วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSหลงเสน่ห์...“เงินดิจิทัล” พร้อมรับมือแค่ไหน?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

หลงเสน่ห์…“เงินดิจิทัล” พร้อมรับมือแค่ไหน?

ทุกวันนี้… กระแสข่าวการใช้ “เงินดิจิทัล” ซื้อสินค้าและบริการ มีให้เห็นกันทุกวัน ทั้งในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า รถยนต์ โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร และอีกมากมายสารพัด ในรูปแบบของออนไลน์ ที่ต้องทำผ่านแพลตฟอร์มเงินดิจิทัลสกุลต่าง ๆ

แบบชนิดที่เรียกว่า ถ้ามีการแถลงข่าว มีการเปิดตัว ก็เรียกเสียงฮือฮา เรียกกระแสความว้าว!! สร้างความตื่นตาตื่นใจได้แทบทุกครั้ง เพราะแทบไม่น่าเชื่อว่าทุกวันนี้เราจะใช้เงินที่ไม่มีตัวตนเหล่านี้มาซื้อสินค้า ซื้อบริการ ได้จริง ๆ หรือ?

อย่าลืมว่า! ที่ผ่านมา ใครต่อใครต่างคุ้นเคยกับเงินดิจิทัล ในรูปแบบของการ “ลงทุน” เพื่อเก็งกำไร ในลักษณะเช่นเดียวกับการลงทุนในตลาดหุ้น

เพราะค่า “ส่วนต่าง” นั้นใครเห็นแล้วก็ต้อง “ตาโต” โดยข้อมูลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ “ก.ล.ต.” ระบุว่า เวลานี้มีนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจำนวนมาก และมูลค่าการซื้อขายก็เพิ่มขึ้นมากเป็นหลายเท่าตัวในรอบ 1 ปี

เดือนพ.ย.64 มูลค่าการซื้อขายเงินดิจิทัลสูงถึง 2,500 ล้านบาท ขณะที่ในเดือนธ.ค. 63 มีเพียง 26 ล้านบาทเท่านั้น ด้วยผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง ทำให้บัญชีของนักลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านบัญชี จากที่เมื่อสิ้นปีก่อนมีอยู่เพียง 170,000 บัญชี เท่านั้น

เมื่อตลาด…มีผลตอบแทนสูง มีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนเพราะหวังกำไรกันมาก ก็ทำให้สกุลเงินดิจิทัลใน 3 สกุล “ผันผวน” หนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

หน่วยงานกำกับอย่างก.ล.ต.ยังไม่ได้ให้บทสรุป ที่ชัดเจนว่าอะไร? คืออะไร? มีการปั่นราคา หรือเป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามภาวะตลาดกันแน่

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดเงินดิจิทัล ก็ไม่แตกต่างกับตลาดหุ้น เพียงแต่ความไวของเงินดิจิทัลหรือสินทรัพย์ดิจิทัล นั้นมีมากมาย จึงต้องขึ้นอยู่กับผู้กำกับว่าจะดูแล ไล่ตามทันได้มากน้อยเพียงใด

ขณะที่การลงทุนในตลาดเงินดิจิทัล ยังคงมีอยู่ ตลาดเงินดิจิทัล ยังได้คืบคลานเข้าไปสู่แวดวงของการซื้อสินค้าและบริการ แบบ “ร้อนแรง” และกำลังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะในหมู่สังคมคนรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับกันว่า การนำเงินดิจิทัล มาซื้อสินค้าและบริการ นั้นเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับ “ระบบการชำระเงิน” ด้วยเหตุนี้แบงก์ชาติเอง จึงต้องออกมาส่งเสียงเตือนให้ระมัดระวังอย่างหนัก

อย่าลืมว่า…เงินดิจิทัลหรือสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซี่ นั้นมีความผันผวนสูง ที่สำคัญอาจทำให้เกิดต้นทุนที่สูงมากในระบบเศรษฐกิจ หากคุณ ๆ ท่าน ๆ ไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงในระบบ

หากใช้กันเรื่อยเปื่อย!!ไม่มีการกำกับดูแลให้ชัดเจน ความเสี่ยงก็จะตามมาในไม่ช้าแน่นอน ด้วยเพราะกำลังเป็นที่แพร่หลาย มีการใช้เงินดิจิทัลในหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่กลยุทธ์ ซึ่งตรงนี้…ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อระบบบัญชีที่เสี่ยงต่อการเกิดต้นทุนเพิ่มขึ้น

แม้เงินดิจิทัล หรือสินทรัพย์ดิจิทัล จะทำให้ธุรกรรมการเงินคล่องตัวก็ตาม แต่สิ่งสำคัญไม่น้อยยิ่งกว่า ก็คือ “มูลค่า” ที่ต้องไม่ลดลง ต้องมั่นคง ต้องปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้หรือผู้รับก็ตาม

ที่ผ่านมาบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจเงินดิจิทัล ต่างคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า เงินดิจิทัล หรือเงินไฮเทคเหล่านี้ จะกลายเป็นสกุลเงินแห่งอนาคต ภายใน 5-10 ปี ต่อจากนี้ ซึ่งทุกสิ่งอย่างเชื่อมต่อกันบนอินเทอร์เน็ต หรืออินเทอร์เน็ตออฟธิงค์

ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง !! เพราะประชาชนผู้บริโภคต้องเผชิญอยู่บนความเสี่ยงด้วยความไม่มีความรู้ที่แท้จริง ไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจน รวมถึงไม่มีข้อมูลที่ลึกพอ

ทั้งหมดจึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องเร่งมือเร่งเครื่อง เดินหน้าล้อมคอกความเสี่ยงจากเงินไฮเทคเหล่านี้ให้ทัน ก่อนระบบจะถูก “ดิสรัปต์” จนทำให้คนทั้งประเทศเดือดร้อนได้

อย่าลืมว่า เรามีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนจากความพยายามผลักดันให้สังคมไทยเข้าสู่สังคม “ไร้เงินสด” อย่างเต็มรูปแบบ แล้วสุดท้ายเป็นอย่างไร? คนจำนวนไม่น้อยที่เดือดร้อนกับการถูกแฮกข้อมูล ถูกหลอกลวง จนต้องสิ้นเนื้อประดาตัวไม่ไม่น้อย!!

…………………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img