วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSก่ายหน้าผากอุ้มน้ำมัน ดันทุกทาง!!เงินมีน้อย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ก่ายหน้าผากอุ้มน้ำมัน ดันทุกทาง!!เงินมีน้อย

ณ เวลานี้…เชื่อได้ว่าประชาชนคนไทยทั้งประเทศกำลังรอ…รอ…แล้วก็รอ!! ว่า สุดท้ายแล้ว!! รัฐบาลจะดูแลแก้ไขปัญหาเรื่องราคาน้ำมันแพงที่ทะยานเพิ่มขึ้นทุกวี่ทุกวันอย่างไร?

หลังจากที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ “กพช.” นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เตรียมแถลงข่าวร่วมกันในช่วงสายของวันนี้ (11 มี.ค.65) ซึ่งจะมีการแถลงใหญ่ในเรื่องของมาตรการร่วมมือประหยัดพลังงาน

เรียกได้ว่าขนมากันหมด…ทั้งกรมธุรกิจพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ “กฟผ.”

นัยสำคัญ!! ก็เพราะทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งหมด และปัญหาราคาพลังงานแพง ไม่ใช่มีเพียงแค่ราคาน้ำมันดีเซล หรือน้ำมันเบนซิน เท่านั้น แต่ทุกเชื้อเพลิง ต่างวิ่งพรวดราคาทะยานขึ้นแบบยกแผง

เบื้องต้น…กระทรวงพลังงานได้วางสมมุติฐานเพื่อการแก้ไขปัญหาไว้ 3 กรณี คือ 1.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในระดับ 100-130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล 2.ราคาน้ำมันดิบแตะที่ระดับ 131-150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และ กรณีที่ 3.คือมีราคาเกินกว่า 150 ดอลลาร์สหรัฐ

ล่าสุด ที่รัฐบาลทำได้ในเวลานี้ ก็คือ การยกเลิกการกำหนดเพดานเงินกู้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากที่กำหนดไว้ที่ 40,000 ล้านบาท ออกไปก่อน เพื่อเปิดทางให้กองทุนมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่ากองทุนฯจะสามารถกู้เงินได้โดยไม่บันยะบันยัง เพราะอย่างไรซะ…กองทุนฯก็ต้องมีวินัยทางการเงินด้วยเช่นกัน

แม้ว่าก่อนหน้านี้ที่กองทุนฯไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้ เพราะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ “สตง.” ยังไม่รับรองงบการเงิน เพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนสถานะจากนิติบุคคลสังกัดกระทรวงพลังงาน เป็นองค์การมหาชน จึงทำให้เงินกู้งวดแรก 20,000 ล้านบาท จะไหลเข้ามาเติมได้นั้น ต้องล่าช้าออกไป

นอกจากนี้ เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องชะลอการจ่ายหนี้ในส่วนของลูกหนี้การค้า ซึ่งเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ออกไปด้วยเช่นกัน

เช่นเดียวกับ…การปรับสูตรราคาเชื้อเพลิง ที่ให้นำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ที่นำมาผลิตไฟฟ้าเข้ามาคำนวณร่วมด้วย เพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าต่ำลง ซึ่งก่อนหน้านี้ในสัปดาห์เดียวกันรัฐบาลได้เห็นชอบให้ ยกเว้นภาษีดีเซลและน้ำมันเตาที่นำมาผลิตไฟฟ้า ไปแล้ว

แม้ต้องเฉือนเนื้อตัวเองที่มีอยู่น้อยนิดออกไปอีก 7,000 ล้านบาทก็ตาม แต่การเว้นภาษีครั้งนี้ รวมไปถึงการปรับสูตรราคาเชื้อเพลิง จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงได้ประมาณหน่วยละ 6 สตางค์ แต่จะส่งผ่านมาถึงประชาชนหน่วยละเท่าใด ก็คงต้องรอการประกาศที่ชัดเจนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามนอกเหนือสิ่งอื่นใดในเวลานี้ ที่รัฐบาลต่างออกตัวสร้างความหวังไว้ ก็คือ การเห็นคนไทยทั้งประเทศช่วยกัน ร่วมมือกันประหยัดการใช้พลังงานในทุกวิถีทาง ท่ามกลางเสียงเย้ยหยันของหลายฝ่าย ที่ดูแคลนฝีมือรัฐบาลก็ตาม

แต่!! สิ่งหนึ่งที่ “บิ๊กตู่” พูดไว้ ก็ไม่ได้ผิดเพี้ยน ว่า…สถานการณ์ในแต่ละรัฐบาล แต่ละสมัยนั้น มันต่างกัน เพราะขณะนี้ราคาน้ำมันยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง ขณะที่ในอดีตราคาน้ำมันแพงเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ดังนั้นการแก้ไขปัญหาก็ต้องแตกต่างกัน

ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด… คือเรื่องของงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด หลังจากที่ผ่านมาต้องนำไปดูแลเรื่องของสุขภาพจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้ทุกอย่างยิ่งยากมากขึ้น

มีหลายสำนักวิจัยคาดการณ์กันไว้ว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปตลอดทั้งปี ความเสียหายต่อเศรษฐกิจจะมีมากกว่า 2.44 แสนล้านบาททีเดียว หากจบได้ในช่วงครึ่งปี ก็เสียหายประมาณ 1.46 แสนล้านบาท หากจบภายใน 3 เดือน ความเสียหายจะมีกว่า 7.34 หมื่นล้านบาท

วิกฤติ!! ซ้อนวิกฤติ!! ที่เกิดขึ้นนี้กำลังกลายเป็นบทพิสูจน์สำคัญของรัฐบาลท่ามกลาง “วิกฤติศรัทธา” ที่เริ่มรุนแรง!!

……………………………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img