วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSEVs : อนาคตยานยนต์ไฟฟ้าโลก และบนหมุดหมาย 3 ของแผนชาติ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

EVs : อนาคตยานยนต์ไฟฟ้าโลก และบนหมุดหมาย 3 ของแผนชาติ

Global EVs Market Size to Reach a CAGR of 26.8% during 2022-2027

“……การเดิมพันสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle : EVs ระดับภูมิภาคในประเทศไทยของทั้งภาครัฐ และเอกชนที่ขยายตัวขึ้นอีกนั้น จะทำให้ไทยกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุด 1 ใน 10 ของโลกจากปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 11 ได้อย่างแน่นอนในที่สุด ..”

ขนาดธุรกิจตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก Global EVs Market ได้รับการคาดหมายว่า อัตราการเติบโตต่อปี จะอยู่ที่ค่า CAGR 26.8% ในช่วงระยะเวลาที่คาดการณ์ ปี 2565-2570 หมายถึงการขยายตัวของตลาดยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs ทั่วโลกที่สูงลิ่วด้วยโค้งความเร่งตั้งชัน ในขณะที่ ประเทศไทย ได้วางกรอบแผนงาน และโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EVs Revolution Thailand แบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินไว้บนหมุดหมายที่ 3 ในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ National Economic & Social Development Plan ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570 ใหม่ล่าสุด ซึ่งคาดว่าจะออกมาใช้เป็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจหลักของประเทศได้ในปลายปี 2565 นี้ ..

Electric Vehicles: EVs Trend | Credit: Krungsri Bank / EV World

ภายในสิ้นปี 2565 รถยนต์นั่ง Mercedes-EQS ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ แผนจะเปิดสายการผลิตในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ซึ่งถือเป็นโอกาส และก้าวสำคัญอันน่าทึ่งของไทยในการเปลี่ยนผ่านจากศูนย์กลางผลิตรถยนต์รูปแบบเดิมไปสู่ผู้นำระดับภูมิภาคสำหรับฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : Evs Production ในอนาคต ..

ผู้ผลิตรถยนต์หรูสัญชาติเยอรมัน German Luxury Carmaker ไม่เพียงแต่เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อผลิต Mercedes-EQS ที่โดดเด่นเท่านั้น แต่ยังเลือกไทยให้เป็น 1 ใน 7 สถานที่ในโลกเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเธี่ยมไอออน Lithium-Ion Batteries ประสิทธิภาพสูง อายุใช้งาน 10 ปี ซึ่งด้วย 12 Cell Modules ในเคสแข็งให้ความจุได้สูงถึง 107.8 KWh และมากกว่าความจุของชุดแบตเตอรี่บน Tesla Model 3 ที่ 50 KWh ถึงกว่า 2 เท่า ทำให้ EQS SUV : the Battery สามารถจ่ายกำลังไฟฟ้าแก่รถยนต์ไฟฟ้าให้วิ่งไปได้ไกลกว่า 700 Km ต่อการชาร์จเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้นอีกด้วย ..

“สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความสำคัญต่อเราอย่างไร” Roland Folger ประธานฯ และ CEO ของธุรกิจ Mercedes-Benz ประเทศไทย กล่าวในการให้สัมภาษณ์ .. “Mercedes – EQS คือ รถยนต์ไฟฟ้าพลังแบตเตอรี่เต็มรูปแบบ Absolute Highlight of Our Full Battery Vehicles ชั้นเยี่ยม ถือเป็นระดับสุดยอดในด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าล่าสุดในประเทศไทย ซึ่งหมายถึง พันธมิตร เช่น ประเทศไทยที่เรารู้ว่า พวกเขามีความพร้อมที่จะสามารถรองรับเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี” ..

Mercedes-Benz Thailand ซึ่งผลิตรถยนต์ในประเทศไทยสำหรับตลาดยานยนต์มายาวนานตั้งแต่ปี 2522 นั้น .. ในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า รายงานผลประกอบการซึ่งถึงแม้จะมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก็ตาม ยอดขายยังคงเพิ่มขึ้นสูงถึง 13% .. ทั้งนี้ คาดหวังว่า จะเริ่มส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าจากโรงงานในประเทศไทย ไปยังชาติต่าง ๆ ในภูมิภาคได้อย่างราบรื่น รวมทั้ง การเดิมพันสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle : EVs ระดับภูมิภาคในประเทศไทยของทั้งภาครัฐ และเอกชนที่ขยายตัวขึ้นอีกนั้น จะทำให้ไทยกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุด 1 ใน 10 ของโลกจากปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 11 ได้อย่างแน่นอนในที่สุด .. ขณะเดียวกันก็ค้นหาแบบจำลองการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมต่อสู้กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ Climate Crisis ไปพร้อมด้วย ..

Mercedes EQS / Electric Vehicles: EVs | Credit: Mercedes – Benz ประเทศไทย

รถเก๋งเมอร์เซเดสเบนซ์ Mercedes-Benz Sedan ได้เปิดตัวสายการผลิตที่โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ Thonburi Automotive Assembly Plant ของบริษัทฯ ในจังหวัดสมุทรปราการ ประเทศไทย และภายในสิ้นปี 2565 จะทำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Mercedes-EQS ออกสู่ตลาด ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ Automotive Industry เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Asia’s Auto Hub ให้สำเร็จได้ต่อไป ..

นอกจาก Mercedes แล้ว ยังมีค่าย โตโยต้า Toyota ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก และในประเทศไทย มีสำนักงานใหญ่ในเอเชียอยู่ที่กรุงเทพฯ รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน เช่น Great Wall และ SAIC ซึ่งได้ช่วยให้จีนกลายเป็นตลาด EVs อันดับหนึ่งของโลกด้วยปริมาณการผลิต และยอดจำหน่าย .. ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทฯเหล่านี้ วางแผนที่จะทำให้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตระดับภูมิภาคเช่นกันอย่างน้อยสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ชาติ ที่มีผู้บริโภคมากกว่า 681 ล้านคน ..

ในขณะเดียวกัน Mitsubishi Motors ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทฯ แรกที่ส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยมายาวนานตั้งแต่ปี 2531 หรือ ค.ศ.1988 กำลังเดิมพันอย่างหนักกับรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด Plug-In Hybrid Electric Vehicles : PHEVs ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบรถไฟฟ้าสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลตามแผนตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปนั้น มีคู่แข่งมากรายในตลาด หมายถึง ยานยนต์ไฟฟ้าในอีก 2 ปีเหล่านี้ จะมีราคาขายที่แพงเกินไปเหมือนเช่นในตลาดปัจจุบันนั้นไม่ได้ ..

บริษัท มาสด้าประเทศไทย Mazda Sales (Thailand) Co. ก็เช่นกัน กำลังทำการศึกษาความเป็นไปได้ในแผนการเปิดตัวสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด Plug-In Hybrid Electric Vehicle : PHEV และรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด Hybrid Electric Vehicles : HEVs ในประเทศไทย และคาดว่าจะสามารถเปิดตัวรถยนต์ BEVs รุ่นใหม่ภายใน 5 ปี เพื่อรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตขึ้นแรงทั่วโลก ..

ในมุมมองของ Mr.Miura ประธานบริหารมาสด้า Mazda Sales (Thailand) Co. นั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยควรค่อยๆ ก้าวไปสู่การผลิต EVs เนื่องจากเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายใน ICE Technology ยังคงครอบงำการผลิตรถยนต์ในประเทศ .. อย่างไรก็ตาม มาสด้า สนใจเปิดตัว Battery Electric Vehicles : BEVs ในประเทศไทย แต่ต้องศึกษาความเป็นไปได้ให้พร้อมก่อน ..

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันศึกษาเชื้อเพลิงไบโอดีเซล Biodiesel ชนิดใหม่ที่ผลิตโดยยูกลีนา Euglena และสาหร่าย Algae เนื่องจากยังคงมีความต้องการผลิตเครื่องยนต์เผาไหม้ภายใน Internal Combustion Engine : ICE สำหรับรถยนต์อีกมากที่ต้องให้สามารถใช้เชื้อเพลิงทางเลือก Alternative Fuels หรือเชื้อเพลิงชีวภาพ Biofuels รูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อแทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิลเหลว Liquid Fossil Fuel ที่เป็นน้ำมันเบนซิน ดีเซล และน้ำมันก๊าด ได้ด้วย ..

ยานยนต์ยนต์ไฟฟ้า BEVs & FCEVs’ Revolution กำลังเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ไปตลอดกาล ..

ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป คาดหมายว่า 20% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมดที่จำหน่ายทั่วโลกจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs ตามการคาดการณ์ล่าสุดโดยธนาคารเพื่อการลงทุน UBS และจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 40% ภายในปี 2573 ..

ทั้งนี้ ภายในปี 2583 ได้รับการคาดหมายว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่ทั่วโลก 100% คือ รถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs ทั้งหมด ในฐานะทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล .. ในไม่ช้า ยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs ทั้งที่ขับเคลื่อนด้วยแหล่งพลังงานที่เป็นชุดแบตเตอรี่ Battery Packs หรือเซลล์เชื้อเพลิง Fuel Cell ก็ตาม จะกลายเป็นสิ่งของจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมทั่วไป ..

การปรากฏตัวของยานพาหนะมอเตอร์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยชุดแบตเตอรี่ เช่น Battery Electric Vehicles : BEVs หรือรถไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง Fuel Cell Electric Vehicles : FCEVs ในตลาดยานยนต์ด้วยอัตราเติบโตสูง ส่งผลกระทบต่อวงการอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างมีนัยยะสำคัญ .. นี่ยังมิได้รวมแนวโน้มการใช้ไฮโดรเจน Hydrogen : H2 , Biofuels หรือ Synthetic Fuel & Gas ไปจุดระเบิดแทนที่น้ำมันเบนซิน ดีเซล และน้ำมันก๊าด ในเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในด้วยซ้ำไป ..

อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ดึงดูดการลงทุนมากกว่า 400 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าประมาณ 100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มาตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งเงินลงทุนทั้งหมดนี้ พุ่งเป้าหมายไปที่บริษัทฯ และสตาร์ทอัพที่ทำงานเกี่ยวกับยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้า Electrifying Mobility, การเชื่อมต่อยานพาหนะ Connecting Vehicles และเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ Autonomous Driving Technology .. นวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้ จะช่วยลดต้นทุนยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs และทำให้การขับเคลื่อนแบบใช้พลังงานไฟฟ้าร่วมกันกับระบบอำนวยความสะดวกรูปแบบต่าง ๆ กลายเป็นทางเลือกที่แท้จริงสำหรับการเป็นเจ้าของรถยนต์ในอนาคต ..

การใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนยานยนต์ กำลังจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการขนส่งในภาพรวมทั้งหมดทั่วโลก และนำเสนอโอกาสสำคัญสำหรับยานยนต์ทุกกลุ่ม แม้ว่า ขนาด ความเร็ว และขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงจะแตกต่างกันไป เพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างรวดเร็ว และแพร่หลายในการขับเคลื่อนยานยนต์ด้วยกำลังไฟฟ้า .. การเปิดตัว Electric Vehicles : EVs รุ่นใหม่ ๆ ในตลาด คือ ก้าวสำคัญยิ่งสำหรับการเปลี่ยนแปลง ..

นอกจากนี้ ระบบนิเวศของการเคลื่อนไหวทั้งหมด จะต้องเดินหน้าทำงานพร้อมกันไปในทุกระดับเพื่อให้ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ และโอกาสทางธุรกิจ ตั้งแต่นโยบายภาครัฐ ผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ EVs ไปจนถึงผู้ให้เงินทุน ตัวแทนจำหน่าย ผู้ให้บริการด้านพลังงาน ผู้ดำเนินการสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า และผู้บริโภค .. ทั้งหมดนี้หมายถึง ยุคที่รุ่งเรืองของยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นน้ำมันเบนซิน ดีเซล และน้ำมันก๊าด กำลังจะกลายเป็นอดีต และเป็นที่แน่นอนว่า การปฏิวัติของ BEVs & FCEVs’ Revolution ในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วยนั้น ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ..

แผนชาติหมุดหมายที่ 3 เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ..

ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ประเทศไทย ผลิต และส่งออกยานยนต์ เป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก มูลค่าการส่งออก จำนวน 1,300,561 ล้านบาท โดยประเทศที่มีกำลังการผลิตรถยนต์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี และอินเดีย ซึ่งตลาดส่งออกหลักของไทย ในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน และเม็กซิโก ตามลำดับ .. ขณะที่ในกลุ่มรถปิกอัพ รถบัส และรถบรรทุก ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ ซาอุดีอาระเบีย และเวียดนาม ตามลำดับ ..

นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีขีดความสามารถในการผลิตรถยนต์จำนวนมากถึง 2 ล้านคันต่อปี การจ้างงาน จำนวน 345,000 คน และผู้ประกอบการ จำนวน 13,920 ราย .. อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการของยานยนต์ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนทิศทางไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs ที่เป็น BEVs & FCEVs ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้า มีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และราคาที่เริ่มลดลงเรื่อย ๆ รวมทั้งทิศทางการพัฒนาที่มุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ Low Carbon Society ..

การต่อยอดจากอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นสูง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการภาครัฐสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยที่สำคัญ อาทิ มาตรการกระตุ้นตลาดในประเทศ และต่างประเทศ มาตรการส่งเสริมเพื่อสร้างอุปทาน และปรับตัวไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs ที่เป็น BEVs & FCEVs และมาตรการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ปริมาณคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตชุดแบตเตอรี่ และชิ้นส่วนประกอบแบตเตอรี่ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ..

นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐในการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะ สถานีชาร์จไฟฟ้า ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ .. ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2564 พบว่า ไทยมีสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle Charging Stations จำนวน 664 แห่ง แบ่งเป็นประเภทหัวจ่ายธรรมดาจำนวน 1,450 หัวจ่าย และประเภทหัวจ่ายชาร์จเร่งด่วน DC Fast Charging Stations จำนวน 774 หัวจ่าย รวมทั้งสิ้น 2,224 หัวจ่าย .. ทั้งนี้ ตลาดภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนเพิ่มขึ้น ..

ดังนั้น ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570 จึงกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนที่มีศักยภาพ เร่งรัดการขับเคลื่อนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าทั่วทั้งระบบ ด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกบนหมุดหมายที่ 3 ของแผนชาติ โดยมุ่งเน้นการพัฒนายานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์สุทธิ Net Zero ประกอบด้วยยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ Battery Electric Vehicles : BEVs และยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง Fuel Cell Electric Vehicles : FCEVs รวมทั้งตั้งเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ในปี 2573 จำนวน 440,000 คัน หรือ 50% ของยอดขายเฉลี่ยในประเทศทั้งหมดต่อปี และเป้าหมายการผลิต จำนวนอย่างน้อย 725,000 คัน หรือ 30% ของยอดการผลิตยานยนต์ทั้งหมดเฉลี่ยต่อปี ..

ทั้งนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570 หมุดหมายที่ 3 นี้ จะมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านในระยะ 5 ปี โดยให้ความสำคัญกับการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve Industry อย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระดับโลก ด้วยมาตรการสนับสนุนให้การผลิตแบตเตอรี่ลิเธี่ยม และชิ้นส่วนหลักให้เกิดขึ้นในประเทศไทยไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยนฐานการผลิตยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน Internal Combustion Engine : ICE Vehicles ให้เป็นยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า โดยไม่ละทิ้งตลาดส่งออกที่มีศักยภาพจากฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม เพื่อรักษาความสมดุลในการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า EVs และรักษาระดับ ขีดความสามารถในการผลิตยานยนต์ให้เทียบเท่า หรือมากกว่า 2 ล้านคันต่อปี รวมทั้งยกระดับผู้ประกอบการชิ้นส่วนอะไหล่ในอุตสาหกรรมยานยนต์รูปแบบเดิมในระดับต่าง ๆ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างราบรื่นไร้รอยต่อ ..

Renewable Energy Developer / EA’s Electric Vehicles: EVs & Lithium Battery Production in Thailand | Credit: Energy Absolute

ในส่วนของผู้ประกอบการในภาคเอกชนไทยที่มีศักยภาพ ตัวอย่างที่น่าตื่นเต้น เช่น บริษัท Energy Absolute Plc : EA ผู้พัฒนา และดำเนินการด้านพลังงานหมุนเวียน Renewable Energy Developer แผนงานเปิดโรงงานผลิตชุดแบตเตอรี่ Lithium Battery Packs และระบบจัดเก็บพลังงาน Energy Storage System : ESS อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จะเป็นผู้นำไปสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs ในประเทศไทยจากนี้ไป และรวมถึงการบุกตลาดเรือโดยสารไฟฟ้า และรถโดยสารไฟฟ้าไปพร้อมด้วย ..

ทั้งนี้ นายวสุ กลมเกลี้ยง รองประธานอาวุโสฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ และวางแผนการลงทุนของ Energy Absolute Plc : EA เปิดเผยว่า โรงงานแบตเตอรี่มูลค่า 6 พันล้านบาท ได้รับการออกแบบให้มีกำลังการผลิต 1 GWh ต่อปี และมีเป้าหมายเพื่อรองรับธุรกิจ EVs โดยเฉพาะการประกอบรถโดยสารไฟฟ้า Electric Buses ไปพร้อมด้วย .. อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตชุดแบตเตอรี่ลิเธี่ยม Lithium Ion Batteries ต่อปีจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 4 GWh ต่อปี เนื่องจากคาดหมายว่า ประเทศไทยจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปเป็นการผลิต EVs สอดคล้องกับแผนชาติในหมุดหมายที่ 3 ให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกภายในอย่างน้อย 5 ปี จากนี้ไปได้สำเร็จในที่สุด ..

คาดการณ์ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก Global Electric Vehicles: EVs Market ..

ขนาดธุรกิจตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก EVs Market Size อ้างอิงรายงานการวิจัยเมื่อสิ้นปี 2564 ของ Fortune Business Insights™ สรุปว่า มูลค่าตลาดในปี 2563 ปิดอยู่ที่ 246.70 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดหมายว่า ตลาดจะเติบโตจาก 287.36 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 ไปแตะระดับ 1,318.22 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2571 อยู่ที่ค่า CAGR 24.3% ในช่วงปี 2564-2571 ..

อย่างไรก็ตาม รายงานข้อมูลตลาดเชิงลึกในอีกหลายสถาบันล่าสุด เมื่อ ก.ค.2565 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี Compound Annual Growth Rate : CAGR หมายถึง อัตราผลตอบแทนสำหรับการลงทุนในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก Global Electric Vehicles: EVs Market ที่เติบโตจากยอดดุลเริ่มต้นไปถึงยังยอดดุลสิ้นสุด รวมสมมติฐานว่ากำไรจะถูกนำกลับมาลงทุนหมุนเวียนใหม่ทุกสิ้นปีของช่วงอายุการลงทุน อยู่ที่อัตราค่า CAGR 26.8% ในช่วงระยะเวลาที่คาดการณ์ ปี 2565-2570 .. การเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันของค่า CAGR เป็นผลมาจากการเติบโต และความต้องการของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ..

ทั้งนี้ ไม่ว่าการประเมินอัตราการเติบโตต่อปีของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก Global EVs Market จะเป็นเท่าไรก็ตาม แต่การที่ทุกสถาบันที่สำรวจตลาดทั่วโลกให้ค่า CAGR ไว้มากกว่า 20% นั้น หมายถึง อัตราการเติบโตต่อปีของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอยู่ในเกณฑ์ที่สูงอย่างยิ่ง แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด สถานการณ์การสู้รบในยุโรป สงครามพลังงาน และสงครามอาหาร .. อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เงินเฟ้อที่กระจายออกไปทั่วโลก และราคาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทะยานสูงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งได้กลายเป็นแรงผลักสำคัญสำหรับการขยายตัวของตลาด Electric Vehicles : EVs ซึ่งรวมถึงส่งผลให้ตลาดพลังงานสีเขียวทั่วโลก Global Green Energy Market เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญไปพร้อมด้วย ..

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้รับการคาดหมายว่า จะมีการเติบโตอย่างมากในตลาดนี้ เนื่องจากความต้องการรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา .. ประเทศจีน มีส่วนแบ่งที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของรถยนต์นั่งและรถยนต์อื่น ๆ .. นอกจากนี้ อเมริกาเหนือ คาดว่าจะมีอัตราเติบโตสูงสุดในตลาด การเติบโตในภูมิภาคนี้เป็นผลมาจากการริเริ่มของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ US DOE ในมาตรการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า เช่น Public EVs Charging Stations รวมทั้งสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน Hydrogen Fueling Stations ทั่วสหรัฐฯ เพื่อรองรับจำนวน Electric Vehicles : EVs ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ..

สำหรับตลาดยานยนต์ในประเทศไทย อ้างถึงข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 นั้น พบว่า ประเทศไทย มีรถยนต์ทุกประเภทจำนวนรวมทั้งสิ้น 42,691,494 คัน อยู่ในกรุงเทพฯ 11,370143 คัน และจดทะเบียนในต่างจังหวัดจำนวน 31,321,351 คัน เป็นยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเบนซินมากที่สุดจำนวน 29,070,757 คัน, น้ำมันดีเซลมีจำนวน 12,147,141 คัน, ก๊าซ LPG จำนวน 615,656 คัน และ ก๊าซ NGV อีกจำนวน 310,597 คัน .. ทั้งนี้ ปัจจุบัน ตัวเลขจดทะเบียนจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEVs 100% ในประเทศไทยยังมีจำนวนไม่มากนัก อยู่ที่ 15,474 คันเท่านั้น ..

กลุ่มของรถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs บนท้องถนนในประเทศไทยยังคงเป็นรถยนต์ไฮบริด HEVs เป็นส่วนใหญ่รวมจำนวนทั้งสิ้น 218,030 คัน ซึ่งได้รวมรถไฮบริด Hybrid ที่ใช้ทั้งเชื้อเพลิงน้ำมันเบนซินไฟฟ้า และเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลไฟฟ้า ไปด้วยแล้ว .. ขณะที่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด Plug-In Hybrid Electric Vehicles : PHEVs ยังมีปริมาณมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ Battery Electric Vehicles : BEVs แบบ 100% ด้วยจำนวนอยู่ที่ 34,938 คัน ..

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TTB Analytics ธนาคารทหารไทยธนชาต ได้ทำการประเมิน และคาดหมายว่า ยอดขายในตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้า Electric Vehicles : xEVs ประเภทต่างๆ ของไทย ปี 2565 จะสูงขึ้นแตะระดับมากว่า 63,600 คัน โดยเชื่อมั่นว่า ยอดขายในปีนี้ที่เป็นกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ Battery Electric Vehicles : BEVs จะสูงขึ้นมากด้วยจำนวนอย่างน้อย 10,000 คัน หรือขยายตัว 539.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ..

EA Anywhere & Mine in Thailand Motors Show | Credit: Energy Absolute Public Company Limited

TTB Analytics มองว่า ตัวเลขที่เติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs Market ในประเทศไทย มาจากนโยบายภาครัฐ และมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตามกระแสความนิยมยานยนต์ไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั่วโลกในด้านราคาที่ลดลง, เทคโนโลยีแบตเตอรี่ Battery Technology ที่พัฒนาขึ้น และศักยภาพในการผลิตชุดแบตเตอรี่ลิเธี่ยมภายในประเทศ รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับยอดขายในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด Hybrid และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด Plug-In Hybrid Electric Vehicles : PHEVs ที่คาดหมายว่าจะสูงถึง 53,000 คัน สวนทางกับกระแสในตลาดรถยนต์นั่งเครื่องยนต์สันดาปภายใน Internal Combustion Engine : ICE ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลล้วน ๆ ที่เป็นน้ำมันเบนซิน และดีเซล ซึ่งคาดว่าจะหดตัวจากปี 2564 ถึง 8.8% ..

ทั้งนี้ ล่าสุดข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า บริษัทเทสล่า Tesla มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ ในประเทศไทยแล้ว ตั้งแต่ 25 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา คาดว่าจะมีแผนการนำรถยนต์ไฟฟ้า EVs เข้ามาขายทำตลาดเองในประเทศไทย .. รวมทั้ง ปัจจุบัน ได้รับการเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ได้เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการผลิต และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายภาครัฐของไทยแล้ว โดยบริษัทฯ มีแผนจะผลิต และจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Toyota bZ4X ซึ่งจะได้รับสิทธิลดหย่อนอากรศุลกากร ลดภาษีสรรพสามิต และรับเงินอุดหนุน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่จับต้องได้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า EVs Market ในประเทศไทย สามารถก้าวกระโดดเติบโตขึ้นได้อีกอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้ ..

EVs / Toyota Motor Corporation’s New EV bZ4X | Credit: Kyodo

นอกจากมาตรการภาครัฐต่าง ๆ ของไทยที่สนับสนุนให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs ขึ้นในประเทศแล้ว การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า EVs Charging Stations และมาตรการสนับสนุนอัตราค่าใช้ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า EVs Market ในประเทศไทย เติบโตขึ้นได้อย่างมั่นคง รวมทั้งเพื่อให้ไทยสามารถเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลกได้สำเร็จในที่สุด ..

สรุปส่งท้าย ..

นอกจากยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs มาตรฐานทั่วไป เช่น Battery Electric Vehicles : BEVs ที่ขับเคลื่อนด้วยแหล่งพลังงานจากชุดแบตเตอรี่แล้ว การประยุกต์ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน Hydrogen : H2 กับเซลล์เชื้อเพลิง Fuel Cell บนยานยนต์ไฟฟ้า เช่น Fuel Cell Electric Vehicles : FCEVs จากนี้ไปนั้น คือ ทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่งของผู้คนในอันที่จะทำให้ภาคการขนส่ง Transport Sector สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 4-5 เท่า หรือมากกว่านั้น ภายในปี 2050 หรือ พ.ศ.2593 และสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงให้มาก ได้แก่ ประเด็นเรื่องของราคา ..

ยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs กระแสหลัก ซึ่งหมายถึง Battery Electric Vehicles : BEVs, Fuel Cell Electric Vehicles : FCEVs และรถยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่นต่าง ๆ กำลังเดินหน้าเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ไปตลอดกาล และช่วยลดคาร์บอนในสถานการณ์กอบกู้วิกฤติสภาพอากาศ Climate Crisis บนโลกใบนี้ด้วยศักยภาพในภาคพลังงาน และภาคการขนส่งคมนาคมสำหรับการลดการปล่อยมลพิษได้มากพอที่จะทำให้อุณหภูมิโลกอยู่ต่ำกว่าจุดเล็ง 1.5°C ..

ปฏิเสธไม่ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ Internal Combustion Engine : ICE ที่เราคุ้นเคยกันมานานกว่าร้อยปี กำลังจะกลายเป็นส่วนเกินของการใช้งาน และถูกลดบทบาทลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลในเรื่องการพึ่งพาเชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิลที่นับวันจะถดถอยลงเรื่อย ๆ รวมถึงการสร้างมลพิษในอากาศ ที่หลายประเทศเริ่มออกกฎข้อบังคับที่มีความเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิมมาควบคุม ..

เป็นที่แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงคงไม่ได้เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน แต่เราเห็นสัญญาณของจุดเริ่มต้นในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2540 เมื่อ Toyota เริ่มผลิตรถยนต์ไฮบริด HEVs เพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลกอย่าง Toyota Prius ออกมา จนกระทั่งการมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้าประเภท Battery Electric Vehicles : BEVs ที่ใช้พลังงานจากชุดแบตเตอรี่ 100% และ FCEV หรือ Fuel Cell Electric Vehicle ที่ใช้ไฮโดรเจนในการสร้างกระแสไฟฟ้าเมื่อปี 2545 ขณะนั้นไม่มีใครคิดว่า รถยนต์พวกนี้จะเข้ามาทดแทนระบบเดิม ๆ ที่สังคมคุ้นเคย และอยู่คู่กับการเดินทางของมนุษย์ชาติมามากกว่า 100 ปี ..

แต่สุดท้าย ยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs เหล่านี้ ก็รุกคืบเข้ามา และเชื่อมต่อระหว่างรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน มาสู่รถยนต์ที่ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง และไม่ปล่อยมลพิษออกสู่อากาศในระหว่างการใช้งานเลยอีกต่อไป .. ในปี 2553 หลายค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในยุโรปประกาศย้ำชัดว่า จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าที่เราเรียกกันว่า EV-Electric Vehicle Age ได้เริ่มขึ้นแล้ว มีการออกนโยบายภาครัฐหลายประการ รวมถึงการกำหนดเป้าหมาย และประเด็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน .. ทั้งนี้ ตั้งแต่สิ้นปี 2564 เป็นต้นมา ปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าประเภทที่กล่าวนี้บนท้องถนนทั่วโลกนั้น ได้เพิ่มขึ้นด้วยตัวเลขแตะระดับ 7 หลักไปเรียบร้อย ..

เมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนี้ จึงหลีกเลี่ยงกันไม่ได้อย่างแน่นอนที่จะใช้งานพวกมัน อย่างไรก็ตาม รถยนต์ที่เราคุ้นเคยก็ยังมีขาย รถยนต์รูปแบบไฮบริดทั้งในรูปแบบ HEV หรือ PHEV ก็ยังมีจำหน่าย แต่จนถึงวันนี้ โลกของการเดินทางได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ .. ปัจจุบัน ยานยนต์ไฟฟ้า EVs ประเภท Battery Electric Vehicles : BEVs กลายเป็นทางเลือกของรถยนต์บนโชว์รูมเพิ่มมากขึ้น นั่นคือ สัญญาณที่ชัดเจนของความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เฉพาะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่รวมถึงทุกภาคอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกัน และความนิยมของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ..

หลังจาก Electric Vehicles : EVs เข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าก็พุ่งสูงขึ้น .. มีรถยนต์ไฟฟ้าเพียง 17,000 คันบนท้องถนนทั่วโลกในปี 2553 แต่เพียงไม่กี่ปีผ่านไป จำนวน EVs ถูกซื้อไปใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 7.2 ล้านคันในปี 2562 โดย 47% อยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน และอีก 9 ประเทศมีรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 100,000 คันบนท้องถนน รวมทั้งอีกอย่างน้อย 20 ประเทศมีส่วนแบ่งการตลาดสูงกว่า 1% .. จนถึงต้นปี 2565 ทั่วโลกมีรถยนต์ไฟฟ้า EVs ขับเคลื่อนอยู่บนถนนกว่า 10 ล้านคัน ..

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีรถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นกัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นมากถึง 1.2 ล้านคัน ภายในไม่เกิน 10 ปี ..

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มั่นใจว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EVs ในประเทศไทยจะเติบโตแบบทวีคูณด้วยความเร่งในช่วงจากนี้ไปด้วยแรงหนุนสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก ราคารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศที่ลดลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความสามารถการผลิต Lithium Ion Battery ในประเทศ รวมทั้งแผนงานการรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธี่ยมใช้แล้ว หรือแบตเตอรี่สิ้นสภาพหมดอายุใช้งาน ให้นำกลับมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเธี่ยมใหม่ในประเทศให้ได้อีกด้วย ..

ประการที่สอง สถานี และจุดชาร์จประจุให้แก่ยานยนต์ไฟฟ้า EVs Charging Stations หรือจุดชาร์จประจุเร่งด่วน Fast Charge Point ที่กำลังเพิ่มขึ้น เพราะมันคือ สิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นไปอีกอย่างน้อย 10 ปี จนกว่าระบบจัดเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ปัจจุบันที่ถูกแทนที่ด้วยระบบใหม่ ๆ ที่รวดเร็วกว่า ซึ่งอย่างไรก็ตาม ชุดแบตเตอรี่จะยังคงมีราคาถูกกว่า และใช้งานได้ดีเยี่ยมไปอีกนาน และ ประการที่สาม มาตรการการสนับสนุนการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะ การระบุเจตนารมณ์ชัดเจนของไทยในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570 บนหมุดหมายที่ 3 เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ..

เป็นที่แน่นอนว่า ปี 2565 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs .. การเติบโตของตลาด และส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ EVs กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ..

ดังนั้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จเพื่อให้ทันกับการเป็นเจ้าของ EVs ที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นความจำเป็นสำคัญยิ่งยวดที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความหนาแน่นของสถานีชาร์จต่ำ Low Charging Station Density ในบางพื้นที่ และตัวเลือกการชาร์จเร่งด่วน Fast Charging Options ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการนั้น จะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว .. นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าจุดชาร์จ EVs จะตั้งอยู่อย่างไม่เหมาะสมในย่านชุมชน เขตที่อยู่อาศัย หรือพื้นที่ห่างไกล ทำให้เกิดอุปสรรคสำหรับผู้ขับขี่ EVs ที่มีรายได้ต่ำ .. ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารอพาร์ตเมนต์ หรือบนตึกสูง อาจพบว่า การชาร์จที่บ้านทำได้ยาก ทำให้โครงสร้างพื้นฐานการชาร์จสาธารณะที่สะดวก มีความสำคัญต่อการเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ ..

รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลก กำลังแสวงหาเงินทุนอุดหนุนสำหรับการติดตั้งสถานี และจุดชาร์จ EV Charging Stations ในตำแหน่งที่เหมาะสม และเพียงพอ เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure .. ในสหรัฐฯ ประธานาธิบดี Biden ได้ประกาศแผนการที่จะสร้างสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ Public EV Charging Stations อย่างน้อยครึ่งล้านจุดทั่วประเทศ ภายในปี 2573 .. รัฐบาลจีน ได้ประกาศเป้าหมายในการติดตั้งสถานีชาร์จ และจุดชาร์จ EVs ในประเทศให้เพียงพอสำหรับรถยนต์ 2 ล้านคัน ภายในปี 2568 รวมทั้ง รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยเช่นกันว่า มีแผนจะติดตั้งจุดชาร์จสาธารณะ 150,000 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นภายในปี 2573 ..

Electric Vehicles: EVs Trend & EA EVs Charger | Credit: EV World / EA Anywhere

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบัน มีสถานี และจุดชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ จำนวน 664 แห่ง เป็นประเภทหัวจ่ายธรรมดาจำนวน 1,450 หัวจ่าย และประเภทหัวจ่ายชาร์จเร่งด่วน Fast Charge จำนวน 774 หัวจ่าย รวมทั้งสิ้น 2,224 หัวจ่าย ทั้งนี้ไม่ได้นับรวมจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตามบ้าน และในครัวเรือน .. อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570 หมุดหมายที่ 3 เป้าหมายที่ 3 การสร้างความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนอย่างเป็นระบบ ตัวชี้วัดที่ 3.3 กำหนดเกณฑ์ประเมินให้จำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ/หัวจ่ายชาร์จเร่งด่วน เพิ่มขึ้นอีก 5,000 หัวจ่ายเป็นอย่างน้อย ภายในปี 2570 ..

ทั้งนี้ กลยุทธ์ย่อยในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicles : EVs ในระบบขนส่งสาธารณะ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ในทุกประเภทของยานยนต์ไฟฟ้า โดยอาศัยกลไกการจัดซื้อที่มีการกำหนดเงื่อนไขที่ส่งเสริมให้เกิดการผลิตในประเทศ หรือการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ ถือเป็นประเด็นสำคัญที่แสดงบทบาทนำบนหมุดหมายที่ 3 ในแผนชาติฉบับนี้ ที่จะส่งผลต่อเนื่องให้ตลาด EVs และการผลิตชิ้นส่วนประกอบในภาพรวม สามารถขยายตัวได้ด้วยความเร่งจากกระบวนผลิตทั่วทั้งระบบภายในประเทศ หมายถึง มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ Gross Domestic Product : GDP ที่เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง และยั่งยืน รวมทั้งจะทำให้การบรรลุสู่ความสำเร็จในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกของไทยนั้น มิใช่เรื่องยากเย็นที่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป ..

…………………………

คอลัมน์ : Energy Key

By โลกสีฟ้า ..

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

ขอบคุณเอกสารอ้างอิง :-

Inside Thailand’s EV Revolution | Bangkok Post :-

https://www.bangkokpost.com/business/2321562/inside-thailands-ev-revolution

ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 | Office of the National Economic and Social Development Council | NESDC :-

https://www.nesdc.go.th/download/document/Yearend/2021/plan13.pdf

Electric Vehicle (EV) Market Trends to Watch In 2022 | Green Lancer :-

https://www.greenlancer.com/post/ev-market-trends

EA Serving Up Greener Battery Production | Bangkok Post :-

https://www.bangkokpost.com/business/2231403/ea-serving-up-greener-battery-production

EA Completes EV Battery Plant in Thailand | Market Research – Just Auto :-

https://www.just-auto.com/news/ea-completes-ev-battery-plant-in-thailand/

Thai Renewable Energy Company EA to Open RM 760m, 1 GWh EV Battery Plant in December | Wapca :-

https://www.wapcar.my/news/thai-renewable-energy-company-ea-to-open-rm-760m-1-gwh-ev-battery-plant-in-december-37125

Electric Vehicle Market 2022 Future Trend, Growth rate, Opportunity, Industry Analysis to 2027 / The Global Electric Vehicle Market Size is Projected to Reach a CAGR of 26.8% during 2022-2027 | Designer Women :-

V2G Technology : Key to the Future Smart Energy Management :-

https://photos.app.goo.gl/ojom73dC57Wb4mgLA

Electric Vehicles & The Public EV Charging Systems :-

https://photos.app.goo.gl/sdQYtjischyxhBNs5

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img