วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“อภิสิทธิ์”หวังรีเทิร์นคุม“ปชป.” เชื่อผลเลือกตั้งลงโทษ“จุรินทร์-เฉลิมชัย”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“อภิสิทธิ์”หวังรีเทิร์นคุม“ปชป.” เชื่อผลเลือกตั้งลงโทษ“จุรินทร์-เฉลิมชัย”

คงจะเป็นอย่างที่หลายคนบอก อำนาจทางการเมืองเป็นสิ่งหอมหวาน ใครได้มีโอกาสลิ้มลอง ก็ยากที่จะถอนตัวได้ ยิ่งคนที่เคยสัมผัส ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็อยากกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมอีกครั้ง แม้ความหวังจะหริบหรี่ หนทางที่จะไขว้คว้าเก้าอี้สำคัญ ยากเย็นแค่ไหนก็ตาม

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ปรากฎข่าวความเคลื่อนไหวของ “อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี และ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ผ่านสื่อบางสำนัก หลังจากได้มีโอกาสเข้าพบ บุคคลสำคัญ งานเลยถูกตีความกันต่างนานา เพราะหลังนำพาพรรคพ่ายแพ้อย่างยับเยินในปี 2562 จนประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค ทิ้งสถานะความเป็นส.ส. ใครก็คิดว่า “หนุ่มมาร์ค” อีกนิคเนมของอดีตหัวหน้าพรรคการเมืองเก่าแก่ คงจะหยุดเส้นทางการเมืองไว้แค่ตรงนั้น

แต่เมื่อวันเวลาผ่าน ความคิดคนก็เปลี่ยน แถมยังมีบทวิเคราะห์ผ่านสื่อบางสำนัก ไปไกลถึงขึ้นชี้ว่า “อภิสิทธิ์” มีโอกาสลุ้นเก้าอี้นายกฯ ถ้าในวันที่ 30 ก.ย.นี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มีอันต้องเป็นไป พ้นจากตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล ไม่ได้ไปต่อด้วยอยู่ทำหน้าที่ครบ 8 ปีแล้ว อีกทั้งยังมีชื่ออยู่ใน บัญชีนายกฯ ของพรรคปชป. จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562  

เช่นเดียวกับ “พรรคภูมิใจไทย” (ภท.) ที่เสนอชื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค ขณะที่เมื่อไม่กี่วัน แกนนำพรรคฝ่ายค้านอย่าง “เพื่อไทย” (พท.) ประกาศผลักดัน “ชัยเกษม นิติสิริ” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคพท. ลงชิงตำแหน่งนายกฯ หากต้องมีการโหวตในสภาฯ เพื่อสรรหาผู้นำคนใหม่

เมื่อเทียบสองรายชื่อของพรรคภท.และพท. พูดกันตามตรง ยังมีภาษีดีกว่า “อภิสิทธิ์” อยู่หลายขุม นอกจากนี้ยังต้องลุ้น “ปชป.” จะยกมือสนับสนุนคนกันเองหรือไม่ อีกทั้งยังต้องอาศัยเสียงจากเพื่อนต่างพรรคด้วย ที่สำคัญ ถ้าไล่เรียงแต่ละพรรค ผู้นำหลายคนล้วนเจ็บปวด จากการเคยร่วมงานกับ “หนุ่มมาร์ค” สมัยดำรงตำแหน่งนายกฯช่วงปี 2551 มาแล้วทั้งสิ้น ไล่ตั้ง “3 ป.” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่พี่ใหญ่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ต้องบอกว่า “พล.อ.ประวิตร” มีบทบาทสำคัญในฝ่ายบริหาร รับตำแหน่ง “รมว.กลาโหม” ทำงานประสานกับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในฐานะ รองนายกฯดูแลงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในช่วงนั้น ต้องเผชิญกับแรงต่อต้านจากแนวรวมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ออกมาขับไล่รัฐบาล อ้าง “หนุ่มมาร์ค” เป็นนายกฯ ที่ถูกตั้งขึ้นในค่ายทหาร

พี่น้อง 3 ป.

แต่จุดที่ทำให้ “พี่ใหญ่ 3 ป.” ไม่พอใจ “หนุ่มมาร์ค” มากสุด คงหนีไม่พ้น การปลด “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายออกจากตำแหน่ง ผบ.ตร. โดยอ้างคำวินิจฉัยคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลความผิด “บิ๊กป๊อด” อันเนื่องมาจากการมีส่วนสั่งการสลายการชุมนุม กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) บริเวณหน้าอาคารรัฐสภาเมื่อปี 2551 ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อย่างไรก็ตาม ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพธม.

นอกจากนี้การตัดสินใจยุบสภาฯของอดีตนายกฯจากพรรคปชป. หลังเกิดเหตุสลายการชุมนุมเมื่อนปช.และคนเสื้อแดง ช่วงเดือนพ.ค. เมื่อปี 2553  ก็ทำให้ กลุ่ม 3 ป. และนายทหารในกองทัพไม่พอใจมาก เพราะทำเหมือนต้องการลอยแพ ปล่อยให้กองทัพต้อง เผชิญวิบากกรรม หลังรัฐบาลลภายใต้การนำของ “พรรคพท.” ซึ่งเข้ามีอำนาจในการจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร อีกทั้งยังมีข่าวว่า การตัดสินยุบสภาฯครั้งนั้น “อภิสิทธิ์” ไม่ได้ปรึกษา “สุเทพ” ในฐานะ ผู้จัดการรัฐบาล รวมถึงกองทัพ ทั้งที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา

ส่วนบรรดาพรรคการเมืองที่เคยร่วมงานกับ “อภิสิทธิ์” ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่างก็มีปัญหาแทบทั้งสิ้น  โดยเฉพาะการผลักดันโครงการต่างๆ แต่กลับถูกหัวหน้ารัฐบาล ขัดขวางเตะตัดขาในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะ “พรรคภท.” ที่มีปัญหามากที่สุด ด้วยคิดว่าการขัดขวางจากผู้มีอำนาจในยุคนั้น เกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ คะแนนนิยม และมีเรื่องการเมืองเกี่ยวข้อง

ดังนั้นหลายคนเลยออกอาการ “งง” หลังอ่านบทสัมภาษณ์ “สาทิตย์  วงษ์หนองเตย” ส.ส.พรรคปชป. ที่ออกมาระบุว่า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์มีอันเป็นไป จากคำวินิจฉัยของศาลรธน. พรรคร่วมรัฐบาล ต้องมาพูดคุยถึงการจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่ และเชื่อว่า อดีตหัวหน้าพรรคปชป. มีโอกาสได้รับโหวตจากสมาชิกรัฐสภาฯ ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ 

ซึ่งมีคำถามมาว่า จะหามาจากไหน เมื่อต้องใช้เสียง 376 เสียง เกินหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาฯ (ส.ส. 500 +ส.ว. 250) ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเสียงส.ว.ส่วนใหญ่ใครคุมอยู่ สังคมต่างรู้กันดี

จริงๆ ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เคยมีข่าว “อภิสิทธิ์” ไปขอเสียงสนับสนุนจากหัวหน้าพรรคการเมืองบางคน ให้สนับสนุนตนเองขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ พร้อมทั้งยืนยัน มีส.ว.จำนวนหนึ่งพร้อมให้การสนับสนุนตนเอง แต่ในที่สุดความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ก็ไม่ปรากฏให้เห็น หรือวันนี้มีอะไรมาเป็นฐานสนับสนุน เลยทำให้อดีตนายกฯมีความมั่นใจว่า จะสามารถรีเทิร์น กลับมาลุ้นเก้าอี้นายกฯได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม แกนนำปชช.บางคนเชื่อว่า การออกมาเปิดตัวผ่านสื่อบางสำนักนั้น  เป้าหมายที่แท้จริงของ “อภิสิทธิ์” เพียงต้องการส่งสัญญาณให้สังคมให้รู้ว่า ต้องการกลับเข้ามาทำงานการเมืองอีกครั้ง โดยเชื่อว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น พรรคต้นสังกัดจะได้ส.ส.น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (52 ที่นั่ง) แม้แกนนำ ปชป.มั่นใจได้มากกว่าเดิมแน่นอน โดยเฉพาะ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรคปชป.  ถึงกลับเอาตำแหน่งทางการเมืองการันตีแล้วว่า หากได้ส.ส.ต่ำกว่าเดิม จะเลิกเล่นการเมือง แต่ถ้าได้ส.ส.น้อยกว่าเดิม ทั้ง “เฉลิมชัย” และ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์” หัวหน้าพรรคปชป. คงต้องแสดงความรับผิดชอบ กับความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ -ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ 23 เม.ย.65

ขณะที่ภาคใต้ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของ ปชป. จากเดิมได้ส.ส. 22 ที่นั่ง จาก 50 ที่นั่ง แต่การแบ่งเขต ส.ส.เพิ่มเป็น 400 เขต ภาคใต้เพิ่มเป็น 58 เขต ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของหลายพรรค ที่หวังเข้ามาแย่งชิงเก้าอี้ โดยเฉพาะ “ภท.” ที่มาแรงมาก เพราะการประกาศนโยบายพูดแล้วทำได้จริง ถือเป็นจุดเด่นของพรรคการเมืองนี้ อีกทั้งการนำโครงการต่างๆ ไปลงในพื้นที่เป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจาก “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาธิการพรรคภท. ดูแลกระทรวงคมนาคม

อีกทั้งในหลายพื้นที่พื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่น “ปชป.” ก็ถูกจับตามองว่า จะถูกเจาะไข่แดงแย่งชิงเก้าอี้ส.ส. ไปหรือไม่  ไล่ตั้งแต่ ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่นับภาคอื่นๆ ที่เป็นจุดอ่อนของพรรค ทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน ก็ยังมองไม่เห็นว่า พรรคปชป.จะฝ่าวงล้อมคู่แข่งอย่าง “พท.” ไปได้อย่างไร

เพียงแต่ว่า ถ้า “อภิสิทธิ์” กลับมา ทั้ง “สุเทพ” และ “นิพนธ์ พร้อมพันธุ์” อดีตเลขาธิการนายกฯสมัย “หนุ่มมาร์ค” นั่งทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า จะเป็นกองหนุนให้จริงหรือ ในเมื่ออดีตเลขาธิการปชป. เจ็บปวดจากการบริหารงานภายในพรรค ในช่วง “อภิสิทธิ์” เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งๆ ที่เคยเกื้อหนุนกันมา

แต่พออดีตหัวหน้าพรรคปชป. ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล หรือรูปแบบการบริหารงานในพรรค กลับไม่ยอมหารือกับ “สุเทพ” ตัดสินใจโดยลำพง ทำให้อดีตเลขาธิการปชป.ไม่พอใจมาก ทั้งๆ ที่ออกโรงสนับสนุนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และนายกฯ ดังนั้นหนทางที่จะหวนคืนกลับมาร่วมงานกันอีก คงเป็นแค่การคาดเดา

เช่นเดียวกับสัมพันธ์ ระหว่าง “อภิสิทธิ์” กับ “นิพนธ์” ผลพวงจากการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ในยุค “หนุ่มมาร์ค” เป็นนายกฯ น่าจะเป็นความเจ็บปวดที่ อดีตเลขาธิการนายกฯ คงยากที่จะลืม เพราะเกี่ยวข้องกับคำขอของ บุคคลสำคัญ

หลายคนจึงรอคอย วันที่ “หนุ่มมาร์ค” กลับมายึดเก้าอี้ หัวหน้าพรรคปชป. ใครจะเป็นทีมงาน ใครจะเป็นกองเชียร์ ใครเป็นกองหนุน และโจทย์ใหญ่ที่รอคำตอบคือ จะทำอย่างไรให้พรรคเก่าแก่กลับมายิ่งให้เหมือนเดิม

แต่สิ่งแรกที่ต้องทำคือ จะหาเพื่อนต่างพรรค มาสานฝันถึงตำแหน่งสำคัญได้ซักกี่คน

…………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย….“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img