกเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะบรรดาเด็กจบใหม่ ที่หางานแล้วแต่ยังไม่ได้งานทำ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าการหางานทำนั้นยากขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์” ออกมาเปิดเผยตัวเลขการมีงานทำของคนไทยล่าสุด เมื่อสิ้นปี 65 มีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.5% โดยมีผู้ว่างงานมีอยู่ราว ๆ 4.6 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.15%

ในจำนวนของผู้ว่างงาน พบว่า ในไตรมาสที่ 3 ปี 65 นั้น เป็นเด็กจบใหม่ถึง 2.3 แสนคนทีเดียว อย่างที่บอกในจำนวนนี้มีมากถึง 64.5% ที่ยังไม่มีงานทำ

จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม จะจบการศึกษามาในสาขาที่ไม่ตรงกับตลาดแรงงาน หรือได้งานที่ไม่ถูกใจ ไม่ถูกจริตจนไม่อยากจะทำ หรืออาจขอเลือกงานที่มีค่าจ้างสูง หรือเหตุผลอื่น…ก็ตาม

แต่!! ก็สะท้อนให้เห็นว่า การหางานทำนั้นยากขึ้นทุกทีเช่นกัน!!

ขณะที่ผู้ที่มีงานทำที่เพิ่มขึ้นนั้น เหตุผลสำคัญ ที่เห็นได้ชัดเจนก็มาจากเรื่องของ การเปิดประเทศ การที่สถานการณ์ท่องเที่ยวในไทยเริ่มกลับมามากขึ้น รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น มีความมั่นใจในเศรษฐกิจมากขึ้น

ข้อมูลจากสภาพัฒน์ มองแนวโน้มการจ้างงานในปี 66 ว่าจะยิ่งปรับตัวดีมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวมากขึ้น หรือเศรษฐกิจที่พ้นจากวิกฤตโควิด-19 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะละทิ้งหรือปล่อยวางได้เลย

อย่าลืมว่า…การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ใช่พุ่งปรี๊ดทันที แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แถมยังมีความไม่แน่นอนสูงอีกต่างหาก ทั้งการถดถอยของเศรษฐกิจโลก ทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ขณะที่สงครามยูเครนและรัสเซีย ก็ยังไม่ยุติ

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง และก็ส่งผลให้การจ้างงานในภาคการผลิต ในสาขาที่เกี่ยวข้อง อาจต้องลดน้อยถอยลงไปได้

ฉะนั้น!! บรรดาเด็กจบใหม่ ก็อาจต้องพบเจอกับอุปสรรค เพราะผู้ประกอบการอาจชะลอการจ้างงานเพิ่มและเลือกที่จะเพิ่มชั่วโมงการทำงานหรือเพิ่มหน้าที่ให้แก่แรงงานเดิม

เช่นเดียวกับ เรื่องของค่าครองชีพที่แสนแพงอยู่ในเวลานี้ ก็ยังเป็นขวากหนามที่สำคัญ เช่นกัน ที่อาจมีผลต่อตลาดแรงงานในปี 66 นี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้บรรดาแรงงานมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น จากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว

แต่อย่าลืมว่า ปัญหาเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศในเวลานี้คือเรื่องของ อัตราเงินเฟ้อ แม้บรรเทาเบาบางลงบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง ล่าสุดในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ยังอยู่ที่ 5.02%

ที่สำคัญ แนวโน้มเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และสูงกว่าที่ควรจะเป็นที่ระดับ 1-2% เพราะผลจากเศรษฐกิจโลกและสงครามระหว่างประเทศ

อย่างที่บอก สถานการณ์แรงงานในเวลานี้อาจยังไม่สมดุล แม้มีผู้ว่างงานจำนวนมาก จากการหางานทำไม่ได้ แต่ในอีกฟาก ก็พบว่า ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร และร้านค้า ยังมีความต้องการแรงงานประมาณ 1 หมื่นตำแหน่ง ใน 60 จังหวัด

ขณะที่มีการคาดการณ์กันว่า จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยกว่า 28 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 62 ทีเดียว

ด้วยปัญหานี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ “ผู้มีหน้าที่” ต้องเข้ามามีบทบาทจับคู่ “แรงงาน” กับ “สถานประกอบการ” รวมถึง “พัฒนาทักษะ” ให้แก่แรงงานให้ตอบโจทย์ตำแหน่งงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น

แต่เหนือสิ่งอื่นใด!! ในเวลาที่ผู้ที่มีทักษะ มีความสามารถ โดยเฉพาะทางด้านไอทีไฮเทค ที่กลายเป็นมนุษย์ทองคำอยู่ในเวลานี้ ขณะที่ผู้ที่ยังไม่มีทักษะ หากไม่เลือกงาน และหมั่นเพิ่มสกิล อัพเลเวล ให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ก็สามารถกลายเป็นมนุษย์ทองคำ ได้ไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน…

…………………………………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img