เมื่อวันที่ 18 ก.ย.67 เวลา 14.00 น. ตามเวลาของสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 11 ต่อ 1 เสียง ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกแบบเร็วและแรงในอัตรา 0.50% ในรอบ 4 ปี ทำให้ดอกเบี้ยลดลงจากอัตรา 5.25-5.50% สู่อัตรา 4.75-5.00%
การลดดอกเบี้ยครั้งนี้!! ถือว่า ไม่ได้หักปากกาเซียนอะไร เพราะบรรดานักวิเคราะห์แม้ได้ถกเถียงกันมากในเรื่องของอัตรา แต่สุดท้ายเสียงส่วนมากของบรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า “เฟด” จะลดดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%
ทันทีที่ “เฟด” มีมติลดดอกเบี้ย แม้ตัวอัตราจะไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะมี 1 เสียงที่เห็นควรว่า ควรลดเพียง 0.25% ก็ทำให้ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง
คำถาม? คือ… แล้วธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) จะตัดสินใจอย่างไร จะทันการณ์หรือไม่?
เพราะการประชุมคณะกรรมการการเงิน (กนง.) ในครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันพุธที่ 16 ต.ค.67 ซึ่งก็ต้องรอไปอีกเกือบเดือน
เอาเข้าจริง…แม้เรื่องของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อระบบในอีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ในแง่ของจิตวิทยาแล้วการลด การขึ้นดอกเบี้ย กลับมีผลทันที
จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทุกครั้งที่เมื่อผลการตัดสินใจจาก “เฟด” ออกมา ก็จะมีแรงกระเพื่อมมีเสียงเรียกร้องให้ “แบงก์ชาติ” เรียกประชุม กนง. นัดพิเศษ เพื่อตัดสินใจกันทันที
เหตุผลใหญ่!! ของเสียงเรียกร้อง หนีไม่พ้น สภาพเศรษฐกิจของไทยและของต่างประเทศนั้น แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพที่เศรษฐกิจไทยเวลานี้ แรงผลักดันหลายอย่างกำลังเหือดหาย ทำให้เงินในกระเป๋าของปุถุชนคนธรรมดานั้น ร่อยหรอลงไปทุกวัน
ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยของโลกก็อยู่ในช่วงขาลง ธนาคารกลางในหลายประเทศ ต่างทยอยปรับลดดอกเบี้ยลดลง ทั้งอินโดนีเซีย ยุโรป เดนมาร์ก จีน ฟิลิปปินส์ สวีเดน และอีกหลายประเทศ
แต่ในแง่ของไทย… กลับอยู่ในระดับเดิมที่ 2.5% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว!!
เนื่องจากประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวด้วยแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ ที่สำคัญ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลงได้มากกว่าที่มองไว้
“ธนาคารแห่งประเทศไทย” กำหนดกรอบเงินเฟ้อไว้ที่ 1-3% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เฉลี่ยจะอยูที่ระดับ 1.5% ซึ่งหมายความว่า ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดหวังว่า อย่างน้อยในปีนี้ กนง.จะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง ในอัตรา 0.25% หลังจาการทยอยปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก บวกกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนหน้านี้
แม้ในเชิงตลาดเงิน อาจมองว่าเป็นเรื่องดี…เพราะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา จากการมีเงินไหลเข้า โดยเฉพาะในตลาดทุน แต่ในเชิงของภาพเศรษฐกิจแล้ว ค่าเงินบาทที่แข็งค่ารวดเร็ว ก็มีผลต่อการส่งออกของไทย
ปัจจัยเหล่านี้…น่าจะเป็นปัจจัยที่เพิ่มความคาดหวังที่ว่า กนง.จะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้บ้าง!!
“ขุนคลัง” อย่าง “พิชัย ชุณหวชิร” มองว่า ประเทศไทยถือเป็นสวรรค์ของคนที่อยากนำเงินมาเก็บไว้ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะโตหรือไม่ เงินของเราก็เป็นบวกตลอดเวลา รวมทั้งยังมีฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง
ในแง่ของกระทรวงการคลังมองว่า ทุกวันนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมาเพราะการประกาศนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล เห็นได้จากตลาดทุนที่เริ่มดีขึ้น
ดังนั้น!! ในภาพรวมจึงเป็นจังหวะที่ดี ที่เหมาะสม ที่จะเร่งให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น แม้เวลานี้เศรษฐกิจไทยจะกลับมาแล้ว แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น “เงินเฟ้อ” ควรปรับเพิ่มขึ้นได้อีก
แต่ในภาพนี้ก็อาจทำให้ผู้บริโภคไม่ชอบ เพราะของจะแพงขึ้น แต่เอกชนหรือผู้ผลิต ก็อาจมีปัญหา อาจต้องหยุดผลิต สินค้าหายไปจากตลาดอีก
ด้วยเหตุนี้ ความจำเป็นในการที่ต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อมาปรับกรอบอัตราเงินเฟ้อให้มีความเหมาะสมเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมจะเป็นเท่าใด ก็ต้องดูสถานการณ์โลก ดูเพื่อนบ้าน ดูคู่แข่ง ด้วยเช่นกัน ซึ่งในเวลานี้จะมากำหนดเพียงแค่ใช้ความเป็นอิสระ ก็คงไม่ได้ ต้องดูผลกระทบต่อประเทศด้วย
ที่สำคัญการดูแลเศรษฐกิจให้ดี จะใช้เพียงแค่นโยบายการคลัง หรือนโยบายการเงิน เพียงอย่างเดียว คงเป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้จึงต้องรอดูว่า…สุดท้ายแล้ว ความคิดเห็น จะลงตัวลงเอยตรงกลาง!! อย่างไร?
……………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo