ในเวลานี้สายตาบรรดานักลงทุน นักเศรษฐศาสตร์ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจ กำลังจับจ้องไปที่ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ยักษ์ใหญ่แห่งซีกโลกตะวันตก ในวันที่ 5 พ.ย.นี้
ปฎิเสธไม่ได้ว่า หากผลการเลือกตั้งในรอบนี้ “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพับลิกัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชนะเลือกตั้งและกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ย่อมทำให้โลกใบนี้สั่นสะเทือนไม่น้อยแน่นอน
อย่างที่เห็นได้ชัดเจนในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ “ราคาทองคำ” ปรับเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นทุกวันติดต่อกัน จนทำนิวไฮ ทำให้ราคาทองคำในไทยทะลุขึ้นไปถึง 44,000 บาท สำหรับทองคำแท่ง และ 44,500 บาท สำหรับทองรูปพรรณ เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก สมาคมค้าทองคำ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 23 ต.ค. 67 พบว่า ราคาทองคำในไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 10,250 บาทต่อบาททองคำ และยังเป็นการทำสถิติเป็นครั้งแรกและเป็นประวัติศาสตร์ ที่ราคาทองทะยานขึ้นไปแตะหลัก 10,000 บาท หรือทะยานมากขึ้นถึง 30.46% ก่อนทยอยปรับลดลงในวันถัดไป
สอดคล้องกับข้อมูลผลสำรวจของสำนักข่าวต่างประเทศ ที่ระบุว่า หาก “ทรัมป์” ชนะเลือกตั้ง ได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 บรรดานักลงทุนจะเลือกถือ “ทองคำ” เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยกันทันที
ขณะเดียวกันหากย้อนดูข้อมูลในช่วง 4 ปี ระหว่างปี 60-64 ช่วงที่ “ทรัมป์” ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นครั้งแรก ที่พบว่าเป็นช่วงที่ “ราคาทองคำแท่ง” ในตลาดโลกพุ่งขึ้นกว่า 50% แถมยังสวนทางกับ “ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ” ที่ลดลงมากกว่า 10%
หลายหน่วยงานต่างออกมาวิเคราะห์ผลดี-ผลเสียจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในรอบนี้ เพราะทั้งพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต เพราะมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย
เพราะแนวนโยบายของทั้ง 2 ฝ่ายมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในประเด็นด้านการค้า การลงทุน และนโยบาย “อเมริกัน เฟิร์ส” ที่อาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ-การเงิน ของไทย ด้วยจากนโยบายต่างๆ ที่ตามมา
อย่าลืมว่า… ที่ผ่านมา “ทรัมป์” เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของ การกีดกันทางการค้า โอกาสของการใช้มาตรการภาษีสูง รวมไปถึงการกีดกันการนำเข้าสินค้า ซึ่งส่งผลกระทบแน่ต่อการส่งออกของไทย เพราะไทยยังพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ไม่น้อยเหมือนกัน
ที่สำคัญ!! ปัญหาการทำ “สงครามการค้า” ระหว่าง “พี่เบิ้มซีกโลกตะวันตก” กับ “พี่เบิ้มซีกโลกตะวันออก” จะกลับมาอีกมากน้อยอย่างไร ปัญหานี้ก็มีผลต่อการส่งออกไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบจากจีน
แต่ในอีกทาง…หากสหรัฐฯและจีน มีสงครามการค้าเข้มข้นมากขึ้น สินค้าไทยก็อาจได้รับโอกาสเพิ่มมากขึ้น ในการส่งออกไปสหรัฐฯด้วยเช่นกัน
เช่นเดียวกับเรื่องของการลงทุนจากต่างประเทศ หากสหรัฐฯเพิ่มมาตรการที่กระตุ้นให้บริษัทอเมริกันกลับมาลงทุนในประเทศตัวเอง อาจลดแรงจูงใจให้บริษัทเหล่านี้ลงทุนในไทย
สุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่จะส่งผลต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ “เอฟดีไอ” ที่อาจทำให้การตัดสินใจมาลงทุนในไทยอาจลดน้อยถอยลงไป
แต่ในทางกลับกัน ก็มีโอกาสที่ต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนในไทย…ด้วยเช่นกัน จากการย้ายฐานจากจีนมาที่ไทย ถ้าทั้ง 2 พี่เบิ้ม ตรึงเครียดมากขึ้น
หรือแม้แต่เรื่องของ “ค่าเงินบาท” ที่อาจแข็งค่าเพิ่มขึ้น กลายเป็นปัญหาอย่างยิ่งต่อ “การส่งออกไทย” เพราะเชื่อได้ว่า การกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ อาจเกิดขึ้นได้
หากเป็นเช่นนั้นจริง… ก็จะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า ค่าเงินบาทของไทยอาจแข็งค่าขึ้นในกรณีนี้ ทำให้การส่งออกไทยยากขึ้น เนื่องจากสินค้าส่งออกของไทยจะแพงขึ้นในสายตาผู้ซื้อจากต่างประเทศ
ในเรื่องของ การท่องเที่ยว ก็เหมือนกัน เพราะถ้า “ทรัมป์” เข้มงวดเรื่องวีซ่า หรือกฎระเบียบเกี่ยวกับการเดินทาง ก็ย่อมมีผลกระทบต่อไทยด้วย เพราะนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ ก็เป็นอีกหนึ่งตลาดที่สำคัญของไทยไม่น้อยเช่นกัน
ดังนั้น หาก “ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้ง “เศรษฐกิจไทย” อาจต้องเผชิญกับความท้าทายทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯและจีน
เรียกได้ว่า… สารพันปัญหาจากปัจจัยต่างประเทศ กำลังถาโถมเข้าสู่เศรษฐกิจไทยอีกครั้ง ปัญหา?คือ การเตรียมตัวรับมือ ทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมแค่ไหน?
……………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo