วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSวัดใจรัฐลด“ภาษีดีเซล” ต่อเท่าไหร่ดี?... 3 หรือ 5 บาท
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

วัดใจรัฐลด“ภาษีดีเซล” ต่อเท่าไหร่ดี?… 3 หรือ 5 บาท

น้ำมันแพง!! ถือเป็นคำแสลงของคนไทยทั้งประเทศ เพราะเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนยากขึ้น…บางคนอาจสิ้นเนื้อประดาตัว บางคนอาจต้องยอดตัดธุรกิจบางอย่าง เพื่อรักษาสภาพตัวเองให้อยู่รอดต่อไป

เช่นเดียวกับภาครัฐ ที่น้ำมันแพงได้กลายเป็น “หอกข้างแคร่” ที่คอยทิ่มตำร่างที่กำลังบอบช้ำของรัฐบาลอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเช่นกัน ด้วยวิกฤติซ้อนวิกฤติที่เกิดขึ้น ยิ่งทำให้การบริหารจัดการประเทศยากลำบากมากขึ้น

แม้เวลานี้ ผู้บริหารกระทรวงการคลังต่างเดินหน้ารับลูกคำสั่งของ “บิ๊กตู่” ในเรื่องของการต่อมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้สูงกว่าเพดานใหม่ที่กำหนดไว้ไม่เกินลิตรละ 35 บาท

เนื่องจากมาตรการเดิมที่กระทรวงการคลังยอมเฉือนเนื้อไปกว่า 17,100 ล้านบาท เพื่อลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงมาลิตรละ 3 บาท จะหมดลงในวันที่ 20 พ.ค.นี้

โรงกลั่นน้้ำมัน / cr : @ERSFellowship

ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลก ก็ยังไม่ได้อยู่ในภาวะขาลงอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุนี้ความจำเป็นที่ต้องประคับประคอง ต้องบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป

ว่ากันว่า…ในการประชุมครม.ในสัปดาห์หน้า (17 พ.ค. 65) กระทรวงการคลังเตรียมแนวทางไว้สองแนวทาง ทั้งการลดภาษีน้ำมันลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และ การลดภาษีสรรพสามิตลิตรละ 5 บาท แต่ใช้เวลาที่น้อยกว่า 3 เดือน

ทั้ง 2 แนวทางนี้ มีเงื่อนไขสำคัญ!! ว่า จะต้องเฉือนเนื้อไม่เกิน 20,000 ล้านบาทเท่านั้น เพื่อไม่ให้กระเทือนฐานะการคลังมากเกินไป ในเมื่องบมีน้อยก็ต้องใช้สอยอย่างประหยัด มาทำมือเติบกันมากเกินไปไม่ได้

ส่วนจะออกมาในรูปแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารประเทศว่าจะเคาะเลือกแนวทางไหน เพื่อให้ “กระชาก” คะแนนนิยมกลับคืนมา ให้เร็ว-ให้ไว-ให้ได้!! แต่ทั้งหมดก็อย่าลืมว่า หากกระชากไปแล้ว สถานการณ์ราคาน้ำมันกลับไม่เป็นใจ ก็อาจเป็นปัญหาต่อฐานะการคลังได้เช่นกัน

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

โดยเฉพาะเมื่อ “ขุนคลัง-อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ได้ออกโรงโชว์ตัว ไว้ชัดเจนว่า การดำเนินนโยบายเพื่อดูแลเศรษฐกิจ หรือการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนนั้น กระทรวงการคลังต้องดูแลให้สอดคล้องกับฐานะการเงินของประเทศ เพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดภาระทางการคลังในอนาคต

อย่าลืมว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 65 หรือตั้งแต่ 1 ตุลาคม ปี 64 ไปจนถึง 31 มีนาคม ปี 65 กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บรายได้ ได้เพียง 276,452 ล้านบาท เรียกได้ว่า…ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.8% และต่ำกว่าประมาณการถึง 5.8%

เหตุผลสำคัญ!! มาจากลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซลลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นการชั่วคราว จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมไปถึงการบริโภคของคนไทยก็ยังไม่กลับฟื้นคืนมาเท่าที่ควร

แม้ว่าในภาพรวมทั้งประเทศ แล้วผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล จะสูงกว่าเป้าหมายถึงกว่า 60,000 ล้านบาท แถมยังสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนอีกต่างหาก

ขณะเดียวกัน เงินคงคลัง ของรัฐบาล ล่าสุด ณ 31 มีนาคม 2565 ยังมีมากถึง 360,855 ล้านบาท ก็ตาม!!

อย่างที่บอก… อนาคตอะไรก็ยังไม่แน่นอน!! การตัดสินใจของรัฐบาลต้องคิดให้หนัก เพราะการใช้เงินในกระเป๋ามา กระตุ้นกำลังซื้อในยามที่เงินมีอยู่น้อยนิด ก็มีอัตราเสี่ยงอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

ขณะที่เงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็เหลืออยู่เพียง 7 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น ส่วนเงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงินรอบแรก 1 ล้านล้านบาท ก็เหลืออยู่เพียงหมื่นกว่าล้านบาทเศษ…เช่นกัน

การจะออกมาตรการมาสนับสนุน ทั้งมาตรการบรรเทาปัญหาด้านพลังงานที่กระทรวงพลังงานกำลังจัดหมวดหมู่และเตรียมเสนอให้รัฐบาลพิจารณาควบคู่กันไปด้วย

หรือ!! แม้แต่…เรื่องของโครงการ “คนละครึ่ง เฟส 5” โครงการ “เรือธง” ของรัฐบาล ที่ทุกคนกำลังรอกันอยู่  ต่างก็ใช้เงินงบประมาณเข้ามาดูแลด้วยกันทั้งนั้น

แม้ ณ เวลานี้  ยังมีพื้นที่ทางการคลังที่สามารถกู้เพิ่มได้ แต่เงินกู้ ก็คือ “เงินกู้” นั่นหมายความว่า ประเทศก็ต้องเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น แล้วถามว่าประเทศเป็นหนี้มากขึ้นนั้น หมายถึงใคร?

ง่ายนิดเดียว แทบไม่ต้องคิดเลยก็ว่าได้ ก็คนไทยทั้งประเทศ…นี่แหล่ะ ที่ต้องเข้ามารับผิดรับชอบต่อไป

…………………..

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img