วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSจับตารัฐนาวา“บิ๊กตู่” เร่งหาทางปะกระเป๋าฉีก
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับตารัฐนาวา“บิ๊กตู่” เร่งหาทางปะกระเป๋าฉีก

กลายเป็นเรื่อง “ทอล์คออฟเดอะทาวน์” ทันที เมื่อมีกระแสข่าว “รีดภาษี” หลังรายได้รัฐบาลไม่พอกับรายจ่าย ในการประชุมครม.ที่ผ่านมา จนทำเอาคนไทยทั้งประเทศอกสั่นขวัญหายกันถ้วนหน้า

ต้นสายปลายเหตุ…ของกระแสข่าว ด้วยกรณีที่กระทรวงการคลังได้รายงาน ความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 63 ให้กับครม.พิจารณา โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่พบว่ามีแรงกดดันจากปี 63 จากสถานการณ์โควิด

ถ้าแปลความเป็นภาษาชาวบ้านแบบง่าย ๆ ตามเอกสารของกระทรวงการคลัง ก็น่าจะแปลความได้ว่า ด้วยพิษของโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้ผลของการจัดเก็บรายได้ต้องลดน้อยถอยลงไป เพราะบรรดาผู้ประกอบการ ห้างร้าน ต่างมีปัญหา หรือบางรายอาจออกอาการเจ๊งด้วยซ้ำไป

cr/ https://pixabay.com/

นั่นหมายความว่า… เมื่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลไม่เข้าเป้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่มีรายจ่ายค่อนข้างเยอะ ก็เท่ากับ…กลายเป็นความเสี่ยงว่ารัฐบาลจะปิดหีบงบประมาณลงหรือไม่ ?

แม้คนของรัฐบาลดาหน้ากันออกมาแอ่นอกว่า…ไม่มีอะไรใน “กอไผ่” เป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่เกิดขึ้นกันทั่วโลกอยู่แล้วว่า ธุรกิจทั่วโลกต่างเจ๊งจากพิษโควิดกันทั้งนั้น

ส่วนการรายงานความเสี่ยง ก็เป็นเรื่องตามกฎหมายที่กระทรวงการคลังต้องรายงานสถานการณ์ โดยที่ไทยมีความเสี่ยงอยู่ในระดับ 2.47% ซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นระดับที่มีความเสี่ยงจนน่าห่วงอะไร ที่สำคัญรัฐบาลยังไม่มีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มไปอีก 2 ปี แน่นอน

เพียงแต่ในเรื่องของการจัดเก็บรายได้ หรือเรื่องของผู้เสียภาษี นั้นต้องยอมรับความจริงว่า ณ เวลา นี้ การหนีภาษี การหลบภาษี การเสียภาษีไม่ถูกต้อง มีอยู่มากมาย ดังนั้นสิ่งที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องไปดู คือเรื่องของการขยายฐานภาษีให้ครอบคลุม

เพราะปัจจุบันมีผู้เสียภาษีที่ยื่นแบบเสียภาษีเพียง 11 ล้านรายเศษ เท่านั้น จึงกลายเป็นที่มาของนโยบายของ “นายกฯบิ๊กตู่” ที่มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไร เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาเสียภาษีในระบบให้ถูกต้องเพิ่มมากขึ้น ก็เพียงเท่านั้น

หากแปลความกันอีก!! ก็หมายความว่า ไม่มีอะไรในกอไผ่เช่นเดิม!! เพราะถือเป็นเรื่องปกติ ในเมื่อมีคนเสียภาษีน้อย ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแล ก็ต้องไปหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้ามาเสียภาษีให้มากขึ้น


แต่!! เอาเข้าจริงแล้ว… ต้องตั้งคำถามให้ชัดว่า ฐานะการคลัง มีปัญหาอะไรมั๊ย คำตอบชัด ๆ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.63-ก.พ.64) ต้องยอมรับว่ามีแน่ ๆ เพราะจัดเก็บรายได้ ได้เพียง 842,187 ล้านบาท

ถือว่าต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 105,521 ล้านบาท หรือ 11.1% และยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 145,064 ล้านบาท หรือ 14.7% และยังเป็นยอดจัดเก็บที่ติดลบทุกรายการอีกต่างหาก

ไม่ว่าจะมาจาก 3 กรมภาษี ที่ลดลงไป 112,639 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 93,510 ล้านบาท หรือรายได้จากรัฐวิสาหกิจ ที่ลดลง 53,871 ล้านบาท หรือรายได้อื่นจากส่วนราชการ ที่ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,360 ล้านบาท

ด้วยตัวเลขการจัดเก็บรายได้ที่ไม่เข้าเป้าเช่นนี้ จึงกลายเป็นที่มาของความกังวล จากรัฐบาลเอง ว่าสุดท้าย เมื่อถึงวันที่ 30 ก.ย.64 การปิดหีบงบประมาณ จะลงตัวหรือไม่

ที่สำคัญ!! อย่างยิ่งยวด อาจเป็นไปได้ว่า…อาจต้องมีการกู้เพิ่มเติมในส่วนของกรอบรายจ่าย ที่สูงกว่ารายได้มาใช้ปิดหีบงบประมาณเพิ่มเติมอีกด้วยนี่สิ..

ว่ากันว่า…ตามกฎหมายแล้วในปีงบประมาณ 64 รัฐบาลมีสิทธิกู้เงินเพื่อปิดหีบได้กว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ การกู้เงินในกรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ รวมทั้งยังมีเงินคงคลังกว่า 5 แสนล้านบาท

หากจะถามว่า รัฐถังแตกหรือเปล่า? ณ เวลานี้ อาจมองได้ไม่แปลก เพราะรายได้มีน้อยกว่ารายจ่าย!! แต่ถามว่ารัฐบาลมีช่องทางหาเงินจากที่อื่นมาชดเชยเงินรายได้ที่มีไม่พอหรือไม่?

คำตอบ!!รัฐบาลก็มีหนทางอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ทำให้คนกระทรวงการคลังจริง ๆ อาจไม่ได้กังวลนัก เพราะอย่าลืมว่ารายจ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะงบลงทุน ในแต่ละปีก็เบิกไม่ครบกันตามจำนวนอยู่แล้ว

เพียงแต่ตอนนี้เกิดวิกฤติจากไวรัส เงินได้ของรัฐที่จะสามารถจัดเก็บได้ ก็เลื่อนออกไป เพื่อลดภาระให้กับทั้งประชาชนและภาคเอกชน จึงอาจทำให้หลายคนมองว่า รัฐบาลถังแตก

แต่เอาเข้าจริง…ก็ต้องมองให้ลึกซึ้งว่าคงไม่มีรัฐบาลไหน? ที่จะทำอะไรให้คนทั้งประเทศไม่ไว้วางใจ!!
……………………………….

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img