วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSพรรคร่วมฯโดดเดี่ยว‘พปชร.’ “เรือเหล็ก” เริ่มมีรอยปริร้าว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

พรรคร่วมฯโดดเดี่ยว‘พปชร.’ “เรือเหล็ก” เริ่มมีรอยปริร้าว

แม้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามจะอ้างว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) เป็นเรื่องของรัฐสภา แต่พลผวงจากกระบวนแก้ไขกฎหมายแม่บท ในการปกครองประเทศที่ต้องตกไป หลังไม่ได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภา ก็เริ่มกลายเป็น ปัญหากระทบกระทั่ง ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

โดยเฉพาะ “พลังประชารัฐ” (พปชร.) แกนนำรัฐบาล ซึ่งแทบทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ไม่ต้องการแก้ไขกลไกสำคัญทางกฎหมาย ด้วยเชื่อว่า รธน.60 จะสร้างความได้เปรียบทางการเมืองอย่างมากมายมหาศาล โดยเฉพาะเนื้อหาในมาตรา 272 กำหนดให้อำนาจสมาชิกวุฒิภา (ส.ว.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี  ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล ที่ให้อำนาจสมาชิกสภาสูงไว้ 5 ปี 

www.thaigov.go.th

ยิ่งมีข่าว “พปชร.” เตรียมผลักดัน “พล.อ.ประยุทธ์” ให้ลงชิงชัยเก้าอี้นายกฯอีกครั้ง แม้ว่าจะเพิ่งฉลองวันเกิดครบรอบ 67 ปีก็ตาม แต่แกนนำรัฐบาลเชื่อมั่นว่า ด้วย นโยบายลดแลกแจกแถม ทั้งสารพัดโครงการ ไม่ว่าจะเป็น คนละครึ่ง, ไทยชนะ, เราชนะ, บัตรคนจน รวมทั้งการผลักดันมาตรการต่างๆออกมา เพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม ในช่วงเผชิญไวรัสร้ายโควิด-19 จนนำไปสู่คะแนนนิยมประชาชน และเป้าหมายที่วาดหวังไว้ 

ก่อนหน้านี้หลายคน ที่อยู่ในขั้วอำนาจใหม่ อาจต้องการไล่ล้าง “ระบอบทักษิณ” ให้หมดสิ้นไปจากระบบการเมืองไทย หวังยุติความขัดแย้งสงครามสีเสื้อ  แต่วันนี้บรรดาขุนศึกนายกอง อาจกำลังมีความสุข กับการยึดครองอำนาจรัฐ ยิ่งกระบวนการ ต่อต้านในสภา และ นอกสภา อ่อนแรงไปตามลำดับ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหว “ม็อบสามนิ้ว” เมื่อคิดเล่นใหญ่ มุ่งโจมตีสถาบัน อีกทั้งยังมีพฤติกรรมจาบจ้วงหยาบคาบ เลยทำให้กระแสตีกลับ ไม่มีใครอยากรวมกิจกรรมด้วย 

อย่างไรก็ตาม  แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะมีความสุข กับการทำงานในฐานะฝ่ายบริหาร พราะมีโอกาสอยู่ครบวาระถึงต้นปี 66  แต่ทั้ง ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภูมิใจไทย (ภท.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) ก็ยังต้องแก้ไขรธน. เพราะมองว่า เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนของพรรคกับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะการให้อำนาจส.ว. โหวตนายกฯ แม้จะเป็นบทเฉพาะการที่กำหนดไว้เพียง 5 ปีก็ตาม

บางพรรคจึงเริ่มแสดงบทผู้นำ เพื่อช่วงชิงการแก้ไขรธน. โดยเฉพาะ “ปชป.” ซึ่งเคยกำหนดเงื่อนเงื่อนไขก่อนเข้าร่วมรัฐบาลกับ “พปชร.” กำหนดว่ารัฐบาลต้องผลักดันนโยบายในการแก้ไขรธน. แม้อำนาจต่อรองจะลดน้อยลง เนื่องจากเสียงส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลห่างฝ่ายค้านมาก  หลัง “อนาคตใหม่” (อนค.) ต้องถูกยุบไป แต่พรรคเก่าแก่ก็ยังหวังกระแสนอกสภาฯ เพื่อสร้างจุดขายให้พรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า หลังเผชิญกระแสตกต่ำ  ในช่วง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับตำแหน่ง หัวหน้า ปชป. 

“นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคปชป. ระบุถึงกล่าวถึงการแก้ไขรธน.ว่า ได้ประสานไปยังพรรคภท. และพรรคชพน.แล้ว เพื่อยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรธน. ในสมัยประชุมหน้า โดยสั่งให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคดำเนินการร่างญัตติแล้ว ซึ่งจะเป็น การแก้แบบรายมาตรา และให้แยกเป็นญัตติและมาตราไป เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกตีตกไปทั้งฉบับอีก คาดว่าจะสามารถยื่นได้ในสมัยประชุมหน้า

นอกจากนี้ พรรคจะแก้รธน.รายมาตรา ตั้งแต่มาตรา 256 กระบวนการแก้ไขรธน. ที่ปรับแก้การกำหนดเสียงเห็นชอบในวาระ 1 และ 3 รวมถึง แก้มาตราอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยแต่ละประเด็นให้แยกเป็นญัตติ ๆ ไป ตามรายมาตรา ซึ่งจะไม่นำมารวมกัน

FB / พรรคประชาธิปัตย์

หัวหน้าพรรคปชป. ยังได้กล่าวถึงกรณีหารือกับพรรคพปชร. ในการร่วมเสนอร่างแก้ไขรธน.ว่า ขึ้นอยู่กับพรรคพปชร. จะพิจารณาอย่างไร อย่างน้อยก็ในฐานะ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อีกทั้งการแก้ไขรธน.ก็เป็นนโยบายของรัฐบาล ที่แถลงต่อสภาอยู่แล้ว ดังนั้นการเสนอร่างหากรวมกับพรรคพปชร.ได้ก็จะดีที่สุด และที่บอกว่ารวม 3 พรรคนั้น เป็นการรวมอย่างน้อย ถ้ารวมอย่างมากได้ก็จะดีที่สุด

จับท่าที “หัวหน้าปชป.” ซึ่งอาจต้องการส่งสัญญาณ ให้พรรคแกนนำรัฐบาลรับรู้ถึงจุดยืนของพรรค กับความมุ่งมั่นในการแก้ไขรธน. เนื่องจากถือเป็นนโยบายรัฐบาล หรือมองอีกมุมก็อาจต้องการโดดเดี่ยว “พปชร.” ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาล และสังคมภายนอกมองตลอดว่า ไม่ต้องการแก้ไขกฎกติกาในการปกครองประเทศ เนื่องจากตนเองได้เปรียบทางการเมือง และเชื่อว่า ปชป.คงพร้อมจะคุยกับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน  เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน 

ขณะที่ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ หัวหน้าพรรคภท. ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนในการแก้ไขรธน.ว่า ภท.แสดงเจตนารมณ์แล้วในเรื่องการแก้ไขรธน. ซึ่งทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย และ ทำตามคำสั่งของศาลรธน. ที่บอกว่าถ้าแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงรธน.ตรงไหน ต้องมีการทำประชามติก่อน แม้ใจเราไม่อยากทำ อีกทั้งคำสั่งของศาลรธน.มีผลผูกพันต่อทุกองค์กรและรัฐสภาด้วย  ทั้งนี้ยืนยันว่าภท. ไม่มีปัญหาเรื่องการแก้ไขรธน. ในมาตราที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย

cr / กระทรวงสาธารณสุข

เมื่อถามถึงกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯในฐานะหัวหน้าพรรคปชป. ระบุว่าได้พูดคุยประสานงานกับภท.และชพน.แล้วในการร่วมกันแก้ไขรธน.เป็นรายมาตรา นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ได้คุยกัน แต่เดี๋ยวค่อยว่ากันในเรื่อง วิธีการหรือเหตุผลใดๆ ซึ่งพรรคเรามีส.ส.ที่ดูแลเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว  

เมื่อถามต่อว่าแสดงว่าพรรค 3 นี้จะจับมือเดินหน้ากันไปก่อนจะพูดคุยกับพรรคพปชร. ใช่หรือไม่ หัวหน้าพรรคภท. กล่าวว่า เรื่องรธน.เป็นเรื่องในสภา รวมถึงเป็น เอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา ส่วนเรื่องการร่วมรัฐบาลถือเป็นเรื่องสปิริต เราต้องชั่งน้ำหนักในแต่ละเหตุการณ์ ด้วยเหตุผลที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง 

แม้ “นายอนุทิน” จะสงวนท่าที การเดินเกมร่วมกับปชป. ในการยื่นร่างแก้ไขรธน. ซึ่งคงไม่อยากให้ผู้มีอำนาจฝ่ายบริหารมองว่า ต้องการกดดัน พปชร. แต่ก็ยังยืนยัน พร้อมจะเดินหน้าแก้ไขกฎหมายแม่บท ให้มีความเป็นประชาธิปไตย เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงจุดยืนของพรรค

เช่นเดียวกับ “นายวราวุธ​ ศิลปอาชา” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชพน. ออกมาให้ความเห็นถึง แนวทางการแก้ไขรธน.เป็นรายมาตราว่า  เป็นเรื่องที่ฝ่ายนิติบัญญัติกำลังหารือกัน และในวันนี้แต่ละพรรคก็มีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป แต่ท้ายที่สุดแล้วผลการแก้ไข ก็ต้องกลับมาร่วมกันทำอยู่ดี ซึ่งทุกพรรคมีเป้าหมายที่ตรงกัน ในการที่จะทำให้รธน.เป็นที่ยอมรับของประชาชน

FB / TOP Varawut – ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา

เมื่อถามว่า ปชป.ได้มีการประสานให้ไปร่วมแก้ไขรธน.ร่วมกันหรือไม่​ นายวราวุธ กล่าวว่า เป็นการพูดคุยในคณะกรรมาธิการ (กมธ) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรธน. เมื่อเสร็จแล้ว แต่ละพรรค ทั้งปชป. ภท. และ​ ชทพ. จะต้องกลับไป พูดคุยในพรรคก่อน จึงต้องรอผลของแต่ละพรรคว่าพิจารณาออกมาอย่างไร​ ในส่วนชพน.​ยังไม่ได้มีการประชุม

ส่วนท่าทีแกนนำรัฐบาล “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ หัวหน้าพรรคพปชร. ให้ความเห็นกรณีมีเสียงเรียกร้อง ให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ในการแก้ไขรธน. ว่า เป็นเรื่องของสภาฯจะให้รัฐบาลเป็นได้อย่างไร สภากับรัฐบาลเป็นคนละเรื่องกัน รัฐบาลให้แก้อยู่แล้ว จะแก้รายมาตรา หรือ แก้ทั้งฉบับ แต่ขอให้เป็นไปตามศาลรธน.วินิจฉัย เมื่อถามว่าตอนนี้ดูเหมือนพรรคร่วมรัฐบาลแตก ต่างฝ่ายต่างเสนอร่างของตัวเอง พล.อ.ประวิตร กล่าวยืนยันว่า ไม่แตก ใครเสนอก็เหมือนกัน จะแก้ไขรายมาตราหรือแก้ทั้งฉบับรัฐบาลก็พร้อมอยู่แล้ว 

ขณะที่มือทำเกมให้รัฐบาลอย่าง “นายไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพปชร. ฝ่ายกฎหมายออกมากล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรธน.ภายหลังการลงมติวาระ 3 ถูกคว่ำไปว่า ได้รวบรวมประเด็นที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรธน.เป็นรายมาตราอยู่ ซึ่งมี 10 กว่ามาตราแล้ว

ทั้งนี้ประเด็นเหล่านี้ตนเคยศึกษาและรวบรวมไว้ ตั้งแต่ตอนเป็น ประธานคณะอนุกมธ.วิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติรธน. ในคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขรธน.ที่ “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” เป็นประธาน แต่หลักการสำคัญประเด็นที่ตนรวบรวมนั้น จะต้องไม่ขัดคำวินิจฉัยของศาลรธน.เป็นประเด็นที่จะแก้ไข ในส่วนที่ ไม่ต้องทำประชามติ หรือเกิดความขัดแย้ง ที่สำคัญจะยังไม่มีการแก้ไขในมาตรา 256 

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า จากนี้จะเดินหน้ารับฟังความเห็นจาก ส.ส.พรรคพปชร. และนำเสนอต่อพรรค ก่อนจะนำไปพูดคุยกับพท. และส.ว. เนื่องจากตนต้องการเสียงสนับสนุนใน การโหวตแก้ไขเพิ่มเติมวาระ 3 และมาตรา 256 ที่ ส.ว.และ พท. อาจมีความเห็นในมุมมองที่ต่างกัน ดังนั้นจำเป็นต้องหารือสร้างความเข้าใจกัน 

“เสียงของพท. และสมาชิกวุฒิสภามีความสำคัญมากในโหวต เพื่อให้การแก้ไขเพิ่มเติมรธน.เป็นรายมาตราครั้งนี้ให้สำเร็จ”และว่า ส่วนพรรคการเมืองอื่นก็สามารถดำเนินการเสนอแก้ไขเป็นรายมาตราได้เช่นเดียวกับพปชร.เช่นเดียวกัน”

หรือการเดิมเกมของ “นายไพบูลย์” ไม่ต้องการให้พรรคร่วมรัฐบาลได้เครดิต อยากให้บทเรียนสั่งว่า การแก้ไขรธน. ต้องอยู่ภายใต้คำบงการของ “พปชร.”และ “วุฒิสภา” เพียงเท่านั้น 

แต่ต้องไม่ลืมว่า การเมืองใครได้ ใครเสียตลอดไป อยู่ที่จังหวะและโอกาสเป็นของใคร แต่ถ้าถึงจุดที่เพื่อนทนไม่ไหว รับไม่ได้ หนทางที่ “นายกฯลุงตู่” จะรีเทิร์น ก็คงตีบตันเช่นเดียวกัน 

…………………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img