วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ส่งออก”สุดต้านสงคราม “เศรษฐกิจไทย”จะไปทางไหน?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ส่งออก”สุดต้านสงคราม “เศรษฐกิจไทย”จะไปทางไหน?

เผลอแพร็พเดียว!! ก็หมดไตรมาสแรกของปี 2565 ไปแล้ว…ท่ามกลางวิกฤติซ้อนวิกฤติ!! ที่ทั่วโลกต้องเผชิญความยากลำบาก ที่สำคัญยังไม่มีใครคาดเดาสถานการณ์ต่อจากนี้ได้เช่นกัน ว่าวิกฤติซ้อนวิกฤติที่ว่านี้ จะบรรเทาเบาบางลงไปเมื่อใดกันแน่

ทั้งกระทรวงการคลัง ทั้งแบงก์ชาติ ต่างออกมาคาดการณ์ว่า ยังไงๆ เศรษฐกิจไทย ยังคงสามารถเดินหน้าเติบโตได้แน่นอน แม้…การเติบโตอาจไม่ได้ตามที่วาดฝันไว้ก็ตาม

ล่าสุด..ขุนคลังอย่าง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ยังขอคงประมาณการเศรษฐกิจไทยไว้เท่าเดิมที่ 3.5-4.5% พร้อมใส่ไฟปลุกพลังบวกจากทุกฝ่ายไว้ด้วยว่า หากทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างร่วมไม้ร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็อาจผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อีกอย่างน้อย 0.1-0.3% ทีเดียว

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ “กนง.” ต่างมองเห็นแล้วว่า ปัจจัยเสี่ยงสารพัดที่เกิดขึ้นต่างมีแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทย ในยกแรก จึงขอหั่นจีดีพีไปก่อนจาก 3.4% เหลือเพียงแค่ 3.2% แล้วค่อยไปไต่ระดับเพิ่มขึ้นในปี 2566 ที่ 4.4%

การหั่นจีดีพีของแบงก์ชาติ เหตุปัจจัยก็เนื่องมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบของบางอุตสาหกรรมที่ยังคงยืดเยื้อ รวมไปถึงผลกระทบจากค่าครองชีพและต้นทุนของภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น หรือแม้แต่ต้นทุนของภาคธุรกิจก็เพิ่มสูงขึ้น

หรือแม้แต่ผลพวงของการคว่ำบาตรรัสเซีย ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านทางพลังงานที่มีราคาแพงขึ้น รวมไปถึงสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ทำให้ความต้องการสินค้าในต่างประเทศนั้นชะลอลง

ภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเช่นนี้!! แม้รัฐบาลจะออกมาตรการทั้ง 10 มาตรการมาสู้ แต่ก็เชื่อได้ว่าอาจส่งผลดีเพียงแค่วูบเดียว เพราะเป็นเพียงมาตรการที่ชะลอ ที่บรรเทาเบาบางไม่ให้ผู้ที่มีรายได้น้อย ต้องเดือดร้อนไปกับราคาพลังงานที่แพงขึ้น

รวมทั้ง!!ยังเป็นการรักษาระดับการใช้จ่าย ไม่ให้หยุดชะงัก จนกลายทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยที่เริ่มอ่อนแรง ไม่สามารถทำงานต่อไปได้

ปัญหาคือ รัฐบาลไม่สามารถที่จะหยุดชะงักมาตรการไว้เพียงเท่านี้ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหามาตรการเพื่อผลักดันเพื่อหมุนให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไปให้ได้

แต่จะใช้เครื่องยนต์ตัวไหน? นี่สิเรื่องใหญ่ !


เพราะ…อย่างเรื่องของท่องเที่ยว ที่ยังไม่สามารถพลิกกลับคืนมาได้เหมือนเดิม แม้รัฐบาลพยายามผ่อนคลาย เพื่อเปิดทางให้มีการเดินทางท่องเที่ยวเข้ามาในไทยมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็อย่าลืมว่า ตลาดใหญ่ของไทย คือนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่เปิดประเทศ ส่วนประเทศอื่นก็ยังมีมาตรการจำกัดการเดินทาง นั่นหมายความว่า เครื่องยนต์ใหญ่เครื่องนี้ยังคงติดๆ ดับๆ ไม่สามารถเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันได้เหมือนเดิม

เพียงแค่…ไตรมาสแรกมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยเพียงแค่ 4 แสนคนเศษเท่านั้น ยังไม่ถึงครึ่งของเป้าหมายทั้งปีที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ว่าน่าจะเริ่มต้นได้สัก 7 ล้านคน

เช่นเดียวกับเรื่องของ การส่งออก ที่เชื่อว่าตั้งแต่เดือนมี.ค. เดือนเม.ย.นี้ ผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะกระเทือนมาถึงภาคการส่งออกของไทยแน่ ๆ ที่ทุกฝ่ายต้องติดตามข้อมูลและไล่ตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด

ทั้งที่ตลอดปี 64 ที่ผ่านมา การส่งออกของไทยได้ฟื้นตัว และกลายเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง ต่อเนื่องจนมาถึงม.ค.-ก.พ. 65 ที่ทั้ง 2 เดือน ยังสามารถรักษาอัตราการขยายตัวได้ถึง 12.2% โดยที่ตลาดรัสเซีย กลายเป็นตลาดที่มีการขยายตัวมากถึง 33.4% ทีเดียว

แม้ไตรมาสแรกที่ผ่านมา จะทุลักทุเล ด้วยเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ขณะที่ไวรัสยังคงระบาด สงครามก็ยังไม่จบ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็กระอักกระอ่วนกันเรื่อยมา

แถมยังคาดเดากันว่า…สงกรานต์นี้จะสาหัสสากรรจ์เข้าอีก เช่นเดียวกับศึกการเมือง ที่ความรุนแรงไม่ได้ลดน้อยถอยลง

สารพัดโจทย์ใหญ่ที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องยากของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ต้องมาวัดกันว่าจะรับมือกับอีก 9 เดือนที่เหลืออย่างไร?…

……………………………………………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img