วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSหวังว่า!! พระหนุ่มเณรน้อย “ไม่ฝันค้าง” รอบสอง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

หวังว่า!! พระหนุ่มเณรน้อย “ไม่ฝันค้าง” รอบสอง

ชาวพุทธเราจำนวนมากเห็น “ผู้นำศาสนา” หนึ่ง รัฐบาลโดยกรมบัญชีกลางอนุมัติได้รับค่าตอบแทนเพื่อให้สอดคลองกับค่าครองชีพ และเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้นำองค์กรศาสนานั่นแล้ว

พากันไปเปรียบเทียบกับ “พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม” ของชาวพุทธที่ประกาศมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 แล้วว่าทำไม ยังไม่ได้รับเงิน เพราะกระทบต่อพระหนุ่มเณรน้อย 600 กว่าโรงเรียน บุคลกรไม่เฉพาะ พระสงฆ์ที่ทำงานเท่านั้น รวมถึง ครูสอน ธุรการ เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนพระปริยัติธรรมด้วยที่มีประมาณ 4000 รูป/คน

บางคนพูดถึงขนาดว่าหากเป็น “ศาสนาอื่น” คงบุกถึงทำเนียบ รัฐสภา สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ก็ “ยื่นศาล” ตีความกันบ้างแล้ว

มีที่ไหน ตอนไม่มีกฎหมายรองรับ รัฐบาลก็ชี้หน้าจะจ่ายเงินให้ “ต้องมีกฎหมาย” รองรับ พอมีกฎหมายรองรับก็อ้างว่า “ไม่มีเงิน”

“เปรียญสิบ” มีหนังสือยืนยันข้ออ้างของกระทรวงการคลังที่ว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันประเทศกำลังประสบปัญหาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อบริหารราชการแผ่นดินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น การพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการบริหารงานบุคคลการศึกษาพระปริยัติธรรมว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งจะต้องใช้งบฯ 4,068,000,720 บาทต่อปี จึงจำเป็นต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกหลายประเด็น ได้แก่

1.ประเด็นเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการจัดสรรงบฯตามพ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562 มาตรา 7 วรรคสอง ที่กำหนดให้รัฐอุดหนุนงบฯสำหรับการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมตามความเหมาะสมและจำเป็น ซึ่งคำว่า เหมาะสมและจำเป็น ในที่นี้จะหมายความรวมถึงการอุดหนุนงบฯไปตั้งจ่ายเป็นเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง หรือเงินวิทยฐานะ ในลักษณะเดียวกับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง หรือเงินวิทยฐานะของข้าราชการพลเรือน หรือไม่

2.ประเด็นเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างการบริหารงานบุคคลการศึกษาพระปริยัติธรรม ที่กำหนดให้ตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง หรือเงินวิทยฐานะ มีจำนวนทั้งสิ้น 35 ตำแหน่ง โดยเป็นตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานสอนพระปริยัติธรรม 2 ตำแหน่ง เมื่อเปรียบเทียบกับตำแหน่งผู้สนับสนุนการศึกษา ซึ่งมี 33 ตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งผู้สนับสนุนการศึกษามีสัดส่วนที่สูงกว่าตำแหน่งผู้สอนเป็นอย่างมาก

3.ประเด็นการกำหนดอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งที่ยังไม่ปรากฏความชัดเจนว่า อัตราดังกล่าวกำหนดขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักเกณฑ์ใด และเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามร่างประกาศฯ มีความซ้ำช้อนกับเงินนิตยภัต ตามระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่าด้วยการเบิกจ่ายนิตยภัต พ.ศ.2553 หรือไม่ อย่างไร ดังนั้น เพื่อให้การใช้จ่ายงบฯภาครัฐเป็นไปตามความจำเป็น เหมาะสมกับสถานการณ์ และสอดคล้องกับสถานะการเงินการคลังของประเทศ จึงขอส่งร่างประกาศดังกล่าวให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทบทวนความเหมาะสมเกี่ยวกับประเด็นข้างต้น และส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็นชอบเมื่อสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว

ความจริง!! พระสงฆ์เราก็เหลือเกิน โดยเฉพาะข้อ 2 โรงเรียนหนึ่งขอไป 33 ตำแหน่ง แต่มีครูสอนแค่ 2 คน หรือข้อ 3 บางรูปมีทั้งเงินเดือนจากมหาวิทยาลัย/เจ้าคณะภาค/เงินประจำตำแหน่ง/เบี้ยประชุม อันนี้ไม่นับรวม “เงินอันพึงได้” จากกิจนิมนต์อีกต่างหาก

แต่เอาเถอะทราบว่าหลังจากระทรวงการคลังให้สำนักงานพุทธฯแก้ประเด็นดังกล่าวแล้ว ตอนนี้เสนอไปยังกระทรวงการคลังแล้ว  คาดว่าในงบประมาณปี 2566 ที่จะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ค่อนข้างได้ “ชัวร์”

เท่าที่รู้เรื่องนี้ต้องยกย่องความดีให้กับผู้ริเริ่มทำงานกันอย่างหนักจนได้พ.ร.บ.นี้ที่เราถือว่าเป็น “ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง” แม้จะเสียทรงบ้าง เพราะมีแล้วแต่ “ไม่ได้เงิน

คือ พระเทพเวที หรือ “เจ้าคุณพล” เจ้าคณะภาค 6 และ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สองท่านนี้เป็น “ตัวตั้งตัวตี” ตั้งแต่เริ่มต้นจนได้มาพระราชบัญญัติฉบับนี้

และสุดท้ายหลังรัฐบาลไม่ให้เงินอีกคนหนึ่งตามจิกไม่ปล่อยคือ “เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล” รองประธานคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร  ที่เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม ร่วมปรึกษาหารือ ร่วมหาทางออกกันหลายครั้ง จนล่าสุด แจ้งมาว่า

“ได้รับแจ้งจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแล้วว่า หลังจากปรับแก้ไขดังที่กรมบัญชีกลางต้องการแล้วตอนนี้เสนอกระทรวงการคลังไปแล้ว และในวันที่ 17 พฤษภาคมที่จะถึงนี้จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ รวมทั้งคณะสงฆ์มาร่วมสรุปประเด็นนี้ เพื่อจะได้ไม่พลาดให้ทันต่อการเสนองบประมาณในปี 2566”

“เปรียญสิบ” หวังว่าตาม พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรมฉบับนี้ ที่รัฐต้องดูแลการศึกษาของคณะสงฆ์ อันครอบคลุมทั้งสำนักเรียนบาลี, สำนักศาสนศึกษา, โรงเรียนพระปริยัติธรรมและพระปริยัตินิเทศก์ งบประมาณปี 2566 นี้ รัฐบาลคงไม่ทำให้คณะสงฆ์รอคอยและ “ฝันค้าง” เหมือนปีที่ผ่านมา!!

…………………………..

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย….“เปรียญสิบ” : riwpaalueng@gmail.com

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img