วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSยกแรก!!ลุยโรดโชว์ญี่ปุ่น “กระตุกต่อม” เชื่อมั่น-ดึงลงทุน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ยกแรก!!ลุยโรดโชว์ญี่ปุ่น “กระตุกต่อม” เชื่อมั่น-ดึงลงทุน

ถือเป็นครั้งแรก!! ในรอบ 2 ปี ที่ “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาล “บิ๊กตู่” ได้ออกเดินทางไปโรดโชว์ที่กรุงโตเกียว รวมถึงจังหวัดคานากาวะ ระหว่างวันที่ 19-23 เม.ย.65 เพื่อดึงดูดเงินลงทุนเข้าประเทศไทย หลังถูกพิษไวรัสโควิด-19 ถล่มเศรษฐกิจโลกไปตั้งแต่ปลายปี 2562

การออก “โรดโชว์” ครั้งนี้ เป็นหน้าที่ของ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ทำหน้าที่ “หัวหน้าทีม” โดยมีผู้แทนการค้าไทย อย่าง “ม.ล.ชโยทิต กฤดากร” ผู้แทนการค้าไทย รวมถึง “ดวงใจ อัศวจินตจิตร์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแม้ยังไม่เต็มทีม เหมือน “ทีมไทยแลนด์”

แต่ก็ถือว่า…มีเป้าหมายชัดเจนที่ต้องการชักชวนนักลงทุนญี่ปุ่นดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ “เอส-เคิร์ฟ” รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า หรือ “รถอีวี”

ไม่เพียงเท่านี้…ยังถือว่าเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ใช้เวทีนี้ชี้แจงเรื่องของ “วีซ่าพิเศษ” สำหรับผู้พำนักระยะยาว หรือ Long-Term Resident Visa : LTR ที่มีอายุถึง 10 ปี โดยออกให้สำหรับ 4 กลุ่ม คือ ผู้มีความมั่งคั่งสูง, ผู้เกษียณอายุ, ผู้ที่ต้องการทำงานจากไทย และ ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ


ที่สำคัญ!!..ในช่วงเวลานี้ “การลงทุน” ถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ “บีโอไอ” จึงฉกฉวยจังหวะและโอกาสที่ไวรัสร้ายเริ่มคลี่คลาย บรรเทาเบาบางลงไป หลายประเทศรวมทั้งไทยเริ่มเปิดประเทศ และสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ เพื่อจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน

ขณะเดียวกันยังรวมถึงการเร่งประชาสัมพันธ์มาตรการส่งเสริมการลงทุน ที่ได้ออกมามากมาย เพื่อกระตุก “ต่อมเชื่อมั่น” ของนักลงทุนให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 ม.ค.65 ทีมเมติของญี่ปุ่น ถือฤกษ์งามยามดียกคณะมาเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดย “ฮากิอูดะ โคอิจิ” รมว.กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น หรือ “เมติ” พร้อมร่วมกันกับนายกรัฐมนตรีของไทย ประกาศความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันยังประกาศข้อริเริ่ม Asia-Japan Investing for the Future หรือAJIF ซึ่งญี่ปุ่นได้จัดให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายสำคัญของ การร่วมสร้างสรรค์ (Co-Creation) ระหว่างภาคเอกชนไทยกับญี่ปุ่น เพื่อนำไปสู่การลงทุนสำหรับอนาคต

ด้วยทั้งสองประเทศ…มีเป้าหมายที่ชัดเจนการเดินหน้า “รุก” ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะความชัดเจนในเรื่องของการดึงดูดการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า


แม้เวลานี้การลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์อีวี จาก 8% เหลือ 2% เพื่อสนับสนุนให้รถอีวีมีราคาถูกลง ยังไม่ได้มีผลตามกฎหมายอย่างเป็นทางการก็ตาม รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยก็ยังไม่ได้ออกประกาศใช้วีซ่า LTR เช่นกัน
แต่ในเมื่อโอกาสเปิด ก็ต้องเดินหน้ากันเต็มที่ เพราะการเดินทางของทีมเศรษฐกิจ นอกจากจะหารือร่วมกับนายฮิโรคาสึ มัตสึโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายโคอิจิ แล้ว ยังได้พบกับสมาพันธ์สมาคมธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น หรือ “ไคดันเรน” รวมถึงบริษัทเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่น ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์

เป้าหมายใหญ่ของไทยเวลานี้…ได้ตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน โดยอย่างน้อยในปีพ.ศ.2573 ต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ แยกเป็นรถยนต์นั่งและรถกระบะ จำนวน 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์จำนวน 675,000 คัน และรถบรรทุก 34,000 คัน รวมทั้งยังมีการส่งเสริมการผลิตรถสามล้อ เรือโดยสาร และรถไฟระบบรางอีกด้วย

แม้การชิมรางเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า จะถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยจากยอดจองซื้อในงานมอเตอร์โชว์ 2022 ที่มีประมาณ 10% หรือกว่า 3,000 คัน


เรียกได้ว่ามี “สัญญาณที่ดี” เพราะเวลานี้ ค่ายรถยนต์น้องใหม่อย่าง “เนต้า” จากประเทศจีน เตรียมเข้าร่วมแพ็คเกจมาตรส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลในเร็ว ๆ นี้

เช่นเดียวกับ…อีกหลายค่ายรถยนต์ในไทย โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ทั้ง ค่ายโตโยต้า และฮอนด้า ที่รัฐบาลเองตั้งความหวังไว้ว่าหลังเทศกาลสงกรานต์นี้ จะได้เห็นความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เอาเป็นว่าต้องมารอดูกันว่า “ผลลัพธ์” จากการลุยโรดโชว์ที่ “แดนปลาดิบ” ครั้งนี้จะมีส่วนกระตุ้นให้เป้าหมายของรัฐบาลไทยไปถึงฝั่งฝันมากน้อยเพียงใด

……………………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img