วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSHydrogen from Biomass อนาคตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากชีวมวล
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

Hydrogen from Biomass อนาคตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากชีวมวล

Green Hydrogen through Biomass Gasification

“….การแปรสภาพทำให้เป็นก๊าซของชีวมวล Biomass Gasification และอนาคตของแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน Future of Hydrogen Fuel …”

แม้ว่าไฮโดรเจน Hydrogen : H2 จะเป็นตัวนำพาพลังงานสะอาด Clean Energy Carrier ซึ่งหมายถึง เชื้อเพลิง Fuel นั่นเอง แต่การผลิตพวกมัน ยังมิได้ประกันการลดลงของปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั่วโลก Global Carbon Footprint อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจุบัน ฐานการผลิต Hydrogen : H2 หลัก คือ ไฮโดรเจนสีเทา Grey Hydrogen จากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นก๊าซธรรมชาติ Natural Gas ..

นอกจากนี้ การผลิตไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Environment-Friendly Production of Hydrogen ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากเกิน แต่อย่างไรก็ตามจากนี้ไป วิธีแก้ปัญหาที่เหนือชั้นกว่า นั่นคือ ‘การผลิต Green Hydrogen ด้วยการแปรสภาพทำให้เป็นก๊าซของชีวมวล Biomass Gasification’ ซึ่งได้รับการคาดหวังว่า เมื่อผนวกรวมกับการผลิต Green Hydrogen จากการแยกน้ำด้วยกำลังไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแล้ว พวกมันจะสามารถเข้ามาแทนที่ไฮโดรเจนสีเทา Grey Hydrogen ได้อย่างยอดเยี่ยมในอนาคตอันใกล้นี้ ..

Biomass to Hydrogen | Credit : Hydrogen Europe

ชีวมวล Biomass คือ วัสดุสารอินทรีย์ Renewable Organic Material ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ผลผลิตการเกษตร เศษของเหลือทิ้งในภาคเกษตรกรรม ขยะอินทรีย์ในเขตเทศบาล พลาสติก เศษยาง น้ำมันใช้แล้ว ขยะจากป่าไม้ และมูลสัตว์ หรือแม้แต่ของเสียของมนุษย์ .. การแปลงทรัพยากรเหล่านี้ให้เป็นเชื้อเพลิง และก๊าซที่อุณหภูมิสูง เรียกว่า การแปรสภาพเป็นก๊าซ Gasification .. โดยทั่วไป การแปรสภาพทำให้เป็นก๊าซของชีวมวล Biomass Gasification มักจะหมายถึง การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ Biofuels จากวัตถุดิบสารอินทรีย์ที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ Organic, Renewable Feedstock ..

ในกระบวนการนี้ ชีวมวล Biomass จะถูกทำให้แห้งที่อุณหภูมิ 150°C ก่อนที่จะถูกให้ความร้อนอีกครั้งที่อุณหภูมิ 800-900°C ในเครื่องผลิตก๊าซที่มีตัวออกซิไดซ์ เนื่องจากความร้อนที่เพิ่มขึ้น กากของเสียแห้งจะสลายตัว จากนั้นไฮโดรคาร์บอน Hydrocarbons ที่เป็นของแข็งเชิงซ้อนจะแตกตัวเป็นก๊าซไวไฟ เช่น ไฮโดรเจน Hydrogen : H2 และก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ Syngas .. ก๊าซเหล่านี้ สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้เมื่อแยกจัดเก็บไว้ และทำให้บริสุทธิ์ ..

การแปรสภาพทำให้เป็นก๊าซของชีวมวล Biomass Gasification และอนาคตของแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน Future of Hydrogen Fuel ..

ไฮโดรเจน Hydrogen : H2 สามารถผลิตขึ้นได้ในปริมาณมหาศาลโดยผ่านกระบวนแปรสภาพให้เป็นก๊าซของชีวมวล Biomass Gasification .. วิธีการที่กล่าวถึงนี้ใช้ปฏิกิริยาเทอร์โมเคมีที่อุณหภูมิสูง และความดันต่ำ Thermochemical Reaction at High Temperatures & Low Pressures .. ไฮโดรเจน Hydrogen : H2, คาร์บอนมอนอกไซด์ Carbon Monoxide : CO, มีเทน Methane : CH4, คาร์บอนไดออกไซด์ Carbon Dioxide: CO2 และก๊าซอื่น ๆ จะเกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ ..

หากเป้าหมาย คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฮโดรเจน Hydrogen : H2 .. กระบวนการเหล่านี้ ควรผนวกรวมการทำให้บริสุทธิ์ด้วยซินแก๊ส Syngas Purification, การประยุกต์ใช้ปฏิกิริยาการเปลี่ยนสถานะของน้ำ และแก๊ส Water-Gas Shift Reaction เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของ Hydrogen : H2 และเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน Carbon Capture & Storage : CCS Technology ไปพร้อมด้วย เพื่อจำกัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ Carbon Dioxide : CO2 และจัดเก็บไว้ใช้ประโยชน์อื่น ๆ ต่อไป ..

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับ และจัดเก็บคาร์บอน Carbon Capture & Storage : CCS Technology รวมทั้งการใช้กระบวนผลิตไฮโดรเจนจากชีวมวล Hydrogen Generation from Biomass พร้อมกันไปด้วยนั้น คือ วิธีเดียวที่สร้างการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ Carbon Dioxide : CO2 ที่เป็นลบสุทธิ Net-Negative CO2 Emissions ให้สำเร็จได้ ..

การผลิตไฮโดรเจนโดยการแปรสภาพเป็นก๊าซของชีวมวล Hydrogen Production by Biomass Gasification มีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ การจัดการต่อปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น Growing Waste Stocks และวิธีการผลิตไฮโดรเจนที่ใช้วัตถุดิบจากสารอินทรีย์คาร์บอนเข้มข้น Carbon-Intensive Hydrogen Production Method เพื่อให้มีแหล่งพลังงานเพียงพอที่จะยกเลิกการใช้แหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล Fossil Fuels เป็นฐานบริโภคหลักในระบบเศรษฐกิจ และสังคมของมนุษยชาติ ให้บรรลุความสำเร็จได้ ภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ ..

โดยทั่วไป ไฮโดรเจน Hydrogen : H2 คือ ธาตุที่พบมากที่สุดในโลก Most Common Element on Earth แม้ว่า พวกมันจะไม่เกิดขึ้นเองภายใต้สภาวะปกติ เนื่องจากคุณสมบัติที่ไวต่อการทำปฏิกิริยา จึงรวมตัวกับองค์ประกอบธาตุอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างสารประกอบอินทรีย์ และอนินทรีย์ Organic & Inorganic Compounds มากมายที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น น้ำ Water : H2O เป็นต้น ..

มีหลากหลายวิธีในการผลิตไฮโดรเจน Hydrogen : H2 แต่ละวิธีมีข้อดี และข้อเสียในด้านต้นทุน และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Cost & Environmental Friendliness .. ยิ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ Carbon Dioxide : CO2 ในระหว่างการสังเคราะห์ไฮโดรเจน Hydrogen Synthesis ออกมามากเท่าใด การผลิตก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงเท่านั้น ..

Hydrogen Production in The Coming Hydrogen Economy | Credit : New Energy Treasure / US DOE

ปัจจุบัน การใช้ไฮโดรเจนรูปแบบดั้งเดิมในอุตสาหกรรม Traditional Use of Hydrogen in the Industries นั้น ส่วนใหญ่ ไฮโดรเจน Hydrogen : H2 จะถูกนำมาใช้ในภาคการกลั่นน้ำมัน และเคมีภัณฑ์ Oil Refining & Chemical Sectors .. อย่างไรก็ตาม อ้างอิงข้อมูลจาก International Energy Agency : IEA พบว่า โลกผลิตไฮโดรเจน Hydrogen : H2 ประมาณ 69 ล้านตันต่อปี มีการใช้งานทั้งหมด 63% ในอุตสาหกรรมเคมี Chemical Industry, 31% ในการกลั่นน้ำมัน Oil Refining, 6% ในการแปรรูป และน้อยกว่า 1% เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ Cars, รถบรรทุก Trucks และจรวด Rockets ..

ความหนาแน่นพลังงานของไฮโดรเจน Hydrogen’s Energy Density อยู่ที่ 33 KW/Kg สูงกว่าน้ำมันเบนซิน และดีเซลมาก ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 12 KW/Kg ทำให้ไฮโดรเจน Hydrogen เป็นตัวนำพาพลังงาน หรือหมายถึง เชื้อเพลิงที่ยอดเยี่ยม Excellent Energy Carrier or Fuel .. ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของไฮโดรเจน Hydrogen คือ การเป็นเชื้อเพลิงสะอาด เพราะเมื่อถูกเผาไหม้ จะมีเพียงแต่น้ำเท่านั้นที่จะกลายเป็นผลผลิตสุดท้ายโดยไม่มีการปล่อยก๊าซอันตรายใด ๆ ออกสู่บรรยากาศ ..

ไฮโดรเจน Hydrogen มีศักยภาพในการลดคาร์บอนในภาคเศรษฐกิจ สังคม และกระบวนการทางอุตสาหกรรม ซึ่งการลดการปล่อยคาร์บอนนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญ และซับซ้อนอย่างยิ่ง ..

อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับพื้นหลังของการดำเนินการอย่างแข็งขันโดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ และผลจากการลงนามของนานาชาติในข้อตกลงภูมิอากาศที่ปารีส Paris Climate Agreement นั้น ส่งผลให้ไฮโดรเจน Hydrogen : H2 ได้รับการพิจารณาว่าเป็นทางเลือกที่แท้จริงสำหรับการแทนที่เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอน Real Alternative to Hydrocarbon Fuels ในอนาคตจากนี้ไป ..

แม้ว่า ระบบเศรษฐกิจไฮโดรเจนใหม่ New Hydrogen Economy จะยังห่างไกลจากการบรรลุผล และมักจะถูกขัดขวางโดยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ โครงสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และสภาพสถานะของเทคโนโลยีปลายทางจำนวนมาก .. แต่ไฮโดรเจน Hydrogen : H2 คือ แนวโน้มในอนาคตสำหรับการแสดงบทบาทสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น ในฐานะเชื้อเพลิงที่ไม่ทิ้งร่องรอยคาร์บอนเมื่อถูกเผาไหม้ .. คาดหมายได้ว่า ไฮโดรเจน ได้กลายเป็นคำตอบ และข้อไขที่เฉียบขาดสำหรับทางออกของปัญหาสำคัญเพื่อมุ่งสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนแบบใหม่ New Energy-Based Renewables ที่สะอาด และเหนือชั้นกว่า ..

ตัวอย่างพัฒนาการล่าสุด เช่น โครงการนวัตกรรมไฮโดรเจน Hydrogen BECCS Innovation Program โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร UK Government ซึ่งได้ดำเนินโครงการเริ่มใหม่ เมื่อ มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนโดยใช้ชีวมวล และของเสียที่ยั่งยืน Hydrogen Production from Sustainable Biomass & Waste ..

โครงการนวัตกรรมไฮโดรเจน Hydrogen BECCS Innovation Program ล่าสุดนี้ ใช้เงินทุนภาครัฐกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยพัฒนาระบบผลิตไฮโดรเจนที่ใช้แหล่งพลังงานชีวภาพร่วมกับระบบดักจับ และจัดเก็บคาร์บอนไปพร้อมด้วย BioEnergy with Carbon Capture & Storage : BECCS ..

ในกระบวนการ BECCS Process ดังที่กล่าวนี้นั้น คาร์บอนที่ปล่อยออกมาระหว่างการผลิตไฮโดรเจนจะถูกดักจับ และจัดเก็บไว้ เพื่อให้มั่นใจว่า พวกมัน คือ กระบวนผลิตพลังงานที่สะอาดอย่างแท้จริง .. ความพยายามนี้แสดงให้เห็นว่า ชีวมวล Biomass และไฮโดรเจน Hydrogen จะสามารถมีบทบาทร่วมในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิ Net-Zero ในสหราชอาณาจักรได้อย่างไร ..

ในสหรัฐฯ โครงการ Project Cyclus จะส่งพลังงานที่เป็น Bioenergy และ Biofuels สำหรับโรงงาน Grön Fuels ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Fidelis New Energy, LLC : Fidelis ประมาณ 73,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะมีการผลิตเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน Sustainable Aviation Fuel : SAF, ดีเซลหมุนเวียน Renewable Diesel, ไฮโดรเจนสีเขียว Green Hydrogen และวัตถุดิบที่ใช้ผลิตพลาสติกชีวภาพ Bio-Plastic Feedstock .. โรงงานผลิตพลังงานจากชีวมวล Biomass-To-Energy Facility ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ Carbon Dioxide : CO2 เป็นลบสุทธิ Net-Negative ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ และใหญ่ที่สุดในโลก โดย Babcock & Wilcox และ Kiewit Industrial ได้ร่วมมือกันสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล Biomass Power Plant ในท่าเรือ Port of Greater Baton Rouge รัฐหลุยเซียน่า Louisiana ประเทศสหรัฐฯ .. โครงการที่กล่าว จะส่งผลให้โครงการโรงไฟฟ้า Project Cyclus ขนาด 200 MW ในพื้นที่นี้จะกลายเป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดเทียบกับโรงไฟฟ้าประเภทเดียวกันอีกด้วย ..

ทั้งนี้ เชื้อเพลิงชีวมวล Biomass Fuels ที่จะถูกนำมาใช้ในโครงการ Cyclus Project รวมถึง ของเหลือทิ้งภาคการเกษตร เศษไม้ และชานอ้อย เป็นต้น และด้วยเทคโนโลยีการดักจับ และจัดเก็บคาร์บอน Carbon Capture & Storage Technology ที่ติดตั้งมาพร้อมด้วยนั้น คาร์บอนไดออกไซด์ Carbon Dioxide : CO2 จะถูกแยกเก็บไว้ใต้ดินเพื่อใช้ประโยชน์อื่น ๆ และเพื่อผลิต Synfuels ต่อไป ..

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับอนาคตของเชื้อเพลิงไฮโดรเจน Future of Hydrogen Fuel อยู่ในประเทศแคนาดา Canada .. ฝ่ายบริหารของออนแทรีโอ Government of Ontario เปิดตัวยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ  Low-Carbon Hydrogen Strategy หรือกลยุทธ์ไฮโดรเจน Ontario’s Hydrogen Strategy เป็นครั้งแรก เมื่อ 7 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา โดยสรุปวิสัยทัศน์ของฝ่ายบริหาร และความคาดหวังสำหรับภาคส่วนไฮโดรเจนที่กำลังพัฒนาขึ้นด้วยความมุ่งมั่น ..

Hydrogen from Woody Biomass | Credit : Dr Sanjukta Subudhi / TERI

กิจกรรมที่เสนอหลายประการรวมอยู่ในกลยุทธ์ เพื่อเปิดใช้งานการผลิตไฮโดรเจน Hydrogen Generation, การพัฒนา และขยายเศรษฐกิจไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ Low-Carbon Hydrogen Economy .. ส่วนหนึ่งในแผนงานนั้น ชีวมวลจากป่าคุณภาพต่ำ Low-Grade Forest Biomass จะถูกนำมาใช้เพื่อผลิตไฮโดรเจนที่มีคาร์บอนต่ำ ผ่านกระบวนการไพโรไลซิส Pyrolysis และการแปรสภาพทำให้เป็นก๊าซของชีวมวล Biomass Gasification ..

ในประเทศญี่ปุ่น .. การผลิต Green Hydrogen จากชีวมวล Biomass ยังคงเน้นไปที่การจัดการขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลในชุมชน .. ขยะพลาสติก Plastic Waste ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จะถูกนำส่งให้กับบริษัทเทคโนโลยีไฮโดรเจน Hydrogen Utopia International ซึ่งได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง Letter of Intent: LOI กับบริษัทมิตซูบิชิ Mitsubishi Heavy Industries เพื่อทบทวนเทคโนโลยี และสำรวจโอกาสทางการค้าสำหรับการพัฒนาการจัดการขยะพลาสติกไปสู่โรงงานผลิตไฮโดรเจน Developing Waste Plastic to Hydrogen Facilities .. “มิตซูบิชิ Mitsubishi จะมีระยะเวลา 1 ปี ในการตรวจสอบเทคโนโลยีภายใต้ Letter of Intent : LOI เว้นแต่จะขยายออกไปด้วยความยินยอมร่วมกัน การตัดสินใจใด ๆ ในการปรับใช้เทคโนโลยี จะต้องเป็นไปตามข้อตกลงโดยละเอียดเพิ่มเติมระหว่างทั้งสองฝ่าย” .. ข้อตกลงนี้ สามารถเปิดประตูสำหรับเทคโนโลยีในญี่ปุ่น เมื่อต้นปี 2565 หนังสือพิมพ์ด้านการเงินของญี่ปุ่น Nikkei ชี้ว่า บริษัทฯ ยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นอย่างน้อย 3 แห่ง ได้แก่ Toyota, Industrial Gases Company Iwatani และ Engineer JGC กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อใช้ขยะพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฮโดรเจน Hydrogen Production from Plastic Waste Biomass เชิงพาณิชย์ให้สำเร็จได้ ภายในปี 2568 หรือ ค.ศ.2025 ..

สำหรับภาพรวมแนวโน้มในอนาคตทั่วโลกนั้น คาดหมายได้ว่า ศักยภาพของไฮโดรเจนในฐานะเชื้อเพลิง Potential of Hydrogen as a Fuel จะได้รับการยอมรับมากขึ้น .. อย่างไรก็ตาม ศักยภาพในการเป็นผู้นำพาพลังงานที่ปราศจากการปล่อยมลพิษ Emission-Free Energy Transporter ได้รับการพัฒนาขึ้นอีกระดับหนึ่งแล้ว ในขณะที่โลกเร่งรีบที่จะจำกัดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน Global Warming รวมทั้งการลดคาร์บอนในระบบขนส่ง ระบบทำความร้อน และการดำเนินการทางอุตสาหกรรม ซึ่งในปัจจุบันการลดคาร์บอนผ่านพลังงานหมุนเวียน Decarbonize through Renewable Energy คือ สิ่งท้าทายที่มนุษยชาติจะต้องดำเนินการให้สำเร็จอย่างน้อยภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ ..

โตโยต้าToyota – ซีพี กรุ๊ป CP Group จับมือผลิต ‘ไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพ Hydrogen Production from Biogas’ เดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย ..

ตัวอย่างความมุ่งมั่นการผลิตไฮโดรเจนจากชีวมวล Hydrogen Production from Biomass ในประเทศไทยนั้น เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ Toyota Motor Corporation จับมือเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผนวกจุดแข็งร่วมกัน เพื่อเร่งผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพ Hydrogen Production from Biogas ผลักดันสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ในประเทศไทย ..

โตโยต้า Toyota & ซีพีกรุ๊ป CP Group จับมือร่วมผลิตไฮโดรเจนจากชีวมวล และก๊าซชีวภาพ | Credit : The Standard

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ Charoen Pokphand Group : CP เริ่มศึกษาการผลิตไฮโดรเจนโดยใช้ก๊าซชีวภาพ และชีวมวลที่ได้จากของเสียจากฟาร์มเกษตรในประเทศไทย ซึ่งคาดหวังว่า ไฮโดรเจนสีเขียว Green Hydrogen ที่ผลิตขึ้นได้เหล่านี้ จะถูกนำมาใช้กับรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง Hydrogen Fuel Cell Trucks ขนาดต่าง ๆ เพื่อบุกตลาดรถยนต์บรรทุกไฟฟ้าสำหรับงานหนักทั่วทั้งภูมิภาคในอนาคตอันใกล้ ..

นายอากิโกะ โทโยดะ Akio Toyoda กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการบริหารของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น Toyota Motor Corporation ชี้ว่า Charoen Pokphand : CP Group คือ กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพมากที่สุดในประเทศไทย มีรายได้ และดำเนินธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงค้าปลีก การกระจายสินค้า และการเกษตรกรรม ..

ความร่วมมือกันในครั้งนี้เกิดขึ้นในนาม True Leasing ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพีที่ให้บริการด้านการขนส่ง โดยจะเข้าร่วมกับโตโยต้า Toyota และจะพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของบริษัท Hino Motors ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโตโยต้าไปพร้อมด้วย ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถเปลี่ยนภูมิทัศน์ธุรกิจพลังงานสำหรับภาคการขนส่งในอนาคตได้อย่างยอดเยี่ยมจากนี้ไป ..

ทั้งนี้ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสของ CP Group กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ทั้งสองบริษัทฯ มีโอกาสร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ในประเทศไทย และยินดีเปิดโอกาสให้บริษัทฯ ที่มีเป้าหมายเดียวกันมาศึกษาร่วมกัน เพื่อการลงทุนในอนาคตสำหรับการผลิตไฮโดรเจนจากชีวมวล Hydrogen Production from Biomass และธุรกิจต่อเนื่องสู่ชุมชนในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในชาติเกษตรกรรมชั้นนำที่สำคัญของโลกที่อุดมไปด้วยวัตถุดิบสารชีวมวลจากภาคการเกษตร ..

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ เช่น BYD ของจีน และ Tesla ของสหรัฐฯ เป็นต้น ที่ได้ประกาศรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอย่างเป็นทางการ .. ทั้งนี้ สิ่งที่แตกต่างออกไปบนยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs ได้แก่ ประโยชน์หลักในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน Hydrogen Fuel Cell Technology คือ กำลังขับที่เหนือกว่า การทำให้อากาศสะอาดขึ้น Keeps the Air Cleaner และลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพปอด Lung Health .. ในขณะที่ยังคงให้ผู้ขับขี่ และเจ้าของรถบรรทุกไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน Hydrogen Fuel Cell Trucks มีสมรรถนะ และระยะทางปฏิบัติงานเทียบเท่า หรือดีกว่ารถยนต์บรรทุกหนัก Heavy-Duty Trucks หรือรถโดยสาร Busses ขนาดต่าง ๆ ที่ใช้น้ำมันดีเซล Diesel หรือก๊าซธรรมชาติบีบอัด Compressed Natural Gas : CNG ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs ที่ใช้เพียงชุดแบตเตอรี่นั้น ไม่อาจเทียบเคียงได้ ..

นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาเจาะลึกลงไปในแง่มุมของสมรรถนะยานยนต์ไฟฟ้า Battery Electric Vehicles : BEVs ทั่วไป กับยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน Hydrogen Fuel Cell Electric Vehicles : FCEVs ด้วยพลังงานจำเพาะ Specific Energy เปรียบเทียบแล้ว พบว่า ไฮโดรเจน Hydrogen ได้เปรียบกว่าแบตเตอรี่ลิเธี่ยม Lithium Ion Batteries ถึง 236 เท่า ซึ่งหมายถึง อนาคตที่สดใสของการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากชีวมวล Hydrogen Production from Biomass อาจกำลังจะกลายโอกาสทางธุรกิจเพื่อเข้าสู่ Hydrogen Economy ที่น่าตื่นเต้นในประเทศไทยจากนี้ไป ..

กระบวนผลิตไฮโดรเจนจากชีวมวล Hydrogen from Biomass Process ..

การแปรสภาพเป็นก๊าซของชีวมวล Biomass Gasification คือ เส้นทางเทคโนโลยีที่สมบูรณ์ซึ่งใช้กระบวนการควบคุมที่เกี่ยวข้องกับความร้อน ไอน้ำ และออกซิเจน เพื่อเปลี่ยนชีวมวลให้เป็นไฮโดรเจน Convert Biomass to Hydrogen : H2 และผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยไม่ต้องมีการเผาไหม้ Without Combustion .. เนื่องจากมวลชีวภาพเหลือทิ้ง หรือการนำขยะไปฝังกลบที่เพิ่มขึ้นในสังคม ทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การจะลดการปล่อยคายก๊าซเรือนกระจกร้ายแรงจากขยะอินทรีย์ชีวมวลเหล่านี้ เช่น ก๊าซมีเทน Methane : CH4 และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ Carbon dioxide : CO2 สู่บรรยากาศให้ได้นั้น มีวิธีเดียวที่ดีที่สุด ได้แก่ การแปรสภาพพวกมันให้เป็นก๊าซของชีวมวล Biomass Gasification เพื่อผลิตไฮโดรเจน Hydrogen : H2 , เชื้อเพลิงสังเคราะห์ Synfuels, เชื้อเพลิงชีวภาพ Bioenergy และหลีกเลี่ยงการนำขยะอินทรีย์เหลือทิ้งเหล่านี้ไปสู่เตาเผาโดยตรง หรือจบงานในหลุมฝังกลบ ..

ดังนั้น การผลิตเชื้อเพลิงด้วยกระบวนวิธีการแปรสภาพเป็นก๊าซของชีวมวล Biomass Gasification นี้ จะสามารถช่วยทำให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนสุทธิในภาคการเกษตรลดต่ำลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากทำควบคู่กับระบบดักจับคาร์บอน และนำพวกมันไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งการจัดเก็บรักษาในระยะยาว Carbon Capture, Utilization & Storage เป็นต้น ..

โรงงานแปรสภาพเป็นแก๊ส Gasification Plants สำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพ Biofuels มากมายกำลังดำเนินการก่อสร้างขึ้น รวมทั้งพวกมันสามารถให้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด และบทเรียนที่ได้รับสำหรับการผลิตไฮโดรเจน Hydrogen Production ไปทั่วโลก .. กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ United States Department of Energy : US DOE คาดการณ์ว่าจะสามารถนำก๊าซชีวมวล Biogas มาใช้เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ Biofuels ประเภทต่าง ๆ และรวมถึงไฮโดรเจน Hydrogen : H2 ได้ในปริมาณมหาศาลสำหรับอนาคตอันใกล้นี้ ..

ชีวมวล Biomass ซึ่งเป็นทรัพยากรสารอินทรีย์หมุนเวียนที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ Renewable Organic Resources ได้แก่ เศษพืชผลทางการเกษตร เช่น ซางข้าวโพด หรือฟางข้าวสาลี ของเหลือจากการเกษตร พืชชนิดพิเศษที่ปลูกโดยเฉพาะเพื่อการใช้พลังงาน เช่น หญ้า Switchgrass หรือต้น Willow Trees ขยะอินทรีย์ในเขตเทศบาล รวมทั้งของเสียจากสัตว์ และมนุษย์ .. ทรัพยากรหมุนเวียนเหล่านี้สามารถนำมาใช้เพื่อผลิตไฮโดรเจน Hydrogen : H2 พร้อมกับผลพลอยได้อื่น ๆ โดยการทำให้เป็นแก๊ส Gasification .. การหมักวัสดุชีวมวล Biomass ในบ่อหมักโดยไม่มีการเผาไหม้ในฟาร์ม และชุมชนเกษตรกรรม จะทำให้ได้ก๊าซมีเทน Methane : CH4 ปริมาณมาก ซึ่งสามารถนำเข้าสู่กระบวนการ Steam Methane Reforming : SMR คือ อีกแนวทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการผลิตไฮโดรเจนจากชีวมวล หรือก๊าซชีวภาพ Hydrogen Production from Biomass or Biogas โดยแยกคาร์บอนไปจัดเก็บไว้ใช้ประโยชน์ภายหลังด้วย CCS Technology ไปพร้อมด้วยนั้น ได้กลายเป็นอีกหนึ่งในกระบวนการที่สะอาด และน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับอนาคตโอกาสทางธุรกิจ ..

Biorenewable Hydrogen Production Through Biomass Gasification | Credit : ScienceDirect

การทำให้เป็นก๊าซของชีวมวล Biomass Gasification คือ กระบวนการที่เปลี่ยนวัสดุคาร์บอนเข้มข้นที่มีองค์ประกอบเป็นสารอินทรีย์ที่อุณหภูมิสูงมากกว่า 700°C โดยไม่มีการเผาไหม้ ซึ่งใช้ปริมาณออกซิเจน และ/หรือ ไอน้ำที่ควบคุมได้ เพื่อเปลี่ยนชีวมวลให้เป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ Carbon Monoxide : CO, ไฮโดรเจน Hydrogen : H2 และคาร์บอนไดออกไซด์ Carbon Dioxide : CO2 .. จากนั้นคาร์บอนมอนอกไซด์ Carbon Monoxide : CO จะทำปฏิกิริยากับน้ำ เพื่อสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ และไฮโดรเจนมากขึ้น ผ่านปฏิกิริยาการเปลี่ยนสถานะของน้ำและแก๊ส Water-Gas Shift Reaction .. ตัวดูดซับ Adsorbers หรือเยื่อผนังพิเศษ Special Membranes สามารถแยกไฮโดรเจน H2 ออกมาจัดเก็บต่างหากได้ ..

ทั้งนี้ ปฏิกิริยาตัวอย่างแบบง่ายของกระบวน Steam Reforming และปฏิกิริยาการเปลี่ยนสถานะของน้ำกับแก๊ส Water – Gas Shift Reaction สามารถแสดงได้ด้วยสมการผลิตไฮโดรเจนง่าย ๆ ดังนี้ :-

C6H12O6 + O2 + H2O → CO + CO2 + H2 + Other Species

CO + H2O → CO2 + H2 + Small Amount of Heat

กระบวนไพโรไลซิส Pyrolysis ก็เช่นกัน พวกมัน คือ การทำให้เป็นแก๊สของมวลชีวภาพในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน Gasification of Biomass in the Absence of Oxygen .. โดยทั่วไป ชีวมวล Biomass ไม่เกิดเป็นแก๊สได้ง่ายเหมือนถ่านหิน Coal และในกระบวนการนี้ จะทำให้ได้มาซึ่งสารประกอบไฮโดรคาร์บอน Hydrocarbon Compounds อื่น ๆ อีกหลายตัวในส่วนผสมของแก๊สที่ออกมาจากเครื่อง Gasifier โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีการใช้ออกซิเจน Oxygen : O2 .. ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการดำเนินขั้นตอนเพิ่มเติมเพื่อแปรสภาพสารไฮโดรคาร์บอน Hydrocarbons เหล่านี้ด้วยตัวเร่งปฏิกิริยา Catalyst เพื่อให้ได้ส่วนผสมก๊าซสังเคราะห์ Clean Syngas Mixture ของไฮโดรเจน H2 คาร์บอนมอนอกไซด์ CO และคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ที่สะอาด จากนั้น เช่นเดียวกับในกระบวนการทำให้เป็นแก๊สของมวลชีวภาพสำหรับการผลิตไฮโดรเจน Gasification Process for Hydrogen Production .. รวมทั้งขั้นตอนปฏิกิริยาการปรับเปลี่ยน Shift Reaction Step ด้วยไอน้ำ จะแปลงคาร์บอนมอนอกไซด์ CO ให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 จากนั้นไฮโดรเจน Hydrogen : H2 ที่ผลิตขึ้นได้จะถูกแยกออกไป และทำให้บริสุทธิ์เพื่อจัดเก็บไว้เป็นแหล่งพลังงานต่อไป ..

คาดการณ์ตลาดอุตสาหกรรมชีวมวล การแปรสภาพของเสียเป็นพลังงาน และตลาดไฮโดรเจนสีเขียวทั่วโลก Global Biomass & Waste-to-Energy Industry and Green Hydrogen Market ..

ขนาดธุรกิจในตลาดชีวมวล และการแปลงขยะของเสียให้เป็นพลังงานทั่วโลก Global Market for Biomass & Waste-to-Energy มีมูลค่าประมาณ 28 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 และคาดว่าจะสูงขึ้นแตะระดับ 40 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2570 .. ทั้งนี้ อัตราการเติบโตต่อปี Compound Annual Growth Rate: CAGR  หมายถึง อัตราผลตอบแทนสำหรับการลงทุนในตลาดชีวมวล และการแปลงขยะของเสียเป็นพลังงานทั่วโลก Global Market for Biomass & Waste-to-Energy ที่เติบโตจากยอดดุลเริ่มต้นไปถึงยังยอดดุลสิ้นสุด รวมสมมติฐานว่ากำไรจะถูกนำกลับมาลงทุนหมุนเวียนใหม่ทุกสิ้นปีของช่วงอายุการลงทุน อยู่ที่ค่า CAGR 5.2% ในช่วงระยะเวลาที่คาดการณ์ ปี 2564-2570 ..

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเฉพาะขนาดตลาดกำลังไฟฟ้าชีวมวลทั่วโลก Global Biomass Power Market พบว่ามีมูลค่า 121,340.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปี อยู่ที่ค่า CAGR 6.0% ในช่วงระยะเวลาที่คาดการณ์ ปี 2565-2573 ..

ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลขนาดธุรกิจล่าสุดในตลาดไฮโดรเจนสีเขียวทั่วโลก Global Green Hydrogen Market พบว่า มีมูลค่า 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 และคาดว่าจะขยายตัวในอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี อยู่ที่ค่า CAGR 39.5% ในช่วงระยะเวลาที่คาดการณ์ ปี 2565-2573 ..

Biomass to Hydrogen | Credit : Hydrogen Europe / Research Gate

แม้ว่า การผลิตไฮโดรเจนสีเขียว Green Hydrogen Production โดยการแยกน้ำด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส Electrolysis of Water ซึ่งใช้กำลังไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ Wind & Solar Energy นั้น จะยังคงเป็นวิธีการผลิตหลักอยู่ต่อไป แต่การที่มีนโยบายพลังงานภาครัฐของหลายประเทศ ซึ่งเอื้ออำนวยเพื่อผลักดันประชาคมโลกให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไฮโดรเจน Hydrogen Economy ของนานาชาติที่มาพร้อมกับความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนปริมาณมหาศาลต่อเนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล Fossil Fuels รูปแบบต่าง ๆ คาดว่าจะผลักดันความต้องการปริมาณกำลังผลิต Green Hydrogen สำหรับการมุ่งสู่เศรษฐกิจไฮโดรเจน Hydrogen Economy ให้สูงขึ้นอีกมาก .. แนวโน้มดังกล่าวนี้ ได้รับการคาดหมายว่าจะสร้างการเติบโตที่มีศักยภาพด้วยความเร่งสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสีเขียวจากชีวมวล Green Hydrogen from Biomass มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากนี้ไปพร้อมด้วย ..

สรุปส่งท้าย ..

การผลิตไฮโดรเจนสีเขียว Green Hydrogen สำหรับอนาคตเศรษฐกิจไฮโดรเจน Hydrogen Economy ที่กำลังจะมาถึงนั้น เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง .. ในขณะที่ความต้องการพลังงานในระบบเศรษฐกิจ และสังคมของมนุษยชาติยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ..

ความท้าทายสำคัญในการผลิตไฮโดรเจนผ่านการแปรสภาพเป็นก๊าซของชีวมวล Hydrogen Production via Biomass Gasification ขึ้นอยู่กับการลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์หลักที่จำเป็น และวัตถุดิบชีวมวล Biomass Feedstocks ..

รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก กำลังทุ่มเทความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจไฮโดรเจนที่ยั่งยืน Sustainable Hydrogen Economy ซึ่งคาดว่าจะขับเคลื่อนขนาดตลาดการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว Green Hydrogen ทั้งจากกระบวนการแยกน้ำ Electrolysis of Water ด้วยอิเล็กโทรไลเซอร์ Hydrogen Electrolyzer และการแปรสภาพเป็นก๊าซของชีวมวล Biomass Gasification หรือหมายถึง การผลิตไฮโดรเจนจากชีวมวล และก๊าซชีวภาพ Hydrogen from Biomass or Biogas ทั่วโลก ให้เติบโตขึ้นอีกมากด้วยความเร่ง เพื่อให้มั่นใจว่า การขาดแคลนพลังงาน Energy Poverty จะไม่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานสีเขียว Green Transition จนถึงปี 2573 ด้วยราคาพลังงานไฮโดรเจน Hydrogen ที่สามารถลดลงได้อย่างเหมาะสมสำหรับทั้งผู้บริโภค และการประกอบธุรกิจของผู้ผลิต ..

การผลักดันให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล Fossil Fuels ทั่วโลกจากแหล่งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และ Shale Gas & Shale Oil รวมทั้งถ่านหิน หลังการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ United Nations Climate Change : COP26 & COP27 Conference ล่าสุดที่ผ่านมานั้น ได้ทำให้ ‘ไฮโดรเจนสีเขียว Green Hydrogen กลายเป็นนวัตกรรมสำคัญอีกตัวหนึ่งสำหรับภาคพลังงานที่จำเป็นต้องลดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ’ เช่น การผลิตเหล็ก การคมนาคม การขนส่ง อาคารสถานที่ ครัวเรือน และการบิน รวมทั้งจนถึงการบริโภคในภาคอุตสาหกรรม .. เทคโนโลยีของพวกมัน ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า โลกพร้อมแล้วสำหรับ Hydrogen Economy ในอนาคตอันใกล้นี้ ..

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมชั้นนำของโลกนั้น นอกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ Biotechnology ในภาคการเกษตรเพื่อผลิตอาหาร ปรับปรุงดิน น้ำ และด้านสุขภาพเพื่อผลิตยา และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว เทคโนโลยีชีวภาพ Biotechnology สำหรับภาคพลังงาน Energy Sector ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ Biofuels ในประเทศ ถือว่าโดดเด่นอย่างมีนัยสำคัญยิ่งด้วยเช่นกัน ซึ่งพวกมันส่วนหนึ่ง คือ วัตถุดิบชีวมวล Biomass Feedstocks ที่สามารถนำมาผลิตไฮโดรเจนสีเขียว Green Hydrogen ด้วยกระบวนการแปรสภาพให้เป็นก๊าซของชีวมวล Biomass Gasification ในอนาคตอันใกล้นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมด้วย นอกเหนือจากการผลิตไฮโดรเจนโดยการแยกน้ำ Electrolysis of Water ด้วยอิเล็กโทรไลเซอร์ Hydrogen Electrolyzer บนแหล่งน้ำปริมาณมหาศาลที่กระจายอยู่ในพื้นที่เขตชลประทานทั่วประเทศ ..

ทั้งนี้ วัตถุดิบในประเทศไทยที่เป็นสารชีวมวล Biomass และก๊าซชีวภาพ Biogas จำนวนมากมายหลากหลายรูปแบบในชุมชนเกษตรกรรม มีผลผลิตการเกษตรคุณภาพ และมีแหล่งเชื้อเพลิงที่เป็นสารอินทรีย์ปริมาณมาก มีพื้นที่การทำเกษตรไม้โตเร็วเพื่อเป็นเชื้อเพลิงโดยเฉพาะ มีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และชายฝั่งทะเลที่เหมาะสมแก่การเพาะเลี้ยงสาหร่ายอยู่ทั่วประเทศ มีอุจจาระจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ขยะเปียก ขยะแห้ง รวมทั้งขยะพลาสติกจำนวนมากมาย สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ Biofuels, ไฮโดรเจนสีเขียว Green Hydrogen และ/หรือ เชื้อเพลิงสังเคราะห์ Syngas สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล หรือนำไปผลิตกำลังไฟฟ้าโดยตรงจากแหล่งพลังงานชีวมวลใช้เองในชุมชน ท้องถิ่น หรือส่งกำลังไฟฟ้าส่วนเกินเข้าโครงข่ายระบบสายส่งเพื่อขาย และ/หรือ จ่ายเข้าระบบ Virtual Power Plants : VPPs ที่ชาญฉลาดกว่าในอนาคตได้ .. รวมทั้ง ไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่มีนโยบายสนับสนุนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ Biofuels อย่างชัดเจน และจากนี้ไป อาจเป็นการผลิตไฮโดรเจน Hydrogen Production ปริมาณมาก เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบจากภาคการเกษตร ..

ความร่วมมือระหว่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กับบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ Charoen Pokphand Group : CP ในประเทศไทย สำหรับการศึกษา และแผนการผลิตไฮโดรเจนโดยใช้ก๊าซชีวภาพ Hydrogen from Biogas ที่ได้จากของเสียจากฟาร์มเกษตรในประเทศไทย เป็นเรื่องสำคัญที่น่าตื่นเต้น ซึ่งได้รับการคาดหวังว่า ไฮโดรเจนสีเขียว Green Hydrogen ที่ผลิตขึ้นได้เหล่านี้ จะถูกนำมาใช้กับรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง Hydrogen Fuel Cell Trucks ขนาดต่าง ๆ เพื่อบุกตลาดรถยนต์บรรทุกไฟฟ้าสำหรับงานหนักทั่วทั้งภูมิภาคในอนาคตอันใกล้ ..

คาดหมายได้ว่า อนาคตของตลาดรถบรรทุกที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์สุทธิ Net-Zero Trucks กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งครอบคลุมรถบรรทุกไฟฟ้าแบตเตอรี่ Battery Electric, ปลั๊กอินไฮบริด Plug-In Hybrid, รถบรรทุกเครื่องยนต์สันดาปภายในด้วยไฮโดรเจน Hydrogen ICE Trucks และรถบรรทุกไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน Hydrogen Fuel Cell Electric Trucks .. รายละเอียดมาตรฐานทางเทคนิค และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของการใช้งานรถบรรทุกที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์สุทธิ Net-Zero Trucks ที่เป็นรถบรรทุกไฟฟ้า และเซลล์เชื้อเพลิง ในปี 2566-2586 รวมทั้ง ยอดขายรถบรรทุกขนาดกลาง และหนักที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์สุทธิ นั้น จะปรากฏอยู่ในตลาดสำคัญ ๆ ได้แก่ ยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นหลักด้วยราคาที่ลดลงเรื่อย ๆ ..

Hydrogen Production from Biomass Gasification | Credit : Calvin Feik / NREL / US DOE

ดังนั้น สำหรับประเทศไทยนั้น นโยบายภาครัฐในการส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ Biotechnology ภายในประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในธุรกิจ Bioenergy เพื่อการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากชีวมวล Hydrogen from Biomass และเชื้อเพลิงชีวภาพ Biofuels ทั้งจากภาครัฐ และเอกชนที่มีศักยภาพ หรือกระจายสู่ชุมชนด้วยราคาพลังงานที่แพงเกินไปนั้นไม่ได้ .. การให้สิทธิพิเศษทางภาษีจากคณะกรรมส่งเสริมการลงทุน BOI, การสนับสนุนการวิจัย และพัฒนา รวมไปถึงการให้ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจไฮโดรเจน Hydrogen Economy และเชื้อเพลิงชีวภาพ Biofuels แก่ประชาชน กลายเป็นเรื่องจำเป็นสำคัญที่ขาดไม่ได้ในระดับยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของชาติเช่นกัน เพื่อให้มั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตพลังงานสีเขียว Green Energy ในประเทศเป็นฐานการบริโภคพลังงานหลักทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล Fossil Fuels ที่ต้องนำเข้า และไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแบบยั่งยืนอย่างมั่นคงด้วย Sustainable BCG Economy ..

ทั้งนี้ ด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม เชื่อมั่นได้ว่า พลังงานชีวภาพสีเขียว Green Bioenergy ที่เป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากชีวมวล Hydrogen from Biomass และเชื้อเพลิงชีวภาพ Biofuels คือ แหล่งพลังงานเพียงแหล่งเดียวจากวัตถุดิบสารอินทรีย์ชีวมวล Biomass Feedstocks ที่เปิดโอกาสให้ทุกประเทศในโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ได้รับอิสระภาพทางพลังงาน และไม่ตกเป็นทาสการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล Fossil Fuels ที่เป็นน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินลึกลงไปใต้เปลือกโลก หรือ Shale Gas & Shale Oil จากต่างประเทศที่ผูกขาดโดยเพียงบางชาติยักษ์ใหญ่เท่านั้นอีกต่อไป ซึ่งส่งผลให้ระบบพลังงานของแต่ละประเทศทั่วโลกจากนี้ไป จะได้ถูกปลดล็อคให้เป็นอิสระอย่างแท้จริง หมายถึง ความมั่นคงทางพลังงาน Energy Security จะได้รับการประกันเพื่อไปสู่ความมั่งคั่ง และยั่งยืนให้สำเร็จได้ในที่สุด ..

……………………..

คอลัมน์ : Energy Key

By โลกสีฟ้า ..

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

ขอบคุณเอกสารอ้างอิง :-

Biomass Gasification and the Future of Hydrogen Fuel | Azo Cleantech :-

https://www.azocleantech.com/article.aspx?ArticleID=1537

Hydrogen Production: Biomass Gasification | US DOE :-

https://www.energy.gov/eere/fuelcells/hydrogen-production-biomass-gasification#:~:text=Biomass%20gasification%20is%20a%20mature,and%20other%20products%2C%20without%20combustion

How Biomass can Enable a Hydrogen Economy | Drax :-

B&W to Agrees to Study Development of Biomass – to – Hydrogen Project | Biomass Magazine :-

https://biomassmagazine.com/articles/19542/bw-to-agrees-to-study-development-of-biomass-to-hydrogen-project

Green Hydrogen through Biomass Gasification | ENEA :-

https://www.eai.enea.it/archivio/pianeta-idrogeno/green-hydrogen-through-biomass-gasification.html

Hydrogen from Biomass Gasification | IEA Bioenergy :-

https://www.ieabioenergy.com/wp-content/uploads/2019/01/Wasserstoffstudie_IEA-final.pdf

Biomass to Hydrogen | ScienceDirect :-

https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0961953420304530

The global green hydrogen market size was valued at USD 3.2 billion in 2021 and is expected to expand at a compound annual growth rate (CAGR) of 39.5% from 2022 to 2030 :-

https://www.grandviewresearch.com/industry-analysis/green-hydrogen-market#:~:text=The%20global%20green%20hydrogen%20market,39.5%25%20from%202022%20to%202030

Synthetic Fuel Gas : Gasification of Plastic Waste & Biomass to SynGas or from Power to X Technology :-

https://photos.app.goo.gl/dDGTMm9r6qM29XxVA

Biomass Energy :-

https://photos.app.goo.gl/nbevEx1cE59Jzf2X8

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img