วันศุกร์, พฤศจิกายน 8, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSปม‘กกต.’ชี้คำร้อง‘ทักษิณ’ครอบงำมีมูล!! ลุ้น‘คลิปบ้านจันทร์ส่องหล้า’โยงยุบพรรค
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปม‘กกต.’ชี้คำร้อง‘ทักษิณ’ครอบงำมีมูล!! ลุ้น‘คลิปบ้านจันทร์ส่องหล้า’โยงยุบพรรค

ผ่านการทำงานเพียง 1 เดือนกว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี แม้จะยังไม่ต้องเจอสถานการณ์แบบหนักหนาสาหัสสากรรจ์ แต่หลายเรื่องก็ต้องทุ่มเท และใช้ความสามารถผลักดันกลไกต่างๆ เพื่อผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปให้ได้

ขณะเดียวกันในแง่การเผชิญแรงกดดันทางการเมือง ก็เจอตั้งแต่วันแรก ที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ยิ่งผลัก “สส.พรรคพลังประชารัฐ” (พปชร.) ในซีก “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรค ไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน เท่ากับ “ประกาศสงคราม” กับ “นักร้อง” ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย อย่าง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ-“ไพบูลย์ นิติตะวัน” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

เพราะนับแต่เข้ามาบริหารประเทศ ก็ต้องเผชิญกับคำร้องในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เรียกว่า “หาช่องทางตรวจสอบ” แบบไม่ให้หายใจหายคอได้เลย แม้กระทั่งการใส่ชุดขาว-ชูนิ้วทำมินิฮาร์ท ก็ยังกลายเป็นประเด็น นำไปร้องให้องค์กรอิสระตรวจสอบได้

จึงไม่แปลก เมื่อ “สรวงศ์ เทียนทอง” รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ต้องออกมาบอกว่า “เป็นเกมการเมืองชัดเจนอยู่แล้ว หลังผลักพลังประชารัฐไปเป็นฝ่ายค้าน ทุกอย่างก็ประดังเข้ามา”

แต่ที่ต้องเริ่มจับตาและให้ความสนใจอย่างจริงจัง คงหนีไม่พ้นกรณี “แสวง บุญมี” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะ นายทะเบียนพรรคการเมือง ได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ “กกต.” พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม

จากเหตุ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค “กระทำการครอบงำ-ชี้นำ” และ “6 พรรคการเมือง” ยินยอมให้ “ทักษิณ” ครอบงำ-ชี้นำ โดยเห็นว่า “คำร้องมีมูล” และให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ

กรณีดังกล่าวมีผู้ร้องที่ถูกระบุว่า เป็น บุคคลนิรนาม, “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” ประธานพรรคไทยภักดี (ทภ.), “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ, “นพรุจ วรชิตวุฒิกุล” อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 เป็นผู้ยื่นคำร้อง โดยอ้างถึงพฤติการณ์ของ “ทักษิณ” ทั้งการที่แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ไปร่วมประชุมกับ “ทักษิณ” ที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ หลังศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” สิ้นสุดลง รวมถึงการให้สัมภาษณ์ของ “ทักษิณ” หลายครั้ง เกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล การชี้นำพรรคเพื่อไทยในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล การนำวิสัยทัศน์ที่ “ทักษิณ” ได้แสดงไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล

โดย “ผู้ร้อง” เห็นว่า เข้าข่ายขัดมาตรา 29 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใด อันเป็นการควบคุมครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และการที่พรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ยินยอมให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็ เข้าข่ายขัดมาตรา 28

หากการสอบสวนพบว่า เป็นความผิดก็จะเป็นเหตุ ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อ กกต.ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 (3) ของกฎหมายเดียวกันได้

โดย “แสวง” ยืนยันว่า ได้มอบหมายให้คณะกรรมการส่วนที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการตรวจสอบและกลั่นกรองรายละเอียดและข้อมูลก่อน 1 ชั้น เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า คำร้องมีมูลเหตุเพียงพอ จึงสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง ไม่ใช่ตั้งกรรมการสอบไป โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบที่มา หรือเอกสารของคำร้องแต่อย่างใด

ต้องยอมรับว่า หลังมีหลายฝ่ายยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ “แพทองธาร” ในประเด็นต่างๆ นั้น ยังเป็นเพียง “คำร้อง” แต่ในเรื่องที่ “กกต.” ตั้งกรรมการสอบสวน ปม “ทักษิณ” ครอบงำพรรคเพื่อไทย ถือเป็นประเด็นแรก ที่ “องค์กรอิสระ” เดินหน้าตรวจสอบอย่างเป็นทางการ ยิ่งย้อนไปในอดีตรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย หรือก่อนหน้านี้ที่ใช้ชื่ออื่น มักจะถึงบทจบด้วย “คำวินิจฉัยขององค์กรอสระ” เกือบทั้งสิ้น  

เศรษฐา ทวีสิน-พิชิต ชื่นบาน

แม้กระทั่ง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯคนที่ 30 ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ก็ต้องมีอันเป็นไป อันเนื่องมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ เพราะคุณสมบัติมีปัญหาเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์

ยิ่งก่อนหน้านั้น ช่วงค่ำวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา สื่อหลายสำนักรายงาน ทั้งภาพและเสียง ระบุว่า “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้มากบารมีเหนือพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล ได้เรียกแกนนำเพื่อไทย และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ไปหารือด่วน ถึงการโหวตนายกฯและการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” หลัง “เศรษฐา” หลุดพ้นจากตำแหน่งนายกฯ โดยมีแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลไปร่วมหารือด้วย อาทิ ฝั่งแกนนำพรรคเพื่อไทย เช่น “ชัยเกษม นิติสิริ” แคนดิเดตนายกฯของพท. “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” ขณะที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ประกอบด้วย “อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค-ไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรค” ส่วนพรรคพลังประชารัฐมี “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค (ในขณะนั้น)-สันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค” พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค-เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค” พรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) มี “วราวุธ ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรค และ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.)

ภายหลังการหารือเสร็จสิ้นลงในช่วงค่ำ ก็มีข่าวออกมาว่า วงหารือ “ทักษิณ” และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เคาะออกมา จะเสนอชื่อ “ชัยเกษม นิติศิริ” แคนดิเดตนายกฯของเพื่อไทย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอดีตอัยการสูงสุด (อสส.) และ อดีตรมว.ยุติธรรม ให้ที่ประชุมสภาฯโหวตเห็นชอบให้เป็น “นายกฯคนที่ 31 ของประเทศไทย” ซึ่งการหารือดังกล่าว มักมีข่าวกระเซ็นกระซายว่า มี “ใครบางคนแอบอัดคลิปเป็นหลักฐาน” แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครเคยเห็น 

ดังนั้นต้องรอดูในกระบวนการสอบสวนของ “กกต.” ว่า “บรรดานักร้อง(เรียน)” ที่นำเรื่องไปร้องให้ตรวจสอบ จะมี “ใครนำหลักฐานเด็ด” ไปมอบให้ “กกต.” หรือไม่ ถ้าหากมีจริง…ไม่ว่าเป็นภาพหรือเสียงพูดคุย ย่อมเป็นหลักฐานสำคัญที่อาจชี้ให้เห็นว่า “ทักษิณ” เข้ามาครอบงำพรรคเพื่อไทยจริง 

ส่วนพรรคการเมืองอื่นที่เข้าร่วมหารือ อาจมีช่องลอด เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอชื่อบุคคล ให้เข้าทำหน้าที่นายกฯ เป็นเรื่องของพรรคแกนนำรัฐบาล

สรวงศ์ เทียนทอง

เพียงแต่ในวันถัดมา 15 ส.ค. ภายหลังการประชุมสส.พรรคเพื่อไทย “สรวงศ์ เทียนทอง” เลขาธิการพรรค แถลงผลการประชุมถึงการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยต่อที่ประชุมสภาฯ เพื่อให้ลงมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ แทน “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกฯว่า มติสส. มอบอำนาจคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคเพื่อไทย จะเลือกแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเสนอต่อสภาฯ

เมื่อถามว่า มติกก.บห.จะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงจากที่เป็นข่าวหรือไม่ “สรวงศ์”​ กล่าวว่า ยอมรับว่าที่ประชุม สส. เสนอชื่อของ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรค แต่เมื่อ สส.มีมติให้กก.บห.ดำเนินการ จะทำงานเต็มที่เพื่อถกหาผู้ที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งต่อไป ซึ่งชื่อของ “แพทองธาร” นั้นรับฟังไว้ในฐานะกก.บห.

และในที่สุด กก.บห.พรรคเพื่อไทยก็มีมติเสนอชื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 เพราะ สส.อ้างว่าประชาชนในพื้นที่ มีความต้องการให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้นำประเทศ

ซึ่งมติดังกล่าวอาจเป็นผลดีตามมา เพราะในการต่อสู้คดี หาก “กกต.” เรียกไปสอบสวน แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล จะได้ไปชี้แจงว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำตามข้อเสนอของ “ทักษิณ” และไม่มีผลใดๆ ในการตัดสินใจของพรรค

สอดคล้องกับท่าทีของ “สุทิน คลังแสง” สส.พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาให้ความเห็นถึงกรณี “กกต.” รับคำร้องยุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมรัฐบาล ปม “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ครอบงำและชี้นำพรรคว่า “ไม่กังวลในเรื่องดังกล่าว กลับมองในแง่ดีว่า การที่มีผู้มายื่นร้องกับ กกต. ทางกกต.ก็ต้องรับเรื่องไว้พิจารณา เพราะ กกต.คงเคารพความคิดเห็นของทุกฝ่าย ส่วนที่ในข่าวระบุว่า มีมูลจึงรับเรื่อง และสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนั้น ก็ต้องไปพิจารณากันอีกว่า มีมูลนั้นอยู่ในระดับมาก-น้อยเพียงใด เรื่องนี้ต้องพิจารณาองค์ประกอบและรายละเอียดต่างๆ อย่างละเอียด ต้องดูเหตุและผล ไม่ใช่ใช้เพียงแค่ความรู้สึก”

“การที่ไปร้องว่าแกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ไปร่วมประชุมกับนายทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงนั้น จะเห็นว่าตามข่าวที่ออกมาระบุว่าคนที่จะได้เป็นนายกฯ คือนายชัยเกษม นิติสิริ แต่สุดท้ายกลับเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ดังนั้นหากผู้ร้องคิดว่ามีการคุยกันเรื่องนี้จริง ก็แสดงว่าไม่ได้มีผลอะไรเกิดขึ้น แล้วแบบนี้จะเรียกว่าครอบงำได้อย่างไร” สุทิน กล่าว

ชูศักดิ์ ศิรินิล

เช่นเดียวกับมือกฎหมายของรัฐบาล “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ต้องทำหน้าที่ในการแก้ต่างให้พรรคเพื่อไทย ก็ให้ความเห็นว่า “ส่วนตัวไม่ได้วิตกกังวลอะไร เคยบอกว่า มาตราพวกนี้เป็นผลพวงของการรัฐประหาร สมัยก่อนๆ ไม่มีมาตราเหล่านี้ เป็นกฎหมายที่ผิดธรรมชาติการเมือง ต้องถามว่าอดีตนายกฯ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเลย พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลถูกครอบงำไหม ส่วนใหญ่กฎหมายพวกนี้ จึงมีปัญหาทางปฏิบัติตลอดมา”

“ผมว่าเอาเวลาเราไปใส่ใจกับการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตจะดีกว่า ยิ่งการจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมาก็ชัดเจน แคนดิเดตนายกฯ ต้องมาจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอเท่านั้น พรรคแกนนำที่เสียงมากที่สุดก็มีเหลืออยู่ 2 คน ก็จำเป็นต้องคุยกันว่าจะเอาใคร จะคุยที่ไหนก็เอาที่สะดวก คุยกันว่าเป็นท่านชัยเกษม นิติสิริ เช้าวันรุ่งขึ้นพรรคเพื่อไทยเสนอนายกฯแพทองธาร ชินวัตร อย่างนี้ก็ชัดเจนว่าเราเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดอิสระ แล้วพรรคร่วมก็เอาตามนั้น จะครอบงำอะไร เอาเป็นว่าให้ดูประวัติศาสตร์ อย่าให้การเมืองมีปัญหา จนฉุดรั้งความเจริญของบ้านเมืองเหมือนในห้วงเวลาที่ผ่านมาดีกว่า” ชูศักดิ์ กล่าว

นั่นหมายความว่า การผลักดัน “แพทองธาร” ให้รับตำแหน่งนายกฯ อาจช่วยคลี่คลายปมข้อกฎหมาย ที่หลายฝ่ายวิจารณ์ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็น “ทักษิณ” มีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทย แต่ในที่สุดพรรคเพื่อไทย ก็ผลักดันหัวหน้าพรรค เข้ามารับหน้าที่หัวหน้ารัฐบาล ไม่ใช่ทำตาม “ใบสั่ง” ของ “ผู้มากบารมี”

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขึ้นอยู่กับการนำเสนอพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย ว่าใครจะมีน้ำหนัก มีความน่าเชื่อถือมากกว่ากัน

แต่พรรคแกนนำพรรครัฐบาลคงประมาทไม่ได้ เพราะบางที “ข้อกฎหมาย” อาจไม่ช่วยหลุดรอดให้พ้นความผิดได้ ยิ่งในบ้านเรา มีทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยม -ฝ่ายกลุ่มก้าวหน้า ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศ และบรรดา “นักอกหักทางการเมือง” ที่ถูกทิ้งไว้ ไม่ให้เข้ามามีส่วนการยึดครองอำนาจรัฐ จึงต้องรอดูพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล จะเอาตัวรอดจากปมร้อนๆ นี้ไปได้หรือไม่???

……………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…..“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img