วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“พรรคพลังประชารัฐ”ฝ่ากระแสขาลง!! ลบคำปรามาส-อาจเหลือส.ส. 30 ที่นั่ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พรรคพลังประชารัฐ”ฝ่ากระแสขาลง!! ลบคำปรามาส-อาจเหลือส.ส. 30 ที่นั่ง

ถ้าถามคอการเมือง หรือใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง หลายคนคงเห็นตรงกัน นอกจาก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต้องลุ้นจำนวนส.ส. จะได้น้อยกว่าเดิมหรือไม่ (52 ที่นั่ง) พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคแกนนำรัฐบาล ก็อาจต้องเผชิญชะตากรรม ไม่แตกต่างจากพรรคการเมืองเก่าแก่ ที่ถูกยกให้เป็นสถาบันการเมือง

นอกจากจะมีแต่ข่าวส.ส.ไหลออกไม่เว้นแต่ละวัน บ้างก็หันไปซบแกนนำฝ่ายค้าน อีกหลายคนก็ยังถูกเครือข่ายเดียวกันเองอย่าง พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) คอยดูด-คอยดึงไม่เว้นแต่ละวัน แม้กระทั่ง “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการพรรคพปชร. ก็มีข่าวเตรียมย้ายไปสังกัดพรรคน้องใหม่ ถ้า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา” ตกปากรับคำ ยอมร่วมงานกับ “รทสช.”

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากพรรคพปชร. จัดงานสัมมนา ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ภายใต้ชื่องาน “พลังประชารัฐ พลังคนสร้างชาติ เพราะมีคุณ จึงมีพรรค” เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังมีข่าวตามมา ทำนองว่า จะมีส.ส. กรุงเทพมหานคร (กทม.) 4 คน ประกอบด้วย “จักรพันธ์ พรนิมิตร” ประธาน ส.ส.กทม. “กษิดิ์เดช ชุติมันต์” “พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์” “ประสิทธิ์ มะหะหมัด” ย้ายไปสังกัด พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ส่วน “กานต์กนิษฐ์ แห้วสันติ” ส.ส.กทม.จะย้ายไปร่วมงานกับ พรรคเพื่อไทย (พท.)

อีกทั้งยังมีข่าว ส.ส.กาญจนบุรี พรรคพปชร. รวมไปถึง “สีหเดช ไกรคุปต์” พี่ชาย “ปารีณา ไกรคุปต์” อดีตส.ส.ราชบุรี จะลงสมัครส.ส.ราชบุรีในนามพรรคภท. ทั้งที่ใครตามข่าวสารการเมือง ก็คงรู้ที่ผ่านมา “ปารีณา” มักออกมาปกป้อง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ หัวหน้าพรรคพปชร. มาตลอด หรือว่าเมื่อถึงเวลาการเลือกตั้ง ระหว่างความรักความผูกพัน กับ ความอยู่รอดทางการเมือง ต้องแยกออกจากกัน นาทีนี่ต้องชิงเอาตัวรอดก่อน

และอย่าลืมพรรคแกนนำรัฐบาล ยังต้องเผชิญวิบากกรรม ภายหลัง “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบ กรณีเงินบริจาค 3 ล้านบาท จาก นายทุนชาวจีน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงชื่อดังย่านยานนาวา ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ ซึ่งยังไม่รู้ว่า บทสรุปจะจบลงอย่างไร???

แม้มีข่าวพรรค พปชร. ได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่า บุคคลที่ตกเป็นข่าวนั้น มีสัญชาติไทยถูกต้องตามกฎหมาย และ ไม่มีคดีติดตัว หรือถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ในช่วงเวลาที่บริจาค รวมถึงจำนวนเงินที่บริจาคไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนด

ในส่วนของแหล่งที่มาของเงินนั้น ทางพรรค พปชร. ทราบว่า มาจากการประกอบธุรกิจ ดังนั้นจึงจัดทำรายงาน ที่ประกอบด้วยเอกสาร หลักฐานต่างๆ รวมถึง สำเนาบัตรประชาชนของผู้บริจาคส่งให้กับทาง กกต. แล้ว ตั้งแต่เมื่อปี 64 ซึ่งถือว่ารายงานดังกล่าวครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว และมั่นใจว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายทุกประการ

โดยพปชร. ไม่ได้กังวลถึง กระบวนการตรวจสอบ ไม่ได้เตรียมการรับมืออะไรเป็นพิเศษ แม้ทางกกต. จะตรวจสอบ แหล่งที่มาของเงินบริจาคว่า ได้มาถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ตรงนั้นถือว่าไม่เกี่ยวข้องกับทางพรรคแล้ว เป็นเรื่องที่กกต. ต้องดำเนินการร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้ากกต.ยังไม่ได้ชี้ชัดว่า คำร้องดังกล่าวมีบทสรุป ทุกอย่างต้องถือว่า เป็นการคาดเดา อาจเป็นผลดีหรือผลร้ายกับ “พรรคพปชร.” ก็ได้

ในขณะที่ เลขาธิการกกต.” ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ตั้งคณะทำงานไต่สวนและสืบสวน ขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยขั้นตอนการทำงานทางคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐาน รวมทั้งเรียกผู้ร้องและผู้ถูกร้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ภายในกรอบระยะเวลา 30 วัน แต่หากไม่แล้วเสร็จ ทางคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน สามารถขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 30 วัน

เพื่อรวบรวมข้อมูลเอกสารหลักฐานและพยานให้ครบถ้วนก่อนจัดทำเป็นความเห็นเสนอต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองและรายงานเข้าที่ประชุมกกต.พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ตามพ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดเรื่องการรับบริจาคเงินของพรรคการเมืองไว้ ต้องไม่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 74 และจำนวนเงินที่บริจาคต้องไม่เกิน 10 ล้านบาท

ขณะที่กิจกรรมของสัมมนาของพรรคพปชร. มีแกนนำและส.ส. เข้าร่วมรวม80 คน รวมถึงว่าที่ผู้สมัครส.ส. ร่วมงาน อาทิ “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” เหรัญญิก “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค “นิโรธ สุนทรเลขา” ส.ส.นครสวรรค์ และประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) รัฐบาล ทั้งนี้สื่อหลายสำนักรายงานตรงกัน การจัดสัมมนาครั้งนี้ มีแกนนำระดับรัฐมนตรีพรรค เข้าร่วมงานบางตา ขณะที่ “อันวาร์ สาและ”  ส.ส.ปัตตานี พรรคปชป. ซึ่งมีข่าวจะเข้าร่วมงานกับ พปชร.เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

น่าสังเกตว่า “พล.อ.ประวิตร” เดินทางมาร่วมสัมมนาครั้งนี้ โดยกล่าวกับสมาชิกพรรคที่เข้ารวมกิจกรรมตอนหนึ่งว่า “คนที่ผ่านการกลั่นกรองคัดเลือกเป็นว่าที่ผู้สมัครส.ส. ต้องภูมิใจที่มีคุณสมบัติของพรรค ได้รับเลือก ขอให้ขยันลงพื้นที่ ดูแลประชาชนอย่างจริงจัง และใกล้ชิดให้มากที่สุด ส่วนส.ส.เก่าจะได้สิทธิลงสมัครได้เลยโดยไม่ต้องผ่านกรรมการสรรหา 

เพราะถือว่าผ่านการทำงานให้พรรคมาตลอด 4 ปี ย่อมรู้ว่า พรรคดำเนินการอย่างไร ให้ประโยชน์และเสียประโยชน์อย่างไร ขอให้ทุกคนลงพื้นที่ตั้งแต่ตอนนี้ ให้ทุกคนทุ่มเทเสียสละเสียทำการเมืองเพื่อประโยชน์อย่างแท้จริง ทำเพื่อประเทศชาติเราให้พัฒนา เจริญรุ่งเรืองต่อไป 

เราจะต้องทำให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของส.ส.ทุกคนอยู่ดีกินดี ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในพรรคพปชร.และเชื่อมั่นในส.ส. และอย่าชักช้าให้ลงพื้นที่ เพราะถึงอย่างไรก็เลือกตั้งแน่นอน ไม่มีทางเป็นได้ที่จะเป็นอย่างอื่น เราเชื่อมั่น และมั่นใจส.ส.และเชื่อมั่นในพรรค เราพร้อมสนับสนุนพื้นที่ และ หาเสียง เราพร้อมใจกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ขอให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจด้วย ความรักความสามัคคี ช่วยเกลือเกื้อกูลนำพาพรรคให้ก้าวเดินอย่างมั่นคงต่อไป เพื่อความสงบสุขและเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ขออวยพรให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการหาเสียงและรับเลือกตั้งทุกคน และหวังว่าทุกคนจะต้อง ได้เป็นส.ส.ทุกคน

อีกทั้งหัวหน้าพรรคพปชร. ยังได้มีการวางนโยบายขับเคลื่อนและสานต่อ 3 พันธกิจหลัก ที่ประกอบด้วย 1.สวัสดิการประชารัฐ : ขจัดความเหลื่อมล้ำ 2.เศรษฐกิจประชารัฐ : สร้างความสามารถและโอกาสที่เท่าเทียม และ 3.สังคมประชารัฐ : สงบสุข เข้มแข็ง แบ่งปัน ซึ่งเป็นนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชน อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำนโยบายที่สอดรับกับความต้องการประชาชน และการเลือกตั้งที่จะมาถึงในอนาคต เป็นการมุ่งเน้นในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนให้กินดี อยู่ดี 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญ ต้องรอการออกมาชี้แจงจุดยืนทางการเมืองของ “พล.อ.ประยุทธ์” ภายหลัง การประชุมเอเปค 2022 เสร็จสิ้นลง หัวหน้ารัฐบาลจะเลือกเส้นทางไหน ถ้าจะเดินไปต่อกับ “พรรค รทสช.” จะมี ส.ส.พรรคพปชร. ทิ้งต้นสังกัด และร่วมเดินตามไปกับหัวหน้ารัฐบาลมากแค่ไหน กระแสความนิยมพรรคแกนนำรัฐบาลจะเป็นอย่างไร  

โดยเฉพาะบรรดา หัวหน้ากลุ่มก๊วนในพรรค จะยังอยู่ในพรรคต่อหรือไม่ โดยเฉพาะ กลุ่มสามมิตร กลุ่มปากน้ำ  กลุ่มสุชาติ ตันเจริญ และ กลุ่มกทม. ซึ่งถ้าบรรดากลุ่มก๊วนต่างๆชิ่งหนี “พปชร.” และ “น้องตู่” ตัดสินใจแยกทางกับ “พี่ป้อม” เป้าหมายที่ตั้งไว้ 150 ที่นั่ง อาจเหลือส.ส.เพียง 30 ที่นั่ง ซึ่งถือว่าลดลงอย่างน่าใจหาย ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งเมื่อปี 62 พรรคแกนนำรัฐบาลได้จำนวนส.ส. ถึง 116 ที่นั่ง

แม้หลายคนจะมอง “พปชร.” สามารถร่วมรัฐบาลได้ทั้งสองขั้ว ไม่ว่า “พรรคพท.” หรือ “พรรคภท.” เป็นแกนนำรัฐบาล อันเนื่องมาจาก “บิ๊กป้อม” มีคอนเนคชั่นกับสภาสูง อีกทั้งแกนนำพรรคฝ่ายค้านยังต้องการให้ “พี่ใหญ่ 3 ป.” ช่วยประสานงานกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เวลามีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องได้เสียง กึ่งหนึ่งของรัฐสภาฯ (376 เสียง)

ขณะที่ “พรรคภท.” ซึ่งถูกจับตามองว่า จะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ในการเลือกตั้งกับแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ถ้าหากขั้วอำนาจฝ่ายบริหารปัจจุบัน ได้เสียงเกินครึ่ง ก็คงได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ส่วนใครจะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ก็คงขึ้นอยู่กับเจรจาและต่อรอง “พล.อ.ประยุทธ์” ยังต้องการจะรับตำแหน่งนายกฯในช่วง 2 ปี ที่เหลืออีกหรือไม่         

การเมืองไทยนับจากนี้ ยากจะคาดเดาจริงๆ  โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง “พี่ใหญ่” กับ “น้องเล็ก” ถ้าถึงจุดที่ต้องแยกกันเดินจริง จะเป็นยุทธศาสตร์ “ลับ-ลวง-พราง” หรือผลประโยชน์ทางการเมือง จะสามารถทำให้ สัมพันธ์ “พี่น้อง” ที่คลานตามกันจากกองทัพ ต้องขัดแย้งจนมองหน้ากันไม่ติดไปได้

………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย..“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img