วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS‘เจ้าคุณพล’ไขข้อสงสัย‘การบริหารงาน’ ตาม“พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘เจ้าคุณพล’ไขข้อสงสัย‘การบริหารงาน’ ตาม“พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม”

“เจ้าคุณพล” หรือ พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 เลขานุการด้านศาสนศึกษา มหาเถรสมาคม โทรมาพูดคุยระบายความในใจถึงความล่าช้า สิทธิอันพึงมีพึงได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน หรือค่าตอบแทนอื่นๆ ที่เกิดความล่าช้า ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว

แต่ ณ ตอนนี้ความชัดเจนในการทำงาย ก็ยังไม่เกิดขึ้นโยนกันไปมา พระเทพเวที ในฐานะ “คนยกร่าง” และ “ทำเรื่อง” พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรมมากับมือ พูดเหมือนจะอึดอัด เพราะตอนนี้รัฐบาลให้เงินมาแล้ว เห็นเงินแล้ว แต่คณะสงฆ์และหน่วยงานที่รับผิดชอบเหมือน “ไม่รู้จะนำเงิน” ออกมาอย่างไร แล้วใครจะเป็น “เจ้าภาพ” ไป “ไขกุญแจ” ตรงนั้น ความล่าช้าและการโยนงานกันไปมาแบบนี้ กระทบต่อสิทธิอันพึงได้ของบุคลากรทางการศึกษาของคณะสงฆ์ ทั้งพระภิกษุและฆรวาสน่าจะเป็นหมื่นรูป/คน

เจ้าคุณพล

พระคุณเจ้าพูดเชิงทำนองขอให้ “เปรียญสิบ” เป็นสื่อกลางนำข้อความในใจของท่านเผยแพร่ให้คณะสงฆ์และคนที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจ “สิ่งที่เกิดขึ้น” และช่วยกันดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้โดยเร็ว

“เปรียญสิบ” จึงแจ้งท่านไปว่า “ท่านเจ้าคุณ…เขียนมาเลย” จะขอนำข้อความที่ท่านเขียนและส่งมาทั้งหมดนี้ ส่งต่อ โดยไม่มีการปรับหรือตบแต่งประการใด ซึ่งท่านได้เมตตาเขียนมา “เปรียญสิบ” ขอเป็นสะพานส่งต่อดังนี้

“ช่วงนี้มีประเด็นที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารงานการศึกษาคณะสงฆ์ ตามพ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรมฉบับใหม่ (ซึ่งว่าไปแล้วก็ไม่ถือว่าใหม่เสียเลยทีเดียว เพราะพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีพระราชโองการโปรดเกล้า ตั้งแต่ 15 เมษายน 2562 และประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 50 ก วันที่ 16 เมษายน 2562 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 17 เมษายน 2562)

เพราะมีความเข้าใจสับสนกันมาก โดยเฉพาะการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ว่าตกลงสังกัดหน่วยงานไหนกันแน่ ขอเรียนให้ทราบชัดๆ ว่า หลังจากที่มี พ.ร.บ.พระปริยัติธรรม 2562 และมีข้อบังคับคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมว่าด้วยโครงสร้างการบริหารงานและการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมและสถานศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2563 เกิดขึ้นโครงสร้างการบริหารงานและการจัดการศึกษาก็ปรากฏเด่นชัดเป็นระบบตามกฏหมาย ดังนี้

1.การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สังกัดสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง โดยมีแม่กองบาลีสนามหลวง เป็นผู้รับผิดชอบงานการจัดการศึกษา (มาตรา 15/ ข้อบังคับข้อ 4)

2.การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม สังกัดสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง โดยมีแม่กองธรรมสนามหลวง เป็นผู้รับผิดชอบงานการจัดการศึกษา (มาตรา15/ ข้อบังคับข้อ 4)

3.การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา สังกัดสำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา โดยมี ประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นผู้รับผิดชอบงานการจัดการศึกษา (มาตรา 15/ ข้อบังคับ ข้อ 4)

4.การบริหารงานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ สังกัดศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ โดยมีประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์เป็นผู้รับผิดชอบการบริหาร (มาตรา 18(2)/ ข้อบังคับ ข้อ 4)

แล้วเกิดข้อสงสัยว่า แล้วสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จะทำหน้าที่อะไร และมีอำนาจอย่างไร ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้..คำตอบก็คือ พ.ร.บ.ฉบับนี้ บัญญัติให้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มี “หน้าที่”  ดังนี้

1.จัดทำแผนการศึกษาพระปริยัติธรรม (มาตรา 7)

2.จัดทำมาตรฐานสถานศึกษาพระปริยัติธรรม (มาตรา 7)

3.จัดทำแผนงบประมาณ (มาตรา 7)

@เพื่อการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม เสนอต่อ  “มหาเถรสมาคม”  พิจารณาให้ความเห็นชอบ..

4.เป็นหน่วยงานกลางในการส่งเสริม/ สนับสนุน/ประสานงานการศึกษาพระปริยัติธรรม (มาตรา 14)

5.เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม หรือ กศป.

ทั้งนี้เราจะเห็นว่า ตามกฏหมายและตามข้อบังคับว่าด้วยโครงสร้างการบริหารงาน..ได้กำหนดบทบาท หน้าที่ และอำนาจ ไว้อย่างชัดเจน..

ดังนั้นขอทุกฝ่ายได้ทำความเข้าใจและลงมือปฏิบัติและใช้ “สิทธิ” ตามกฏหมายอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อเป็น “ขวัญ” และ “กำลังใจ” แก่ “เจ้าหน้าที่” ตามกฏหมาย อันจะนำประโยชน์มาสู่คณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาโดยรวมซึ่งเป็นเหตุแห่งความมั่นคงและยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนาดังคำชี้แจงที่ให้ไว้แก่รัฐสภา (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 ว่า

“สถาบันพระพุทธศาสนาโดยมหาเถรสมาคม โดยมีสำนักงานพระพุทธศานาแห่งชาติเป็นผู้สนองงาน มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้มีพระราชบัญญัติพระปริยัติธรรมฉบับนี้เกิดขึ้น ทั้งนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ โดยเล็งเห็นถึงความมั่นคงทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักใหญ่ เมื่อพระพุทธศาสนามั่นคง ประชาชนก็จะดำรงอยู่ในศีลธรรม เมื่อประชาชนดำรงอยู่ในศีลธรรม ก็จะความสุขมาสู่สังคมและมวลมนุษยชาติอย่างยั่งยืน”

แต่การที่จะเกิด 3 สิ่งนี้ได้ คือ พระพุทธศาสนามั่นคง ประชาชนดำรงอยู่ในศีลธรรม นำความสุขมาสู่สังคมและมวลมนุษยชาติอย่างยั่งยืน นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบริหารจัดการภายในที่ดี การบริหารจัดการภายในที่ดีจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องมี “ทรัพยากรเพียงพอ” ในการจัดการบริหาร “ทรัพยากร” ในที่นี้ หมายถึงมี  “งบประมาณแผ่นดิน” มาช่วยอุดหนุนจึงเป็นที่มาของมาตรา 7 วรรค 2 ซึ่งถือว่าเป็นวรรคทอง เป็นหัวใจของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ว่าได้ ดังบัญญัติไว้ว่า “เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนการศึกษาพระปริยัติธรรม” ให้ “รัฐ” อุดหนุนงบประมาณสำหรับการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม ตามความเหมาะสมและจำเป็น”

คำอธิบายของ “พระเทพเวที” ในฐานะเลขานุการด้านศาสนศึกษา มหาเถรสมาคม คงชัดเจนนะครับ

……………………………………………..

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย…“เปรียญสิบ”: riwpaalueng@gmail.com

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img