วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSจับตา...ใครทิ้งใครก่อน ‘โควิดลามหนัก’ รัฐบาลมีรอยร้าว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับตา…ใครทิ้งใครก่อน ‘โควิดลามหนัก’ รัฐบาลมีรอยร้าว

ไม่บ่อยครั้งหนัก เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะนำการตั้งคำถามของนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ที่ส่งถึงเจ้าของรหัส “สร.1” ไปอ่านให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับรู้ ท่ามกลางวิกฤติ และ การถูกโจมตี จากฝ่ายต่างๆ ถึงความล้มเหลว ซึ่งเกิดขึ้นจากการรับมือโควิด-19

สื่อหลายสำนักรายงานตรงกัน ประเด็นที่ทำให้ “พล.อ.ประยุทธ”์ ออกอาการหงุดหงิด เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับการเมืองกรณี “ส.ส.ภูมิใจไทย” ออกมา ปกป้อง “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ว่าตกเป็นแพะรับบาป ในเรื่องของวัคซีน เพราะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ 

ซึ่งคล้ายกับว่า พอรัฐบาล ทำงานไป ครึ่งเทอมฯ พรรคร่วมเริ่มลอยตัวจากปัญหา เพราะต้องการคลีนตัวเอง รวมถึงคำถามเรื่องการเตรียมความพร้อม รับมือเหตุการณ์ยุบสภา เลือกตั้งใหม่หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีคำถามเรื่องการแก้วิกฤตโควิด-19 นายกฯ และ ศบค. ตอนนี้เหมือนกำลังถูกโดดเดี่ยวจากพรรคการเมืองหรือไม่.

ขณะที่นายกฯ ได้แสดงอาการไม่พอใจ พร้อมทั้งบ่นให้ครม.รับรู้ว่า “ผมก็ทำงานของผมไป พวกคุณก็ทำงาน เราก็ทำงาน ไม่เห็นมีใครจะไป ใครจะไปหรอ จะทิ้งผมก็ตามใจ เราทำงานด้วยกัน ผมก็ดูแลทุกคน ซึ่งการทำงานในการตัดสินใจของผมแต่ละครั้งไม่ใช่อยู่ๆจะตัดสินใจคนเดียว ผมมีคณะทำงานในชุดที่เสนอ แต่ละเรื่องเข้ามาก็ขอให้ช่วยกันอธิบาย คนไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเอาไปเขียนกันผิดๆถูกๆ”

แต่การตัดสินใจหลายเรื่อง กรณีการรับมือกับเชื้อไวรัสร้าย ก็นำมาสู้การตั้งคำถามของหลายฝ่าย รวมทั้งสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องออกมาบ่นดังๆ โดยเฉพาะสมาชิกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ออกมาบอกให้สังคมรับรู้ว่า “นายอนุทิน” ถูกกันออกจากการรับรู้ ในเรื่องการจัดหาวัคซิน หรือแม้กระทั่งการรับหน้าที่เป็นเพียงที่ที่ปรึกษา ในการรับมือ “โควิด-19”  

ถ้าย้อนไปอ่านคําสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 33/2563 เรื่อง การจัดโครงสร้างของศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) ซึ่งเป็นเรื่องของโรคระบาดครั้งใหญ่ แต่ไม่มีชื่อนายอนุทิน แต่กลับมีชื่อของ “พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้อํานวยการ ศปก.ศบค. ส่งผลให้มีนายทหารคนหนึ่ง เข้ามาทำหน้าที่แม่ทัพปราบปรามโควิด มีอำนาจสั่งบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด มีสถานะมากกว่าหมอ แพทย์ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มากกว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อเลขาฯสมช. คือตัวจริง สังเกตได้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ไปมีชื่อปรากฏในการเป็นประธานชุดใด จะมีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร พล.อ.ณัฐพล เป็นแม่ทัพใหญ่ ในการประชุมในทุก ๆ นัด ถ้าจำกันได้วันหนึ่ง นโยบาย ศบค. ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “ไล่คนกลับไปต่างจังหวัด” 

ด้วยการ ปิดแคมป์คนงาน ปิดร้านอาหาร คนยากคนจนจากชนบทมาหากินในเมืองหลวง ต้องอพยพกลับบ้านต่างจังหวัด เอาเชื้อโควิด-19 กลับไปติดในพื้นที่ต่างจังหวัดมากมาย โรงพยาบาลต่างจังหวัด รับคนไข้ไม่ทัน รับไม่ไหว เชื้อกระจายไปทั่วประเทศ เกิดเหตุการณ์คุมไม่ได้ 

หรือนี่คือปัญหา และความเป็นจริง เกิดปรากฎ ส่งผู้ติดเชื้อไปต่างจังหวัด แต่รวมศูนย์วัคซีนไว้ใน พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยทุกจังหวัด ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และป่วยหนักเพิ่มขึ้น เรื่องนี้ถือเป็นความผิดพลาดของใคร ถ้าไม่ใช่ ศบค.

มีบางคนเล่าให้ฟังว่า เวลาประชุม ศบค. ผู้เข้าร่วมประชุม จะรู้สึกว่า นพ.ปิยะสกล ไม่เคยขัด ไม่เคยแย้งนายกฯเลยแม้แต่น้อย ไม่ทักท้วงในนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมา ดังเช่น มีรายงานข่าวก่อนประชุมศบค. ที่จะประกาศล็อคดาวน์ สดๆ ร้อนๆ มานี่ มีสายโทรศัพท์ต้นทางคือ นพ.ปิยะสกล โทรศัพท์เข้า 

นพ.ปิยะสกล พูดโน้มน้าว ทำนองว่า : ห้ามนำเสนอในชื่อเรื่อง “ล็อคดาวน์” ปลายสาย ถามกลับไปยังต้นสายว่า : ทำไม? นพ.ปิยะสกล บอกว่า : นายกฯ ไม่อยากได้ยินคำว่า ล็อคดาวน์ 

เรื่องนี้ ปิดกันให้แซด ในวงประชุม จนเกิดคำถามขึ้นว่า หมอดี ๆ หมอเก่ง ๆ ไปรับใช้ผู้นำที่มาจากทหาร สถานการณ์จึงได้เลวร้ายลงแบบนี้ใช่หรือไม่ ? 

หรือคําสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/ 2564 เรื่อง จัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล หลายคนเกิดอาการงง เมื่อไม่มีชื่อ “นายอนุทิน” ท่ามกลางการแพร่ระบาดในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีกระแสข่าวการกลายพันธุ์ จากสายพันธุ์อังกฤษ อินเดีย และจะกลายพันธุ์เป็นอะไรอีกบ้าง ก็ไม่มีใครจะทราบได้ สังคมจะคิดกันอย่างไร แต่รมว.สาธารณสุขก็ก้มหน้าก้มตาทำงานกับภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย 

แม้กระทั่งภาพทุเรศสายตา ที่หน้าวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร (บางเขน) ที่มีผู้คนไปรอคิวตรวจเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ 3 ทุ่ม แถวเรียงรายยาวเหยียด ไปบนสถานีรถไฟฟ้า BTS บ้างก็นำเต็นท์มากาง บ้างก็นำผ้ามาปูนอน เพื่อรอรับบัตรคิวในย่ำรุ่ง ก่อนจะเข้าไปตรวจเชื้อโควิด-19 ในช่วงสาย ๆ 

ถามว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของหน่วยงานใด ก็ตอบได้ว่า เป็นเรื่องของกทม. ที่ทำขึ้นมา ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข

กทม. เป็นหน่วยราชการที่ถือว่า มีอิสระในการบริหารงบประมาณหลายหมื่น หลายแสนล้านต่อปี และมีเม็ดในระบบงบประมาณ และเม็ดเงินนอกระบบงบประมาณ จำนวนมหาศาล อีกทั้งยังมีข่าวมีเงินเก็บสะสมกว่า 4 หมื่นล้านบาท

อย่าลืม หน่วยงานนี้อยู่ใต้กำกับของกระทรวงมหาดไทย ที่มี “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย และอยู่ใต้อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ผอ.ศบค.) และแต่งตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าศูนย์ควบคุมโควิด กทม. และปริมณฑล 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญ เมือง www.thaigov.go.th

วันนี้เชื้อไวรัสรัสระบาดหนักคือ กทม. หน่วยงานมีการปกครองรูปแบบพิเศษ ไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข  แต่เป็นพล.อ.ประยุทธ์  กับ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง “ ผู้ว่าฯกทม. ซึ่งมาจากแต่งตั้งของหัวหน้ารัฐบาล  ในช่วงหลังการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อปี 57  

ยิ่งคำสั่งหัวหน้ารัฐบาลล่าสุด ยิ่งมีคำถาม ถูกมองว่า มีนัยยะแฝงเร้น อย่างคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 5/2564 เรื่องแต่งตั้งคณะทํางานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ปรากฏว่าไม่มีชื่อรมว.สาธารณสุขอีกแล้ว คำสั่งนี้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน ทั้งสิ้น 18 ท่านด้วยกัน มี “ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร” ประธานคณะทํางาน มีกรรมการลำดับที่ 9-16 เป็นเจ้าของโรงพยาบาล 7 แห่งทั่วประเทศ 

เท่ากับว่า คนที่มีอำนาจบริหารจัดการวัคซินคือ  คือ “นพ. ปิยะสกล” กับ “เจ้าของโรงพยาบาลเอกชน” ซึ่งการทำงานระดับนโยบายที่ทำให้เกิดปัญหาทุกวันนี้ ขณะที่ “นายอนุทิน” ต้องกลืนเลือด ยอมให้สังคมด่าทุกเรื่อง ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาประโยชน์จากส่วนต่างวัคซีน ทั้งที่ไม่ได้เป็นคนกำหนดนโยบายใด ๆ ทั้งสิ้น

การกำหนดวัคซีนหลัก วัคซีนเสริม วัคซีนทางเลือก ล้วนมาจาก คณะกรรมการ ที่มีนพ.ปิยะสกล เป็นประธาน มีเจ้าของรพ.เอกชน เป็นคณะกรรมการ 

การกำหนดให้ “โมเดอร์นา” เป็นวัคซีนทางเลือก ให้เอกชนทำธุรกิจได้ เพราะคณะกรรมการชุดนี้ ใช่หรือไม่ หรือนี้คือเหตุที่มีการใช้สื่อหลัก สื่อรอง เพื่อ “ด้อยค่า” โจมตีวัคซีนของรัฐบาล เพื่อให้คนมาลงทะเบียนจับจอง “วัคซีนทางเลือก” 

มาถึงวันนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” ก็อาจเริ่มนึกได้ว่า การพึ่งพาข้าราชการประจำมากเกินไป จนหลงลืมความรู้สึกเพื่อร่วมงาน ที่มาจากภาคการเมือง ยิ่งถ้าลองไล่เรียงไทม์ไลน์ในการแก้ไขปัญหาเชื้อไวรัสร้าย อาจพบว่า  รัฐมนตรีบางคนอาจคิดว่า “เขาถูกทิ้งก่อน” จนต้องออกฤทธิ์ออกเดชให้หัวหน้ารัฐบาลได้รับรู้ความรู้สึกบ้าง

…………………………………..
คอลัมน์ : ลับ-ล้วง-ลึก
โดย “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img