วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“พลังประชารัฐ”..ซ้ำรอย“สามัคคีธรรม” ‘3ป.’ต่างคนต่างคิด-สร้างดาวคนละดวง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พลังประชารัฐ”..ซ้ำรอย“สามัคคีธรรม” ‘3ป.’ต่างคนต่างคิด-สร้างดาวคนละดวง

ไม่ว่าการปล่อยข่าวบรรดากลุ่มก๊วนต่างใน “พรรคพลังประชารัฐ” (พปชร.) เตรียมทิ้งพรรคต้นสังกัด ย้ายไปรวมงานกับ “เพื่อไทย” (พท.) หรือ “ภูมิใจไทย” (ภท.) เพื่อหวังผลทางการเมือง หรือเกี่ยวข้องกับการความเคลื่อนไหวในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)

หลัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ส่งสัญญาณให้ “พรรคประชาธิปัตย์” (ปชป.) เสนอรายชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแทน “นิพนธ์ บุญญามณี” อดีตรมช.มหาดไทย เพื่อให้กระบวนการสำคัญของฝ่ายบริหาร เดินหน้าต่อไปได้

แต่ต้องยอมรับ “พปชร.” ในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหาจริงๆ ทั้งเรื่องเอกภาพการทำงาน การสร้างคะแนนนิยม เพื่อให้พรรคได้รับการยอมรับ รวมทั้ง ความสัมพันธ์ของ “3 ป.” ที่แม้ภาพภายนอก ดูเหมือนจะเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ระยะหลังก็ถูกคอการเมืองวิจารณ์ ทำนองว่า “ต่างคนต่างเดิน” บางครั้งถูกตีความไปถึงขั้น บางคนกำลังจะเล่นบท “สร้างดาวคนละดวง”

อย่างที่รับรู้ ช่วงที่ผ่านมา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “พี่ใหญ่”“บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะ “น้องรอง” และ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์  ในฐานะ “น้องเล็ก” ในฐานะนายทหารที่ถูกขนามนามว่า “3 ป.”  ถือว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง

เพราะจุดเริ่มการรับราชการเป็นนายทหาร  มาจากหน่วยงานเดียวกันคือ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 พัน 2 รอ.)  ซึ่งรู้จักในนาม “บูรพาพยัคฆ์” และ “ทหารเสือราชินี” สำคัญที่สุดอดีตนายทหาร รหัส “3 ป.” ประสบความสำเร็จในการรับราชการทหาร ก้าวไปถึงการดำรงตำแหน่งเป็น “ผบ.ทบ.” ได้ทั้งหมด

พี่น้อง 3 ป.

จากนั้นก็ก้าวเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจน  คือช่วง รัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่เข้ามาเริ่มทำงานปลายปี 2551 โดย “บิ๊กป้อม” เข้ามารับตำแหน่ง “รมว.กลาโหม” ขณะที่ “บิ๊กป๊อก” ดำรงตำแหน่ง “ผบ.ทบ.” ส่วนน้องเล็ก “บิ๊กตู่” ทำหน้าที่ “เสนาธิการทหารบก” ต่อมาได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง “ผบ.ทบ.” ในปี 2553

ใครตามความสัมพันธ์ของนายทหาร 3 ป. ก่อนหน้าจะเข้ามาทำงานการเมืองอย่างเต็มตัว คงไม่เคยได้ยินเรื่องความขัดแย้งจากนายทหารกลุ่มนี้ จนกระทั่งก้าวเข้ามาอยู่ในเส้นทางที่ต้องเกี่ยวข้องกับนักเลือกตั้ง หลัง “พล.อ.ประยุทธ์” รับตำแหน่ง นายกฯเป็นครั้งที่ 2  และ “บิ๊กป้อม” เข้ารับตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค พปชร.” ขณะที่ “บิ๊กป๊อก” ทำหน้าที่ รมว.มหาดไทย (มท. 1) จากนั้นเป็นต้นมา ก็เริ่มมีข่าวกระเซ็นกระซาย ถึงความไม่ลงรอย มีความเห็นต่างกันเป็นระยะๆ 

ส่วนหนึ่งอาจมี ปัจจัยภายนอก เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างที่รับรู้กันการเมือง เป็นเรื่องผลประโยชน์ เป็นเรื่องการต่อรอง นอกจากนี้ยังมักมีข่าวเป็นระยะๆ ว่า “คนรอบตัว” รวมถึง “มิตรรอบข้างพี่ใหญ่และน้องเล็ก” มักชอบเล่นบทไม่กินเส้น “ต่างคนต่างคิด” บางครั้งมีการปล่อยข่าวดิสเครดิตตอบโต้กันไปมา เพื่อสร้างภาพให้ฝ่ายตัวเองดูดีขึ้น

แม้กระทั่งกระแสข่าวด้านลบที่ถาโถมเข้าใส่ “พปชร.” สื่อหลายสำนักระบุตรงกัน จะมีส.ส.หลายกลุ่มทยอยทิ้งพรรค เพื่อไปร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่นนั้น สาเหตุมาจากสองกระแส ส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) เมื่อระบุพล.อ.ประยุทธ์จะสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯได้ถึงปี 68 ปีเท่านั้น ทำให้เป็นอุปสรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งได้แค่ 2 ปี นับจากการเลือกตั้งในปี 2566 แม้จะส่งไม้ต่อให้ “พล.อ.ประวิตร” เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารแทน 

แต่อย่าลืมว่า “พี่ใหญ่ 3 ป.” อายุครบ 77 ปีแล้ว อีกทั้งการหวังเสียงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ ก็น่าจะเป็นปัญหา เมื่อเทียบกับพรรคคู่แข่งอย่าง “พท.” และ “ก้าวไกล” (กก.)

อีกกระแสหนึ่งมาจากการออกมาสร้างประเด็นของเครือข่าย “กลุ่มอำนาจเก่า” ที่ชี้ว่า รัฐบาลอยู่ในภาะขาลง ล้มเหลวในการบริหารประเทศช่วง 8 ปีที่ผ่านมา หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไหร่ “พท.” ในฐานะ แกนนำพรรคฝ่ายค้าน จะสร้างปรากฎการณ์แลนด์สไลด์ ได้เสียงเกินครึ่ง (250 เสียง) จากจำนวนส.ส.ทั้งหมด 500 เสียง   ซึ่งหลายคนเชื่อว่า การจุดกระแสดังกล่าว เพื่อหวังดึงนักการเมืองที่เคยรวมงานด้วย หรือคนต่างพรรค กลับมาร่วมงานกับพรรค พท. หรืออาจเป็นแผน “นายใหญ่” ใช้เป็นเหตุผลในการจ่ายเงินสนับสนุนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ด้วยวงเงินที่ไม่สูงมากหนัก โดยอ้างกระแสความนิยมดีกว่า “พรรคคู่แข่ง”

อย่างไรก็ตาม “พล.อ.ประวิตร” ได้ออกมาให้ความเห็นถึงกรณีมีกระแสข่าวส.ส.พรรค พปชร.ย้ายออกจากพรรคไปอยู่พรรคอื่นว่า “ไม่มีใครออกสักคน มีแต่ข่าวที่สื่อมวลชนเขียนกันไปเอง ทุกคนยังเหนียวแน่นอยู่กับพรรค”

แกนนำกลุ่มสามมิตร

เช่นเดียวกับ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพปชร. และ แกนนำกลุ่มสามมิตร ซึ่งมีข่าวจะย้ายกลับไปรวมกับพรรคต้นสังกัดเดิม ออกมาระบุว่า “20 วันที่ผ่านมา ยังไม่ได้พบใคร เพราะไปทำภารกิจที่ต่างประเทศมาตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย. ส่วนกระแสข่าวกลุ่มสามมิตรจะย้ายกลับไปพรรค พท.นั้น ยืนยันไม่เป็นความจริง สามมิตรไม่คิดไปไหนครับ ยังยืนยันอยู่พลังประชารัฐ”

เมื่อถามย้ำว่า พรรคพท.แสดงท่าทีพร้อมรับกลับ “สมศักดิ์” กล่าวว่า ตนไม่ได้คิดและไม่ได้เจอใคร

ใครติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง มักจะได้ยินข่าว “กลุ่มสามมิตร” ซึ่งมี “สมศักดิ์” และ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นแกนนำ มีสมาชิกอยู่ในกลุ่มประมาณ 20 คน จะย้ายกลับไปสังกัดพรรคเดิมตลอด เพราะกลุ่มการเมืองนี้ เลือกจะร่วมงานกับพรรคแกนนำรัฐบาล อีกทั้ง “สุริยะ” ยังเคยดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรคไทยรักไทย (ทรท.) สมัย “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นหัวหน้าพรรค ก่อนจะแยกทางเดินกัน

ขณะที่ “น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์” ส.ส.กรุงเทพมหานคร (กทม.). เขต 2 พรรคพปชร. ออกมาชี้แจงกรณีสื่อหลายสำนัก เสนอข่าวจะย้ายไปสังกัดพรรคภท. ในสัดส่วนบัญชีรายชื่อ ในสัดส่วนของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค ภท.ว่า “ไม่รู้ว่ากระแสข่าวนี้มาได้อย่างไร และนายชาดาก็ไม่เคยชวน ทุกวันนี้ทำหน้าที่ลงพื้นที่ ดูแลพี่น้องปทุมวัน บางรัก สาทร อย่างสม่ำเสมอ อย่างเต็มที่ จึงไม่ทราบว่า คนกุข่าว มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองในพื้นที่หรือไม่”

แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นกับพรรคพปชร. อาจเกิดจากการปล่อยข่าว โดยฝ่ายตรงข้าม เพื่อทำให้เกิดภาวะระส่ำระส่าย ส.ส. และสมาชิกเกิดความไม่มั่นใจอนาคต ขอลาออกเพื่อไปร่วมงานกับ บ้านหลังใหม่ พรรคการเมืองที่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะธรรมชาตินักเลือกตั้งประเทศไทย ไม่มีใครอยากอยู่ตรงข้ามผู้กุมอำนาจรัฐ นอกจากนี้ยังเป็นผลดีกับพรรคพท. ที่สร้างกระแสว่า จะคว้าชัยชนะแบบแลนด์สไลด์

หรืออาจเกี่ยวข้องกับ การปรับครม. ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้า การปล่อยข่าวว่า จะมีส.ส.กลุ่มต่างๆ ในพรรคพปชร. ตัดสินใจทิ้งพรรค อาจมีโอกาสลุ้นเก้าอี้รัฐมนตรี แกนนำพปชร.ที่มีอำนาจในการพิจารณา อาจใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง ไม่ให้สมาชิกย้ายออกจากพรรค หากต้องการลุ้นเป็นแกนนำรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง มีโอกาสทำงานในซีกฝ่ายบริหาร

แต่ไม่ว่ากระแสข่าว ส.ส พรรคพปชร. เตรียมทยอยทิ้งพรรค เพื่อไปร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่น จะเป็นเพียงข่าวปล่อย หรือเรื่องเกิดขึ้นจริง แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาคือ ความสัมพันธ์ของ “3 ป.” ที่มักมีข่าวความไม่ลงรอย ความเห็นต่างทางการเมือง ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน ต่างคนต่างคิด ต้องการยึดอำนาจให้อยู่กับตนเองและพวกพ้องดังขึ้นเรื่อยๆ

“พล.อ.ประยุทธ์” ถูกมองว่า ชอบเล่นบทรวบอำนาจ ไม่แบ่งหน่วยงานสำคัญ ให้ “พี่ใหญ่ 3 ป.” ได้ดูแล อย่างเช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.), กระทรวงกลาโหม แม้กระทั่งการยึดกระทรวงที่สำคัญไป เป็นโควต้ากลาง ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงต่างประเทศ และดึง “คนนอก” เข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรี แทนที่จะนำสมาชิกพรรคพปชร. ซึ่งอยู่ในพื้นที่ มีความใกล้ชิดประชาชนมากกว่า เข้าไปมีตำแหน่งในฝ่ายบริหาร เพื่อสร้างคะแนนนิยมให้พรรค

หลายครั้งเวลารัฐบาลเผชิญวิกฤติทางการเมือง บรรดาอดีตข้าราชการและคนนอกมักเล่นบทลอยตัว บางครั้งก็ชี้แจงทำให้ฝ่ายบริหารเสียคะแนนนิยม ทำนองว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

ขณะที่ “พล.อ.ประวิตร” ก็ถูกวิจารณ์ ปล่อยให้ “คนใกล้ชิด”เข้ามามีบทบาทในหน่วยงานภาครัฐ ทั้ง เรื่องตั้งโยกย้าย การใช้จ่ายงบประมาณ การสรรหาบุคคลสำคัญเข้าไปทำงานในองค์กรสำคัญ ส่วนการบริหารงานในฐานะหัวหน้าพรรคพปชร. ขาดความเด็ดขาด เชื่อมั่นในคนที่ไว้ใจมากไป อีกทั้งมีบางคนไปแอบอ้างชื่อ ไปเคลื่อนไหวทางการเมือง จนทำให้ “บิ๊กป้อม” ต้องมีปัญหากับ “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป๊อก” เสมอๆ

ส่วน “บิ๊กป๊อก” ในฐานะขุนพลคู่คิดของ “น้องเล็ก” ก็มีความเป็นตัวเองสูง เลยทำให้ละเลยการดูแลทุกข์สุขของส.ส.พรรคพปชร. ทั้งที่มีตำแหน่งสำคัญในฝ่ายบริหาร จนทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจ ไม่เป็นที่ยอมรับ ต้องการให้ “บิ๊กป้อม” เข้ามาทำหน้าที่ “มท.1” แทน

แม้กระทั่งการปรับครม.ที่กำลังจะเกิดขึ้น “พล.อ.อนุพงษ์” ก็ปรารถกับคนใกล้ชิดว่า ถ้าหากถูกปรับ ก็จะไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น เลยทำให้ “พี่ใหญ่ 3 ป.” ไม่กล้ารับตำแหน่ง “มท.1” ด้วยเกรงจะถูกมองว่าแย่งตำแหน่งสำคัญ จาก “น้องรอง” แม้ที่ผ่านมา การทำงานของ “รมว.มหาดไทย” ภายใต้การนำของ “พล.อ.อนุพงษ์” ไม่เคยทำให้พรรคแกนนำรัฐบาล ได้ประโยชน์ทางการเมือง

ทั้งหลายทั้งปวงที่ส่งผลให้รัฐบาล และ “พปชร.” อยู่ในภาวะระส่ำระส่าย ตกเป็นรองทางการเมือง สาเหตุสำคัญมาจาก ความสัมพันธ์ “3 ป.” ที่มีปัจจัยภายนอกเข้ามาแทรกซ้อน จนทำให้หลายคนเริ่มคิดถึงชะตากรรม “พรรคสามัคคีธรรม” ที่เกิดขึ้นภายหลัง คณะรักษาควาสงบแห่งชาติ (รสช.) เข้ามายึดอำนาจรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือนก.พ.2534 และมีการจัดตั้งพรรคการเมองเข้ามาสืบทอดอำนาจ แต่ในสุดก็ต้องล้มหายด้วยระยะเวลาอันสั้น หลังประชาชนออกมาต่อต้าน “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” ทำให้อยู่ตำแหน่งนายกฯได้เพียง 35 วัน

จากนี้ไปต้องรอดูว่า เมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญวิกฤติ “3 ป.” จะเรียนรู้บทเรียนในอดีต เพื่อไม่ให้หนทางเดินต่อไปข้างหน้า นำพาสู่ไปจุดจบ จนทำให้คนลืมสิ่งดีๆ ที่ทำไว้ในอดีต

…………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img