วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“บิ๊กตู่”เลือกยุบสภาฯกลางมี.ค. เปิดทางส.ส.ย้ายพรรค มุ่งสู่การเลือกตั้ง 7 พ.ค.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“บิ๊กตู่”เลือกยุบสภาฯกลางมี.ค. เปิดทางส.ส.ย้ายพรรค มุ่งสู่การเลือกตั้ง 7 พ.ค.

หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้แล้ว คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2566 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2566  ใครที่อยู่ในแวดวงการเมือง เริ่มนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

หลายคนเลยจับตามองไปที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะตัดสินใจยุบสภาฯเมื่อไหร่ ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้นกับกระบวนการรัฐสภา องค์ประชุมล่มเกือบทุกสัปดาห์ หลายคนไม่มั่นใจว่า นับจากนี้ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้เป็นที่หวังอีกต่อไป แต่ความพร้อมของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กตต.) ก็ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกัน ในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญในการจัดเลือกตั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะที่ “อนุชา บูรพชัยศรี” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ชี้แจงในที่ประชุมครม. เรื่องเกี่ยวกับประกาศราชกิจจานุเบกษา​ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา

โดยไทม์ไลน์หลังจากนี้​นั้น ในสัปดาห์แรกของเดือนก.พ. ทางกกต.​ จะมีการออกระเบียบ และประกาศจำนวน 4 ฉบับคือ ระเบียบและประกาศว่าด้วยจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัด, ระเบียบและประกาศว่าด้วยการแบ่งเขต, ระเบียบและประกาศว่าด้วยการทำไพรมารีโหวต และ ระเบียบและประกาศว่าด้วยการจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนประจำจังหวัด

จากนั้น สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนก.พ. ทางกกต.จะมีการ ออกระเบียบการเลือกตั้งฉบับสมบูรณ์ โดยทางครม. ได้มีข้อสังเกตว่า อยากให้มีการออกระเบียบการเลือกตั้งเพียงฉบับเดียว ที่จะมีรายละเอียดทั้งหมด ว่าพรรคการเมืองสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง ในส่วนของผู้สมัคร ส.ส. สิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ ในฉบับเดียว และหลังจากนั้นจะเป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลจะพิจารณาในเรื่องของความเหมาะสม และขึ้นอยู่กับ กกต. จะพิจารณาขั้นตอนต่างๆในการเลือกตั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ทางรัฐบาลได้มีการหารือกับกกต.

ก่อนหน้านั้น หัวหน้ารัฐบาล ได้ออกมาส่งสัญญาณชัดเจนว่า ยังไม่ยุบสภา และให้เวลา กกต.ทำงานไปก่อน นั่นหมายความว่า ในเดือนก.พ.จะยังไม่มีการยุบสภาฯแน่นอน ซึ่งเมื่อวันที่ 30 ม.ค. “แสวง บุญมี” เลขาธิการกกต. ก็ได้เข้าพบ “วิษณุ” ที่ทำเนียบรัฐบาล    

แสวง บุญมี / FB : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

 

“แสวง” ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบมือกฎหมายขอรัฐบาลว่า เป็นการมาพูดคุยเพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทั้งในส่วนของกกต.และพรรคการเมือง ส่วนกรณีที่กกต.ขอเวลา 45 วัน เพื่อเตรียมการเลือกตั้งนั้น เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย และ เป็นสิ่งที่กกต.ต้องการ แต่ในทางการเมือง เราก็ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าจะมีการยุบสภาก่อนหมดวาระหรือไม่ แต่หากมีเหตุอะไรเกิดขึ้นก่อน เราก็ต้องมาปรับ

ในช่วงสายวันเดียวกัน สำนักงานกกต. เสนอ ให้ที่ประชุม กกต.ชุดใหญ่ พิจารณากำหนดจำนวนสมาชิก ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดพึงจะมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด โดยพิจารณาจากจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร เมื่อ 31 ธ.ค.2565 ซึ่งมีจำนวน 66,090,475 คน จึงมีจำนวนประชากรโดยเฉลี่ยประมาณ 165,226 คน ต่อจำนวน ส.ส. 1 คน และเสนอร่างประกาศ กกต. ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. …. และแนวทางการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยที่ประชุม กกต.พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน กกต.เสนอทั้ง 2 เรื่อง โดยมีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400  เขต และแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ทั้งนี้สำนักงาน กกต.ส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ก่อนหน้านี้ “เลขาธิการ กกต.” ได้ออกมาวางแนวทางการเตรียมการเลือกตั้งว่า หลังกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับมีผลใช้บังคับ ไม่ว่ารัฐบาลจะยุบสภาหรืออยู่ครบวาระ กกต.จำเป็นต้องมีระยะเวลาในการเตรียมการสำหรับการจัดการเลือกตั้งราว 45 วัน

โดยแบ่งเป็นเวลาสำหรับ กกต. ในขั้นตอนของการพิจารณาและประกาศระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส 400 เขต การดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง และการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด การพิจารณาเลือกรูปแบบการแบ่งเขตของ กกต. ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 25 วัน และเวลาสำหรับพรรคการเมือง ซึ่งจะต้องดำเนินกระบวนการคัดสรรผู้สมัคร ส.ส. การจัดทำไพรมารีโหวต ซึ่งจะใช้เวลาอีก 20  วัน  

โดยไทม์ไลน์การเตรียมการเลือกตั้งของ กกต. หลังจากนี้ จะเริ่มสตาร์ทด้วยการออกระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิ ระเบียบกกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ…. ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดและขั้นตอนในการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง

ทั้งนี้เมื่อมีระเบียบดังกล่าวแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการแบ่งเขต โดย กกต. ประกาศกำหนด จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี โดยคำนวณจากจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง  ซึ่งได้ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 30 ม.ค.แล้ว

การเลือกตั้ง

ภายหลังจาก กกต. ประกาศกำหนด ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีแล้ว ในส่วนของจังหวัดที่มี ส.ส. 1 คน จะยึดเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง (ไม่มีการแบ่งเขต) ส่วน จังหวัดที่มี ส.ส.ได้เกิน 1 คน จะมีการแบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวน ส.ส.พึงมี โดยให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้ง (กระบวนการนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 7 วัน)

จากนั้นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้ง จะประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง อย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด เป็นเวลา 10 วัน

เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด ประกอบการพิจารณาการแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง แล้วให้เสนอผลการพิจารณา รวบรวมสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด

พร้อมผลการพิจารณาข้อเสนอแนะ การแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัดอย่างน้อยสามรูปแบบเรียงตามลำดับความเหมาะสมต่อ กกต. เพื่อพิจารณาต่อไป (กระบวนการนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 7 วัน) และเมื่อ กกต.ได้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว จะมีการประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา

ดังนั้น หากยึดตามกรอบเวลา 45 วันดังกล่าว นับคำนวณกับเวลาที่เหลืออยู่ของสภา ก็จะพบว่า นับตั้งแต่วันที่  15 มี.ค.เป็นต้นไป จะถือเป็นช่วงเวลาปลอดภัย สำหรับการจัดการเลือกตั้ง ที่ไม่ว่ารัฐบาลจะมีการยุบสภา หรือจะอยู่ครบวาระในวันที่ 23 มี.ค. ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องของการจัดการเลือกตั้ง

นอกจากนั้นช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการยุบสภา (หากไม่นับรวมเงื่อนไขทางการเมือง) เพราะจะส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเรียบร้อย และยังเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับวันครบวาระสภา ซึ่งสอดรับกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่ว่า จะมีการยุบสภาในช่วงกลางเดือนมี.ค.2566 ก่อนจะครบวาระสภา

อย่าลืม ถ้ามีการยุบสภาฯเกิดขึ้น ก็จะทำให้เงื่อนไขการเป็นสมาชิกพรรคก่อนวันเลือกตั้ง ลดลงเหลือเพียง 30 วันทำให้ส.ส.ที่ต้องการย้ายพรรค ยังสามารถย้ายพรรคหลังยุบสภาได้ทันก่อนวันเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต. ต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน นับจากวันยุบสภาฯ และการยุบสภายังทำให้ส.ส.ที่ต้องการย้ายพรรคไม่เสียเปรียบส.ส.คนอื่นที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ เนื่องจากทุกคนสิ้นสภาพการเป็น ส.ส. พร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกต. ได้เตรียมแผนการเลือกตั้งกรณีสภาผู้แทนราษฎร ครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.2566 แล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาสิ้นอายุ โดยเบื้องต้นนับจากวันที่ 23 มี.ค.2566 ที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง วันที่ 30 มี.ค.2566 จะเป็นวันสุดท้ายที่คาดว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้

จากนั้นวันที่ 31 มี.ค.2566 กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง และประกาศกำหนดวันรับสมัคร โดยวันที่ 3-7 เม.ย.2566 เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส., วันที่ 11 เม.ย.2566 วันสุดท้ายของการประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง และที่เลือกตั้ง และเป็นวันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จากนั้นวันที่ 14 เม.ย.2566 ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครส.ส. วันที่ 16 เม.ย.2566 สรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง, วันที่ 26 เม.ย.2566 เป็นวันสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้งและสถานที่เลือกตั้ง รวมถึงวันสุดท้ายของการเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ

โดยวันที่ 30 เม.ย.2566 เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง และนอกเขตเลือกตั้ง รวมทั้งแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนวันที่ 1-6 พ.ค.2566 เป็นระยะเวลาแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยวันที่ 1 พ.ค.2566 ยังจะเป็นวันสุดท้ายยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

คูหาเลือกตั้ง

วันที่ 3 พ.ค.2566 เป็นวันสุดท้าย ศาลฎีกาพิจารณาสิทธิสมัครกรณีผู้อำนวยการ การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัคร, วันที่ 6 พ.ค.2566 เป็นวันสุดท้ายที่ผอ.เลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ยื่นคำร้องศาลฎีกา กรณีผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม และ วันที่ 7 พ.ค.2566 เป็นวันเลือกตั้งส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป, วันที่ 8-14 พ.ค.2566 เป็นวันแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

นอกจากนั้นยังมีการกำหนดแผนการเลือกตั้งกรณีเกิดการยุบสภา ซึ่งกกต.จะต้องกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 103  กำหนด โดยมีการกำหนดระยเวลาคร่าวๆ นับเริ่มจากมีการยุบสภา ซึ่งภายใน 5 วันนับแต่วันมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา กกต. จะต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป และวันสมัครรับเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้หลังการเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง กกต.จะมีการประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ภายใน 7 วัน นับแต่วันปิดรับสมัคร ทั้งนี้วันที่คาดว่าเป็นวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันยุบสภา ซึ่งมีรายงานข่าวว่า การเลือกตั้งอาจตรงกับวันที่ 7 พ.ค.2566

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากแผนจัดการเลือกตั้งที่ กกต.วางไว้ ประกอบกับเงื่อนไขกรอบเวลา 45 วันในการเตรuยมจัดการเลือกตั้ง คงต้องบอกว่า…ไม่ว่าจะมีการยุบสภา หรือ สภาอยู่ครบวาระ การเลือกตั้งครั้งใหม่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพ.ค.2566 แน่นอน

………………………….

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”  

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img