วันพุธ, เมษายน 24, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“วิบากกรรม”....ก่อนถึง“ศึกซักฟอก” “ฝ่ายค้าน”สะดุด-“บิ๊กตู่”เดินเกมลึก
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“วิบากกรรม”….ก่อนถึง“ศึกซักฟอก” “ฝ่ายค้าน”สะดุด-“บิ๊กตู่”เดินเกมลึก

หลายคนมักได้ยินว่า การเมืองไทยเป็นเรื่องคาดเดายาก หลายครั้งมีปัจจัยแทรกซ้อน จนทำให้เกิดเหตุการณ์พลิกผัน สถานการณ์เปลี่ยนแปลงได้ตลอด ไม่เว้นแม้กระทั่งรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีเรื่องที่ใครนึกไม่ถึง เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

ก่อนหน้านั้นหลายคนคาดการณ์ ศึกซักฟอกที่จะเกิดขึ้นปลายเดือนนี้ น่าจะทำให้ “นายกฯลุงตู่” เผชิญวิบากกรรม แบบสาหัสสากรรจ์ อันเนื่องมาจากการบริหารจัดการ “โควิด-19” ซึ่งถูกมองว่าล้มเหลวผิดพลาด   โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อและตัวเลขคนตายเป็นใบเสร็จสำคัญ 

รวมทั้งแผนจัดหาวัคซินก็ถูกตั้งคำถาม มีเสียงวิจารณ์ในแง่ลบ จนก่อให้เกิดผลกระทบไปในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ ประชาชนทุกระดับ ไม่ว่าจะร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี หรือยากจนขนาดอยู่ในสภาพคนเร่ร่อน ส่วนเนื้อหาในญัตติที่ยื่นต่อสภาฯ ก็มีความรุนแรง และถูกมองว่า ต้องการด้อยค่าและทำลายความน่าเชื่อผู้นำฝ่ายบริหาร

เป็นบุคคลที่ไร้ภูมิปัญญาไร้องค์ความรู้ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ไร้คุณธรรมจริยธรรม และไร้ความสามารถเป็นหัวหน้ารัฐบาล ผู้นำประเทศ ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องเสียหายอย่างร้ายแรงทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทั้งในภาวะปกติและในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองต้องประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันกว่า 19 เดือนเศษ 

พล.อ.ประยุทธ์ได้ รวมศูนย์อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ แต่กลับปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและไม่สุจริต มีพฤติการณ์ฉ้อฉลทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย มติครม.

ระบบสาธารณสุขไทยล้มเหลวเกินขีดความสามารถในการบริการประชาชน ปล่อยให้ผู้ป่วยรักษาตัวเองที่บ้าน บางรายทนไม่ไหว ต้องตายกลางถนน ตายในรถ หรือตายคาบ้านตนเอง ตายยกครอบครัว สร้างความหดหู่ใจ ถึงกับมีคำกล่าวว่าประเทศไทยเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

หรืออีกตอนระบุว่า “ไม่ยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ใจดำ ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน ไม่เห็นใจในความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน และจากความโอหังและการเสพติดในอำนาจ ทำให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในสภาพของคน เป็นโรคโอหังคลั่งอำนาจ ไม่อยู่ในภาวะที่จะเป็นผู้นำประเทศได้อีกต่อไป”

เรียกว่ารุนแรงถึงขั้น “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องไปโอดครวญต่อที่ประชุมครม. “ผมว่าแรงไปมั้ยในหัวข้ออภิปราย มีใครเคยมีมั้ยแบบนี้” อย่างไรก็ตามยุทธศาสตร์พรรคฝ่ายค้าน ก็ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกัน ในขณะที่ออกมาโจมตีรัฐบาล ถึงการรับมือกับเชื้อไวรัสร้ายรายวัน โดยพุ่งเป้าไปที่หัวหน้ารัฐบาล แต่การจัดชื่อผู้ถูกอภิปรายไว้วางใจ กลับทำในลักษณะเหวี่ยงแห เมื่อเทียบกับการทำศึกซักฟอกในอดีต อย่างเช่นสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ฝ่ายตรงข้ามก็โจมตีหัวหน้ารัฐบาล จากกรณีออกเอกสารสิทธิ์สปก. 4-01 

ต่อเนื่องมาถึงฝ่ายบริหารบริหารที่มี “นายบรรหาร ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรคชาติไทย (ชท.) เป็นนายกฯ รัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์” จนมาถึงยุค “นายทักษิณ ชินวัตร” สมัยยังมียศ พ.ต.ท. นำหน้า ซึ่งเข้ากุมบังเหียนการนำประเทศ

และมาถึง “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ซึ่งเข้ามารับไม้ต่อ ในฐานะผู้นำประเทศ ซึ่งทุกรัฐบาลที่ถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนใหญ่ พุ่งเป้าไปที่หัวหน้ารัฐบาล หรือรัฐมนตรีที่บริหารงานผิดพลาด  เกี่ยวข้องกับการทุจริต ทำให้หลายครั้งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ฝ่ายบริหารต้องมีอันเป็นไป    

ดังนั้นถ้าฝ่ายค้าน มั่นใจในข้อมูล เชื่อใน พยานหลักฐาน ก็มุ่งไปที่ตัวละหลัก ตีจุดเดียวซ้ำๆ ด้วยข้อมูลที่มีน้ำหนัก มีหลักฐานเป็นเอกสารประกอบ เพื่อทำให้สังคมเกิดความน่าเชื่อถือ เช่นกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ปัญหาหนี้เน่าธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ (บีบีซี ) 

ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งนำโดย “เพื่อไทย” (พท.) ได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนอื่นๆ นอกเหนือจากนายกฯ ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะพรรคฝ่ายค้านจะมีข้อสรุป กับจำนวนรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอก ก็เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่าง พท. กับ พรรคก้าวไกล (กก.) เนื่องจากน้องใหม่ทางการเมือง ต้องการใส่ชื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อยู่ในบัญชีถูกอภิปราย แต่ไม่ได้รับการสนองตอบจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรค พท. 

นำมาสู่เหตุการณ์สมาชิกพรรคทั้งสอง ออกมาสาดใส่ข้อหาผ่านสื่อและโซเชียล มีเดีย ส่งผลให้ “นายภูมิธรรม เวชยชัย” ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพท. ต้องยอมปรับความเข้าใจ “นายชัยธวัช ตุลาธน”  เลขาธิการพรรค กก.  เพื่อยุติปัญหา ไม่ให้กระทบกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ

แต่ดูเหมือนวิบากรรมพรรคฝ่ายค้านยังไม่จบ ยังมีบางประเด็นเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของฝ่ายตรวจสอบ เมื่อ “นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้วินิจฉัยและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) สั่งยุบพรรค กก. 

อ้างว่าในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ส.ส.พรรคกก.หลายคน ได้ร่วมกันใน ลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ในส่วนมาตรา 36 งบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์ และต่อมายังได้นำทั้งข้อความ ภาพ วิดีโอการอภิปรายดังกล่าวไปเผยแพร่สู่สาธารณชน ผ่านทางเฟซบุ๊กของพรรคก้าวไกล 

ซึ่งพบว่า มีหลายข้อความเข้าข่ายเป็นหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรค กก.ได้กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ( 2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

ประกอบกับเมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรธน.ที่ 3/2562 กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่วางหลักไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทรงความเป็นกลางทางการเมืองด้วย การดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง จึงเห็นว่าการกระทำของพรรคกก. และส.ส.พรรคก้าวไกล เข้าข่ายให้ กกต.พิจารณาเสนอศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค

นอกจากนี้ “นายศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นหนังสือให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบ หลังปรากฏเป็นการทั่วไปว่าชมรมแพทย์ชนบท ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระดมทีมบุคลากรทางการแพทย์จากต่างจังหวัด มาช่วยตรวจเชิงรุกหาเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา 

แต่มีการแชร์ข้อมูลกันในโลกออนไลน์ว่า มีพรรคการเมืองเข้าไปแทรกแซง และแอบอ้างการทำงานของชมรมแพทย์ชนบท ว่าเป็นความร่วมมือกับพรรค เช่น การลงพื้นที่ตรวจโควิดในชุมชนพหลโยธิน 24 กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา มีภาพบัตรคิวสีส้ม เขียนข้อความด้านบน “หมอชนบทร่วมมือกับพรรค กก. ดูแลชุมชนพหลโยธิน 24” แนบอยู่กับเอกสารประกอบการตรวจหาเชื้อนั้น เป็นเอกสารที่มีโลโก้ของชมรมแพทย์ชนบทอยู่ด้านบนด้วย

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่า เป็นการ แอบอ้างการทำงานของชมรมแพทย์ชนบท เพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะบุคลากรทางการแพทย์ที่ลงพื้นที่ทำงานของชมรมแพทย์ชนบทร่วมกับ สปสช. นั้น เป็นข้าราชการ จะถือเป็นการใช้เวลาราชการ ไปทำภารกิจช่วยเหลือพรรคการเมืองด้วยหรือไม่ การกระทำดังกล่าว จึงอาจเข้าข่ายความผิดตามรธน. 2560 หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ใน มาตรา 184 และ มาตรา 185 หรือไม่ ที่ห้ามนักการเมือง 

หรือพรรคการเมืองก้าวก่าย หรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการในหน้าที่ประจำของหน่วยงานภาครัฐ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 28 กำหนดห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการ อันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นํากิจกรรมของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ซึ่งหากเป็นความผิด มีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมืองนั้น ตาม มาตรา 92(3)

แม้ว่ากระบวนการตรวจสอบครั้งนี้ จะไม่เกี่ยวข้องกับการอภิปรายไม่วางใจ ศึกซักฟอกต้องเดินหน้าต่อไป แต่ก็อาจสะท้อนให้เห็น ผู้กุมอำนาจรัฐก็ไม่นิ่งเฉย ไม่ยอมตกเป็นเป้านิ่งให้ฝ่ายค้านไล่ถลุงอยู่ฝ่ายเดียว  พยายามหาจุดอ่อนของฝ่ายค้านตรงข้ามตอบโต้กลับเช่นเดียวกัน

ส่วนความพยายามใช้ “ม็อบร้อยชื่อ” แม่น้ำร้อยสายหาทางกดดัน “พล.อ.ประยุทธ์” ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ก็กำลังเจอวิบากรรมทั้งเรื่องคดีความ ด้วยเหตุใช้ความรุนแรง กระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง อีกทั้งการแสดงออกของ “แกนนำสามนิ้วบางคน” กระทบกับความรู้สึกของกลุ่มบุคคลที่ต้องการปกป้องสถาบัน

เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทีมสื่อสารฝ่ายบริหาร “นายกฯลุงตู่” เตรียมดึงข้าราชการที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ มาช่วยงาน เท่ากับยืนยันว่า งานนี้สู้ไม่มีถอย ทั้งใต้ดินบนดิน ตราบใดที่ยังมี “แบ็คชั้นดี” คอยหนุนหลังให้

…………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img