วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSเกม“ปิดบ้านป่ารอยต่อ-ล้มนายกฯอิ๊งค์” ได้เวลา…วัดพลัง“บิ๊กป้อม-นายทักษิณ”  
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เกม“ปิดบ้านป่ารอยต่อ-ล้มนายกฯอิ๊งค์” ได้เวลา…วัดพลัง“บิ๊กป้อม-นายทักษิณ”  

แม้จะกลายสภาพเป็นเพียงพรรคการเมืองขนาดกลาง และกำลังจะกลายเป็นพรรคเล็ก แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา “พรรคพลังประชารัฐ” (พปชร) ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้นำพรรค ยังเผชิญวิบากกรรมถาโถมแบบไม่จบไม่สิ้น

โดยเฉพาะ 5 คลิปหลุด ที่เชื่อมโยงถึง “คุณลุงคนดัง” ซึ่งถูกตีความได้ว่า เป็นเสียงของ “พล.อ.ประวิตร” และ “คนใกล้ชิด” แม้เนื้อหาจะไม่ถึงขั้นเอาผิดทางกฎหมาย แต่ในทางการเมือง เวลาพูดเรื่องลับๆ ใครก็มักตีความในทางลบ  

ดังนั้นจึงไม่แปลก เมื่อฝ่ายตรงข้ามจะใช้ช่องทางกฎหมาย หวังดิสเครดิต เพราะเชื่อว่า “พลังประชารัฐ” เป็นจอมยุทธเล่น “เกมนิติสงคราม” เนื่องจากใน “บ้านป่ารอยต่อ” อุดมไปด้วย “นักร้อง” ที่ประมาทไม่ได้ ทั้ง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เลขาธิการพรรค และ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ”

ซึ่ง “บุคคลทั้งสอง” เคยล้มทั้ง “อดีตนายกฯ” และ “ยุบพรรคการเมือง” มาแล้ว อีกทั้งแค่ช่วงแรกที่ “อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เพิ่งเข้ามาบริหารงานยังไม่ครบเดือน ก็มีคำร้องที่เกี่ยวข้องกับสถานะ หรือแนวทางปฏิบัติในบางเรื่องเกิน 10 เรื่องไปแล้ว โดยครึ่งหนึ่งเป็นคำร้องที่เกิดจาก “เรืองไกร”

ขณะที่ล่าสุด ที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) “พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) ไปยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการ ปปง. ขอให้พิจารณาไต่สวน ดำเนินคดี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” อดีตรองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ สส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ฐานเป็นเจ้าพนักงานรัฐเรียกรับเงิน เข้าข่ายการกระทำผิดฐานฟอกเงิน และ ให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน “พล.อ.ประวิตร” รวมทั้ง “นายโอ๋” และ “ป๊อด” (ซึ่งปรากฏชื่อในคลิป) ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น อันเป็นผลจากกรณี คลิปเสียงหลุด “เรียกรับเงิน” ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ทางรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ช่อง 9 MCOT เมื่อที่ 11 ก.ย.67

ก่อนหน้านั้น “พร้อมพงศ์” ไปยื่นเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าไปตรวจสอบคลิปเสียงดังกล่าว ว่าสามารถเอาผิดกับ “พล.อ.ประวิตร” ได้หรือไม่ และถึงขั้นมีบทลงโทษให้ยุบพรรคพลังประชารัฐได้หรือไม่ พร้อมทั้งเรียกร้องใน 3 ประเด็นคือ

1.เรียกร้องให้ออกมายอมรับและขอโทษประชาชน คนไทยพร้อมให้อภัยรวมถึงวุฒิภาวะของท่านต้องมีมากกว่านายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ออกมายอมรับแล้ว เนื่องจากมีตำแหน่งใหญ่กว่านายสุทธิพงษ์

2.ขอให้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และสส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งจะสง่างาม ทำให้พรรคเดินไปสู่การเป็นพรรคการเมืองในชั้นแนวหน้าได้ แต่ถ้ายังตัวนิ่งแล้วให้ลูกสมุนออกมาเบี่ยงเบนประเด็นและแก้ตัวว่าเป็นคลิปเอไอ ถูกดิสเครดิตทางการเมืองถือว่าไม่น่าจะมีวุฒิภาวะ และจะถูกมองว่าท่านเป็นโมฆะบุรุษได้

3.ขอให้ลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม หมดเวลาของลุงแล้วพักผ่อนเถอะ

“ในฐานะที่ผมเป็นรุ่นลูกหลาน จึงขอเรียกร้องทั้ง 3 ข้อนี้ ถ้าทำได้เชื่อว่า สังคมจะให้อภัย ก่อนที่ความรับผิดชอบทางกฎหมายก็ตามมา เพราะงานนี้ถูกเพิกถอนสิทธิ และตายยกพรรคถ้าถูกยุบพรรค และสุดท้ายติดคุกโทษจำคุกตลอดชีวิต” พร้อมพงศ์ ระบุ

งานนี้ใครก็มองออกว่า เป็นการ “ตอบโต้” จาก “พรรคแกนนำรัฐบาล”

เพราะ “พร้อมพงศ์” ยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย โดยก่อนหน้านี้ แกนนำรัฐบาล ก็เชื่อว่า “บิ๊กป้อม” อยู่เบื้องหลัง 40 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในการยื่นคำร้องถอดถอน “เศรษฐา ทวีสิน” ให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ

จนนำมาสู่การประกาศ ต้องไม่มี “วงษ์สุวรรณ” ในรัฐบาล “นายกฯแพทองธาร” จนถูกตอบโต้ด้วยการยื่นร้องในรูปแบบต่างๆ ทำให้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและรมว.กลาโหม ถึงกับออกมาระบุว่า ในอนาคตอาจมีการแก้ไขกฎหมาย เอาผิด “นักร้อง” ที่นำเรื่องมายื่นแบบไม่มีมูลด้วย

นั่นหมายความว่า การตอบโต้และการเอาคืนระหว่าง “พรรคพลังประชารัฐ” ในซีก “บิ๊กป้อม” และ “พรรคเพื่อไทย” จะเข้มข้นและและรุนแรงมากขึ้น เพราะคงไม่มีใครยอมให้ถูกกระทำแต่ฝ่ายเดียว

ส่วน “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศแยกตัวออกจากพรรค ออกมาให้ความเห็น กรณีมีหลายคนมองว่า คลิปที่หลุดออกมาเป็นฝีมือของร.อ.ธรรมนัสว่า “จะเอามาจากไหน ออกมาตั้งนานแล้ว บางคลิปเพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ลองฟังให้ดี”

เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับร.อ.ธรรมนัสใช่หรือไม่ “ร.อ.ธรรมนัส” กล่าวว่า “คงไม่มีความสามารถขนาดนั้น แต่ได้เตือนสมัยที่อยู่ในพรรคแล้วว่า จะคุยอะไรทางโทรศัพท์ ให้ระวังโดนดักฟัง แม้กระทั่งผมก็ยังต้องระวัง”

เมื่อถามอีกว่า ลักษณะแบบนี้เป็นการดักฟังใช่หรือไม่ เพราะไม่ใช่เป็นการแอบอัดเสียง “ร.อ.ธรรมนัส” กล่าวว่า “มันต้องมีกระบวนการภายในพรรคเอง อย่าไปโทษคนอื่นเลย ผมว่าเป็นเรื่องภายในมากกว่า ใครจะเข้าถึงตรงนั้นได้ง่ายๆ”

อย่างไรก็ตาม มีข้อกฎหมายที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ การดักฟังโทรศัพท์ คือ พ.ร.บ.โทรเลขและโทรศัพท์ พ.ศ.2477 มาตรา 24 “ผู้ใดใช้อุบายอย่างใดๆ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อล่วงรู้หรือติดต่อกันซึ่งเนื้อความในข่าวสารโทรเลขโทรศัพท์ใดๆ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และ มาตรา 25 “ผู้ใดเอาความหมายของอาณัติสัญญาณหรือข่าวสารโทรเลขโทรศัพท์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปให้แก่บุคคลใดๆ ผู้ไม่มีสิทธิ์จะรู้ท่านว่าผู้นั้น มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 1,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

อีกทั้งเมื่อพ.ศ.2549 “บิ๊กบัง-พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” อดีตหัวหน้าคณะรักษาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ออกประกาศ “คณะปฏิรูปการปกครองฯ” เรื่อง “ห้ามการดักฟังทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด” ไว้ แม้ปัจจุบันจะใช้รัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 60 แล้วก็ตาม แต่ประกาศนั้นยังชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ยังมีสภาพบังคับใช้อยู่

และยังมี โทษทางปกครอง ด้วยคือ “ผู้ใดดักฟัง ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยข้อความ ที่มีการติดต่อทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด โดยไม่มีอํานาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ” โดยจะทําได้เท่าที่กฎหมายให้อํานาจตาม พ.ร.บ.ต่างๆ เช่น

1.พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556

2.พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551

3.พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547

4.พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 

5.พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 

6.พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ.2562

7.พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

8.ร่างแก้ไข วิ.อาญาฯ เพิ่มเติม มาตรา 131 /2 ว่าด้วยการอนุญาตให้ตำรวจดักฟังโทรศัพท์

ส่วน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 36 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกัน ไม่ว่าในทางใดๆ การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน จะกระทำมิได้ เว้นแต่ มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ระบุใน มาตรา 226/11 ว่า “ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสีย อันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐาน ของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน”

ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้ด้วย (1) คุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น (2) พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี (3) ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ  (4) ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่เพียงใด

นอกจากนี้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 74 บอกว่า….“ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อดักรับไว้ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยข้อความข่าวสาร หรือข้อมูลอื่นใดที่มีการสื่อสารทางโทรคมนาคมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ถ้าไล่ดูกฎหมายแต่ละฉบับแล้ว จะพบว่า การใช้ข้อมูลที่ได้มาจากดักฟังโทรศัพท์ เป็นเรื่องไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

นั่นหมายความว่า ถ้าเรื่องนี้ขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรม หรือร้องเรียนผ่านทางไปทาง “องค์กรอิสระ” คนที่นำข้อมูลมาเปิดเผย “อาจมีปัญหา” หรือการใช้ข้อมูลที่ได้จากการดักฟังโทรศัพท์ ไปยื่นร้องอาจไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น

ขณะที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีมีนำเสนอคลิปหลุดเสียง “ลุงบ้านป่า” ว่า จะยื่นฟ้องดำเนินคดีกับนายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ผู้จัดรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand”, รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ และสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT ต่อศาลอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เนื่องจากประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นเสียงของตน ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และคลิปเสียงดังกล่าวมีที่มาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากกรณีที่นายดนัยได้นำคลิปเสียงเผยแพร่ผ่าน รายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนั้นจะยื่นฟ้องนายดนัย, รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ และสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 MCOT ต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาทด้วย

ทั้งนี้ “ไพบูลน์” ยังจะยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้ตรวจสอบการกระทำของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT ที่เผยแพร่คลิปเสียง ที่มีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อขอให้ กสทช.มีคำสั่งให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT ระงับการออกอากาศรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ตาม มาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

งานนี้จึงต้องรอดูว่า ถ้าหากเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผู้ที่ถูกฟ้องร้องจะยอมเปิดเผยหรือไม่ว่า คลิปเสียงลุงมีที่ไป-ที่มาอย่างไร หรือมีข้อมูลเปิดเผยออกมาเพิ่มเติ่มอีกหรือไม่ เพราะการตอบโต้กันทางการเมือง เชื่อว่าไม่มีใครยอมใคร

ยิ่ง “วีระ สมความคิด” เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน (คตป.) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า “มีเจ้าหน้าที่รัฐในกระทรวงกลาโหม ส่งเรื่องร้องเรียนมาให้ ขอให้ตรวจสอบกรณีกล่าวหา “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ในฐานะประธานมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ว่าใช้มูลนิธิฯเป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางการเมืองอย่างเปิดเผย อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับของมูลนิธิ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย

หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีพยานหลักฐานที่ยืนยันให้เชื่อได้ว่า มีการใช้มูลนิธิฯดังกล่าว เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพล.อ.ประวิตรจริง

ดังนั้น ทาง คปต. จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิดต่อไป รวมถึงจะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุม ดูแล ตรวจสอบ และลงโทษ แต่กลับละเว้นปล่อยให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน”

นั่นหมายความว่า การเดินเกมปิดบ้านป่ารอยต่อ คงจะมีความเคลื่อนไหวหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะในเมื่อผู้มากบารมีอย่าง “นายทักษิณ ชินวัตร” เคยประกาศไว้ ที่บ้านเมืองเกิดความในวุ่นวาย เป็นเพราะ “คนบ้านอยู่ในป่า” และในที่สุดนำมาสู่…การไม่ยอมให้ “วงษ์สุวรรณ” อยู่ในรัฐบาล

แม้วันนี้ “พล.อ.ประวิตร” อายุจะย่างเข้าวัย 80 ปี แต่ยังไม่มีท่าทีว่า จะยุติบทบาททางการเมือง จึงต้องรอดูเกม “ปิดบ้านป่ารอยต่อ” กับการเดินหน้าตรวจสอบรัฐบาลภายใต้การนำของ “นายกฯอิ๊งค์” โดยเฉพาะการใช้หลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เป็นตัวขับเคลื่อนไหว ผลลัพธ์สุดท้าย ใครจะไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ก่อนกัน

………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img