ไม่แปลกใจ…ทำไม “รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จึงไม่เดินหน้าผลักดัน “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ในช่วงที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ 8 ปีเต็ม หลังเคยบอก…ไม่ชอบคำว่า “นิรโทษกรรม” คงเป็นเพราะรู้ดีว่า เป็น ประเด็นร้อนทางการเมือง ยังมีความเห็นที่แตกต่าง มีเงื่อนไขบางอย่างที่สังคมไทยยังรับไม่ได้ ทำให้เรื่องยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน
เช่นเดียวกับรัฐบาลภายใต้การนำของ “พรรคเพื่อไทย” (พท.) ที่มี “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” ทำหน้าที่ นายกรัฐมนตรี ในประเด็นการผลักดัน “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ซึ่งกลายเป็นโจทย์ใหญ่ทางการเมือง หลัง มติสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ด้วยคะแนน 270 เสียง ต่อ 152 เสียง “ตีตก” รายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งๆ ที่ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ รับหน้าที่ประธาน และเป็นมือกฎหมายพรรคเพื่อไทย
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจ ที่จะมีเสียงจากแกนนำพรรคฝ่ายค้าน “พรรคประชาชน” (ปชน.) โจมตีท่าทีแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่เปลี่ยนแปลงจุดยืน
รายงานการศึกษากฎหมายนิรโทษกรรม แยกเป็น 2 ส่วนคือ ในส่วนของตัวรายงานนั้น รัฐธรรมนูญ (รธน.) ระบุให้แค่ รับทราบ สภาฯไม่ต้องลงมติ อีกส่วนหนึ่งคือ “ข้อสังเกตของกมธ.ฯ” ที่มีการเสนอนิรโทษกรรม ให้พ่วงผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ มาตรา 112 เข้าไปด้วย
ดังนั้นจึงเป็น ข้อกังวลของหลายพรรคการเมือง เพราะมาตรา 112 ถือเป็นกฎหมายที่มีไว้ เพื่อคุ้มครองและปกป้องสถาบัน หากให้ความเห็นชอบกับข้อสังเกตดังกล่าว อาจเป็นสารตั้งต้น หรือเปิดทางให้มีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ได้
เพราะตาม ข้อบังคับประชุมสภาฯพ.ศ.2562 ข้อ 105 กำหนดว่า กรณีที่กมธ. มีข้อสังเกตที่หน่วยงานรัฐควรทราบหรือควรปฏิบัติ ก็ให้บันทึกไว้ในรายงานของกมธ. เพื่อให้สภาพิจารณา โดยสภาจะต้องลงมติว่า “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” กับข้อสังเกตของ กมธ.
หากสภาลงมติ “เห็นด้วย” ประธานสภาฯก็จะ ส่งรายงานและข้อสังเกตไปยัง ครม., ศาล หรือหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ และหน่วยงานเหล่านั้น ปฏิบัติตามข้อสังเกตหรือไม่ ประการใด ประธานสภาฯก็จะมาแจ้งในที่ประชุมสภาฯ หลังจากพ้น 60 วัน นับแต่วันที่ส่งข้อสังเกต ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อสภามีมติ “ไม่เห็นด้วย” เท่ากับว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อผูกมัดต่อหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องชี้แจงว่า ได้ปฏิบัติตามข้อสังเกตหรือไม่ เพื่อที่จะให้ประธานสภานำไปแจ้งในที่ประชุม
ขณะที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายระหว่างพิจารณารายงานคณะกมธ.ฯพ.ร.บ.นิรโทษกรรมตอนหนึ่งว่า ไม่เห็นชอบรายงาน และ ข้อสังเกตกมธ. เพราะเชื่อว่า ปลายทางจะนำไปสู่ความแตกแยกครั้งใหญ่ในประเทศ เหมือนตอนผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ถ้านำรายงานฉบับนี้ไปใช้เป็นสารตั้งต้นออกกฎหมายนิรโทษกรรม จะนำ ไปสู่ความแตกแยกในบ้านเมือง อีกครั้ง
ตัวรายงานฉบับนี้ระบุว่า ทางเลือกนิรโทษกรรมมาตรา 112 ไว้ 3 ทาง หมายความว่า จะเลือกทางใดก็ได้ ขณะที่ข้อสังเกตของกมธ. ข้อ 9.1 มีการระบุให้ครม.ควรพิจารณารายงานของ กมธ.เป็นแนวทางตรากฎหมายนิรโทษกรรม แสดงว่า ถ้ารัฐบาลจะเลือกนิรโทษกรรม มาตรา 112 หรือเลือกนิรโทษกรรม มาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข ก็ทำได้
และ ข้อ9.5 ระบุว่า ระหว่างยังไม่มีการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครม.ควรกำหนดนโยบายให้หน่วยงานรัฐในกระบวนการยุติธรรมไปดำเนินการตามกฎหมาย เช่นให้ อัยการสูงสุด (อสส.) สั่งไม่ฟ้องตามพ.ร.บ.องค์กรอัยการ ปี 2553 หรือ ให้ศาลเลื่อน จำหน่ายคดี ปล่อยตัวชั่วคราว อาจทำให้เกิดคำถามเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ รวมถึงข้อ 9.6ให้คืนสิทธิทางการเมืองแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรม แสดงว่า เป็นการรวมการกระทำตามมาตรา 110 และมาตรา 112 ด้วย จึงไม่เห็นด้วยกับรายงานและข้อสังเกต เพื่อไม่ให้มีจุดหมายปลายทาง ไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ในอนาคต
สำหรับมติสภาฯ 270 เสียง ต่อ 152 เสียง ซึ่งตีตก “ข้อสังเกตนิรโทษกรรม” โดยเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วย 115 เสียง-เห็นด้วย 11 เสียง-งดออกเสียง 4 เสียง-ไม่ลงคะแนน 12 เสียง, พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ไม่เห็นด้วย 65 เสียง-ไม่ลงคะแนน 4 เสียง, พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ไม่เห็นด้วย 27 เสียง-ไม่ลงคะแนน 9 เสียง, พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่เห็นด้วย 13 เสียง-ไม่ลงคะแนน 12 เสียง, พรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) ไม่เห็นด้วย 5 เสียง-ไม่ลงคะแนน 5 เสียง, พรรคประชาชาติ (ปช.) ไม่เห็นด้วย 6 เสียง-งดออกเสียง 1 เสียง-ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
พรรคกล้าธรรม ไม่เห็นด้วย 3 เสียง, พรรคชาติพัฒนา (ชพ.) ไม่เห็นด้วย 3 เสียง, พรรคเพื่อไทยรวมพลัง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (ค.พ.ช.) ไม่เห็นด้วย 1 เสียง, พรรคประชาธิปไตยใหม่ ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ส่วนเสียงจาก “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ประกอบด้วย พรรคประชาชน (ปชน.) เห็นด้วย 138 เสียง-ไม่ลงคะแนน 5 เสียง, พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่เห็นด้วย 26 เสียง-ไม่ลงคะแนน 14 เสียง, พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ไม่เห็นด้วย 3 เสียง-ไม่ลงคะแนน 3 เสียง, พรรคเสรีรวมไทย (สร.) ไม่ลงคะแนน 1 เสียง, พรรคเป็นธรรม เห็นด้วย 1 เสียง, พรรคไทยก้าวหน้า เห็นด้วย 1 เสียง
เท่ากับว่า มีเพียงไม่กี่พรรค ที่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของ “รายงานกมธฯพ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ซึ่งในที่สุดหากมีพิจารณา ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในสภาฯ เชื่อว่าหลายฝ่ายคงรอดูว่า บทสรุปจะเป็นอย่างไร
เพราะในสมัยประชุมสภาฯครั้งต่อไป จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งค้างอยู่ในวาระอยู่ 4 ร่าง ประกอบด้วยของ 3 พรรคการเมืองคือ 1.พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 2.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เดิม 3.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (ค.พ.ช.) และร่างของภาคประชาชน ซึ่งในร่างของพรรคก้าวไกล (เดิม) และร่างของภาคประชาชน กำหนดให้รวมถึงการล้างผิดมาตรา 112 ไว้ด้วย
แต่คำถามที่ตามมาคือ “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล จะเสนอกฎหมายที่เป็นการล้างผิด นักเคลื่อนไหวการเมืองและจุดยืนอย่างไร ต่อการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112
ขณะที่ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ฐานะ คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม 4 ร่าง ที่เตรียมเข้าสู่การประชุมสภาฯ ในสมัยประชุมหน้าว่า “เห็นว่าพรรคเพื่อไทย ควรเสนอร่างประกบไปด้วย หากเป็นกรณีในความผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น บางคนอาจไม่ได้มีส่วนร่วม แต่ถูกจับโยงเข้าไป รวมถึงการแสดงความเห็นต่างทางการเมือง ควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่ความผิดทางอาชญากรรม แต่หากเป็นการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยืนยันว่า จะไม่มีการนิรโทษกรรม เพราะถือเป็นเจตจำนงตั้งแต่ต้นของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลมา ที่สำคัญเรื่องการกระทำผิด หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตราบใดที่สังคมยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็ไม่ควรจะหยิบมาเป็นประเด็น”
ต่อมา “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะ ประธาน สส.พรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการประชุมพรรคว่า “ส.ส.เห็นตรงกัน ให้มีมติพรรคเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในนามพรรคเพื่อไทยในสมัยประชุมสภาฯหน้า ประกบกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม 4 ฉบับที่ค้างอยู่ในสภาขณะนี้ โดยให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ไปยกร่างกฎหมาย เนื้อหาส่วนใหญ่จะยึดตามรายงานคณะกมธ.ฯพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่จะไม่มีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 110 และ 112 เพราะกระแสขณะนี้ ไม่มีพรรคใดเอานิรโทษมาตรา 112 ถ้าเสนอไปก็เดือดร้อนหมด ตกอยู่ดี ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยไม่เคยพูดจะนิรโทษกรรมมาตรา 112 แค่บอกจะหาแนวทางนิรโทษกรรมคดีการเมือง ดังนั้นการไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 จึงไม่ถือว่าพรรคเพื่อไทยผิดคำพูด”
เมื่อท่าทีของแกนนำพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับการผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ไม่ร่วมถึงมาตรา 112 ทำให้บรรดาแกนนำพรรคประชาชน ดาหน้าออกมาโจมตีอย่างหนัก
โดยอ้างว่าช่วงทำงานร่วมกันเป็นพรรคฝ่ายค้าน เคยมีความเห็นตรงกัน ดังนั้นพรรคเพื่อไทย ต้องตอบประชาชนให้ได้ หากพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนเรื่องการนิรโทษกรรม และพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับพรรคเพื่อไทยผ่านจริง พรรคเพื่อไทยจะเอานักโทษคดีการเมืองมาตรา 112 เหล่านี้ไปไว้ตรงไหน
เช่นเดียวกับความเห็น “ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล” สส.บัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงการทำความเข้าใจร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกับพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับประมวลความผิดอาญามาตรา 112 ว่า “หลายเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเคยพูดมา ไม่ว่าจะเป็นในสมัยที่แล้วก่อนเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว คิดว่าพรรคเพื่อไทยเข้าใจดีเกี่ยวกับประมวลความผิดอาญามาตรา 112 แต่ก็ไม่แน่ใจว่า ด้วยข้อจำกัดอะไร ที่ทำให้วันนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง”
“อยากให้พรรคเพื่อไทยระลึกไว้ว่า ทุกพรรคการเมือง แม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ทุกพรรคก็มีอุดมการณ์ มีความคิดเป็นของของตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องกันไปทุกเรื่อง ไม่ว่าเราจะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือเป็นพรรคร่วมรัฐบาล หากเรายึดหลักการของพรรคการเมืองตัวเองให้มั่น เราก็ยินดีที่จะเห็นชอบกับร่างกฎหมายหรือญัตติใดๆ ที่สอดคล้องกับหลักการของพรรค ไม่ว่าพรรคใดจะเป็นผู้เสนอ” ปกรณ์วุฒิ กล่าว
ดูเหมือนแกนนำพรรคประชาชน ส่งสัญญาณว่า หากพรรคเพื่อไทยจะเสนอ “กฎหมายล้างผิด” โดยให้รวมถึง “กฎหมายอาญา มาตรา 112” ไม่ต้องห่วงว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะคัดค้าน เพราะพรรคประชาชนพร้อมให้การสนับสนุนและเห็นชอบ ซึ่งคงเป็นเพราะร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล มีข้อเสนอให้ล้างผิดในข้อหาล่วงละเมิดสถาบันด้วย
คงต้องวัดใจ “พรรคเพื่อไทย” จะเห็นด้วยกับข้อเสนอของ “พรรคประชาชน” หรือไม่ เพราะ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ และ “ผู้มากบารมีเหนือพรรคเพื่อไทย” ก็มีคดีมาตรา 112 ติดตัว โดยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลอาญา
แต่ “พรรคแกนนำรัฐบาล” จะกล้าหักกับ “พรรคร่วมรัฐบาล” หรือไม่ เพราะทุกพรรคแสดงจุดยืนชัดเจน “ไม่เห็นด้วย” เหมือนช่วงที่พรรคเพื่อไทย ไปหารือเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา กับ “พรรคประชาชน” แต่ในที่สุดพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่สนับสนุน รุมเท ทำให้พรรคเพื่อไทย…ต้องยอมถอยในที่สุด
ที่สำคัญพรรคเพื่อไทยยังเผชิญ “คำร้อง” ซึ่งหลายคนวิจารณ์ว่าเป็น “กระบวนการนิติสงคราม” โดยศาลรัฐธรรมนูญได้หยิบยกประเด็น “ธีรยุทธ สุวรรณเกสร” ทนายความอิสระ ได้ยื่นยุบพรรคเพื่อไทย อันเนื่องมาจาก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ กระทำการล้มล้างการปกครองฯ โดยขอให้อัยการสูงสุด (อสส.) ทำหนังสือชี้แจงภายใน 15 วัน หลังจากรับคำร้องของ “ธีรยุทธ” แล้วดำเนินการอะไรไปบ้าง จากนั้นต้องมารอดูศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยในคดีดังกล่าวหรือไม่
นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังตั้งเรื่องสอบสวน “พรรคเพื่อไทย” และ 6 พรรคร่วมรัฐบาล กรณี “ทักษิณ” ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค เข้ามา “ครอบงำ” และ “ชี้นำ” ในการเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่นายกฯแทน “เศรษฐา ทวีสิน” ที่ต้องพ้นจากสถานะหัวหน้ารัฐบาล โดยชี้ว่า เป็นคำร้องที่มีมูล ซึ่งถ้าหากบทสรุปออกมาในทางลบ ย่อมมีผลกระทบกับพรรคแกนนำรัฐบาล
ที่สำคัญ “ทักษิณ” ได้รับพระราชทานอภัยโทษ จากถูกจำคุก 8 ปี เหลือเพียงปีเดียว จึงเป็นเรื่องที่ “ผู้มีอำนาจตัวจริง” ในพรรคแกนนำรัฐบาล ต้องคิดหนัก
ดังนั้นหากจะทำอะไร และถูกมองว่า มีผลกระทบกับ “สถาบันสำคัญ” เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยต้องหลีกเลี่ยง แม้ที่ผ่านมาหลายคนจะปฏิเสธเรื่อง “ดีลลับ” แต่ประเด็นเกี่ยวกับ “”อำนาจพิเศษ” ก็มักถูกกล่าวถึงอยู่ตลอด
……………..
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…..“แมวสีขาว”