วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเรียกร้อง : ความยุติธรรมในสังคมสงฆ์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เรียกร้อง : ความยุติธรรมในสังคมสงฆ์

อ่านคำสัมภาษณ์ของยุวสงฆ์ปลดแอก หรือ คณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่ผ่าน เว็บไซต์ thebuddh.com   ที่ไปสัมภาษณ์แกนนำเอาไว้ มีวรรคสุดท้ายที่ฝากถึงสังคมสงฆ์และชาวพุทธว่า “ความยุติธรรม คือ สิ่งเดียวที่จะทำให้สังคมสงบสุข”

พร้อมกับระบุเป้าหมายของการเคลื่อนไหวของกลุ่มเอาไว้เฉพาะหน้าคือ “การแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2505 ให้เป็นประชาธิปไตย”

แบบนี้คิดว่า มาถูกทางแล้ว 

ดำเนินการแบบนี้ดึงการมีส่วนร่วมและกองสนับสนุนจากสังคมสงฆ์ได้มาก

ขอให้จบอยู่แค่นี้…อย่าทะลุเพดานมากไปกว่านี้ แค่ พ.ร.บ. 2505 นี้ก็ไม่รู้จะไป “รอดหรือไม่”

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505อย่างที่บอกว่าจะมาในห้วงเวลาที่ประเทศปกครองด้วยอำนาจพิเศษ ตั้งแต่ยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายอานันท์ ปันยารชุน และยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

วาทกรรม “ความยุติธรรม คือ สิ่งเดียวที่จะทำให้สังคมสงบสุข”  มิได้เป็นข้อเรียกร้องเฉพาะในวงการคณะสงฆ์เท่านั้น เป็นข้อเรียกร้องหลายปีมาแล้วในหมู่ประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “ไพร่”

และแน่นอนสังคมรับรู้ได้ว่า “ความอยุติธรรมเกิดขึ้น” ในหมู่สังคมสงฆ์ จากปรากฎเหตุการณ์ในห้วงเวลาหลายปีมานี้

อย่างน้อยเรื่อง “สมเด็จช่วง” เป็นสิ่งที่ปรากฏชัด

อย่างน้อยเรื่อง “พระพรหมบัณฑิต” เป็นสิ่งที่รับรู้ได้

อย่างน้อยเรื่อง “เงินทอนวัด” เป็นสิ่งที่สร้างความกังขาในหมู่วัดที่ได้รับเงินประเภทเดียวกัน

องค์กรใด ๆ ก็ตาม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากต้องการสร้างความศรัทธา ความมั่นคงให้ยั่งยืนเป็นที่ยอมรับมันต้องอำนวยความยุติธรรมแบบ “มีความยุติธรรม” ที่สังคมรับได้ว่า “มันมีอยู่จริง”

เรื่องตำแหน่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 แม้จะเป็นเรื่องนอกพระธรรมวินัย  แต่ก็ต้องกล่าวถึง

การกระจายอำนาจสู่ภูมิภาคระดับเจ้าคณะภาค พึงให้เกิดในยุคที่ผู้คนโหยหาความยุติธรรม

ระบบอุปถัมภ์ ระบบวิ่งเต้น เส้นสาย “ไม่ควรเกิด” ในยุคที่สังคมโหยหาความยุติธรรมและรวมทั้งควรเปิด “โอกาสให้พระภิกษุรุ่นใหม่” มีโอกาสในการปกครอง

 โดยเฉพาะบรรดาผู้จบเปรียญธรรม 9 ประโยค ควรเป็นตัวเลือกกลุ่มแรกที่มอบหมายตำแหน่งทางการปกครอง

 เมื่อทำแบบนี้มันจึงจะเรียกได้ว่า “สังคมสงฆ์มีความยุติธรรม”

เพื่อทำแบบนี้สังคมสงฆ์จึงเป็นที่ยอมรับว่า “เป็นสังคมของผู้ทรงศีล” ไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ  เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจาก “ความยุติธรรมที่บริสุทธิ์”

ผมก็หวังเหมือนกับยุวสงฆ์ปลดแอก อยากเห็น “ความยุติธรรมและความสงบสุข” ความรู้รักสามัคคีของในสังคมไทยและสังคมสงฆ์

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมพระสงฆ์ที่ผ่านมา จะไปโทษยุวงสงฆ์ปลดแอกว่า “ใส่ร้ายความยุติธรรม” ในหมู่สงฆ์มิได้

เพราะทุกอย่างมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็เป็นไป ปรากฏชัด ในสังคมที่เรียกตนเองว่า สังคมของผู้ทรงศีล.

………………………

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย  “เปรียญ10” : riwpaalueng@gmail.com

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img