วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSคนไทยติด“กับดักหนี้” รอเลย!! ระเบิดเวลาลูกใหม่
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

คนไทยติด“กับดักหนี้” รอเลย!! ระเบิดเวลาลูกใหม่

ณ เวลานี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคน ต่างออกมาแสดงความกังวลกับปัญหา “หนี้” ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ด้วยเพราะเป็นห่วงว่า “ระเบิดลูกใหม่” กำลังจะทำลายล้างชีวิตคนไทยเข้าให้อีก


สภาพัฒน์ หรือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ออกมารายงานสถานะหนี้ครัวเรือนไทย ล่าสุด ว่า มีจำนวน 14.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89.3% ต่อจีดีพี

แม้สัดส่วนจะลดลงบ้าง แต่ก็เกิดจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน ที่สำคัญการขยายตัวเป็นบวกของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เป็นการขยายตัวจากฐานต่ำในปีที่แล้ว จึงสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า รายได้ครัวเรือน ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

เมื่อรายได้ไม่ฟื้นตัว!! นั่นหมายความว่า ความสามารถในการชำระหนี้ยิ่งน้อยลงหรือไม่มีเลย !!

ที่สำคัญ…หากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลงัดออกมาช่วย มาประคับประคองผ่านโครงการ “แจกเงิน” สารพัดหมดลงภายในสิ้นปีนี้ โดยที่เศรษฐกิจที่แท้จริงยังไม่ฟื้นตัว การจ้างงานไม่ฟื้นตัว ยิ่งทำให้คนจนในประเทศเพิ่มขึ้นเข้าไปอีก

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ / cr : FB บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ดูอย่างกรณี…การแจก “บัตรคนจน” รอบใหม่ในต้นปี 65 ที่คาดกันว่าจะมีผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิ์เพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านคน จากของเดิมที่มีอยู่ราว ๆ 14 ล้านคน เนื่องจากพิษของโควิด ทำให้คนจนเพิ่มมากขึ้น

ไม่เพียง!! ความจนจะคืบคลานเข้ามาคนไทยมากขึ้นเท่านั้น แต่คนไทยต้องตกอยู่ในภาวะการเป็นหนี้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของทั้งธนาคารรัฐและเอกชนนั้นจะหมดลงในช่วงกลางปี 65

“สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ให้แง่คิดไว้ว่า ขณะนี้มีความน่ากลัวจาก “ภูเขาหนี้” จากการกู้ก่อนผ่อนทีหลัง กินก่อนผ่อนทีหลัง เที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง หรือจ่ายให้ก่อนผ่อนทีหลัง นี่แหล่ะ!!

ด้วยพฤติกรรม ด้วยแรงโปรโมท และด้วยสารพัดเหตุผล เช่นนี้ … ที่ทำให้การเป็นหนี้มีมากขึ้น โดยเฉพาะบรรดาลูกหนี้ในกลุ่มวัยทำงาน ที่เป็นหนี้เสียแล้วถึง 20% ทั้งที่เป็นช่วงอายุที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ

อย่างไรก็ตามในแง่คำนิยามของ “เครดิตบูโร” แม้จะมีหนี้ครัวเรือนอยู่เพียง 12 ล้านล้านบาท แต่ในจำนวนนี้เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หรือหนี้เอ็นพีแอล ที่มีการค้างจ่ายเกิน 90 วัน และเป็นการนับรวมทั้งหมดทั้งกรณีที่สำรองหนี้เต็ม และยังไม่ขายออกไป กลับมีเอ็นพีแอลสูง 8.1% หรือ 9.7 แสนล้านบาท

ด้วยเหตุนี้!! จึงทำให้ใครต่อใครแสดงความกังวลออกมาดัง ๆ เพื่อให้ผู้บริหารประเทศ เรื่อยไปจนถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต้องหันหลังกลับมาดู หันหลังกลับมาสร้างแนวทางป้องกัน

เพราะหากมาตรการช่วยเหลือหมด ไม่มีมาตรการพิเศษมารองรับ โดยมีเพียงแค่การปรับโครงสร้างหนี้ปกติ ก็จะทำให้เอ็นพีแอลในกลางปีหน้าไต่ระดับเพิ่มขึ้นไปถึง 1 ล้านล้านบาทกันทีเดียว

แม้แบงก์ชาติ ได้คลอดมาตรการ “รวมหนี้” รอบใหม่ออกมา เพราะเห็นวี่แววแล้วว่า ถ้าไม่เข้าไปโอบอุ้ม ไม่เข้าไปช่วยเหลือ บรรดานายแบงก์ทั้งหลายจะเกิดอาการ “สาหัส” ได้

เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้แบงก์เอกชนต้องเข้าไปแบกรับภาระหนี้ไว้มากถึง 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นหมือน “หน้าผาเอ็นพีแอล” ของสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ตามการปรับเงื่อนไข การออกมาตรการ “รวมหนี้” ครั้งใหม่ ก็จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นไปอีก 2 ปี หรือไปจนถึงสิ้นปี 66  เพราะทำให้แบงก์มีเครื่องไม้เครื่องมือออกมาประคับประคองไปได้แบบค่อย ๆ ร่อนลง ซึ่งทำให้การ “เจ็บตัว” หรือ “สาหัส” นั้นเบาบางลงไป

แต่ก็อย่าลืมว่า ที่ผ่านมา “ผู้บาดเจ็บ” สาหัส นั้นไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นบรรดารายย่อย เอสเอ็มอี ที่ตอนนี้เป็นหนี้ที่มีปัญหาทั้งเอ็นพีแอล และใกล้เป็นเอ็นพีแอล คือ ค้างตั้งแต่ 30-90 วันรวมกันถึง 20% หรือ 1 ใน 5 ของหนี้เอสเอ็มอี

หากในปีหน้า เศรษฐกิจเริ่มขยับ ดอกเบี้ยเริ่มผงกหัวขึ้น เอสเอ็มอีเหล่านี้จะรับไหวแค่ไหน? นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญ!!

เช่นเดียวกับบรรดารากหญ้า…รากแก้ว เมื่อหมด “โปร” ของรัฐบาล ที่จะเข้ามาดูแลแล้ว จะทำอย่างไรต่อไป?

อย่าลืมว่า ฐานะของรัฐบาลเองก็ “ยักแย่ยักยัน” เต็มที ถึงขนาดต้องเพิ่มกรอบสัดส่วนความยั่งยืนทางการคลัง เพื่อให้กู้เงินได้เต็มจำนวนมาประคองเศรษฐกิจ

หรือแม้แต่การ”ผ่าทางตัน”เพื่อเพิ่มสัดส่วนการก่อหนี้ เพื่อเกลี่ยเงินมาดูแลชาวไร่ชาวนาในโครงการ “ประกันรายได้” ทั้งที่เงินในกระเป๋ารัฐบาลกำลังเหือดแห้งอย่างหนัก เพราะปี งบประมาณ 64 ก็พลาดเป้าไปกว่า 3 แสนล้านบาท หรือกว่า 11.5%

สุดท้ายแล้ว..ก็ต้องมารอดูกันว่า “วิกฤติหนี้” จะระเบิดออกมาเมื่อไหร่กัน!!

…………………..
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img