วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS'พลังงานทดแทน'กำลังถูกเลือกให้แสดงบทบาทนำในภาคผลิตไฟฟ้าโลก
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘พลังงานทดแทน’กำลังถูกเลือกให้แสดงบทบาทนำในภาคผลิตไฟฟ้าโลก

Renewables are set to Lead the Global Electricity Sector

ต้นทุนที่ลดลง และการสนับสนุนนโยบายจากภาครัฐอย่างยั่งยืน คาดจะผลักดันการเติบโตของพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน ให้แข็งแกร่งต่อเนื่องไปจนถึงหลังปี 2022 (พ.ศ.2565)

แม้จะมีความท้าทายที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการระบาดของโควิด – 19 แต่ปัจจัยพื้นฐานของการขยายตัวของพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน บนโลกใบนี้ ยังไม่เปลี่ยนแปลง

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ Solar PV และพลังงานลม Wind Turbine เป็นแนวทางเหมาะสมที่สุดในการเพิ่มโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ในแต่ละประเทศทั่วโลก โครงสร้างความมั่นคงทางพลังงานเปลี่ยนไป โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม กำลังแสดงบทบาทท้าทายโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีใช้งานอยู่เกือบทุกแห่งทั่วโลก

ปัจจุบัน แผนงานและโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้กระบวนการที่มีต้นทุนลดลงเรื่อย ๆ และต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ในภาพรวมของการผลิตพลังงานไฟฟ้าของโลกจากนี้ไปนั้น กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน ได้ถูกกำหนดให้เป็น 95% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นสุทธิจนถึงปี 2025 (พ.ศ.2568)

IEA : International Energy Agency รายงานไว้ว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม มีแนวโน้มที่จะสูงกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในปี 2023 (พ.ศ.2566) และสูงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินในปี 2024 (พ.ศ.2567) Solar PV เพียงอย่างเดียวคิดเป็น 60% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียน ทั้งหมดภายในปี 2025 (พ.ศ.2568) และพลังงานลม อีก 30% ด้วยปัจจัยหนุนจากต้นทุนที่ลดลงนี้เอง แผนงานการเพิ่มกังหันลมนอกชายฝั่งของกลุ่มประเทศยุโรป ประจำปี พุ่งสูงขึ้นโดยคิดเป็น 1 ใน 5 ของตลาดพลังงานลมประจำปีทั้งหมดบนโลกใบนี้ในปี 2025 (พ.ศ.2568)

การเติบโตของกังหันลมผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่งก้าวไกลกว่ายุโรปไปสู่ตลาดใหม่ ๆ เช่น จีน และสหรัฐฯ ซึ่งยังมีศักยภาพเหลือเฟือ การเติบโตอย่างรวดเร็วของพลังงานหมุนเวียนแบบผันแปรทั่วโลก ได้สร้างความสนใจด้านนโยบายเพื่อให้แน่ใจว่ามีการหลอมรวมการผลิตเข้ากับระบบไฟฟ้า และระบบสายส่งรูปแบบมาตรฐานดั่งเดิม จะสามารถดำเนินการได้อย่างปลอดภัย และคุ้มค่า

กำลังการผลิตไฟฟ้า Solar PV พลังงานแสงอาทิตย์ของโลก ..

การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ทั่วโลก ตามแผนงานหลักรวมประมาณ 107 GW และแผนงานเร่งด่วนปลายปีอีกประมาณ 120 GW ในปี 2020 ที่ผ่านมา กรณีดังกล่าว แสดงถึงการเติบโตที่มั่นคงจากปี 2019

แม้ IEA จะระบุว่ากิจกรรมการก่อสร้างสำหรับโครงการขนาดใหญ่ในระบบสาธารณูปโภคในปี 2020 จะชะลอตัวลงตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน แต่โครงการเกือบทั้งหมดได้กลับมาดำเนินการขับเคลื่อนต่อไปได้โดยไม่มีการลังเลในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม

การปรับใช้ Solar PV รูปแบบแบบกระจาย อาจดูยังคงซบเซาในตลาดขนาดใหญ่ เช่น จีน และสหรัฐฯ แม้ว่ากิจกรรมในตลาดยุโรปส่วนใหญ่ ออสเตรเลีย และบราซิล มีการเดินหน้าไปต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามส่วนแบ่งตลาดของการติดตั้ง Solar PV ในระบบเครือข่ายโรงไฟฟ้าแบบกระจาย Virtual Power Plant Network : VPP ทั้งหมด คาดว่าอาจจะลดลงเหลือ 37% ในปี 2021 นี้ ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2017 (พ.ศ.2560)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปีนี้การเติบโตของ Solar PV ระบบ VPP ในระดับพื้นที่ Gigafactory จะลดลง แต่การเติบโตของ Solar PV ในระดับ Micro Factory และการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกใน Micro Smart Grid ไม่เคยลดลงเลยในเกือบทุกประเทศไปอีกอย่างน้อย 5 ปี ไม่เปลี่ยนแปลง

ในปี 2020 ระบบ Solar PV ระดับพื้นที่ขนาดใหญ่ Utility Scale เพิ่มขึ้นเกือบ 3% จากรายงานของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ .. จีน ดำเนินการเพิ่มกำลังการผลิต Solar PV มากกว่า 33% และมากกว่าในปี 2019 เนื่องจากนักพัฒนาต่างเร่งดำเนินโครงการให้เสร็จก่อนที่เงินอุดหนุนจากภาครัฐจะหมดลง

อินเดีย ชะลอโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่สองติดต่อกัน เนื่องจากสถานภาพงบประมาณ และมาตรการป้องกันการระบาด Covid – 19 ที่ยับยั้งและทบทวนการใช้จ่ายภาครัฐในแผนงาน โครงการ และกิจกรรม ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง

ในกรณีแผนงานเร่งด่วนปลายปี การเพิ่มของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ Solar PV ทั่วโลกมีมากถึง 120 GW ในปี 2020 ซึ่งสูงกว่าโครงการตามแผนหลักอยู่ถึง 16% จีน และสหรัฐฯ ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่นิยมอนุมัติโครงการแบบเร่งด่วนพิเศษ เนื่องจากนักพัฒนาในทั้งสองประเทศนั้น มักจะว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินโครงการในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ตามมาตรฐานนโยบายการเงิน และการบัญชีภาครัฐ

อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพื่อใช้ปลายปี หรือในไตรมาสสุดท้ายของจีนในอดีตนั้น มีตั้งแต่ 7 GW ถึง 15 GW ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการคาดการณ์การเติบโตของ Solar PV หลังปี 2021

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดแจ้งว่า จีนมีนโยบายให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งมิได้ละทิ้งทางเลือกในพลังงานนิวเคลียร์ Nuclear Power Option สำหรับความมั่นคงทางพลังงานของชาติ อย่างแน่นอนไม่มีข้อสงสัย

คาดว่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ตามแผนงานหลักทั่วโลกในปี 2021 ประมาณ 117 GW เพิ่มขึ้นเกือบ 10% จากปี 2020 IEA ยังคงเชื่อมั่นว่า หลังปี 2021 การพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ หรือบนอ่างเก็บน้ำ กำลังฟื้นตัวขึ้นในอินเดีย และในตลาดสหภาพยุโรปที่สำคัญ เช่น ฝรั่งเศส และเยอรมนี

เนื่องจากนักพัฒนาชาวจีนเปลี่ยนการลงทุนจากโครงการขนาดใหญ่ไปยังโครงการสาธารณูปโภคขนาดเล็กที่เน้นเงินลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เมื่อการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐสิ้นสุดลง ในปี 2022 (พ.ศ.2565) การเติบโตของเซลล์แสงอาทิตย์แบบกระจายด้วยงบลงทุนภาครัฐของจีน จึงจะไม่กลับสู่ระดับเมื่อปี 2019 อย่างเต็มที่

อย่งไรก็ตาม การเพิ่ม Solar PV ทั่วโลก ยังคงขยายตัวต่อเนื่องมากกว่า 120 GW ต่อปี แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับโครงการสนับสนุนเงินอุดหนุนรอบใหม่ในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม การติดตั้ง Solar PV ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วในยุโรป และสหรัฐฯ เนื่องจากการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการสนับสนุนนโยบายอย่างต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลง

IEA ยังประมาณการณ์ไว้ว่า การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าด้วยแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ภาพรวมรายปีนั้น ผู้คนจะสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า 142 GW ในปี 2021 (พ.ศ.2564) และ 149 GW ในปี 2022 (พ.ศ.2565) เป็นอย่างน้อย

การเพิ่มแผงเซลล์แสงอาทิตย์ประจำปีทั่วโลก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นด้วยความเร่งในช่วงปี 2022 (พ.ศ.2565) เนื่องจากการฟื้นตัวของระบบ Solar PV แบบกระจาย ที่พัฒนาก้าวหน้าให้ฉลาดขึ้น และเนื่องจากเศรษฐกิจโลกกำลังกลับมาฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ศักยภาพในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่มันควรจะเป็น เนื่องจากความท้าทายด้านนโยบาย การบริหาร และกฎระเบียบ รวมทั้งกฎหมาย และข้อบังคับที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคบางรายการ เช่น การผูกขาดระบบสายส่ง และมาตรการทางภาษีเทียบกับกำลังการผลิตของภาคเอกชน ยังคงเป็นอุปสรรคการเติบโตในภูมิภาค ทั้งนี้ กฎหมายที่นำการผลิตพลังงานไฟฟ้าไปสู่ภาคประชาชน กลายเป็นประเด็นเร่งด่วนด้านนโยบายที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง

Global Power Capacity by Source in Stated Policies | IEA World Energy Outlook : Solar Capacity Surges Past Coal and Gas by 2040  | By IEA Report

การขยายตัวของ Solar PV ทั่วโลกหลังปี 2022 (พ.ศ.2565) คาดว่าจะเติบโตด้วยความเร่งต่อไป เนื่องจากการสนับสนุนนโยบายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และต้นทุนที่ลดลง กลุ่มธุรกิจพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์รูปแบบกระจาย และระบบแยกเดี่ยว Stand Alone กำลังจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง ในช่วงปี 2023 – 2025 (พ.ศ.2566 – 2568) เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การสนับสนุนให้มีการนำระบบพลังงานทางเลือกมาใช้ในสถานราชการ ที่ทำงาน อาคารพาณิชย์ ธุรกิจการค้า และชุมชนที่อยู่อาศัย

ศักยภาพที่สูงขึ้นสำหรับ Solar  PV รวมถึงกรณีการดำเนินโครงการเร่งด่วนปลายปี เมื่อเทียบกับโครงการตามแผนหลักแล้ว พบว่า มีความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการสูงกว่าโครงการหลัก ในการเพิ่มกำลังการผลิตต่อปีโดยเฉลี่ยเกือบ 165 GW ต่อปี ในช่วงปี 2023 – 2025 (พ.ศ.2566 – 2568)

พลังงานลม Wind  | ศักยภาพพลังงานลมยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีโควิด – 19 ..

การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมสุทธิโลกประจำปี ประมาณ 65 GW ในปี 2020 มากกว่าปี 2019 ถึง 8% .. มาตรการเพื่อหยุดยั้งการระบาด Covid – 19 ทำให้กิจกรรมการก่อสร้างบนบกชะลอตัวลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน เนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และความท้าทายด้านโลจิสติกส์ในหลายประเทศ แต่สำหรับในปี 2021 (พ.ศ.2564) ภาคพลังงานลมนอกชายฝั่งได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโครงการระยะยาว

การคาดการณ์ดังกล่าวเชื่อว่า กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม จะสูงขึ้นอีกเป็น 68 GW (นอกชายฝั่ง 7.3 GW) โดยได้รับแรงหนุนจากโครงการบนบกที่ล่าช้า ในขณะที่ประเทศสำคัญ ๆ ในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ได้ผ่านกฎระเบียบที่ให้ความยืดหยุ่นต่อการดำเนินโครงการเหล่านี้ต่อบริษัทเอกชน รวมทั้งการกำหนดเวลาการว่าจ้างที่มีแนวโน้มอ่อนตัวมากขึ้น ..

การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมทั่วโลกในปี 2023 – 2025 (พ.ศ.2566 – 2568) คาดว่าอยู่ในช่วง 65 GW ต่อปี ในกรณีโครงการตามแผนหลัก และ 100 GW ต่อปี ในกรณีโครงการเร่งด่วน การปรับปรุงแผนงานสนับสนุนด้านนโยบายการลงทุนในระบบกริด หรือระบบสายส่งมากขึ้น การลดความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบ และความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการยอมรับในตลาดเกิดใหม่

อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งของพลังงานลมนอกชายฝั่งทั้งหมด คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2025 (พ.ศ.2568) ถึง 20% เนื่องจากตลาดใหม่มีการตอบรับเป็นอย่างดี

Denmark to Build two ‘Energy Islands’ | The Biggest Building Project in Country’s History | Photo Credit : Ørsted A/S

การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ Hydropower ..

การเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังน้ำสุทธิประจำปีทั่วโลก เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 18 GW ในปี 2020 เนื่องจากกิจกรรมโครงการขนาดใหญ่ในประเทศจีน เกือบครึ่งหนึ่งของการเติบโตของจีนมาจากการติดตั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าแห่งแรกของโรงงานที่ Wudongde Dam กำลังผลิต 10 GW แต่ละยูนิต มีขนาด 850 เมกะวัตต์ และอีกหลายยูนิต ได้รับการว่าจ้างลงนามแล้วในปีนี้ แหล่งที่มาของการเติบโตที่ใหญ่ที่สุดอันดับต่อไปคือเอเชีย คิดเป็น 24% ของการเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยกำลังการผลิตที่สำคัญมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อินเดีย เนปาล เวียดนาม และอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ในยุโรป เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในตุรกี และระบบสูบกลับในโปรตุเกส ทั้งหมด ผลักดันให้ยุโรป มีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้นมากในปีที่ผ่านมา

การเพิ่มกำลังการผลิตยังคงมีอย่างต่อเนื่องในปี 2021 (พ.ศ.2564) และ 2022 (พ.ศ.2565) โดยเฉลี่ย 28 GW ต่อปี เนื่องจากการว่าจ้างโครงการหลักสองโครงการในประเทศจีน ทั้งสองโครงการ Wudongde และ Baihetan มีกำลังการผลิตรวมกัน 26 GW และจะเริ่มดำเนินการในปี 2020 – 2021 (Wudongde) และ 2021 – 2022 (Baihetan) ตามลำดับ โดยคาดว่าวิกฤต Covid – 19 จะส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อระยะเวลาในการก่อสร้าง

หลังจากเสร็จสิ้นทั้งสองโครงการแล้ว การเติบโตต่อปีในจีนคาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 4.7 GW ต่อปีในช่วงหลังปี 2022 เป็นต้นไป โดยจีนมีการปรับนโยบาย และแผนงาน เพื่อเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ลงทุนในระบบจัดเก็บพลังงานแบบสูบจ่ายกลับ ให้ขยายตัวมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังน้ำต่อปี

ทั้งนี้ หากไม่รวมจีนแล้ว การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังน้ำทั่วโลก คาดว่าจะคงที่ในช่วงเวลาที่เหลือของการคาดการณ์ (2021 – 2025) ตั้งแต่ 10 GW ถึง 13 GW ต่อปี เอเชียมีสัดส่วนการเติบโตสะสม 43% นำโดยอินเดีย และปากีสถาน โดยส่วนใหญ่ที่เหลือจะอยู่ในกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซึ่งคาดว่าภาคเอกชนจะมีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมากขึ้น การติดตั้งใช้งานเขื่อนผลิตไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำโดย สปป.ลาว เพื่อการเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ และดำรงตำแหน่งเป็นผู้ส่งออกไฟฟ้าในภูมิภาค

ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น และการเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าในราคาไม่แพง ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจในเวียดนาม และเมียนมาร์ ขณะที่การใช้น้ำอเนกประสงค์ จะกระตุ้นการพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้า และอ่างเก็บน้ำในอินโดนีเซีย รวมทั้งการเพิ่มผลผลิตการเกษตร อีกด้วย

ในละตินอเมริกา มากกว่าครึ่งหนึ่งของการเติบโตในปี 2021 – 2025 อยู่ในโคลอมเบีย อาร์เจนตินา และบราซิล โครงการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในโคลอมเบีย และอาร์เจนตินา คาดว่าจะได้รับการว่าจ้างเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการคาดการณ์ ในขณะที่การเพิ่มกำลังผลิตรายปีในบราซิล จะช้าลง หลังจากเริ่มดำเนินการขั้นตอนสุดท้ายของ Belo Monte ในปี 2019 ทั้งนี้ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ที่ผ่านการประมูลล่าสุด จะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเพิ่มกำลังการผลิตในบราซิล จนถึงปี 2025 (พ.ศ.2568)

การเติบโตของยุโรประหว่างปี 2021 (พ.ศ.2564) ถึงปี 2025 (พ.ศ.2568) นำโดยตุรกี โดยมีโครงการขนาดใหญ่ที่ผลักดันการพัฒนาในปี 2020 ต่อเนื่องถึงปี 2021 และการติดตั้งใช้งานอาจช้าลงในช่วงปี 2022 – 2025 หากไม่รวมตุรกี โครงการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำใหม่ ๆ ในยุโรปมากกว่าครึ่งหนึ่ง จะถูกดำเนินการในระบบสูบจ่ายกลับ เพื่อกักเก็บพลังงานส่วนเกินไว้ใช้ภายหลัง โดยเฉพาะในสวิตเซอร์แลนด์ โปรตุเกส และออสเตรีย การเติบโตของระบบจัดเก็บพลังงานแบบสูบกลับของยุโรปเกิดขึ้นจากความต้องการความยืดหยุ่นของระบบ ในการมีส่วนร่วมการบริหารจัดการส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้นของกำลังไฟฟ้าในระบบพลังงานหมุนเวียน บนระบบสายส่งหลักที่ชาญฉลาดนั่นเอง

ในภาพรวม การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำทั่วโลก โดยไม่รวมระบบการจัดเก็บพลังงานแบบสูบกลับ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 9.5% .. ในช่วงเวลาที่คาดการณ์นี้ ภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะเพิ่มขึ้นจาก 4,250 TWh ในปี 2019 (พ.ศ.2562) เป็น 4,650 TWh ในปี 2025 (พ.ศ.2568) และ ระบบ Solar PV ยังคงเป็นแหล่งผลิตพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน ขนาดใหญ่ที่สุด .. การเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากกำลังการผลิตใหม่ ๆ ในตลาด .. ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำครั้งที่ใหญ่ที่สุด (+107 TWh) อยู่ในประเทศจีน ตามด้วยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งการเติบโตของกำลังการผลิตนี้ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ดังนั้น IEA คาดว่า ไฟฟ้าพลังน้ำจะคิดเป็น 16% ของกำลังผลิตไฟฟ้าของโลกภายในปี 2568 เพื่อรักษาระดับนี้เอาไว้ จะต้องมีแผนงานการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาหรือเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิตไว้ ประมาณสองในสามของระบบไฟฟ้าพลังน้ำอยู่ในอเมริกาเหนือ และยุโรป ซึ่งมีอายุการใช้งานยาวนาน เฉลี่ย 45 ถึง 51 ปี การซ่อมบำรุง และรักษาให้คงสภาพการใช้งานต่อเนื่องต่อไปได้นั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมจำนวนมหาศาลในการเพิ่มสมรรถนะ และปรับปรุงมันให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น

พลังงานชีวมวล Biomass หดตัวชั่วคราว ..

กำลังการผลิตไฟฟ้าชีวมวลทั่วโลกขยายตัว 8.5 GW ในปี 2019 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดอันดับสองของการเพิ่มต่อปีเป็นประวัติการณ์ จีนคิดเป็น 60% ของกำลังการผลิตใหม่ในปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานจากขยะ ตลาดที่ใหญ่ที่สุดอันดับถัดไป คือ ญี่ปุ่น ซึ่งก็เป็นเพียงหนึ่งในสิบของขนาดของตลาดจีน เท่านั้น

วิกฤตโควิด – 19 ได้เปลี่ยนแปลงบริบทของเชื้อเพลิงชีวมวลทั่วโลกอย่างรุนแรง การใช้มาตรการกักกันอย่างกว้างขวาง และการระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการเชื้อเพลิงขนส่งลดลงอย่างมาก ในปี 2020 ความต้องการน้ำมันเบนซินทั่วโลก ลดลง 9% และความต้องการน้ำมันดีเซล ลดลง 6%

การจำกัดการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ส่งผลให้ความต้องการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับภาคการขนส่งทั้งหมด หดตัว 13% ในปี 2020 โดยผลผลิตเอทานอลหดตัว 15% และสำหรับการผลิตไบโอดีเซล หรือการผลิตน้ำมันจากพืช HVO : Hydrotreated Vegetable Oil นั้น ลดลง 6%

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 น่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว การผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจะเป็นไปตามความต้องการการใช้น้ำมันเบนซิน และดีเซลในระบบเศรษฐกิจที่สูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการการเคลื่อนย้าย กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินต่อไปได้ หากความต้องการเชื้อเพลิงขนส่งดีดตัวขึ้นในปี 2021 แต่การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพคาดว่ายังไม่อาจกลับสู่ระดับเมื่อปี 2019 และยังคงต่ำกว่าผลผลิตที่คาดการณ์ไว้สำหรับปีนี้ ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด – 19 ถึง 5% .

การหยุดชะงักของกลไกการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลในหลาย ๆ ประเทศที่สำคัญ อาจเกิดขึ้นต่อไป เนื่องจากเป้าหมายของนโยบายภาครัฐ มาตรฐานเชื้อเพลิง และข้อกำหนดด้านปริมาณประจำปีสำหรับการใช้เชื้อเพลิงหมุนเวียนตามความต้องการเชื้อเพลิงสำหรับระบบขนส่งที่คาดการณ์ไว้ ขัดแย้งกับนโยบายส่วนใหญ่เกี่ยวกับส่วนแบ่งตลาดเชื้อเพลิงชีวมวลที่กำหนดไว้ในแผนด้านพลังงาน

สรุปส่งท้าย ..

บทความนี้ผู้เขียนได้ถอดความสำคัญสรุปประเด็นหลักจาก IEA Report ซึ่งถือว่าเป็นฐานข้อมูลการประมาณสถานกาณ์ทั่วโลกเกี่ยวกับการใช้พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน ในห้วงเวลาที่เชื่อถือได้ล่าสุด ..

ข้อสังเกต และข้อพิจารณาต่าง ๆ ที่ผู้เขียนสรุปความไว้นี้ มุ่งหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยทั้งภาครัฐ และเอกชน มองเห็นแนวโน้ม และอุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น เพื่อประเทศไทย จะสามารถการปรับตัว รวมถึงการกำหนดนโยบาย โครงการ แผนงาน และงบประมาณ การลงทุนต่าง ๆ ในประเทศ สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เที่ยงตรง แม่นยำ จนไม่มีใครจะมาตำหนิเราได้ในภายหลัง

Global Energy Review 2020 ของ IEA ในปีที่เพิ่งผ่านไป คาดการณ์ว่า พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy จะเป็นแหล่งพลังงานเดียวที่จะเติบโตในปี 2021 นี้ เมื่อเทียบกับปี 2019 ซึ่งตรงกันข้ามกับแหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และนิวเคลียร์ ทั้งหมด ..

ความยืดหยุ่นของพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน เพื่อขับเคลื่อนภาคการผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นประเด็นได้เปรียบสำคัญ พลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกือบ 7% ทั้ง ๆ ที่ในปี 2020 ความต้องการพลังงานทั่วโลกลดลง 5%

โครงการและสัญญาระยะยาว การเข้าถึงระบบสายส่งรูปแบบการเชื่อมต่อ 2 ทาง และการก่อสร้างโรงงานใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ล้วนสนับสนุนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

สิ่งนี้เป็นมากกว่าการชดเชย การลดลงของพลังงานชีวมวลสำหรับอุตสาหกรรม และระบบขนส่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง ผลลัพธ์สุทธิ คือ ความต้องการพลังงานหมุนเวียนโดยรวมเพิ่มขึ้น 1% ในปี 2020

แม้จะมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แต่ความต้องการของนักลงทุนสำหรับพลังงานหมุนเวียนยังคงแข็งแกร่ง ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม โครงการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผ่านการประมูล และลงนามในสัญญา สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 15% ซึ่งเป็นสถิติใหม่ หุ้นของผู้ผลิตอุปกรณ์เกี่ยวข้องที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และผู้พัฒนาโครงการมีผลประกอบการที่ดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นหลัก ๆ และกลุ่มพลังงานโดยรวม การเติบโตทางธุรกิจพลังงานสะอาดมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง ในเดือนตุลาคมปี 2020 ที่ผ่านมา หุ้นของบริษัท พลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากเดือนธันวาคม 2019 ..

ยุโรป และอินเดีย มีการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในปี 2021 การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนทั่วโลกอยู่ระหว่างการขยายตัวเฉลี่ยเกือบ 10% ในปีนี้ ปัจจัยสองประการที่จะผลักดันนำไปสู่การเติบโตที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 (พ.ศ.2558) ได้แก่ ประการแรก การว่าจ้างโครงการล่าช้าในตลาดการก่อสร้างและซับพลายเชน Supply Chain ที่ผ่านมา ทำให้มีการปรับปรุงมาตรการภาครัฐในตลาดสำคัญ ๆ เช่น สหรัฐฯ อินเดีย และบางประเทศในยุโรป ได้อนุญาตให้นักพัฒนาสามารถดำเนินโครงการได้ ด้วยนโยบาย หรือการยื่นประมูลโครงการในกรอบหลักเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2020

ประการที่สอง การเติบโตนั้นมาจากการดำเนินต่อเนื่องจนถึงปี 2021 ในบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา การดำเนินโครงการก่อนช่วงวิกฤติโควิด มีความแข็งแกร่ง เนื่องจากต้นทุนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนด้านนโยบายภาครัฐ

คาดว่าอินเดีย จะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในปี 2021 โดยมีแผนงานรายปีของประเทศเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากปี 2020 .. โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ที่ประมูลได้จำนวนมากนี้นั้น คาดว่าจะดำเนินการได้หลังเพียงเกิดความล่าช้าไปบ้างเนื่องจากวิกฤติโควิด -19 รวมถึงการเจรจาสัญญา และความท้าทายในการจัดหาที่ดิน ซึ่งโครงการเหล่านี้ ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป

ในสหภาพยุโรป การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2021 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ในระบบสาธารณูปโภคที่ประมูลไปก่อนหน้านี้ ในฝรั่งเศส และเยอรมนี การสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน ในปี 2030 และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนช่วยเหลือดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนฟื้นฟูของสหภาพยุโรป ส่งผลดีต่อการเติบโตอย่างมาก ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และละตินอเมริกา การลงทุนสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน กำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ในปี 2021

พลังงานหมุนเวียน ถูกกำหนดให้เป็นผู้นำในภาคการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก .. พลังงานหมุนเวียน จะแซงหน้าถ่านหิน และจะกลายเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดทั่วโลกในปี 2025 (พ.ศ.2568) เมื่อถึงเวลานั้น คาดว่าจะสามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้ถึงหนึ่งในสามของโลก ไฟฟ้าพลังน้ำจะยังคงจ่ายไฟฟ้าหมุนเวียนที่สำคัญของโลก เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดรองลงมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม

ต้นทุนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของพลังงานหมุนเวียนกำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของนักลงทุน และบทบาทของนโยบายภาครัฐ ส่วนแบ่งของการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนมาจากความต้องการของตลาดล้วน ๆ .. นโยบาย และกรอบการกำกับดูแลภาครัฐ ยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างเสถียรภาพของรายได้การประกอบธุรกิจในระยะยาว

การปรับการลงทุนของ บริษัทน้ำมัน และก๊าซรายใหญ่ ในการเปลี่ยนมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน รูปแบบใหม่ ๆ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าสิบเท่าจากปี 2021 (พ.ศ.2564) ถึงปี 2025 (พ.ศ.2568)

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด – 19 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความต้องการพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการใช้พลังงานชีวมวลในอุตสาหกรรม แต่ Covid – 19 ก็เพียงมีผลกระทบโดยตรงอย่างจำกัดต่อการใช้ความร้อนหมุนเวียนในระยะสั้น แม้ว่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกสำหรับความร้อนจะลดลงในอุตสาหกรรม และอาคารพาณิชย์ แต่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทนที่เกี่ยวข้องกับความร้อน จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปในปีนี้ เนื่องจากปริมาณพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นพลังงานสะอาด สามารถสนับสนุนธุรกิจพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน ได้ทั้งทางตรง และทางอ้อม ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานส่วนใหญ่จำนวน 470,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ประกาศโดยแต่ละประเทศทั่วโลกนั้น มีเป้าหมายหลักเพื่อบรรเทาสถานการณ์ถดถอยทางเศรษฐกิจระยะสั้น ทั้งนี้ เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินในระบบมากกว่า 108,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะเน้นไปที่การลงทุนเกี่ยวกับพลังงานสะอาด

มาตรการเหล่านี้ สามารถสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ด้วยมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมทั้งทางตรง หรือทางอ้อม ผ่านพื้นที่ต่าง ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม อาคารสถานที่ ยานพาหนะไฟฟ้า ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ และใช้พลังงานทดแทนแบบแยกเดี่ยว หรือรูปแบบผสมผสาน Hybrid .. นอกจากนี้ ยังเป็นกรณีของแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่กำลังจะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด และการปกป้องสภาพภูมิอากาศ อย่างน้อยประมาณ 310,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เชื้อเพลิงพลังงานทางเลือก และพลังงานทดแทน สำหรับการขนส่ง เป็นส่วนรับการสนับสนุนเพิ่มเติมที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะเนื่องจากภาคส่วนนี้ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด – 19 ผู้คนลดการเดินทางลงอย่างมาก ดังนั้น การสนับสนุนด้านการเงินเป็นความจำเป็น ตัวอย่างเช่น มีเพียง 2 ใน 30 สายการบินทั่วโลกเท่านั้น ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการตอบสนองต่อวิกฤตที่ต้องเผชิญกับเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม และมีเพียงสองสายการบินเท่านั้น ที่สามารถปฏิบัติตามระดับมาตรการผสมเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนที่ 2%

อย่างไรก็ตาม รูปแบบเชื้อเพลิงอากาศยาน กำลังได้รับการทบทวน นอกจากเชื้อเพลิง Bio Jet สำหรับอากาศยานแล้ว  ไฮโดรเจนเหลว ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องเพราะมันไม่มีความจำเป็นต้องปรับแต่งเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในที่ใช้งานอยู่ก่อนแล้วมากนัก และที่สำคัญของเสียของมันคือน้ำ

เป้าหมายการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ในตลาดสำคัญ คาดว่าจะช่วยเร่งการใช้พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน มากขึ้น สหภาพยุโรป และอีกหลายประเทศ เพิ่งประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ

ทั้งนี้ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ก็มีแผนจะดำเนินการเช่นเดียวกัน   ดังนั้น ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) และจากนี้เป็นต้นไป ทั่วโลก มีแนวโน้มเร่งการใช้พลังงานหมุนเวียนในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งหมายถึง มันจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน

Energy Transformation กระบวนปรับเปลี่ยนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เป็นแหล่งพลังงานหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ไปสู่การใช้พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน เป็นแหล่งพลังงานหลักในการขับเคลื่อนทุก ๆ กิจกรรมของมนุษยชาตินั้น กลายเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้

มันอาจต้องใช้เวลาอยู่บ้างในการปรับตัว แต่มันกำลังเกิดขึ้นแล้วอย่างแน่นอน ความถดถอยในอุตสาหกรรมน้ำมัน การเติบโตของธุรกิจพลังงานทางเลือก ปัญหาก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง ได้สร้างความเป็นไปได้ และโอกาสของมนุษยชาติ ในการลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลลง เปลี่ยนวิถีให้การใช้พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน กลายเป็นแหล่งพลังงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมันสำคัญมาก และเป็นไปได้แน่นอน พร้อมโอกาสทางธุรกิจ ด้วยต้นทุนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

นักวิชาการด้านพลังงานเชื่อ หาก Energy Transformation เกิดขึ้นด้วยความเร่ง จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของแต่ละชาติที่ทำธุรกิจพลังงานเพิ่มขึ้น 2.5% ต่อปีต่อเนื่อง และการจ้างงานทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.2% ทั่วโลกภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) ซึ่งนั่นหมายถึง พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน กำลังถูกเลือกให้แสดงบทบาทนำในภาคการผลิตพลังงานไฟฟ้าของโลกได้สำเร็จในที่สุด ..

…………………………………………

คอลัมน์ Energy Key

โดย  ”โลกสีฟ้า”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

ขอบคุณเอกสารอ้างอิง :-

IEA – International Energy Agency

IEA Renewables 2020 | Analysis and Forecast to 2025

IEA Global Energy Review 2020

Renewable Energy Definition and Types of Renewable

Renewable Energy | Types, Forms & Sources | EDF

Renewable Energy, Facts and Information – National Geographic

Wind, Hydro, Solar and Hybrid Power | GE Renewable Energy

Hydrogen Fuel Basics | Department of Energy

Use of hydrogen – U.S. Energy Information Administration

Energy Transformation Towards Sustainability | ScienceDirect

Global Energy Transformation : A Roadmap to 2050

Renewable Energy | Policies in a Time of Transition .. IRENA IEA REN21

This Artificial Island will Power 3 Million European Households

.weforum.org/agenda/2021/02/denmark-history-making-offshore-wind-energy-hub/

Denmark to Construct Artificial Island as a Wind Energy Hub

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img