วันพุธ, เมษายน 24, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSผลเลือกตั้ง 2566 ชี้อนาคต“ปชป.” ลุ้น“มาร์ค”รีเทิร์น-รับบท“ผู้นำทัพ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ผลเลือกตั้ง 2566 ชี้อนาคต“ปชป.” ลุ้น“มาร์ค”รีเทิร์น-รับบท“ผู้นำทัพ”

ไม่บ่อยครั้งนัก ที่ “พรรคประชาธิปัตย์” (ปชป.) จะไม่ถูกจัดให้เป็นขั้วการเมือง ที่มีโอกาสได้เป็นแกนนำรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง แต่กระบวนการคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อตัดสินใจเลือกฝ่ายบริหารเข้ามาทำหน้าที่ดูแลประเทศ ซึ่งจะเกิดขี้นอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เป็นปรากฎการณ์ครั้งหนึ่ง ที่พรรคการเมืองเก่าแก่อยู่ในสภาพเพียงต้องรักษาที่นั่งเดิม 52 ที่นั่งไว้ให้ได้ จากผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ไม่อยู่ในอยู่ในสถานะชิงความเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล

แม้แกนนำพรรคเก่าแก่ จะมั่นใจถึงขนาด “เสี่ยต่อ-เฉลิม ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรค กล้าเดิมพัน โดยเอาอนาคตทางการเมืองของตนเองมาเป็นเครื่องสังเวย แต่ก็ยังไม่ทำให้คนติดตามการเมืองมีความมั่นใจ เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่เอื้ออำนวยให้ “ปชป.” คว้าส.ส.ได้ตามเป้าหมาย แม้กระทั่งฐานเสียงสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ ก็ยังมีแนวโน้ม จะถูกแย่งชิง จากพรรคการเมืองต่างๆ อีกทั้งล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า   จากการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ทำให้ส.ส.จำนวนภาคใต้เพิ่มจากเดิม 58 ที่นั่ง เป็น60 ที่นั่ง โดยเพิ่มที่นครศรีธรรมราช 1 ที่นั่ง และปัตตานี 1 ที่นั่ง

ขณะที่เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา เวลา 14.30 น. ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง พรรคปชป. โดย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะ หัวหน้าพรรค พร้อมคณะ อาทิ “องอาจ คล้ามไพบูลย์” รองหัวหน้าพรรคฯ ดูแลพื้นที่กทม. จัดงาน “รวมพลังประชาธิปัตย์ กทม.” ภายใต้แนวคิด “ประชาธิปัตย์=ประชาชน DEM FOR ALL” เพื่อเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ใน 33 เขตเลือกตั้งของกรุงเทพมหานคร และประกาศความพร้อมสำหรับการแข่งขันในพื้นที่กทม.

พรรคประชาธิปัตย์เปิดตัว 33 ว่าที่ผู้สมัครส.ส.กทม.

โอกาสนี้หัวหน้าพรรคปชป.  ได้กล่าวแสดงจุดยืนของพรรค 3 ข้อ คือ 1.จะเป็นพรรคการเมืองที่ไปข้างหน้า   เพื่อเป็นสถาบันการเมืองที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ไม่ใช่พรรคการเมืองเฉพาะกิจที่มาแล้วไป 2.พรรคจะเดินหน้าพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย เป็นเสาหลัก ยึดมั่นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาธิปไตยสุจริต และเป็นประชาธิปไตยที่พร้อมอิ่ม คือการมีประชาธิปไตยที่ต้องแก้ปัญหาปากท้องประชาชน โดยพรรคปชป.มี นโยบาย “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” และ 3.พรรคปชป.ประกาศไม่เอาธนกิจการเมือง ไม่เอาการเมืองที่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง เพราะนั่นเป็นต้นตอของการถอนทุนคืน การคอร์รัปชั่น และนำพาประชาธิปไตยไปสู่หายนะในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การเปิดตัว ว่าที่ผู้สมัครส.ส.กทม. “เฉลิมชัย” ไม่ได้มาร่วมงานด้วย เนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคปชป. ที่นำพาพรรคพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 62 และเป็น อดีตส.ส.กทม. ของพรรค ก็ไม่ได้มาร่วมกิจกรรมด้วยเช่นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ “จุรินทร์” กล่าวหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ส่งสัญญาณในที่ประชุม ครม.จะยุบสภาในเดือนมี.ค.ว่า ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง จะเชิญอดีต 3 หัวหน้าพรรค คือ 1.ชวน หลีกภัย 2.บัญญัติ บรรทัดฐาน และ 3.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคนอกเหนือจากผู้สนใจลงสมัครท่านอื่นๆ และจะเชิญเข้าร่วมรณรงค์หาเสียงให้กับพรรคต่อไปด้วย เพราะอดีตหัวหน้าพรรคทั้ง 3 ท่าน เป็นบุคคลากรที่มีศักยภาพเปี่ยมด้วยประสบการณ์และมีคุณค่าสำหรับพรรคซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการที่จะช่วยให้พรรคได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้นต่อไป

ด้าน “อภิสิทธิ์” ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมใหญ่สามัญพรรคปชป. ประจำปี 2566 กรณีหัวหน้าปชป. เตรียมเทียบเชิญให้มาช่วยหาเสียงเลือกตั้งว่า ยังไม่ได้รับการเทียบเชิญ และไม่ทราบว่าจะได้พูดคุยวันนี้หรือไม่

เมื่อถามว่า จะลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงหรือไม่ “อภิสิทธิ์” กล่าวว่า เรื่องแบบนี้เขาไม่ตอบผ่านสื่อ คงต้องพูดคุยกับนายจุรินทร์เสียก่อน และได้ผลอย่างไรจะเรียนให้ทราบต่อไป ขอฟังหัวหน้าพรรคก่อน ว่ามีแนวคิดอย่างไร คาดหวังอะไร กับการที่จะให้ตนไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องฟังเหตุฟังผลกันก่อน

เมื่อถามว่า ส่วนตัวอยากลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.หรือไม่ “อภิสิทธิ์” กล่าวว่า ไม่ใช่ความอยากจะลงหรือไม่ลง ความจริงตนทำอาชีพนักการเมืองมาตั้งแต่ต้น และทำงานสภาอย่างจริงจัง ครั้งที่แล้วลาออกจากหัวหน้าพรรคและส.ส. เพื่อรักษาคำพูดแสดงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่จะเป็นปัจจัยอยู่ที่เราจะทำประโยชน์ให้ส่วนร่วมทั้งประเทศและพรรค ด้วยวิธีการใดจะเหมาะสมที่สุด คงไม่ใช่เพราะเรื่องความอยาก แต่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่าทำตัวให้เป็นประโยชน์ ต่อส่วนร่วมมากที่สุด ด้วยวิธีใด อย่างไร

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เมื่อถามต่อว่า โอกาสที่พรรคจะเป็นรัฐบาลไม่ง่าย “อภิสิทธิ์” กล่าวว่า ได้เป็นหรือไม่ได้เป็นรัฐบาลไม่ใช่ปัญหา พูดเสมอว่านักการเมือง พรรคการเมืองที่เป็นสถาบันต้องพร้อมเป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน การทำหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเข้มแข็ง เป็นประโยชน์ทั้งสิ้นกับส่วนร่วม เพราะฉะนั้นไม่มีเงื่อนไข ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่ต้องพิจารณาตัวเราว่ามีความคิดความอ่านอย่างไร แนวทางในทางการเมืองพรรคเป็นอย่างไร สถานการณ์การเมืองการเลือกตั้งเป็นอย่างไร จะทำประโยชน์ที่ดีที่สุดด้วยวิธีใด

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีสัญญาณระบุว่า จะมีการพูดคุยระหว่าง “จุรินทร์” และ “อภิสิทธิ์” หรือทั้งสองฝ่าย มีปมอยู่ในใจ เพราะต้องยอมรับว่า ในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 62 อดีตหัวหน้าพรรคปชป. ได้ประกาศจุดยืนในระหว่างการหาเสียง ไม่สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีส่วนทำให้พื้นที่เมืองหลวง พรรคเก่าแก่ไม่เหลือส.ส.อยู่เลย ส่วนพื้นที่ภาคใต้ก็เหลือได้ส.ส.มาเพียง 22 ที่นั่ง ซึ่งสวนทางกับการเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมา   

แม้ว่าแกนนำพรรคปชป.จะมั่นใจว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะได้ส.ส.มากกว่าเดิ แต่ต้องไม่ลืม จากผลสำรวจโพลหลายสำนัก ทั้งในกทม.และภาคใต้ พบชาวบ้านยังให้ความนิยม “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่เป็นลำดับต้นๆ ยิ่งครั้งนี้ประกาศร่วมงานกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะได้รับการสนับสนุนในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด อีกทั้งยังได้ดึงส.ส.ของพรรคปชป. ไปร่วมงานด้วย บวกรวมกับหลายพรรคการเมือง ต่างมีเป้าหมายในการแย่งชิงส.ส.  ในพื้นที่ภาคใต้ ทั้ง พลังประชารัฐ (พปชร.) ภูมิใจไทย (ภท.) ประชาชาติ (ปช.) แม้กระทั่ง เพื่อไทย (พท.) ซึ่ง พรรคปชป. จะไปหวังกินบุญเก่าจากอดีต ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบริบททางการเมืองเปลี่ยนไป

ซึ่งทั้ง “ชวน” และ “บัญญัติ” ก็คงช่วยพรรคต้นสังกัดอย่างเต็มที่ แต่ในส่วน “อภิสิทธิ์” เชื่อว่าหลายคน ทั้งและนอกพรรคไม่มั่นใจ อีกทั้งการหาเสียงในการเลือกตั้ง เชื่อว่าคงยากที่พรรคเก่าแก่จะไปรวมงานกับ พท. ดังนั้นก็คงต้องคำนึงถึงพันธมิตรภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งหากพรรคร่วมรัฐบาลร่วมเสียงได้เกินครึ่ง ก็อาจกลับมารวมกันได้อีก

ดังนั้นถ้า “อภิสิทธิ์” ต้องมารับบทขุนพลปราศรัย และยืนยันว่า พรรคปชป. ไม่ควรสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯอีก ประวัติศาสตร์อาจซ้ำร้อย เหมือนการเลือกตั้งปี 62 อาจทำให้ชาวบ้านหันไปเลือกพรรคอื่น และต้องไม่ลืมว่า ถ้าพรรคปชป.ได้จำนวนส.ส. น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ผู้บริหารพรรคปชป.ชุดปัจจุบัน ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ

ซึ่งก็ต้องมีการเลือกผู้บริหารชุดใหม่ นั่นหมายความว่า “อภิสิทธิ์” ก็มีสิทธิ์ในการกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคเก่าแก่อีกครั้ง ซึ่งส.ส.พรรคปชป.หลายคนเชื่อว่า อดีตหัวหน้าพรรคปชป.รายนี้ อยากกลับมาแก้มือ นำทัพเลือกตั้ง หวังลุ้นเก้านายกฯครั้งที่สอง ซึ่งมีข่าวภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 62 “อภิสิทธิ์” ก็พยายามหาเสียงสนับสนุน ให้ตนเองได้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

จากนี้ต้องรอในช่วงโค้งสุดท้าย ต้องรอดู “จุรินทร์” และ ผู้บริหารพรรคปชป. จะโชว์ทีเด็ดในช่วงโค้งสุดท้ายอย่างไร หลังได้ประกาศ 8 นโยบาย ที่จะผลักดันหากได้กลับมาเป็นฝ่ายบริหาร ได้แก่

1.ต่อยอดจากความสำเร็จของการประกันรายได้ ทั้ง (ข้าว มัน ยาง ปาล์ม และข้าวโพด)

2.สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวนา

3.ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน

4.สร้างความเข้มแข็งในฐานรากให้ชาวประมง ด้วยการให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรประมงกลุ่มละ 100,000 บาทต่อปี ทุกกลุ่ม ทั้ง 2,800 กว่ากลุ่ม

5.ประมงพาณิชย์ จะปลดล็อกประมงพาณิชย์ ภายใต้ IUU

6.ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาของพี่น้องที่ไม่มีที่ดินทำกิน อยู่ในที่รกร้างว่างเปล่า

7.ออกกรรมสิทธิ์ทำกินให้กับเกษตรกรที่อยู่ในที่ดินประเภทต่าง ๆ

8.ธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาททั้งประเทศ

ด้าน “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรคปชป. และผู้อำนวยการเตรียมการเลือกตั้งยุทธศาสตร์ของปชป. ในฐานะดูแลจังหวัดชายแดนใต้  ได้วางยุทธศาสตร์ไว้คือ จะทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางด้านอาหาร ไม่ว่าจะเรื่องประมง การเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง หรือปศุสัตว์ต่างๆ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเสริมเรื่องนี้มาตลอด

โดยการส่งเสริมให้ประชาชนรวมกลุ่มเลี้ยงโค ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเลี้ยงโคลังกาสุกะ หรือหาแหล่งทุนต่างๆ มอบให้กลุ่มเกษตรกรทำการเลี้ยงปลาหรือโค ตลอดจนถึงการทำการเกษตรพืชสวน ทำนาร้างให้เป็นนาข้าว สิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ และเชื่อว่าจังหวัดชายแดนใต้จะคืนสู่สันติสุขอย่างแท้จริง

นิพนธ์ บุญญามณี

“ยืนยันว่าวันนี้ พวกเราในจังหวัดชายแดนใต้พร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง และนำเอายุทธศาสตร์ของพรรคปชป. ไปสู่การแก้ปัญหา นำสันติภาพมาสู่จังหวัดชายแดนใต้ นำสันติสุขมาสู่พื้นที่อย่างแท้จริง ดังนั้น ในนามของผู้สมัคร ในนามพรรคปชป. ยืนยันกับประชาชนว่า การจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ ต้องพูดถึงเรื่องสันติภาพ ให้เข้าใจตรงกัน บทเรียนในอดีตที่เรามีปัญหาในช่วงความเห็นต่าง มันจบลงได้ด้วยการพูดคุยกัน จบลงได้ด้วยนโยบายการเมืองที่ชัดเจน” นิพนธ์ กล่าว

ต้องยอมรับ ผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ถือเป็นบททดสอบสำคัญ ของ พรรคการเมืองเก่าแก่ ที่ถูกยกให้เป็นสถาบัน ท่ามการแข่งขันและความท้าท้ายของ สภาพการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งบทสรุปที่เกิดขึ้นจะชี้ให้เห็นถึง อนาคตของ ปชป.

……………….

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย….“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img