วันศุกร์, พฤศจิกายน 8, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“Green Hydrogen” ต้นทุนยังสูงเกิน!! ภาครัฐต้องสนับสนุนอย่างจริงจังกว่านี้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“Green Hydrogen” ต้นทุนยังสูงเกิน!! ภาครัฐต้องสนับสนุนอย่างจริงจังกว่านี้

“พลังงานไฮโดรเจน” (Hydrogen, H2) พลังงานแห่งอนาคตที่ทั่วโลกต้องมีในแผนชาติ ด้วยข้อดีหลายประการ ที่เป็นเชื้อเพลิงสะอาดช่วยตอบโจทย์ Net Zero ไม่ก่อให้เกิดกลุ่มควันฝุ่นละออง สามารถสังเคราะห์ได้จากวัตถุดิบตามธรรมชาติหลากหลายประเภท และให้ค่าพลังงานเชื้อเพลิง สูงกว่าค่าพลังงานชนิดอื่น ตอนนี้ประเทศที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าอย่างสหรัฐฯ หรือ ญี่ปุ่น ก็กำลังพัฒนาอย่างขะมักขะเม้น

ประเทศไทยแม้จะเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีมาใช้ ก็ยังต้องกล้าใส่เข้ามาในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2024) โดยร่างแผนฯบรรจุเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับผสมกับเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในสัดส่วน 5% ด้วยราคาต้นทุนที่ยังสูง การใส่ในแผนจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาค่าไฟฟ้ามากเกินไป

นอกจากแผน PDP 2024 แล้วร่างแผนปฏิบัติการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง 2567-2580 (Oil Plan 2024) ก็บรรจุไฮโดรเจนในภาคขนส่งไว้ด้วย โดยกรมธุรกิจพลังงานในฐานะแม่งานกำลังเตรียมการด้านกฎระเบียบเพื่อดูแลคุณภาพและความปลอดภัย รวมถึงส่งเสริมการใช้งานไฮโดรเจนในรถบรรทุกขนาดใหญ่ก่อน

สำหรับประเทศไทยการส่งเสริมจะออกเป็นมาตรการแบบไหนยังไม่ชัดเจน คงได้เห็นแต่บริษัทพลังงานแห่งชาติ อย่าง “กลุ่ม ปตท.” ออกมาเป็นหัวหอก มีการริเริ่มจัดตั้ง Hydrogen Thailand เมื่อปี 2562 ขับเคลื่อนพลังงานไฮโดรเจนให้เกิดเป็น Ecosystem ของพลังงานแห่งอนาคต ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของประเทศไทย

Hydrogen Thailand Club ตอนนี้มีสมาชิก 77 องค์กรรวมตัวกันพัฒนา Hydrogen Roadmap ของไทยและโครงการสาธิตด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจน จัดทำ Hydrogen Whitepaper สนับสนุนรัฐบาลในการทำ  Hydrogen Roadmap

ใน Hydrogen Whitepaper รายงานถึงบทบาทของไฮโดรเจนในแต่ละภาคส่วน ทั้งภาคไฟฟ้า ขนส่ง อุตสาหกรรม รวมแล้วช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ 16.3 ล้านตันในปีพ.ศ.2593 หรือช่วยลดได้ 14% ในภาพรวม โดยความต้องการไฮโดรเจนในไทยจะพุ่งสูงต่อเนื่องเป็น 2.27 ล้านตันในปี พ.ศ.2593 ซึ่งปีนั้นเป็นปีที่ไทยวางเป้าหมายให้ถึงความเป็นกลางทางคาร์บอนไว้

แน่นอนว่า การพัฒนาไฮโดรเจนต้องไล่สเต็ปจาก Grey Hydrogen มาสู่ Blue Hydrogen และมาถึง Green Hydrogen ที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน

ว่าไปแล้ว การผลิต Grey Hydrogen หรือไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น ทำกันอยู่แล้ว ก้าวต่อไปยากและใช้เวลาอยู่พอสมควรในการพัฒนาให้ได้ Blue Hydrogen ซึ่งต้องรอให้อีกบิ๊กโปรเจกต์เดินหน้าด้วยนั่นก็คือ โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) เพื่ออัด CO2 ลงใต้ดิน โครงการนี้ลำพังแล้วก็ไม่ง่าย เพราะความรับผิดชอบยังอยู่กระจัดกระจายหลายหน่วยงาน แม้จะเป็นโครงการนี้ชูโรงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของ กลุ่ม ปตท. ซึ่งยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ทั้งโรงงานในกลุ่ม ปตท.และนอกกลุ่ม ซึ่งมีหลายโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องทำทั้งแพ็กเกจ ตั้งแต่การดึง CO2 มารวมกันไว้แล้วอัดลงท่อส่งจากเส้นทางศรีราชา-นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีสร้างสถานีคาร์บอนไดออกไซด์ ก่อนจะต่อท่อใต้ทะเลมากักเก็บไว้ในหลุมปิโตรเลียมในแหล่งอาทิตย์นอกชายฝั่ง เบื้องต้นจะทำได้ในเชิงเชิงพาณิชย์ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี พ.ศ.2577 แล้วก็จะศึกษาโครงการ CCS ไปพร้อมกันในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยองด้วย

งานยากยิ่งกว่านั้นคือ การไปสู่ Green Hydrogen ซึ่งได้มีการศึกษาออกมาแล้ว เป็นไฮโดรเจนที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งทำกันมาเยอะในประเทศไทย “ดร.ธนา ศรชำนิ” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจไฮโดรเจน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ผลการศึกษาว่าต้นทุนการผลิต Green Hydrogen สูงถึง 7-10 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม สูงกว่านำเข้า จำเป็นต้องมีการปรับ Business Model และสถานที่ตั้งให้เหมาะสม โดยยอมรับว่าประเทศไทยมีความเข้มของแสงแดดน้อย ทำให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนสูง และโครงการนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย เพื่อให้โครงการเกิดได้ คาดว่าจะมีความชัดเจนในอีก 1-2 ปีนี้

โครงการศึกษา Green Hydrogen ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2565 ตอนนั้น ปตท., การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาและลงทุนในโครงการไฮโดรเจนสีเขียว และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด (ACWA Power) บริษัทพลังงานของซาอุดิอาระเบีย เพื่อส่งออกไฮโดรเจนไปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงภูมิภาคใกล้เคียง ตอนนั้นได้ประกาศแผนผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยประมาณ 2.25 แสนตันต่อปี เทียบเท่ากรีนแอมโมเนีย 1.2 ล้านตันต่อปี เงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้ต้องทบทวนแผนนี้ใหม่ เพราะการลงทุนในบ้านเราอาจทำไม่ได้ในเชิงต้นทุนต้องไปทำที่ซาอุดิอาระเบียดูจะมีโอกาสมากกว่าในการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ดูจะติดขัดไปหมดในการพัฒนาไฮโดรเจนในประเทศไทย

มาดูเส้นทางการพัฒนาไฮโดรเจนที่สิงคโปร์ ล่าสุดได้เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมไฮโดรเจน (Centre for Hydrogen Innovations : CHI) อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) เพื่อส่งเสริมการวิจัยไฮโดรเจน และการใช้งานเชิงพาณิชย์ รัฐบาลสิงคโปร์ออกมาประกาศอย่างชัดเจน โดยนาย Tan See Leng รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและรัฐมนตรีคนที่สองกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ในการเดินหน้าศึกษาการใช้ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำอย่างจริงจัง เพื่อเป้าหมาย Net Zero 2050 ของสิงคโปร์ ให้เอาไปใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้อย่างคุ้มทุน เดินหน้ายกระดับความพร้อมทั้งทางเทคโนโลยีภายใต้ความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด พร้อมกับการสร้างกลุ่มบุคลากรสำหรับสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต

การส่งเสริม CHI ก่อตั้งขึ้นในรูปแบบศูนย์เสมือนจริงก่อน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ได้รับเงินลงทุนรวม 25 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ มาจากเงินบริจาค 15 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จาก Temasek Foundation และเงินสมทบ 5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จากรัฐบาลสิงคโปร์ และเงินทุนเพิ่มเติมจาก NUS

ศูนย์ CHI ศึกษาวิจัยการจัดการไฮโดรเจนในด้านต่างๆ ประกอบด้วย 1.การผลิตไฮโดรเจน 2.การจัดเก็บไฮโดรเจน 3.ระบบนำพาไฮโดรเจน (hydrogen carrier systems) และ 4.การใช้ไฮโดรเจน โดยใช้ศักยภาพของ NUS ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ศูนย์ CHI ได้คัดเลือกโครงการที่จะทำการศึกษาวิจัยแล้วจำนวน 8 โครงการ หลักการสำคัญคือ ต้องการให้บรรลุการใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียว และวางเส้นทางนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนไปใช้ในเชิงพาณิชย์ สูงสุดต้องทำให้เศรษฐกิจไฮโดรเจนเกิดและต้องแข็งแกร่งด้วย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระบบเศรษฐกิจ

พลังงานไฮโดรเจนเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เป็นสิ่งที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายในการพัฒนาไว้ เพื่อให้เป็นหนึ่งในวิธีการบรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศเหมือนกับทั่วโลก แตกต่างที่เอาจริงหรือไม่และเมื่อไหร่เท่านั้น ก็เมื่อคนผลิตและคนใช้ คือ ภาคเอกชนมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุน และการลงทุนที่ยังสูง ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ารีบสนับสนุนผ่านมาตรการต่างๆ อย่างจริงจังและเข้มข้นให้ทันการณ์ ติดขัดทางการเงินก็อาจต้องหาเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ มาช่วย

เช่น กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF) กลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการ​เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ซึ่งมีทั้งเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Grants) และเงินกู้แบบผ่อนปรน (Concessional Loans) ตราสารทุน (Equity) และการค้ำประกัน (Guarantees)

สำคัญคือทำอย่างไรที่จะไม่หยุดอยู่กับที่ !!!

……………..

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย….“ศรัญญา ทองทับ”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img