วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะ 2 “สะดุด” เร่งปรับหลักเกณฑ์ใหม่สร้างความเป็นธรรม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะ 2 “สะดุด” เร่งปรับหลักเกณฑ์ใหม่สร้างความเป็นธรรม

ต้องยอมรับว่าการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ช่วงปี (2564-2566) ของภาครัฐยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผู้ที่ได้รับใบอนุญาตการเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่จำนวน 7 รายนั้น มีเพียงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพียงรายเดียว ที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ประมาณ 1.3 แสนตัน ช่วง เม.ย.-พ.ค. 2565 จากโควต้าปี 2565 รวม 4.5 ล้านตัน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทน ส่วนโควต้าที่เหลือต้องเป็นภาระของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต้องเป็นผู้นำเข้าแทน เพื่อป้อนให้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ

ส่วนผู้ประกอบการที่เป็นเอกชนที่เหลืออีก 6 รายยังไม่มีรายใดนำเข้า เนื่องจากราคา LNG ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบันราคา LNG ยังอยู่ในระดับ โดยสถานการณ์ราคา Spot LNG ในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ในระดับ 18-19 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ส่วนราคา Pool Gas เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 376 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่าในปีนี้ราคายังคงเฉลี่ยอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่อง คาดความต้องการใช้ในยุโรป และจีนเพิ่มขึ้น ในส่วนของโควต้านำเข้า LNG ในปี 2566 นั้นภาครัฐกำหนดไว้ที่ 3.02 ล้านตัน ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการเอกชนที่เป็น Shipper รายใหม่ก็อยู่ระหว่างรอความชัดเจนในการปรับปรุงแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 หรือกรอบหลักเกณฑ์เสรีก๊าซฯ รวมถึงรอดูทิศทางแนวโน้มราคา LNG ว่าจะมีแนวโน้มเป็นเป็นอย่างไร

เรือบรรทุกก๊าซ LNG

สำหรับ Shipper รายใหม่ทั้ง 7 รายประกอบด้วย 1.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด 4.บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด 5.บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก 6.บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL 7.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มีการรวบรวมความคิดเห็นของ Shipper รายใหม่ และรายเดิมอย่างปตท. รวมถึงข้อเสนอแนะของภาครัฐมาปรับปรุงและกำหนดหลักเกณฑ์เสรีก๊าซฯ ระยะที่ 2 ใหม่ รวมถึงแก้ไขกฎระเบียบการนำเข้าก๊าซธรรมชาติใหม่ โดยหลังจากนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันที่ 8 ก.พ. 2566 พิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่แล้ว หากไม่มีข้อท้วงติงอะไรก็จะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 13 ก.พ. 2566 ต่อไป

เรือบรรทุกก๊าซ LNG

ทั้งนี้การกำหนดหลักเกณฑ์เสรีก๊าซระยะที่ 2 และแก้ไขกฎระเบียบการนำเข้าก๊าซธรรมชาติใหม่ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคา LNG ในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับสูงจนส่งผลให้ตลาดเป็นของผู้ขาย จากเดิมตลาดเป็นของผู้ซื้อ เพื่อใม่ให้เกิดข้อได้เปรียบ เสียเปรียบระหว่าง Shipper รายใหม่ กับรายเดิมอย่าง ปตท. และเพื่อเกิดการแข่งขันกันมากขึ้น ซึ่งกฎระเบียบ และหลักเกณฑ์เสรีก๊าซระยะที่ 2 ที่ปรับปรุงใหม่ปตท.ก็เห็นด้วย ซึ่งหากกบง. และกพช. เห็นชอบก็จะสามารถเปิดเผยในรายละเอียดได้

แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า การเปิดเสรีก๊าซฯ ระยะที่ 2 ที่กำหนดโควต้านำเข้า LNG เพียง 3 ปี คือ ปี 2564 จำนวน 4.8 แสนตัน แต่นำเข้าจริง 6 แสนตัน ,ปี 2565 กำหนดโควต้า 4.5 ล้านตัน และปี 2566 จำนวน 3.02 ล้านตันนั้น ถือว่าระยะเวลาน้อยเกินไป ที่ผ่านมาเคยเสนอให้กำหนดโควต้าเป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถบริหารจัดการการนำเข้า LNG เพื่อมาใช้กับโรงไฟฟ้าใหม่ได้อย่างชัดเจน ดังนั้นเมื่อหมดโควต้าปี 2566 แล้ว จำเป็นต้องรอภาครัฐกำหนดโควต้าการนำเข้า LNG สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ออกมาอีกครั้งก่อนจึงจะเริ่มดำเนินการได้

…………..

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย…“ไรวินทร์”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img