วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเปิดแผน“ฝ่ายค้าน”..บีบ“บิ๊กตู่”ลาออก ดัน“คุณหญิงหน่อย”เสียบ“สร.1”แทน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิดแผน“ฝ่ายค้าน”..บีบ“บิ๊กตู่”ลาออก ดัน“คุณหญิงหน่อย”เสียบ“สร.1”แทน

ใครเป็นฝ่ายค้านเห็นสภาพ รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งล้มเหลวจากการรับมือระบาดรอบ 3 ของโควิด-19 ก็คงเปรียบได้กับ “ฉลามได้กลิ่นคาวเลือด” มั่นใจว่า ไม่ต้องรีบร้อนกับการลงดาบ โดยเฉพาะการใช้มาตรการตรวจสอบขั้นรุนแรงสูงสุด ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เชื่อว่าในที่สุดก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นอยู่ดี 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หลังการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มี “พรรคเพื่อไทย” (พท.) เป็นแกนนำเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ผ่านระบบ “ซูม” จึงยังไม่กำหนดเงื่อนเวลาในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ คงเลี้ยงกระแสความไม่พอใจประชาชนให้สุกงอมเต็มที่ หวังใช้แรงกดดันนอกสภา มาช่วยกดดันรัฐบาล ให้มีอันเป็นไป

แกนนำพรรคฝ่ายค้าน แถลงตอนหนึ่ง “สถานการณ์ประเทศในปัจจุบันอยู่ในภาวะวิกฤติขั้นสูงสุด ประชาชนกำลังล้มตาย ประเทศกำลังเสียหายยับเยิน จากการระบาดของโควิด-19 โดยทั้งหมดเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดและล้มเหลวของรัฐบาล จนไม่อาจปล่อยให้สถานการณ์ย่ำแย่มากไปกว่านี้ได้ ดังนั้นพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงเห็นร่วมกันว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ในช่วงเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า เพื่อความรอบคอบและความครบถ้วนของประเด็นการอภิปราย รวมถึงการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน จึงเห็นสมควรเชิญพี่น้องประชาชนร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ในการร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอให้พี่น้องประชาชนเข้าร่วมโดย ส่งข้อมูลความผิดพลาด ล้มเหลว รวมถึงการทุจริตที่เกิดขึ้นมายังพรรคร่วมฝ่ายค้าน”

อ่านเกมพรรคฝ่ายค้านคงมองออก หวังใช้ศึกซักฟอก เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ใช้ทั้งมาตรการในสภาและพลังนอกสภา เพื่อกดดันอย่างเต็มที่ เนื่องจากผลพวงจาก การระบาดของเชื้อไวรัสร้าย กระทบทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจสังคมและการเมือง

ยิ่งมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ยิ่งกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญ อย่าลืมว่านับแต่อดีตที่ผ่านมา ถ้าหากมีประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตาย อันเนื่องมาจากนโยบายรัฐ ความล้มเหลวในการรับมือกับภัยอันตรายในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการใช้ความรุนแรงกับประชาชน ยากที่จะยึดครองอำนาจรัฐต่อไปได้ บางที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจากโควิด-19 ในเดือนก.ค. อาจเป็นเงื่อนไขความอยู่รอดของ “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

แต่ถ้ายังมีผู้ติดเชื้อเฉียดหมื่นคน จำนวนผู้เสียชีวิต อยู่ในระดับเกือบร้อยคน แรงกดดันจะถาโถมใส่ฝ่ายบริหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สะท้อนว่าระบบสาธารณสุขไทยล้มเหลว โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ติดเชื้อไวรัสร้าย จำนวนเตียงมีไม่เพียงพอ กับการดูแลผู้ป่วยอาการหนัก

ขณะที่เมื่อวันที่ 11ก.ค.ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เผยแพร่บทความ “ประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2 : การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน” เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า การระบาดของโควิด-19 และการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลของประเทศต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ขีดความสามารถและประสิทธิภาพของภาครัฐของแต่ละประเทศ มีผลอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยประเทศที่ภาครัฐมีขีดความสามารถและประสิทธิภาพสูงจะไม่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตทั้งในด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจเป็นเวลานาน และจะสามารถกลับมาฟื้นตัวสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลก

น่าเสียดายว่า แม้ประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดในระลอกก่อนหน้า แต่เมื่อรัฐบาลดำเนินการผิดพลาดในการควบคุมโรคและการบริหารจัดการวัคซีน ประเทศก็กลับเข้าสู่วิกฤตด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง จนสูญเสียโอกาส ในการฟื้นตัวสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว และสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลก

กรณีผิดพลาดนี้สมควร ต้องมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบ และสมควรมีการแสวงหาข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ในเชิงลึก โดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระคล้ายกับ คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ที่ตั้งขึ้นหลังวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เพื่อถอดบทเรียนและป้องกันความผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต

เชื่อว่า ผลการศึกษาชุดนี้ จะกลายเป็น คู่มือสำคัญ ของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งจะนำมาใช้ทิ่มแทงรัฐบาลในวาระต่อไปแน่ๆ เพราะถึงแม้เชื้อไวรัสร้ายจะก่อให้เกิดผลกระทบไปทั่วโลก แต่ก็มีข้อเปรียบเทียบถึงรูปแบบการรับมือ การฉีดวัคซิน และ การฟื้นตัวของแต่ละชาติ ยิ่งทางการไทยประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วัน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 1 ต.ค. 64 มีเป้าหมายฉีดวัคซินให้ประชาชน 50 ล้านคนภายในปีนี้ เพื่อสร้างคุ้มกันหมู่

แต่หลายคนเชื่อว่ายากจะทำได้ เนื่องจากหลายประเทศ ยังมีความต้องการตัวยาสำคัญ ซึ่งบ้านเราก็ถูกวิจารณ์ว่า เลือกใช้ “ซิโนแวค” ซึ่งมีคุณภาพต่ำ แต่ราคาแพง ส่วน “แอสตร้าเซนเนก้า” ซึ่งมีมีฐานผลิดอยู่ในประเทศไทย ก็มีแนวโน้มไม่จัดส่งให้ไทยตามข้อตกลง เนื่องจากต้องแจกจ่ายให้กลุ่มประเทศในอาเซียน ส่วนการจัดหาวัคซินจากผู้ผลิตรายอื่น ก็มีปัญหาไม่สามารถส่งของได้ ตามเงื่อนเวลา ที่ประเทศไทยต้องการ ต้องรอถึงไตรมาสที่ 4 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า มีความล่าช้าไม่ทันการสกัดโควิด-19 ซึ่งมีการกลายพันธ์ และแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว

แม้กระทั่งโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ซึ่งกำหนดให้เปิดเมือง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มีฉีดวัคซิน และมีการคัดกรองบุคคลที่จะเดินทางเข้าในจังหวัดอย่างเข้มงวด ก็ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า จะไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ หากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนนำมาสู่ความเสียหาย ต้องปิดจังหวัดกะทันหัน ยิ่งจะกลายเป็นใบเสร็จสำคัญ ช่วยตอกย้ำถึงความไร้ประสิทธิภาพของฝ่ายบริหาร ที่มี “นายกฯลงตู่” ถือธงนำ

อย่างไหร่ก็ตาม ถ้าลองประเมินความต้องการพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งมี “พท.” เป็นแกนนำ ถึงผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้น ภายหลังจากศึกซักฟอกจบสิ้นลง คงต้องการให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ลาออกจากตำแหน่งนายกฯมากกว่ายุบสภา เพราะเชื่อว่าถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาเดิม นั่นหมายความว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ยังมีสิทธิ์ให้ความเห็นชอบในการคัดเลือกบุคคล ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลจะได้เปรียบ แม้ “พล.อ.ประยุทธ์” จะไม่ขอรับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลอีก

นายกรัฐมนตรีเปิดโครงการ Phuket Sandbox วันที่ 1ก.ค 64

แต่ถ้าหัวหน้ารัฐบาลลาออก การพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล การขยับของพรรคการเมืองต่างๆ ย่อมมีความเป็นไปได้ แม้กระทั่งพท.จับมือกับ “พลังประชารัฐ” (พปชร.) จัดตั้งรัฐบาลรวมกัน อันเนื่องมาจากสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่าง “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ทรท.) กับ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพปชร. ซึ่งเคยร่วมงานทางการเมืองกันมาก่อน

ถ้าลองย้อนกลับไปในการเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 ทุกพรรคการเมืองต้องเสนอชื่อว่าที่นายกฯก่อนการเลือกตั้งไม่เกินพรรคละ 3 ชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 60 มาตรา 88 เพื่อให้ ส.ส. (และ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล) โหวตเลือกนายกฯในสภา นอกจากนี้มาตรา 159 กำหนดว่า ให้สภาฯโหวตเลือกนายกฯ เฉพาะตามที่พรรคการเมืองเสนอชื่อเท่านั้น

โดยพรรคการเมืองนั้นต้องได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5% ซึ่งเท่ากับ 25 คน พบว่ามีเพียงแค่ 5 พรรคการเมืองเท่านั้น เมื่อไล่เรียงแต่ละชื่อ ได้แก่ “พปชร.” เสนอชื่อ  “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯเพียงชื่อเดียว แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะลาออกจากตำแหน่ง แต่ ส.ส. และ ส.ว. ก็สามารถโหวตกลับเข้ามาใหม่ได้

พท. เสนอ 3 รายชื่อ คนแรกได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แต่นักการเมืองหญิงฉายา “สวยแต่เจ็บ” ลาออกจากพรรคพท.  ไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อ “ไทยสร้างไทย” (ทสท.) แต่บัญชี “ว่าที่นายกฯ” ยังอยู่กับพท. คนที่สอง ได้แก่ “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตรมว.คมนาคม ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงความประสงค์ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในนามอิสระอย่างต่อเนื่อง

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย

คนที่สาม ได้แก่ “นายชัยเกษม นิติสิริ” อดีต รมว.ยุติธรรม ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการการเมืองพรรคเพื่อไทย แต่ที่ผ่านมาบทบาทผ่านสื่อไม่เป็นที่โดดเด่นมากนัก

พรรคภูมิใจไทย (ภท. ) เสนอชื่อ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ที่ผ่านมาถือว่ามีบทบาทสำคัญในรัฐบาล ดูแลกระทรวงระดับเกรดเอ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคม

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป. ) เสนอชื่อ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกฯ แม้ว่าจะลาออกจาก ส.ส. เนื่องจากมติพรรคปชป. ส่วนใหญ่เข้าร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สวนกับแนวทางฝ่ายค้านอิสระ ที่เคยประกาศตอนหาเสียงว่า “หมดเวลาเกรงใจ” ก็ตาม อย่างไรก็ตาม “นายอภิสิทธิ์” ยังคงเป็นสมาชิกพรรคปชป. และยังอยู่ในบัญชี “ว่าที่นายกฯ” ของพรรคการเมืองเก่าแก่

ซึ่งถ้าดูความเป็นไปได้ และหนทางที่จะทำให้ พรรคฝ่ายค้านพลิกขั้ว เป็นแกนนำขัดตั้งรัฐบาล ต้องยอมรับ “คุณหญิงสุดารัตน์” มีโอกาสสูงมากว่าใคร แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพท. แต่การลาออกไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ หลายคนเชื่อว่า เป็นแผนแยกกันเดินรวมกันตี หลังจาก “นายทักษิณ” เคยผลักดันให้จัดตั้ง “พรรคไทยรักษาชาติ” (ทษช.) แต่ดันเกิดปัญหาขึ้น เพราะไปดึง “บุคคลชั้นสูง” เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างของอดีตนายกฯ กับแกนนำ “ทสท.” ก็ยังเป็นไปด้วยดี

ยิ่งเป้าหมายพรรคฝ่ายค้าน ต้องการให้มีการร่างรธน. ฉบับใหม่ ก่อนยุบสภาฯ เพื่อเปิดกว้าง ไม่เอื้อประโยชน์ให้ขั้วอำนาจปัจจุบัน ดังนั้นหนทางที่จะทำให้ตนเองกลับมาเป็นฝ่ายรุก มากกว่าฝ่ายรับ ย่อมเป็นหนทางที่ต้องทำให้เกิดขึ้น  อีกทั้งนักการเมืองหญิงฉายา “สวยแต่เจ็บ” ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ “คนใกล้ชิด” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของ 3 ป. อาจเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้พรรคฝ่ายค้าน ไม่ต้องการเดินเกมการเมืองแบบแตกหัก 

อย่าลืม การเมืองไทยมีปัจจัยหลายอย่าง แม้วันนี้อาจมีเสียงเพรียกหา “โทนี่ วู้ดซั่ม” ให้กลับมามีบทบาททางการเมือง แต่ยังมีตัวแปรที่ทำให้สถานการณ์พลิกผันได้ตลอดเวลา เช่นเดียวมรสุมที่รุมเร้า “นายกฯลุงตู่” จากนี้จะปรับแนวทางการต่อสู้เชื้อไวรัสร้าย และรับมือกับแรงกดดันทั้งในและนอกสภาฯอย่างไร ซึ่งหนทาง “ลาออก” น่าจะเป็นทางเลือกสุดท้าย ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้จริงๆ

…………………….

 คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img