วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS''พีระพันธุ์''รมว.พลังงาน ก๊อก 2 เดินหน้าแก้โจทย์ยากต่อ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

”พีระพันธุ์”รมว.พลังงาน ก๊อก 2 เดินหน้าแก้โจทย์ยากต่อ

เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่ออีกสมัยสำหรับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งเขาก็มั่นใจมาตลอดว่าจะได้เป็นต่อ ดังนั้นแม้ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลนายกฯเศรษฐาเป็นนายกฯแพทองธารเขาก็ยังทำงานพลังงานไปเรื่อยๆ

ก็ต้องถือว่าเขามีโอกาสทำงานต่อเนื่องติดต่อกันเข้าปีที่ 2 หลายคนสงสัยว่าได้ทำอะไรตามแนวทาง “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” ตามที่ประกาศไว้บ้าง ก็ยากอยู่ที่ชาวบ้านจะเห็น เพราะเล่นแก้ไขโครงสร้างและกฎหมายซึ่งเป็นงานยากและงานยาว แต่ก็มีผลงานอยู่ในเรื่องการเบรกค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) ไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยก่อนจะขยับมาที่ 4.18 บาทต่อหน่วยในตอนนี้

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ไม่นานมานี้เขาได้สรุปผลงาน 1 ปีไว้ ซึ่งมีการบอกว่าได้ผ่านมาถึงบันไดขั้น 5 แล้ว ใครๆอาจมองว่าเขาก้าวจากพื้นไปถึงขั้น 5 เลยหรือเปล่า เพราะอย่างที่บอกผลงานแก้โครงสร้างยังไม่เห็นประจักษ์  รมว.พีระพันธุ์ อธิบายว่า ‘บันไดขั้นที่ 1’ เป็นช่วงศึกษาดูงาน ‘บันไดขั้นที่ 2’ หาช่องทางกฎหมายให้รู้ต้นทุนราคาน้ำมัน และออกเป็นประกาศกระทรวงพลังงานกําหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันเป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา

พอรู้ต้นทุนราคาน้ำมันก็ไปสู่ ‘บันไดขั้นที่ 3’ คือ การรื้อกระจายกับระบบการค้าน้ำมันบนกระดาษก่อนและนำไปกองไว้ ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องรอกฎหมายที่ต้องผ่านกระบวนการอีกยาวกว่าจะประกาศใช้ ส่วน‘บันไดขั้นที่ 4’ กำลังเร่งจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve)

คนอื่นไม่รู้ยืนบันไดขั้นไหน แต่รมว.พีระพันธุ์ขึ้นมายืนอยู่ที่ “บันไดขั้นที่ 5” แล้ว เพราะการยกร่างต้นฉบับกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมัน 180 มาตราเสร็จ อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายและพลังงาน สาระสำคัญเขาบอกคร่าวๆว่ากฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้การปรับราคาน้ำมันทำได้เดือนละ 1 ครั้ง ไม่ใช่ปรับทุกวัน และให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงของต้นทุนน้ำมัน โดยนำระบบ Cost Plus หรือระบบที่คิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริงใช้แทนการอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ

บันไดขั้นนี้สำคัญซึ่งพันกับบันไดขั้น 4 เรื่อง SPR มีหลายคำถามที่ถามกันซ้ำกันไปซ้ำมาตั้งแต่รมว.ประกาศจะรื้อใหญ่เพราะบัดนี้ก็ยังมึนกันไม่รู้ทิศรู้ทาง มาถึงการเข้าตำแหน่งรอบ 2 ก็ขอถามกันอีกรอบหวังจะมีคำตอบกันบ้างไม่มากก็น้อย คือ 1.ที่บอกว่าให้ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาน้ำมันเดือนละครั้งนั้น ทำได้เพียงขอความร่วมมือกับปตท.และบางจากเหมือนเดิม หรือบังคับทุกเจ้า ถ้าบังคับทุกเจ้าทุกปั๊มธุรกิจน้ำมันบ้านเราก็จะไม่เสรีอย่างที่ประกาศละ

แต่นั่นแหละตามความเป็นแล้ว น้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการของกระทรวงพาณิชย์ เพียงแต่ที่ผ่านมาน้ำมันเชื้อเพลิงมีคณะกรรมการมากมายกำกับอยู่ ทั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ,คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ในสังกัดกระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์จึงไม่ได้เข้ามาควบคุมราคาน้ำมันเต็มตัวเหมือนสินค้าอื่น ดังนั้นน้ำมันเชื้อเพลิงจึงเป็นสินค้าลักลั่นเหมือนจะเสรีแต่ไม่เสรี เป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้เข้ามาควบคุม ปล่อยให้เป็นกลไกทางพลังงานซึ่งอยู่ในภารกิจของกระทรวงพลังงงาน ซึ่งตลาดพลังงานก็มีทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชนเข้ามาเล่น

ตามกลไกราคาน้ำมันหน้าปั๊มในบ้านเราจะลงหรือขึ้นก็จะมีกำไรที่วางไว้อยู่ว่าต้องไม่เกิน 2 บาทต่อลิตรหากช่วงไหนกำไรเกินก็จะมีสัญญาณทำนองขอความร่วมมือให้ลดราคา ปั๊มใหญ่ก็จะลดราคาลงมา ปั๊มเล็กอื่นก็จะลดตามไม่งั้นขายไม่ได้กลไกตลาดก็จะเข้ามาตรงนี้ ส่วนปั๊มอื่นโดยเฉพาะต่างชาติเขาก็จะลดบ้างไม่ลดบ้างดูตามต้นทุนของเขาเอง นี่แหละกิจการพลังงานแบบไทยๆฟันธงไม่ได้ “ไม่ได้ควบคุมมากมายอะไร แต่ก็ไม่เสรีจริงๆ”  ตรงนี้ไม่รู้ว่ารมว.พลังงานคนนี้จะทำให้ชัดเจนขึ้นได้หรือไม่หรือหนักกว่าเดิม!

คำถามที่ 2.การคิดราคาน้ำมันตามต้นทุนไม่อิงตลาดโลก ปัจจุบันได้รู้ต้นทุนของทุกๆโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 โรงแล้วใช่หรือไม่ และจะปรับปรุงอย่างไร โครงสร้างใหม่หารเฉลี่ยต้นทุนของทุกโรงกลั่นให้เป็นตัวเลขเดียวหรือไม่ และคิดกำไรให้เท่าไหร่ เมื่อออกมาเป็นต้นทุน ณ โรงกลั่นแล้ว ตามโครงสร้างใหม่จะบวกด้วยภาษีต่างๆเท่าไหร่ การเก็บเงินเข้ากองทุนต่างๆทั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะยังมีอยู่หรือไม่ คำถามที่ 3.ในช่วงที่ราคาน้ำมันผันผวนเทรนด์สูงการปรับราคา 1 เดือนครั้งผู้ค้าน้ำมันรายเล็กสายป่านสั้นกว่ารายใหญ่จะเป็นอย่างไร  

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

มาถึง SPR แนวคิดของรมว.พลังงาน ที่บอกว่าจะนำระบบนี้มารักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง ตอนนี้กำลังเตรียมร่างกฎหมายเกี่ยวกับโดยจะเอาน้ำมันสำรองนี้มาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันฯ และบอกว่าจะเปลี่ยนกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้เงินและสร้างหนี้สาธารณะ ให้กลายมาเป็นทรัพย์สินของประเทศ ทั้งมีความร่วมมือกับทางซาอุดิอาระเบียที่จะเข้ามาสนับสนุน

คำถาม 1.การสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ 90 วันคิดอย่างไร เพราะตอนนี้มีสำรองทางการค้าของผู้ค้าอยู่แล้ว 25 วันจะหักลบเหลือ 65 วัน หรือรัฐต้องสำรองเต็ม 90 วัน 2.ต้องเก็บเป็นเนื้อน้ำมันเข้าคลังของรัฐ หรือเก็บเป็นลมมีตัวเลขบนกระดาษไว้หักกลบลบหนี้ทางบัญชีเท่านั้น ส่วนเนื้อน้ำมันฝากไว้ที่ผู้ขายหรือไม่ 3.การซื้อน้ำมันเก็บเข้าคลัง SPR ต้องวางแผนโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้ราคาถูกที่สุด และเมื่อจะเอาออกไปใช้จะมีวิธีการอย่างไรขายแบบมีกำไรไม่ขาดทุนใช่หรือไม่

4. SPR จะเอาออกมาใช้ยามราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนเท่านั้นใช่หรือไม่ 5.การดึงต่างประเทศอย่างซาอุฯมาร่วมมือในการร่วมลงทุนสร้างคลังน้ำมันไว้เก็บสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ แต่ระบบการบริหารจัดการทำโดยรัฐบาลไทยใช่หรือไม่ 6.กองทุนน้ำมันฯจะไปอยู่หมวดหนึ่งของกฎหมายใหม่ หรือไม่มีเลย หากยังมีการเก็บเงินเข้ากองทุนฯจะเก็บเป็นน้ำมันเข้าคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ หรือเก็บเป็นตัวเงินเหมือนเดิม 7.หนี้กองทุนน้ำมันฯแสนล้านจะทำให้หมดไปด้วยวิธีใดเพื่อให้หนี้เป็นศูนย์และเริ่มต้นโครงสร้างตามกฎหมายใหม่ 

และมีอีกหลายเรื่องที่มีการถามหากันว่าจะออกมาอย่างไร แม้คนในกระทรวงพลังงานเองก็ยังไม่รู้ทิศไม่รู้ทางที่จะไป เพราะทั้งหมดทั้งมวลอยู่ที่ไอเดียของรมว.พลังงานแต่เพียงผู้เดียวว่าจะสรรสร้างออกมาปฏิบัติให้ได้ผลอย่างไร รวมไปถึงที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสาธารณกุศล รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร การประมง สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้ได้เอง

ก่อนหน้านี้คิดกับคณะทำงานกับคนกระทรวงพลังงานก็ไม่ยากเท่าที่จะนำออกมาผ่านกระบวนการของคนนอก งานต่อหลังจากนี้เป็นช่วงเข้าโค้งละ รมว.พลังงานเลยต้อง “ขอให้พี่น้องประชาชนช่วยเป็นผนังกําแพงให้ผมพิงเพื่อทำงานสำคัญนี้ให้สำเร็จด้วยครับ”

ที่น่าจะทำได้ง่ายจับต้องได้มีแต่บวกกับบวก รมว.คงเดินหน้าทำผสมกับงานยากที่มีทั้งคนกร่นด่าและเห็นด้วยก็คงจะเป็นเรื่องการส่งเสริมประชาชนให้ติดตั้ง Solar Rooftop ที่จะส่งเสริมการผลิตอุปกรณ์สำหรับการติดตั้งระบบ Solar Rooftop ทำให้ราคาไม่เกิน 30,000 บาท และการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชนซึ่งตอนนี้เต็มโควต้าแล้วก็จะมีการขยายกรอบการรับซื้อต่อไป

………………

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย…..”สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

 

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img