วันอังคาร, เมษายน 16, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเมื่อกระแส“อุ๊งอิ๊ง”ปลุกไม่ขึ้น “ภท.”ตัวแปรตั้งรัฐบาลสองขั้ว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เมื่อกระแส“อุ๊งอิ๊ง”ปลุกไม่ขึ้น “ภท.”ตัวแปรตั้งรัฐบาลสองขั้ว

ไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อแวดวงการเมืองและสื่อสารมวลชนหลายสำนัก จะเกิดอาการฮือฮา หลังเห็นภาพ “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ระยะหลักมักใช้ชื่อ “โทนี่ วู้ดซัม” ในการสื่อสารกับสาธารณชน จะออกงานที่เกี่ยวข้องกับการเมือง  

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 65 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ครอบครัวเพื่อไทยจัดกิจกรรม “สะบัดชัย เพื่อไทยมาเหนือ” ภริยาของอดีตนายกฯ ซึ่งหลายคนเรียกติดปากว่า “คุณหญิงอ้อ” ได้ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับสมาชิกในครอบครัว ทั้ง “พานทองแท้ ชินวัตร” บุตรชาย, “พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์” บุตรสาว, “ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์-ปิฎก สุขสวัสดิ์” บุตรเขย

การร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างพร้อมเพรียงของครอบครัวชินวัตรครั้งนี้ โดยเฉพาะ “คุณหญิงพจมาน” ถูกตีความว่า เป็นการเดินทางมาร่วมงานทางการเมืองเป็นครั้งแรก หลัง “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” ตัดสินใจลงสนามการเมือง และได้รับการสถาปนาเป็น “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” รวมทั้งยังเป็นการร่วมงานการเมืองครั้งแรกของคุณหญิงพจมาน ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ที่นายทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนถูกยึดอำนาจในปี 2549 หลังจากนั้น “คุณหญิงพจมาน” ก็ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองใดๆ อีกเลย

สำหรับการเปิดตัวกิจกรรมครอบครัวเพื่อไทยครั้งนี้ เป็นไปอย่างยิ่งใหญ่ ใช้ขบวนกลองสะบัดชัยนำบรรดา ส.ส.เชียงใหม่ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรค-“แพทองธาร ชินวัตร” แกนนำพรรคและแกนนำครอบครัวเพื่อไทย ตามด้วยว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคเหนือของพรรคพท.เข้าสู่หอประชุม ทำให้บรรยากาศในศูนย์ประชุมฯ เป็นไปอย่างคึกคัก ท่ามกลางประชาชนชาวเชียงใหม่นับหมื่นคน ที่พร้อมใจใส่เสื้อสีแดง “ครอบครัวเพื่อไทย” มาร่วมรับฟังการเปิดนโยบาย แนะนำตัวผู้สมัคร

นอกจากนี้ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกฯ และ “เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” น้องสาวนายทักษิณ ซึ่งที่ผ่านมาไปพำนักอยู่กับพี่ชายที่เมืองดูไบมาซักระยะหนึ่ง และในที่สุดก็เดินทางกลับมาประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นเพราะใกล้เลือกตั้ง “เจ๊แดง” เลยอาจหวัง ช่วยต่อสายทางการเมือง กับอดีตแกนนำพรรค ทรท. และ พรรค พท. ซึ่งไปร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่น ให้กลับมารวมงานกับพรรคพท.

ทั้ง “กลุ่มสามมิตร” ที่มี “สมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นแกนนำ รวมทั้ง “วราเทพ รัตนากร” แกนนำกลุ่มกำแพงเพชร ซึ่งปัจจุบันร่วมงานกับ “พลังประชารัฐ” (พปชร.) ที่มี “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” คุมหางเสืออยู่

ขณะที่ “นพ.ชลน่าน” ในฐานะ หัวหน้าพรรคพท. กล่าวในระหว่างร่วมงานว่า “พรรคพท.ครอบครัวเพื่อไทย ยกทัพมาเชียงใหม่ เพราะเชียงใหม่คือเมืองหลวงของพรรคพท. เลือกเชียงใหม่ลั่นกลองสะบัดชัย เพื่อประกาศว่าพร้อมรบแล้ว แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าเชียงใหม่ไม่ได้ทั้ง 11 เขต ขอทั้ง 11 เขต

เราต้องการสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้สมัครของพรรคทั้ง 400 เขตทั่วประเทศ ที่ต้องให้ได้แลนด์สไลด์ 250 เสียงขึ้นไป เพื่อเอาหัวใจที่รักที่หวงแหนที่สุดกลับคืนมา แล้วเอาระบบประยุทธ์ออกไป เอา ส.ว. 250 ที่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ออกไป แล้วเอา 250 เสียงมาเลือกนายกฯของเราเอง เอาหนี้ออกไป เอาความเป็นอยู่กินดีกลับคืนมา”

ส่วน “แพทองธาร” กล่าวกับสื่อมวลชน ที่เดินทางมาเกาะติดการทำกิจกรรมครั้งนี้ กรณีคุณหญิงพจมานและครอบครัวเดินทางมาร่วมงานว่า “ทุกคนทราบกันดีว่า ปกติคุณแม่จะไม่ออกงาน คุณแม่เห็นว่าไปลงพื้นที่หลายงาน จึงแสดงความเป็นห่วง จะถามว่าเหนื่อยไหม เครียดไหม พูดแล้วรู้สึกซึ้ง รู้สึกดีใจมาก ระหว่างที่อยู่บนเวทีแอบอมยิ้มที่เห็น คุณแม่และครอบครัวมา ไม่ได้ไปบังคับคุณแม่ หากคุณแม่ว่างก็มาได้ อยากให้คุณแม่มา ไม่ได้ไปกดดัน”

เมื่อถามถึงโอกาสที่คุณหญิงพจมานจะเล่นลงการเมือง น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า คุณแม่ไม่มาการเมืองแน่นอน แต่จะเป็นกำลังใจให้ที่บ้าน เป็นกำลังใจที่สำคัญ เป็นความมั่นคงทางจิตใจของตน

ก่อนหน้านั้นมีข่าวแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ส่งทีมไป สำรวจความเห็นของชาวบ้าน ในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของของพรรคพท. หลังจากบุตรสาวคนเล็กนายทักษิณ ตัดสินใจรับตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย  โดยพบว่า ปลุกกระแสไม่ขึ้น เมื่อเทียบกับความนิยมของบิดาบังเกิดเกล้า

แต่สำคัญกว่านั้นคือ ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุน ให้กับผู้สมัครพรรคพท.น้อย จนน่าตกใจ เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่น  ซึ่งมีทั้งเงินช่วยเหลือรายเดือน และยังช่วยผลักดันโครงการลงพื้นที่อีกด้วย จนส่งผลให้ส.ส.พรรคพท.หลายคน ย้ายไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ “ภูมิใจไทย” (ภท.) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ “คุณหญิงอ้อ” ต้องออกโรง-โชว์ตัวให้เห็นว่า “สู้จริง จ่ายจริง ไม่เช่นนั้น การหวังหวนคืนอำนาจรัฐ ก็อาจยากเย็นแสนเข็ญ ยิ่งถ้า “พท.” ต้องเป็นฝ่ายค้าน ภายหลังการเลือกตั้ง สภาพของพรรคคงอยู่ในสภาพ บ้านแตก สาแหรกขาด”

ก่อนหน้านั้น แวดวงการเมืองได้เห็นหน้าค่าตา 93 ผู้สมัคร ส.ส.อีสานของพรรคพท. ที่เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ใครที่ตามการเมืองบ้านเรามานาน คงเริ่มไม่แน่ใจว่า ปฏิบัติการแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะสำเร็จหรือไม่ เพราะแต่ละคนล้วนเป็น ผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ส.หน้าเก่า ที่ลงมาแล้วหลายสมัย ไม่ได้มีผลงานเตะตาอะไรทั้งสิ้น อาศัยแต่กระแสพรรค อาศัยภาพนายใหญ่ ให้เข้าสภามาได้

หลายคนที่มีชื่อลงสมัครครั้งนี้ ไม่ได้รัก หรือ ศรัทธาพรรค แต่ต้องการพึ่งพิงกระแสพรรคพท.ในอีสาน ให้ตัวเองเข้าสภามา กินเงินเดือน ส.ส. เท่านั้น เลยทำให้ระยะหลังชาวบ้านหลายคนตื่นรู้ เพราะได้ ส.ส.จากพรรคที่ชอบก็จริง แต่เนื้องานในพื้นที่ไม่เกิด ต่างจาก ส.ส.พรรคการเมืองอื่น ที่มีผลงานงานจับต้องได้เพียบ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทางผุดเป็นดอกเห็ด เจริญกันแบบเห็นเต็มตา

ดังนั้นเมื่อใช้ผู้สมัคร ส.ส.หน้าเดิมๆ ที่ไม่มีผลงานมาแข่ง โอกาสที่จะคว้าชัยชนะในทุกพื้นที่ กวาดแลนด์สไลด์ทั่วอีสานจึงค่อนข้างยาก ซึ่งหากทำพื้นที่อีสานไม่ได้ตามเป้า จะส่งผลกระทบไปถึงการเป็น แกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่จะริบหรี่ลงทันที ดังนั้นการจะปิดสวิตซ์ ส.ว.ได้ จำเป็นที่พรรคพท.ต้องได้ ส.ส.ในมือถึง 376 ที่นั่ง ซึ่งหากกวาดอีสานทั้งหมดไม่ได้ ก็เลิกฝันได้เลย ส่วนอีกทางหนึ่งคือ “พรรคพท.” ต้องไปจับมือกับพรรคอื่นๆ เพื่อรวบรวมเสียงให้ได้ 376 เสียง ลำพัง พรรคก้าวไกล (กก.) พรรคเสรีรวมไทย (สร.) ยังไม่แน่ใจว่าจะถึงจำนวนดังกล่าวหรือไม่

ครั้นจะไปจับมือกับพรรคพปชร. แม้คะแนนจะถึงแน่ๆ เพราะจะ ได้เสียงจากส.ว.มาช่วย สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ปัญหาคือ พรรคพท.ก็ไม่ได้นายกรัฐมนตรีของตัวเอง แต่จะเป็นคนที่อีกฝั่งเลือกมาให้ กลายเป็นที่นั่งร้านดีๆ ให้เพื่อนร่วมงาน

จึงไม่แปลกที่ใครติดตามการเมืองจะบอกว่า พรรคที่เป็นตัวแปรจริงๆ คือ “ภท.” ของ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” ซึ่งมีตำแหน่งรองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค หากพรรคพท. ต้องการปิดสวิตซ์ ส.ว. เพื่อให้ตัวเอง สามารถเลือกนายกฯในบัญชีของตัวเองได้ จึงจำเป็นต้องทอดไมตรีกับ ค่ายสีน้ำเงิน

ยิ่งพรรคพท.เอง ไม่ได้อยากทำงานร่วมกับ “กก.” และ “สร.” เนื่องจาก ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน ตั้งแต่แรก การผูกสัมพันธ์กับพรรคภท. การทำงานร่วมกัน ง่ายกว่า เห็นได้จากบทบาท การเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ของพรรคภท. แทบไม่สร้างปัญหา ค่อนข้างนิ่งและมีเอกภาพ ที่สำคัญไว้ใจได้ ไม่มีตลบหลัง หรือแทงข้างหลัง ต่างกับพรรคกก. ที่พรรคพท. เจอปัญหา เรื่องวัดรอยเท้า มาโดยตลอด จนมีปัญหากระทบกระทั่งกันไม่รู้กี่ครั้ง

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของพรรคพท.ตอนนี้ไม่ใช่ไป ชวนพรรคภท.ทะเลาะ หรือเห็นเป็นศัตรู ไปแข่งแบบเอาเป็นเอาตาย จนไม่เหลือมิตรภาพ เพราะวันหนึ่งจะเป็นตัวแปรที่จำเป็นต้องพึ่งพาเป็นลำดับต้นๆ เช่นเดียวกันกับ “พรรคพปชร.” ซึ่งเผลอๆ จำนวนที่นั่งจะน้อยกว่าพรรคภท. ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ก็จำเป็นต้องพึ่งพาพรรคภท. หากยังต้องการเป็นรัฐบาลต่อ

แม้ “พรรค พปชร.” อาจมีส.ว.ที่พร้อมสนับสนุนอยู่ก็จริง แต่จำเป็นต้องมี ส.ส.ให้ได้มากกว่ากึ่งหนึ่ง เพื่อจัดตั้งรัฐบาล และเพื่อความมีเสถียรภาพ ซึ่งหากจะรวมให้ถึงก็จำเป็นต้องมี “พรรค ภท.” เช่นกัน ถึงไม่แปลกที่ใครก็มองว่า พรรคการเมืองไหนจะเป็นตัวแปรอย่างแท้จริง    

หรือบางที “พรรคสีน้ำเงิน” อาจต้องเล่นบทแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะดูความพร้อมในตอนนี้แล้ว ไม่ได้หวังเป็นเพียงพรรคร่วมรัฐบาลแน่ๆ ยิ่งนโยบายต่างๆ ที่ประกาศไว้ ถูกผลักดันออกมาเป็นรูปธรรม “พูดแล้ว ทำได้จริง”

……………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย….. “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img