วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSอึ้งมั๊ย!!คนไทยมี''หนี้''ต่อหัว ทะยาน 1.34 แสนบาทแล้ว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

อึ้งมั๊ย!!คนไทยมี”หนี้”ต่อหัว ทะยาน 1.34 แสนบาทแล้ว

การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบให้ขยายเพดานหนี้สาธารณะไทยจากเดิมไม่เกิน 60% ของจีดีพี เป็นไม่เกิน 70% ของจีดีพี เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลมีช่องในการกู้เงินเพิ่มอีก 1.2 ล้านล้านบาท

เรื่องนี้…ได้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมไทยอยู่ไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะในแวดวงของกูรูทางด้านเศรษฐศาสตร์ กู้รูด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งยังกลายเป็นของบรรดา “ผู้ทรงเกียรติ” ที่อาศัยโอกาสนี้ “หยิบฉวย” มาเรียกคะแนน เพิ่มคะแนนเสียงให้กับตัวเอง

แม้ในความเป็นจริงแล้ว!! ต้องยอมรับว่าเมื่อใดที่มีการ “กู้” นั่นหมายความว่า…ก็ต้อง “เป็นหนี้” และเมื่อรัฐบาลกู้ก็หนีไม่พ้นที่“ประชาชนคนไทย” ต้องเป็นผู้ใช้หนี้

ข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ของกระทรวงการคลัง รายงานว่า หนี้สาธารณะคงค้างล่าสุดในเดือนก.ค. 64 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 8.90 ล้านล้านบาท คิดเป็น 55.59% ของจีดีพี โดยจีดีพี อยู่ที่ระดับ 16 ล้านล้านบาท โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ที่ 33.09 บาท

ขณะเดียวกันในช่วงที่เหลือของปีนี้กระทรวงการคลังยังมีแผนที่จะกู้เงินเพิ่มตามพ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 2 ฉบับ ( 1 ล้าน ๆ บาท และ 5 แสนล้านบาท) จึงทำให้คาดการณ์ว่า เมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณ 64 (30 ก.ย.64) จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ทะยานขึ้นไปกว่า 58%

นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 65 ซึ่งจะเริ่มต้นวันที่ 1 ต.ค. 64 นี้รัฐบาลยังต้องกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 7 แสนล้านบาท แถมยังต้องกู้มาเพื่อดูแลเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในส่วนของพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่ยังเหลืออีกกว่า 3 แสนล้านบาท

รวมทั้งรัฐบาลยังมีหนี้ของรัฐบาล ที่ต้องชำระตามเงื่อนไขอีก จึงจำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เพื่อให้รัฐบาลมีช่องที่จะสามารถกู้เพิ่มได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาดูแลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามหากนำจำนวนประชากรไทยในปัจจุบันที่มีกว่า 66.18 ล้านคน มาหารกับจำนวนหนี้สาธารณะ ล่าสุด เพื่อคิดเป็นจำนวนหนี้ต่อหัวคนไทยแบบคร่าว ๆ จะตกอยู่ที่คนละ 1.34 แสนบาทเศษ แม้ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องซะทีเดียวก็ตาม

ถามว่า…หนี้ของคนไทยที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้ หนักหนาสาหัสหรือไม่ หากมองโดยไม่คิดอะไร ก็ต้องเป็นทุกข์ของประชาชนคนไทยตาดำ ๆ แน่นอน แต่ถ้าเป้าหมายของการกู้เงิน เพื่อมาเติมเต็มเศรษฐกิจเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ก็น่าจะบรรเทาเบาบางความเดือดเนื้อร้อนใจลงไปได้บ้าง

เพราะ…ถ้าเศรษฐกิจเดินหน้าได้ ประเทศก็มีรายได้เพิ่มขึ้น คนไทยก็จะมีรายได้ มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น รัฐบาลก็สามารถหารายได้จากการจัดเก็บภาษี มาชดใช้หนี้ในโอกาสต่อ ๆ ไป เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เวลานี้ผ่านไปกว่า 20 ปี หนี้ที่กู้มายังใช้กันไม่หมด ยังคงเหลืออีกกว่า 7.11 แสนล้านบาท

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดานักวิชาการ บรรดาเอกชน และอีกหลาย ๆ ฝ่ายต่าง “เห็นด้วย” กับแผนการขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ ในครั้งนี้ เพราะต่างก็เห็นว่า เป็นเพียงช่องทางเดียวที่จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

แม้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า… ปริมาณหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น!! ย่อมมีผลเสียตามมา ทั้งความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลัง ที่ลดลงในอนาคต รวมถึงอาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การก่อหนี้ของรัฐบาลในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

อย่าลืมว่า ณ เวลานี้ โลกทั้งใบถูกพิษโควิดเล่นงาน แม้บางประเทศเริ่มผงกหัวกลับมาฟื้นหายใจหายคอกันได้บ้าง แต่การจะหวังพึ่งพิงเพียงแค่รายได้จากการส่งออกสินค้า คงไม่ได้ แถมรายได้จากภาคการท่องเที่ยวก็ไม่หอมหวานเหมือนที่ผ่านมาอีก

ดังนั้น…เครื่องยนต์จากการบริโภคในประเทศ เครื่องยนต์จากการใช้จ่ายภาครัฐ จึงกลายเป็นเครื่องยนต์หลัก เป็นความหวังที่จะช่วยบู้ทเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้

แต่ปัญหาของ “เงินกู้” อยู่ที่ว่า เงินกู้นั้นจะใส่เข้ามาในระบบเศรษฐกิจอย่างถูกต้อง อย่างมีศักยภาพ เพื่อ “ถมหลุม” รายได้ของคนไทยที่หายไป ได้มากน้อยเพียงใด?

หากถมลงไปแล้วหาย ถมเท่าไหร่ก็ไม่พอ หรือถมลงไป แต่ไม่ถึงระบบเศรษฐกิจ ไม่ทำให้ชาวบ้านชาวช่องลืมตาอ้าปากได้อย่างแท้จริง นี่สิ!!! เป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศขยาด!!

…………………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img