วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSการปรับเปลี่ยนระบบพลังงานโลกสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

การปรับเปลี่ยนระบบพลังงานโลกสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

Energy Transition : Significant Structural Change in Energy System

“…….การเปลี่ยนผ่านระบบพลังงาน Energy Transition ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่สำคัญในระบบพลังงาน ..”

การเปลี่ยนผ่านระบบพลังงาน Energy Transition เป็นหนทางสู่การเปลี่ยนแปลงภาคพลังงานทั่วโลกจากฐานการบริโภคพลังงานหลักด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การใช้ฐานพลังงานหลักที่สะอาดกว่าจากแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หรือทำให้การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิ Net Zero Emission ภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ ..

Energy Transition | Credit: Fair Energy Transition for All / King Baudouin Foundation

หัวใจสำคัญของการปกป้องมิให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นอีกเกิน 1.5 °C ได้แก่ มาตรการลดการปล่อย CO2 ที่เกี่ยวข้องกับภาคพลังงานให้สำเร็จเป็นตัวอย่างก่อนภาคส่วนอื่น ๆ.. และเพื่อจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น การลดการปล่อยคาร์บอนของภาคพลังงาน จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนระดับนานา ชาติ

ในขณะที่การปรับเปลี่ยนระบบพลังงานทั่วโลกกำลังเดินหน้าอยู่นั้น แต่ละประเทศ จำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมที่ชัดเจน และเฉียบขาด เช่น การยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และถ่านหิน การปรับแต่งเครื่องยนต์สันดาปภายใน การมุ่งใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับการบิน ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบจัดเก็บพลังงานชุดแบตเตอรี่ เซลล์เชื้อเพลิง หรือรูปแบบอื่น ๆ รองรับแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียนที่ผันแปร รวมถึงระบบดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศโดยตรง เพื่อหยุดการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนในอากาศ สร้างสมดุลบรรยากาศ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ..

ทั้งนี้ มาตรการด้านพลังงานหมุนเวียน และประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้สามารถบรรลุ 90 % จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศลงได้ หรือไม่ให้มันเพิ่มขึ้นอีกด้วยความร่วมมือในระดับนานาชาตินั้น ได้กลายเป็นความจำเป็นยิ่งยวดที่ขาดไม่ได้ ..

การเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานโลก Energy Transition ยังเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ Information Technology, เทคโนโลยีอัจฉริยะ Smart Technology, กรอบนโยบายภาครัฐ Policy Frameworks และเครื่องมือทางการตลาด Market Instruments .. International Renewable Energy Agency : IRENA ได้ประเมินเส้นทางการกำจัดคาร์บอนผ่าน Renewable Energy Roadmap : REmap พร้อมกับการสนับสนุน เพื่อเร่งการปรับเปลี่ยนภาคพลังงานด้วยการให้ความรู้ เครื่องมือ และการสนับสนุนที่จำเป็นแก่นานาประเทศ สำหรับการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน ในภาคพลังงานของแต่ละประเทศ ให้สามารถเดินหน้าเข้าสู่กระบวน Energy Transition ไปได้อย่างต่อเนื่องสอดคล้องกัน ..

Energy Transition คือ การเปลี่ยนโครงสร้างสำคัญ Significant Structural Change ในระบบพลังงาน ..

การเปลี่ยนผ่านระบบพลังงาน Energy Transition ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่สำคัญในระบบพลังงาน .. ในอดีต การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ได้รับแรงผลักดันจากความต้องการ และความพร้อมของเชื้อเพลิงในแต่ละยุคที่แตกต่างกัน การเปลี่ยนผ่านของพลังงาน อาจเป็นผลมาจากการสูญเสียแหล่งพลังงาน เช่น น้ำมันปลาวาฬเพื่อการส่องสว่าง และถ่านไม้สำหรับการถลุงเหล็กในยุโรป เป็นต้น ..

การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน และบางทีอาจเป็นพลังงานที่ยั่งยืนประเภทอื่น ๆ นั้นแตกต่างกัน เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับแรงผลักดันจากการรับรู้ว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ทั่วโลกจะต้องถูกจำกัดให้เป็นศูนย์สุทธิ Net Zero และเนื่องจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนแหล่งเดียวที่ใหญ่ที่สุด ปริมาณของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สามารถผลิตได้นั้น จะถูกจำกัดโดยข้อตกลง COP21 Paris ประจำปี 2558 เพื่อรักษาภาวะโลกร้อนให้ต่ำกว่า 1.5 °C

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำว่าการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงาน Energy Transition ได้รับการประกาศเกียรติคุณในกรอบของการเคลื่อนไหวไปสู่ความยั่งยืนผ่านการบูรณาการที่เพิ่มขึ้นของพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน ในขอบเขตชีวิตประจำวัน และโครงสร้างทางสังคมของมนุษยชาติ ..

ตัวอย่างของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่ยั่งยืน คือ การเปลี่ยนแปลงในเยอรมนี Energiewende และสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งกลุ่มประเทศในยุโรป ไปสู่พลังงานหมุนเวียนรูปแบบแบบกระจาย และประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้ว่าจนถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะเข้ามาแทนที่พลังงานนิวเคลียร์แล้วก็ตาม แต่เป้าหมายที่ประกาศไว้ คือ การยกเลิกใช้ถ่านหิน ลดการใช้แหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และการสร้างระบบพลังงานรูปแบบใหม่ ๆ โดยใช้แหล่งพลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน ด้วยสัดส่วนมากกว่า 60 % ภายในอย่างน้อยอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจยังไม่ดีพอ ..

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา เป้าหมายกลุ่มพันธมิตรได้รับการปรับแต่งให้ท้าทายมากยิ่งขึ้น และที่ได้ประกาศออกมาล่าสุด นั่นคือ การให้บรรลุเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียน อยู่ที่ 65 % ในการผลิตกำลังไฟฟ้าทั้งหมด ภายในปี 2573 .. ในประเทศเยอรมนี อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การผลักดันจากนโยบายภาครัฐในการเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2573 เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก .. นอกจากนี้ แผนงานสำรวจ และแสวงหาแร่ธาตุที่จำเป็นจากแหล่งใหม่ ๆ รวมถึงการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานเป็นไปในลักษณะที่ยั่งยืนมากขึ้นด้วยนั้น กลายเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้เช่นกัน ..

ทั้งนี้ คาดหมายได้ว่า โครงสร้างหลักเดิมในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบัน กำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วยความเร่ง .. โครงข่ายระบบสายส่งกำลังไฟฟ้า ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตยาวไกลลิบลิ่วอีกต่อไป มันจะมีขนาดเล็กลง แต่ชาญฉลาดขึ้น .. Smart Grid บนพื้นที่ชุมชนเกษตรกรที่ห่างไกล หรือพื้นที่ชนบทที่ระบบสายส่งเข้าไม่ถึง ระบบจัดเก็บพลังงานด้วยชุดแบตเตอรี่ เซลล์เชื้อเพลิงขนาดใหญ่ กลายเป็นหนึ่งในสิ่งอำนวยความสะดวกหลักของระบบไฟฟ้าของประเทศ เมือง และชุมชน ซึ่งก่อนหน้านี้แทบจะไม่เคยปรากฏให้พบเห็น

.. เครือข่ายโรงไฟฟ้าเสมือน และแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียนรูปแบบกระจาย แยกย่อย กำลังเข้ามาแทนที่โรงไฟฟ้าน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล และถ่านหินขนาดใหญ่ สิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับพลังงานไฮโดรเจน ระบบดักจับคาร์บอนจากบรรยากาศโดยตรง รวมทั้งกำลังการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์ Syngas or eFuels ที่เพิ่มขึ้น ถังจัดเก็บ ระบบท่อ และนวัตกรรมเทคโนโลยี Power to X กำลังจะก่อให้เกิดโครงสร้างระบบพลังงานโลกรูปแบบใหม่ที่แสดงบทบาทหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และสังคมของมนุษยชาติ สำหรับอนาคตจากนี้เป็นต้นไปได้อย่างแน่นอนในที่สุด ..

นิยามคำว่า “การเปลี่ยนผ่านระบบพลังงาน Energy Transition” ..

“การเปลี่ยนผ่านระบบพลังงาน Energy Transition” คือ กำหนดการเปลี่ยนแปลงสำคัญสำหรับระบบพลังงานโลกที่อาจเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากร โครงสร้างระบบ ขนาด เศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมการใช้งานปลายทาง และนโยบายพลังงานร่วมกัน ..

‘การปรับเปลี่ยนพลังงาน’ มีความหมายที่เป็นประโยชน์ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงในสถานะของระบบพลังงานซึ่งต่างไปจากโครงสร้างเดิม การเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีพลังงาน แหล่งเชื้อเพลิง ตัวอย่างที่สำคัญที่เคยพบเห็น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงจากระบบก่อนยุคอุตสาหกรรมที่อาศัยเชื้อเพลิงชีวมวลรูปแบบดั้งเดิม และแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ เช่น ลม น้ำ และพลังงานของกล้ามเนื้อ ไปเป็นระบบพลังงานในยุคอุตสาหกรรมที่มีลักษณะการใช้เครื่องจักรกลที่แพร่หลาย เครื่องยนต์เผาไหม้ภายใน พลังไอน้ำ การใช้ถ่านหิน และน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล กลายเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่สุดในยุคนั้นสำหรับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเน้นการผลิตสินค้าและบริการแบบผลผลิตมวลรวม Mass Production ..

อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยกำลังเปลี่ยนไป นับตั้งแต่มีการนำข้อตกลงปารีส COP21 มาใช้ในปี 2558  การเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ถูกกำหนดให้เป็นการลดระดับการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อจำกัดการปล่อยคาร์บอนเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อนไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 °C คำว่า “ศูนย์สุทธิ Net Zero” หมายรวมถึงการรับรู้ว่า CO2 ในชั้นบรรยากาศบางส่วนจะถูกกักเก็บในการเจริญเติบโตของพืช และสัตว์ และการกักเก็บตามธรรมชาตินี้ สามารถปรับปรุงได้ด้วยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การเกษตรแบบยั่งยืน การอนุรักษ์ดิน การปลูกป่า และการปกป้องพื้นที่พรุ พื้นที่ชุ่มน้ำ และสภาพแวดล้อมทางทะเล ..

ในระบบโลกตามธรรมชาตินั้น แหล่งดูดซับ CO2 ออกจากอากาศ และผลิต O2 สู่บรรยากาศที่ใหญ่ที่สุดนั้น มิใช่ป่าฝนตามที่บางคนเข้าใจ แต่เป็นมหาสมุทร และในปัจจุบัน มนุษย์ชาติเอง ก็มีเครื่องมือที่สามารถดักจับ CO2 จากอากาศโดยตรงได้ด้วยระบบอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อนำมันมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงสังเคราะห์ Synthetic Fuels ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลเดิมได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ..

ทั้งนี้ การอภิปรายสาธารณะ และการถกแถลงเชิงวิชาการเกี่ยวกับ “การเปลี่ยนผ่านระบบพลังงาน Energy Transition” และผลกระทบของนโยบายภาครัฐ ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมของการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น .. ผลประโยชน์ร่วมกัน ได้อธิบายถึงผลข้างเคียงเชิงบวกที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน และสามารถกำหนดมาตรการต่าง ๆ ไว้ เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ หรือวัตถุประสงค์หลายประการพร้อมกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นใช้แหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน ให้สามารถส่งผลลัพธ์ในเชิงบวกทางเศรษฐกิจ และสังคมต่อการจ้างงาน การพัฒนาอุตสาหกรรม สุขภาพ และการเข้าถึงแหล่งพลังงาน ซึ่งมันยังคงขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ และสถานการณ์การใช้งาน ..

การเปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนทดแทนนั้น สามารถเพิ่มจำนวนตำแหน่งงานได้มากกว่าสองเท่าต่อกำลังการผลิต MW เฉลี่ย .. ในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่โครงข่ายระบบสายส่งเข้าไม่ถึง การติดตั้งโซลาร์มินิกริด Solar PV Mini – Grids ได้ช่วยชุมชนเกษตรกรที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงระบบกำลังไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การเปลี่ยนพลังงานจากเชื้อเพลิงถ่านหินไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ยังสามารถลดจำนวนการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ และลดต้นทุนด้านสุขภาพได้อีกด้วย ..

กระบวนปรับเปลี่ยนระบบพลังงานโลก Energy Transition หมายถึงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ..

สำหรับชุมชนทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคไปสู่พลังงานสะอาด จะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่น่าหวั่นไหวอย่างยิ่ง .. แต่หากภาครัฐ และเอกชน มีการวางแผนสำหรับอนาคต และทำงานร่วมกับผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดโดยเริ่มจากภาคพลังงานก่อนแล้ว การเดินหน้าต่อไปสู่ภาคเกษตรกรรม สังคม และกระบวนผลิตทางอุตสาหกรรมต่อไปนั้น เราก็จะสามารถมั่นใจได้ว่า เทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่ก้าวล้ำ จะมิได้เป็นการเสียโอกาส แต่จะหมายถึง ความปลอดภัย และตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่เหนือชั้นกว่า ในทศวรรษหน้า รวมทั้งผลผลิตมวลรวม กับโอกาสทางธุรกิจด้วยผลตอบแทนที่คุ้มค่า และสูงกว่า กำลังจะมาถึงได้ในที่สุด ..

การดำเนินการต่าง ๆ นั้น ไม่สามารถทอดทิ้งผู้คนที่ทำงานในธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลแต่เดิม คนงานเหมืองถ่านหิน หรือผู้ผลิตซีเมนต์ ในเส้นทางไปสู่การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์สุทธิ Net Zero Roadmap ได้ ..

วิธีการมากมายสามารถช่วยเหลือผู้ที่รู้สึกว่าอาจจะต้องสูญเสียโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ .. การพูดคุยเกี่ยวกับเส้นทางสู่โลกอนาคตอันใกล้นี้ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในประเด็นพื้นฐานพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจทางกายภาพทั้งหมด เพื่อให้สังคมมนุษย์ สามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จ ภายในปี 2050 หรือ พ.ศ.2593 และเกือบทุกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น จะถูกตั้งคำถามในแนวทางเดียวกันว่า “จะทำอย่างไรกับผู้คนที่กำลังจะตกงานในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานนี้” ..

เป็นคำถามที่ดี .. ผู้คนมีสิทธิ์ที่จะกังวลเกี่ยวกับมัน .. น่าเสียดายที่วิธีที่เราพูดถึงปัญหานี้ สามารถแบ่งขั้วได้ และการโต้เถียงก็จบลงที่วาทะของหนึ่งในสองค่ายสุดโต่งทางการเมืองเท่านั้น ..

สำหรับผู้ที่กังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องง่ายที่จะปฏิเสธทุกคนที่เรียกหาตำแหน่งงานที่หายไปในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล .. บางคนยังเชื่อมั่นว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลมิใช่ตัวการหลักของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ .. และสำหรับผู้ที่กังวลเกี่ยวกับการตกงาน สรุปง่าย ๆ ว่า นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่เข้าใจถึงผลกระทบในการปรับเปลี่ยนพลังงาน Energy Transition เหล่านี้ต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม คนงาน ครอบครัว และชุมชนของพวกเขา ..

อย่างไรก็ตาม ความจริงก็คือ โลกจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้เศรษฐกิจคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิในช่วง 30 ปีข้างหน้าแน่นอนรอไม่ได้ .. แต่ก็เป็นความจริงอีกเช่นกันที่ชุมชนอีกจำนวนมาก ยังคงพึ่งพากำลังเครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจรูปแบบเดิม เช่น โรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งขับเคลื่อนโดย เชื้อเพลิงฟอสซิล .. หากงานเดียวที่คุณเคยทำมาตลอดชีวิตต้องอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิล จินตนาการได้เลยว่า มันกำลังจะหายไป .. ดังนั้น การรับรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานโลกเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากสภาพอากาศนั้น จึงมิได้ทำให้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เช่นกัน ..

การแบ่งปันความคิดเกี่ยวกับวิธีการสร้างสมดุลที่เหมาะสม เป็นความจำเป็น .. ในการเริ่มต้น สิ่งสำคัญคือ ต้องตระหนักว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจที่มีพลวัตอย่างเหลือเชื่อตามยุคสมัยอยู่แล้ว .. ความต้องการแรงงานสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วจากภาคส่วนหนึ่งไปอีกส่วนหนึ่ง และจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์หนึ่งไปอีกพื้นที่หนึ่ง .. และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มิใช่เพียงขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินขึ้นได้ เช่น ระบบอัตโนมัติ Automation System หุ่นยนต์ Robotics และ AI : Artificial Intelligence ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 นั้น ก็มีบทบาทสำคัญในการเป็นแรงผลักด้วยเช่นกัน ..

EU Energy Transition on Track | Credit: EU

โดยทั่วไปแล้ว Dynamism เป็นโอกาสทางธุรกิจ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ .. การปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ถือเป็นการสร้างโอกาสใหม่ ๆ มากมายให้กับคนงาน และผู้คนอีกมากมาย .. ในบางกรณี ทักษะของพวกเขาจะถูกถ่ายทอดโดยตรง ตัวอย่างเช่น หากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสีเขียว กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เรายังคงต้องใช้ระบบท่อ และรถบรรทุกเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเหลวเพื่อเคลื่อนย้ายขนส่ง เช่นเดียวกับระบบขนส่งน้ำมัน และก๊าซในปัจจุบัน .. ทักษะการขุดเจาะ ก็จะยังมีประโยชน์ในการจัดหาแร่ธาตุ เช่น ลิเธี่ยม และทองแดง ที่ใช้ในการผลิตเทคโนโลยีสะอาด และจะมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นต้น ..

นอกจากนี้ ยังมีงานที่เกี่ยวข้องในการสร้าง และดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดสำหรับเศรษฐกิจสีเขียว .. ฟาร์มกังหันลม และโซลาร์เซลล์ ระบบกริด หรือโครงข่ายระบบสายส่งที่ทันสมัย โรงงานแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ โรงกลั่นสำหรับเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ยั่งยืน สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับระบบจัดเก็บกำลังไฟฟ้าในระยะยาวรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากบรรยากาศ และอื่น ๆ นั้น มัน คือ รูปแบบงานใหม่ ๆ ที่มิได้ต้องการทักษะแรงงานพิเศษที่ต่างออกไปจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิงแต่อย่างไร ..

การคาดหมายการลงทุน ตลาดพลังงานโลก และผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก Energy Transition ..

IEA Roadmap ได้ศึกษา จำลองภาพรวม และกำหนดเหตุการณ์สำคัญมากกว่า 400 รายการ เพื่อให้ได้แนวทางดำเนินแผนงาน Energy Transition ทั่วโลกสู่ศูนย์สุทธิภายในปี 2050 หรือ พ.ศ.2593 ในภาคระบบพลังงานโลก .. ซึ่งหมายรวมถึง ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จะไม่มีการลงทุนในโครงการจัดหาเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ ๆ หรือไม่มีการลงทุนขั้นสุดท้ายเพิ่มเติมใด ๆ อีก การตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่จะต้องหยุดลง .. ภายในปี 2035 หรือ พ.ศ.2573 จะไม่มีการซื้อขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลคันใหม่อีกต่อไป และภายในปี 2040 หรือ พ.ศ.2583 คาดหมายตามแผนว่า ภาคการผลิตกำลังไฟฟ้าทั่วโลก จะเข้าสู่การปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ สำเร็จได้ในที่สุด ..

ในระยะเวลาอันใกล้ รายงาน IEA Roadmap ฉบับนี้ อธิบายถึงเส้นทางสู่ศูนย์สุทธิที่ต้องมีการปรับใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และมีประสิทธิภาพทั้งหมดปัจจุบันในทันที ร่วมกับการผลักดันครั้งใหญ่ระดับโลกเพื่อเร่งสร้างนวัตกรรม ในแนวทางนี้ .. นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการเพิ่มเซลล์แสงอาทิตย์ประจำปีเพื่อให้ถึง 630 GW ภายในปี 2573 และพลังงานลมให้สูงถึง 390 GW .. ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว นี่คือระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าที่สูงถึง 4 เท่าจากปี 2563 ..

การผลักดันทั่วโลกครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของความพยายามเหล่านี้เช่นกัน ส่งผลให้อัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4 % ต่อปีจนถึงปี 2030 หรือ พ.ศ.2473 ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยถึงสามเท่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ..

การลดการปล่อย CO2 ทั่วโลกส่วนใหญ่ระหว่างปัจจุบันนี้จนถึงปี 2573 ในเส้นทางสู่ศูนย์สุทธินั้น มาจากเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่พร้อมใช้งานในปัจจุบัน .. แต่ในปี 2593 การลดลงของการปล่อย CO2 สู่บรรยากาศเกือบครึ่งหนึ่ง มาจากเทคโนโลยีที่ยังคงอยู่ในช่วงการสาธิต ทดลอง หรือเป็นต้นแบบ เท่านั้น .. สิ่งเหล่านี้เรียกร้องให้ภาครัฐ เพิ่ม และจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณการวิจัย และพัฒนา เพื่อเร่งกระบวนการให้รวดเร็ว รวมถึงเริ่มแผนงานปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดทดแทนแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในเร็ววัน สอดคล้องกับแนวทางภาครัฐ ในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน และการปกป้องสภาพอากาศ เพื่อสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ..

ความคืบหน้าในพัฒนาการแบตเตอรี่ขั้นสูงรูปแบบต่าง ๆ ระบบจัดเก็บพลังงานขนาดใหญ่ เครือข่ายโรงไฟฟ้าเสมือน อิเล็กโทรไลเซอร์สำหรับไฮโดรเจน เซลล์เชื้อเพลิง ตัวเก็บประจุยิ่งยวด รวมทั้งระบบการดักจับและจัดเก็บ CO2 โดยตรงจากบรรยากาศ สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้เป็นพิเศษ และมันกลายเป็นความจำเป็นยิ่งยวดที่ขาดไม่ได้ ..

การเปลี่ยนแปลงของขนาด และความเร็วในเรื่องดังกล่าว จะไม่สามารถทำได้โดยปราศจากการสนับสนุน และการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนจากภาคประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยตรงในหลาย ๆ ด้าน ..

การเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานสะอาด มีไว้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และเกี่ยวข้องกับผู้คนทุก ๆ คน .. แผนงานตามแนวทาง IEA Roadmap แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความท้าทายในการเปลี่ยนไปใช้ระบบพลังงานสะอาด และการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์อย่างรวดเร็วนี้นั้น ได้กลายเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับระบบเศรษฐกิจของมนุษยชาติเช่นกัน .. การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะต้องเดินหน้าไปอย่างยุติธรรม และครอบคลุมทุกมิติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การตรวจสอบให้แน่ใจว่า ประเทศกำลังพัฒนาได้รับเงินทุน และความรู้ทางเทคโนโลยีที่พวกเขาต้องการอย่างพียงพอ ในการสร้างระบบพลังงานรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากร และระบบเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวอย่างยั่งยืนในอนาคต กลายเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ ..

การจัดหากำลังไฟฟ้าให้กับผู้คนประมาณ 785 ล้านคนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ และข้อไขการผลิตอาหารที่สะอาดแก่ผู้คน 2.6 พันล้านคนที่ขาดแคลน เป็นส่วนสำคัญของเส้นทางศูนย์สุทธิ Net Zero ของ IEA Roadmap .. ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ อยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี เท่ากับประมาณ 1 % ของการลงทุนในภาคพลังงานเฉลี่ยต่อปี .. นอกจากนี้ มันยังนำประโยชน์ด้านสุขภาพที่สำคัญจากการลดมลพิษทางอากาศภายในอาคาร ลดจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ถึง 2.5 ล้านคนต่อปี ..

การลงทุนด้านพลังงานทั้งหมดต่อปี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 ในเส้นทางสู่ศูนย์สุทธิ Net Zero และมันจะขับเคลื่อนอัตราการเติบโตของ GDP ทั่วโลกให้เพิ่มขึ้น 0.4 % ต่อปี โดยอิงจากการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF

.. คาดหมายว่า การใช้จ่ายภาครัฐ และเอกชนที่พุ่งสูงขึ้น สามารถสร้างงานใหม่ ๆ หลายล้านตำแหน่งงานในด้านพลังงานสะอาด รวมถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่นเดียวกับในภาคอุตสาหกรรม วิศวกรรม เกษตรกรรม การผลิต และการก่อสร้าง .. ทั้งหมดเหล่านี้ จะทำให้ GDP โลกสูงขึ้น 4 % ในปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 ซึ่งมากกว่าที่จะไปถึงได้ด้วยแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลตามแนวโน้มในปัจจุบัน ..

ดังนั้น คาดหมายได้ว่า ภายในปี 2050 หรือ พ.ศ.2593 โลกของพลังงานจะดูแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ความต้องการพลังงานทั่วโลกจะลดลงน้อยกว่าในปัจจุบันประมาณ 8 % แต่จะกลับสามารถรองรับระบบเศรษฐกิจโลกได้มากกว่าสองเท่า และประชากรที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ..

แนวทางใหม่การลงทุนในนวัตกรรมพลังงานสะอาด  Clean Energy Innovation ..

เมื่อเตาอบไมโครเวฟเครื่องแรกออกสู่ตลาดในปี 2498 ราคาคร่าว ๆ ของมันอยู่ที่ประมาณ 12,000 เหรียญสหรัฐฯ ในวันนั้น .. วันนี้ เราสามารถหาซื้อมันได้ทุกแห่ง ในราคา 50 เหรียญสหรัฐฯ ..

ไม่ยากเลยที่จะเข้าใจว่าทำไมราคาจึงลดลงอย่างมาก และรวดเร็ว .. ไมโครเวฟมีคุณสมบัติใหม่ที่ลูกค้าชอบ และพวกมันทำบางสิ่งได้ดีกว่าเตาแก๊ส หรือเตาไฟฟ้า .. เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้น บริษัทต่าง ๆ ก็เข้ามาเล่นเกมเพื่อหาหนทางใหม่ ๆ เพื่อทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างห่วงโซ่อุปทาน และราคาลดลง .. เมื่อไมโครเวฟมีราคาถูกลง ผู้คนจำนวนมากขึ้นก็ซื้อมัน ซึ่งดึงดูดนวัตกรรมมากขึ้น และอื่น ๆ ในวัฏจักรวงจรสินค้า ..

ผลิตภัณฑ์พลังงานสะอาดบางชนิดทำงานในลักษณะเดียวกัน ตัวอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้เห็นได้ชัดเจน ปัจจุบัน มันราคาถูกลงอย่างมากจากช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ผลิตภัณฑ์ภาคพลังงานหลายรายการ ก็อาจยังมิได้เป็นเช่นนั้น .. อย่างน้อย มันอาจยังไม่ถึงเวลาเท่านั้นเอง ..

เทคโนโลยีพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ ยังคงมีราคาแพงกว่าสิ่งที่พวกเขาพยายามจะแทนที่มัน .. ยุคน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลราคาถูก ยืดออกไปอีก ความแตกต่างด้านราคาที่เรียกกันว่า Green Premiums .. พวกมันไม่ได้ทำงานได้ดีกว่า แต่แน่นอนว่ามีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยลง และในหลายกรณี  พวกมันทำงานเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ได้ ..

นี่อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ .. โลกจำเป็นต้องกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2593 และการไปถึงจุดนั้นจะต้องมีการประดิษฐ์ และปรับใช้ผลิตภัณฑ์พลังงานสะอาดอีกมากมาย .. แม้ว่าจะเป็นเรื่องดีที่ภาครัฐของแต่ละชาติ ทุ่มเงินลงทุนเพิ่มเข้าไป โครงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และผู้คนต่างยินดีจ่าย Green Premium มากขึ้น .. ทั้งนี้ นวัตกรรมใหม่ไม่ได้มาเร็วพอ .. ผลิตภัณฑ์ไม่ได้ถูกลง หรือดีขึ้นเร็วพอ รวมทั้งตลาด และขนาดธุรกิจ ก็ยังเติบโตช้าไป ประเด็นมิได้อยู่ที่ปัญหาทางเทคนิค ประเด็นปัญหาจริง ๆ ของมันอยู่ที่ราคา และความเชื่อมั่นในการลงทุนนั่นเอง ..

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เหตุผลเดียวที่เราควรเร่งกระบวน Energy Transition .. การวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้คนทั่วโลก ตระหนัก และเข้าใจดีว่าการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด ได้จุดประกายให้อุตสาหกรรมใหม่ ๆ สร้างตำแหน่งงานในสาขาต่าง ๆ .. ดังนั้น เพื่อเร่งให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ จำเป็นต้องมีการจัดหาเงินทุน การผลิต การซื้อขายเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน ในพื้นที่เกษตรกรรมไปพร้อมด้วย ซึ่งมันกำลังจะกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน ..

อีกตัวอย่างหนึ่ง Breakthrough Energy ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรผู้ใจบุญ บริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐในสหรัฐฯ สร้างโมเดลใหม่ทางธุรกิจรูปแบบหนึ่ง .. เป้าหมาย คือ การทำให้ผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เป็นไปตามวัฏจักรเช่นเดียวกันสำหรับการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดในช่วงต้น การส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ และการลดต้นทุน ซึ่งก่อนหน้านี้ ทำให้พลังงานแสงอาทิตย์ ถูกลงอย่างมาก เหมือนกับที่ตลาดเตาอบไมโครเวฟเคยเป็นเช่นกัน ..

Brief 12 Lessons on Europe’s Energy Transition | Credit: Wikimedia

แนวทางการลงทุน และโอกาสทางธุรกิจ 4 พื้นที่เทคโนโลยีใหม่ในประเด็นสำคัญที่อยู่นอกขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา และมันพร้อมที่จะนำมาใช้งานได้แล้ว แต่ขนาดธุรกิจที่คาดหมายยังไม่โตพอที่จะดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ .. ดังนั้น การร่วมลงทุนจากการรวมกลุ่มของภาคเอกชนด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ จะสามารถสร้างความแตกต่างได้มาก และ 4 พื้นที่การลงทุนหลักที่เป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจเหล่านี้ ได้แก่ :-

1. ระบบจัดเก็บพลังงานที่ทำงานได้ด้วยระยะเวลายาวนาน  Long – Duration Energy Storage เพื่อให้สามารถเก็บพลังงานได้ครั้งละหลายเดือน เทียบกับเพียงไม่กี่วันที่ชุดแบตเตอรี่ที่ดีที่สุดในปัจจุบันสามารถทำได้ .. ความก้าวหน้าในพื้นที่นี้จะทำให้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม หรือแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนที่ผันแปร ใช้งานได้จริงในสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้น ..

2. เชื้อเพลิงการบินอย่างยั่งยืน Sustainable Aviation Fuels ที่สามารถขับเคลื่อนอากาศยานขนส่งสินค้า และเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ ซึ่งมีขนาดใหญ่ และหนักเกินกว่าจะใช้พลังงานจากชุดแบตเตอรี่ได้ .. ปัจจุบันการทดสอบทดลอง เดินหน้าไปอย่างมาก แต่มันดูเหมือนยังช้าเกินไปซึ่งมิใช่ปัญหาทางเทคนิคแต่อย่างไร ปัญหาของมันอยู่ที่ราคาล้วน ๆ ..

3. ระบบดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 จากบรรยากาศโดยตรง Direct Air Capture .. ระบบกักเก็บ และการนำมันมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงสังเคราะห์ .. เราไม่สามารถกำจัดคาร์บอนได้ทั้งหมดด้วยวิธีนี้ แต่วิธีที่ถูกกว่าในการทำเช่นนี้จะทำให้เราเข้าใกล้ศูนย์สุทธิมากขึ้นด้วยเป้าหมาย Net Zero ในปี 2593 ..

4. ไฮโดรเจนสีเขียว Green Hydrogen ราคาถูก .. เชื้อเพลิงไฮโดรเจนมีแนวโน้มเป็นตัวแสดงหลักที่สำคัญมากในกระบวนปรับเปลี่ยนระบบพลังงานโลก Energy Transition .. พวกมันสามารถให้พลังงานมากกว่าชุดแบตเตอรี่ และสามารถใช้กับเครื่องบินขนาดใหญ่ และกระบวนการทางอุตสาหกรรมได้อย่างยอดเยี่ยม .. น่าเสียดายที่มันมีราคาแพงมาก .. อย่างไรก็ตาม มันสะอาดอย่างยิ่ง และเป็นสารตั้งต้นสำหรับเชื้อเพลิงสังเคราะห์อีกมากมายในเทคโนโลยี Power to X ที่สามารถนำไปใช้ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลที่จุดระเบิดในห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในปัจจุบันได้อย่างสบาย ๆ ด้วยการปรับแต่งเครื่องยนต์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ..

สรุปส่งท้าย ..

Energy Transition กำลังเปิดตัวแผนงาน โครงการใหม่ ๆ รวมทั้งข้อไขที่เป็นผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมในภาคพลังงาน และเทคโนโลยีด้านสภาพอากาศรุ่นต่อไปออกสู่ตลาดให้ได้ทันเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ .. มัน คือ เส้นทางสู่ความสำเร็จเชิงพาณิชย์ ลดการปล่อยมลพิษ กระตุ้น GDP โลกให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และสร้างตำแหน่งงานใหม่ที่มีรายได้สูงกว่าไปพร้อมด้วยในทศวรรษหน้า ..

Carbon Disclosure Project : CDP ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติไม่แสวงกำไร วางแผนจะเผยแพร่รายงานในเดือนกันยายนปีนี้ เพื่ออธิบายวิธีการทำงานของเครื่องมือต่าง ๆ สำหรับกระบวน Energy Transition และคาดว่าจะเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ ๆ รองรับการประชุม COP26 ในกลาสโกว์ หมายถึง การประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติครั้งต่อไป หรือ UN Climate Change Conference of the Parties : COP26 in Glasgow on 31 October – 12 November 2021 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ใน 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2564 ปีนี้ ซึ่งมันจะเป็นเวทีสำคัญที่ผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะต้องตัดสินตกลงใจในวงเสวนาสภาวะโลกร้อน พร้อมนำเสนอคำมั่นสัญญา และทางออกด้านสภาพอากาศใหม่ที่ชัดเจนกว่า และเป็นไปได้ รวมทั้ง Road Map ที่เป็นรูปธรรมเพื่อไปสู่ศูนย์สุทธิ Net Zero ..

การเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานทางเลือก การปรับเปลี่ยนไปสู่เกษตรทฤษฎีใหม่ปลอดสารพิษ คาร์บอนต่ำ ..  รวมทั้งการพิจารณาลงทุนกับ Carbon Capture, Utilisation & Storage : CCUS ถือเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้เช่นกัน แม้ว่ามันจะทำให้ต้นทุนในกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์เพิ่มขึ้นก็ตาม หากเราจะยังคงจำเป็นใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือแบบผสมผสานอยู่ต่อไป รวมทั้งการดูดซับคาร์บอนในพื้นที่เกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย เป็นต้นนั้น กลายเป็นความจำเป็น ..

คาดหมายได้ว่า ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ มันจะขับเคลื่อนอัตราการเติบโตของ GDP ทั่วโลกให้เพิ่มขึ้นได้อย่างน้อย 0.4 % ต่อปี .. ทั้งนี้ ภาพรวมทั้งหมด หากรวมผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และผลผลิตอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องทางเศรษฐกิจและสังคมด้วยแล้ว GDP ทั่วโลกจะถูกผลักให้สูงขึ้น 4 % ในปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 ซึ่งมากกว่าที่จะไปถึงได้ด้วยแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลตามแนวโน้มในปัจจุบัน ..

คอลัมน์ : Energy Key

By.. โลกสีฟ้า ..

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)


ขอบคุณเอกสารอ้างอิง :-

Net Zero by 2050 – Analysis | IEA :-

https://www.iea.org/reports/net-zero-by-2050

Net Zero by 2050 .. A Roadmap for the Global Energy Sector .. by IEA :-

https://iea.blob.core.windows.net/assets/4482cac7-edd6-4c03-b6a2-8e79792d16d9/NetZeroby2050-ARoadmapfortheGlobalEnergySector.pdf

Net Zero: Why is it Necessary? | Energy & Climate Intelligence :-

https://eciu.net/analysis/briefings/net-zero/net-zero-why

What does “Net Zero Emissions” Mean? | My Climate :-

https://www.myclimate.org/information/faq/faq-detail/what-does-net-zero-emissions-mean/

Net – Zero Emissions Targets are Vague: Three Ways to Fix :-

https://www.nature.com/articles/d41586-021-00662-3

IRENA Energy Transition :-

https://www.irena.org/energytransition

Power System Flexibility for the Energy Transition | IRENA :-

https://www.irena.org/-/media/Files/IRENA/Agency/Publication/2018/Nov/IRENA_Power_system_flexibility_1_2018.pdf

World Energy Transitions 2021 | IRENA :-

https://irena.org/-/media/Files/IRENA/Agency/Publication/2021/Jun/IRENA_World_Energy_Transitions_Outlook_2021.pdf

Remap 2030 : A Renewable Energy Roadmap | IRENA :-

https://www.irena.org/-/media/Files/IRENA/Agency/Publication/2014/IRENA_REmap_Report_June_2014.pdf

Energy Transition : A Significant Structural Change in an Energy System :-

https://photos.app.goo.gl/Qnj3eGJobkzRHx7a9

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img