วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSฝึกผสม Falcon Strike มุ่งไว้เนื้อเชื่อใจสู่ความมั่นคงภูมิภาค
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ฝึกผสม Falcon Strike มุ่งไว้เนื้อเชื่อใจสู่ความมั่นคงภูมิภาค

การฝึกผสมระหว่าง กองทัพอากาศ กับ กองทัพอากาศจีน สร้างความสัมพันธ์ที่ดี ไม่เอียงไปอยู่ฝ่ายใด แต่ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ อย่างน้อย มันมีความหมายอย่างมากต่อความมั่นคง และความสงบสุขในภูมิภาค 

@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 13 ส.ค. 2565 เรื่องของการฝึกซ้อมรบของจีนยังคงเดินหน้าต่อไป ฝ่ายความมั่นคง ยังคงมั่นใจว่า ความอดทนอดกลั้นของทุกฝ่ายในสถานการณ์ตึงเครียดช่องแคบไต้หวัน จะค่อย ๆ คลี่คลายลงได้ หากไม่มีปัจจัยที่นำไปสู่ความขัดแย้งปะทุขึ้นมากไปกว่านี้ .. การประชุม APEC ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในปลายปีนี้ เป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคง และมั่งคั่งบนความปรองดองให้สำเร็จได้ในที่สุด 

@@@……กองทัพอากาศ และ กองทัพอากาศสาธารณรัฐประชาชนจีน เตรียมฝึกผสม Falcon Strike 2022 ในวันที่ 14 – 25 ส.ค. 2565 ณ กองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี การฝึกผสมระหว่างกองทัพอากาศ กับ กองทัพอากาศจีน ครั้งนี้ เป็นการเตรียมการมานานก่อนหน้านี้แล้ว รวมทั้งไม่มีความจำเป็นต้องเลื่อนออกไปอีก เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิค – 19 ได้คลี่คลายลง ซึ่งสามารถจะกระชับความสัมพันธ์สร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างหน่วยงานความมั่นคงหลักผู้ถืออาวุธฯ ให้เกิดความแน่นแฟ้นใกล้ชิด และมิได้แสดงท่าทีเอียงไปอยู่กับฝ่ายใด แต่อย่างไรก็ตาม การฝึกผสมครั้งนี้ ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษหลังสถานการณ์การฝึกด้วยกระสุนจริงของจีนในพื้นที่รอบเกาะไต้หวันจากกรณีการท้าทายของประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างน้อยการฝึกผสม Falcon Strike 2022 มีความหมายมากกว่าที่มันเป็นอย่างมากต่อความมั่นคง และความสงบสุขในภูมิภาคอย่างแน่นอนไม่มีข้อสงสัย 

@@@……ทั้งนี้ กองทัพอากาศไม่ได้ใช้ยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ เข้าร่วมฝึกในครั้งนี้ เนื่องจากประเด็นข้อจำกัดการปฏิบัติต่อบุคคลที่ 3 จึงใช้อากาศยาน Gripen เป็นเครื่องบินขับไล่หลักสำหรับการฝึกครั้งนี้ โดยที่ ทอ.จีน ใช้ J – 10 C/S ซึ่งถือเป็น บ.ขับไล่ชั้นแนวหน้า จำนวน 6 เครื่อง เป็น บ.รบหลัก รวมทั้งอากาศยานแบบอื่น ๆ อีกด้วย ..คาดหมายว่า การฝึกผสมครั้งนี้ จะได้รับความสนใจจาก ทอ.ทั่วโลก เนื่องจาก การประเมินศักยภาพกำลังทางอากาศจีนอย่างเที่ยงตรงนั้น กระทำได้ยากมาก .. มีเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงเพียงของไม่กี่ชาติในโลกเท่านั้น ที่มีโอกาสได้เข้าต่อสู้กับเครื่องบินรบจีนในอากาศแบบตัวต่อตัวตรง ๆ เช่นกำลังทางอากาศของไทย ซึ่ง ทอ.ได้ดำเนินการฝึกลักษณะนี้มาก่อนนานแล้ว ซึ่งหมายถึงความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศ โดย ทอ.ก็กระทำเช่นเดียวกันนี้กับ ทอ.สหรัฐฯ เช่นกัน 

@@@……ที่กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.เฉลิมพล  ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ให้การต้อนรับ นาย Moon Seoung-hyun เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทย และคณะ เข้าเยี่ยมคำนับ เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ณ ห้องรับรอง ๖๒ กองบัญชาการกองทัพไทย การเยี่ยมคำนับครั้งนี้ นาย Moon Seoung-hyun ได้ยืนยันถึงความสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดีระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ เพื่อเป็นการสนองตอบต่อเจตนาอันดี และเป็นโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น 

@@@……โดย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อ นาย Moon Seoung-hyun ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทย ท่านใหม่ และกล่าวขอบคุณกองทัพสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ที่ให้ความร่วมมือกับกองทัพไทยในหลาย ๆ ด้าน ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์ ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ ภายใต้การนำของผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเอกอัครราชทูตเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทยจะพัฒนาก้าวหน้าต่อไป 

@@@……กองทัพบกแจ้งเคลื่อนย้ายกำลังพล อาวุธยุทธโธปกรณ์ และยานพาหนะ ในวันที่ 12 – 18 ส.ค. 65 โดย กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ แจ้งเคลื่อนย้ายกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และ ยานพาหนะ ออกนอกที่ตั้ง ของ กองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์  ( ม.พัน.4 พล.1 รอ. )เพื่อทำการฝึกและตรวจสอบเป็นหน่วยเบื้องต้น ( หมู่ ตอน หมวด )  ประจำปีงบประมาณ 2565 ณ พื้นที่ฝึก บ้านดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี  ในวันที่ 12 ส.ค. 65 เวลา 05.00 น. เคลื่อนย้ายทางรถยนต์ จาก ม.พัน.4 พล.1 รอ. – ถนนพหลโยธิน – ถนนสระบุรี-หล่มสัก  – บ้านดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี  และ เคลื่อนย้ายกลับ ตามเส้นทางเดิมในวันที่ 18 ส.ค. 65 เวลา 18.00 น.  หรือ จนกว่าจะจบภารกิจ 

@@@……พล.ร.อ. สมประสงค์  นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) รับฟังการแถลงผลและเป็นประธานปิดการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2565 โดย ผบ.ทร.ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อทางกองอำนวยการฝึก จะได้นำไปปรับใช้กับการฝึกกองทัพเรือในครั้งต่อไป และในปีนี้ ผบ.ทร.ได้ เข้าร่วมการฝึกฯ ด้วยตนเองในทุกสถานการณ์ฝึก พร้อมทั้งได้มอบนโยบายการฝึกเพิ่มเติม โดยให้รวบรวมปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้องและบทเรียนจากการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ หรือ HADR ที่ผ่านมาให้มีการแก้ไขข้อขัดข้องจากการฝึกในครั้งที่ผ่านมา และมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมทำการฝึก ตลอดจนการปฏิบัติการสงครามไซเบอร์ และเพิ่มหัวข้อการฝึกเรื่องการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ เพื่อเตรียมการรองรับการเข้าประจำการของเรือดำน้ำ

@@@……สรุปแล้วการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์และนโยบายการฝึกได้ทุกประการ ซึ่งได้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยผลการฝึกในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์จนถึงระดับยุทธวิธี และยังเป็นการบูรณาการการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมที่สำคัญตามภารกิจ บทบาทหน้าที่ของกองทัพเรือ โดยเมื่อทำการฝึกเสร็จสิ้นแล้ว จะทำให้หน่วยงานทุกภาคส่วนและประชาชนเชื่อมั่นได้ว่า กำลังรบของกองทัพเรือ จะมีความพร้อมในการปกป้องอธิปไตย รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 

@@@……สำหรับการฝึกกองทัพเรือเป็นการบูรณาการการฝึก ด้วยการนำขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ และการปฏิบัติหน้าที่ของกรมในส่วนบัญชาการ ส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์ฝึกเดียวกันและใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้ทุกหน่วยสามารถปฏิบัติงานร่วมกันอย่างประสานสอดคล้อง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในการฝึก ทร.65 และ ทร.66 ได้กำหนดรูปแบบการฝึกเป็นวงรอบการฝึก 2 ปี ภายใต้สถานการณ์ฝึกเดียวกันแบบต่อเนื่อง 

@@@……โดยการฝึก ทร.65 เป็นการฝึกในปีแรกตามวงรอบการจัดการฝึก 2 ปีดังกล่าว และใช้สถานการณ์การป้องกันประเทศด้านตะวันออก เพื่อทดสอบสถานการณ์ในภาวะปกติไปจนถึงขั้นความขัดแย้งระดับต่ำ โดยมุ่งเน้นการทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหารจนได้คำสั่งยุทธการ การเตรียมการในด้านต่าง ๆ ก่อนเข้าสู่ภาวะสงคราม รวมถึงเป็นการฝึกเพื่อทดสอบการปฏิบัติและการบูรณาการฝึก ระหว่างกองทัพเรือกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. เมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้น รวมทั้งการใช้กำลังใน ศรชล. เข้ามาร่วมปฏิบัติการกับ กองทัพเรือ นอกจากนั้นแล้วยังมี การฝึกขจัดคราบน้ำมันในทะเล การฝึกค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและมีแนวโน้มในอนาคตด้วย.

……………

 คอลัมน์ “Military Key”

 โดย “รหัสมอร์ส”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img