วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSการต่อสู้ของกลุ่มยุวสงฆ์''ยุคแรก''
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

การต่อสู้ของกลุ่มยุวสงฆ์”ยุคแรก”

ปรากฎการณ์ของกลุ่ม “คณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่” หรือ “กลุ่มยุวสงฆ์ปลดแอก” มิใช่ปรากฎการณ์การใหม่ในสังคมไทยและสังคมสงฆ์

เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อปีพุทธศักราช 2477 มีกลุ่มยุวสงฆ์ฝ่ายมหานิกายประมาณ 300 รูปจากวัดต่าง ๆ ในเขตพระนครและธนบุรี เช่น วัดพระเชตุพนฯ วัดอรุณฯ วัดสุทัศน์ นัดประชุมกันที่บ้านคหบดีเขตบางรักชื่อบ้าน “ภัทรวิธม” และเรียกกลุ่มตนเองว่า “คณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนา”

ปัจจุบัน “คณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่” เปลียนชื่อของคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนายุคนั้นมาใช้ 

คณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนายุคปี 2477 มีความเห็นร่วมกันในการปฎิรูปการปกครองคณะสงฆ์ให้เสมอภาคตามแนวประชาธิปไตยโดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

1.เนื่องจากการปกครองคณะสงฆ์ให้ความเสมอภาคแก่คณะสงฆ์ไม่เท่าเทียมกัน กล่าวคือ เจ้าคณะธรรมยุตปกครองคณะสงฆ์มหานิกายได้ แต่เจ้าคณะมหานิกายปครองคณะสงฆ์ธรรมยุตไม่ได้ จึงขอให้รัฐบาลและมหาเถรสมาคมแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ให้มีการบริหารด้วยสิทธิเสมอกัน

2.เพื่อให้มีการร่วมสมานสังวาสในระหว่างคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย อาทิ ให้มีการร่วมอุโบสถสังฆกรรมด้วยกันได้

3.ตำแหน่งหน้าที่ทั้งในการศึกษาและปกครอง หรืออำนาจสูงสุดในการปกครองสังฆมณฑลพระภิกษุในสิทธิมหานิกายต้องมีสิทธิในตำแหน่งนั่นด้วย

เมื่อมองจากการเคลื่อนไหวทั้ง 3 ประเด็นนี้แล้ว ต้นตอล้วนเกิดจาก พระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 แทบทั้งสิ้น ที่ฝ่ายพระมหานิกายมองว่า คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายเอาเปรียบฝ่ายมหานิกายซึ่งมีประชากรสงฆ์มากกว่า โดยเฉพาะตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ที่มีการวางสืบทอดกันเป็นช่วง ๆ มิให้ฝ่ายมหานิกายได้ขึ้นมาครอง

การเคลื่อนไหวของคณะปฎิสังขรณ์การพระศาสนาเมื่อปี 2477 รัฐบาลให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวและจัดการแก้ไขพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ร.ศ.121 จึงเป็นที่มาของ พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484

และพ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ 2484 ซึ่งถือว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายมหานิกาย ถือว่าเป็นพระราชบัญญัติที่ดีที่สุดของคณะสงฆ์เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 สุดท้ายก็ถูกฉีกทิ้ง กลายมาเป็น พ.ร.บ.สงฆ์ 2505 ที่ชนชั้นอำนาจ “ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้” กลายเป็น “เชื้อ” ระหว่างนิกายตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน

ภายใต้พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 นี้มีพระสังฆราชแล้ว 6 พระองค์ ฝ่ายมหานิกาย 2 ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 4

มีคนเคยถามผมว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ทำไมไม่ได้ขึ้นตำแหน่ง “พระสังฆราช”

ตอนหน้าผมมีเกร็ดเล่ากรณี สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์รัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำริจะสถาปนาให้ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช แต่มีคนมาบอกว่า ผิดจารีตประเพณี ตัวละครที่พระองค์ปรึกษาคือใคร จารีตประเพณีที่ว่ามันคืออะไร และ คนที่บอกว่าผิดจารีตประเพณีคือใคร แล้วคนนั้นเสนอแนวทางให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเลือก 3 แนวทางคืออะไรบ้าง

ตอนหน้าหากไม่ผิดพลาดประการใดจะนำมาเล่าให้ฟัง!!!

…………………………

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย  “เปรียญ10” : riwpaalueng@gmail.com

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img