วันพุธ, เมษายน 24, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ก้าวไกล-ก้าวหน้า”เสี่ยงสู้ปมร้อน แก้“ม.112” ไม่มีทางไปถึงฝั่งฝัน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ก้าวไกล-ก้าวหน้า”เสี่ยงสู้ปมร้อน แก้“ม.112” ไม่มีทางไปถึงฝั่งฝัน

ม่รู้จะได้คุ้มเสียหรือไม่ แต่ท่าที “พรรคก้าวไกล” (กก.) และ “คณะก้าวหน้า” ก็เด็ดเดี่ยวมั่นคง กับความพยายามผลักดัน ทั้งต้องแก้ไขและยกเลิก กฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งๆ ที่เคยเผชิญวิบากกรรม ในช่วงการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระหว่างการเดินทางไปหาเสียงหลายจังหวัด ถูกต่อต้านด้วยบรรดาคนเสื้อเหลือง เกี่ยวกับท่าทีการแสดงออกในเรื่อง “สถาบัน”

แม้การจุดพลุในประเด็นสำคัญ จะเกิดขึ้นในช่วงหาเสียงการเลือก องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปลายเดือนพ.ย.64 จะไม่มีการปลุกกระแสต่อต้าน ตัวแทนคณะก้าวหน้า แต่ก็อย่าประมาทไป ในเมื่อจะ เลือกเล่นกับของร้อน ก็ต้องยอมเสี่ยงอาจเกิดอะไรขึ้นในอนาคตก็ได้ อย่าลืมว่าการต่อสู้กับบรรดาพลังคนปกป้องจารีตประเพณี ยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณ เป็นเรื่องยาก และไม่มีทางเอาชนะได้

สำหรับมาตรา 112 เป็นมาตราหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ที่ผ่านมีความพยายามของคนบางกลุ่ม ต้องการแก้กฎหมายตรานี้ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินได้ เพราะไม่มีพรรคการเมืองไหนให้การสนับสนุน

จนมาถึงยุคนี้ ซึ่งเครือข่าย “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)  ปัจจุบันรับบท “ประธานคณะก้าวหน้า” แสดงตัวและเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการยกเลิกกฎหมาย ที่ใช้คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ให้ถูกจาบจ้วงล่วงละเมิด       

ขณะที่ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคกก.  ระบุถึงสาระสำคัญในร่างแก้ไขกฎหมายอาญาตรา 112 ของพรรคที่นำเสนอ ตอนหนึ่งระบุว่า เป็นการย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือ แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 112 ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ

ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่คือ ลักษณะความผิดเกี่ยวกับ พระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และ เกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อให้มีความเหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ การยกเว้นความผิด การยกเว้นโทษ และผู้ร้องทุกข์ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลทั่วไปนำฐานความผิดนี้ ไปใช้ เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งผู้อื่น หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย      

ในส่วนที่มีการแก้ไขเพื่อเพิ่มให้มีบทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ ที่ระบุว่า “ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด”

และ “ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ ถ้าเป็นเรื่อง ความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ และการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน” ทางสำนักการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรโต้แย้งกลับมาว่าเป็นบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 6

อีกทั้งยังบอกว่า พรรคกก.เคยทำหนังสือชี้แจงสำนักการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และจะยื่นหนังสือต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ และ ประธานสภาอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่า ร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรค ไม่ได้มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรธน. มาตรา 6 แต่อย่างใด จึงขอให้ประธานสภาฯ นำร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … ของพรรคกก.ที่ยังตกค้างอยู่ เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมโดยเร็ว 

หันมาทางด้าน “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้ออกมาวิเคราะห์ประเด็นปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยยืนยันว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต้องถูกยกเลิกไป เนื่องจากเป็นมาตราที่มีปัญหาทั้งในเรื่องของตัวบท การบังคับใช้และอุดมการณ์เบื้องหลัง

ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับตัวบท การอยู่ในหมวดของความมั่นคงในราชอาณาจักร ทำให้แนวทางการวินิจฉัยคดี เป็นเรื่องของ การควบคุมอาชญากรรม มากกว่าการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน นำไปสู่ทิศทางที่มักไม่ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว หรือมีการเรียกหลักประกันชนิดที่สูงมาก

“เหตุการณ์เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่กลุ่มราษฎรลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เพื่อรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ได้รับการตอบรับทั้งในด้านสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งต้องยอมรับว่าการผลักดันเรื่องที่ทั้งยากและใหญ่ขนาดนี้ ต้องใช้พลังของทุกส่วนในการเข้ามาผลักดันร่วมกันทั้งในและนอกสภา จริงอยู่แม้กฎหมายให้ใช้เพียง 15,000 ชื่อก็สามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาได้แล้ว แต่นั่นย่อมไม่เพียงพอ สิ่งที่ผู้รณรงค์ต้องการคือหลักแสนหรือหลักล้านเท่านั้น ที่จะพอมีแรงกดดันให้สภาต้องยอมรับได้” นายปิยบุตรกล่าว

จากนั้นเมื่อวันที่ 5 พ.ย.64 เพจเฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า  ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ชวนลงชื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา เพื่อยกเลิกมาตรา 112 ทางออนไลน์ เพื่อบอกให้โลกรู้ว่าหมดเวลา 112 ถึงเวลาคืนอนาคตสังคมไทย ระบุว่า “ยิ่งมีประชาชนร่วมลงชื่อมากเท่าไร เรายิ่งมีโอกาสยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้มากเท่านั้น”

ทำให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อสภาฯ ครั้งนี้เป็นฉันทามติของสังคม การเข้าชื่อของประชาชนเป็นแสนเป็นล้านคนจะช่วยทำให้เสียงของมหาชนถูกทำให้เป็นทางการ ทำให้สามัญชนคนธรรมดามีพลังขึ้นมาเพราะได้มารวมตัวกัน และปรากฏกายให้เห็นในนามของประชาชน ที่ต้องการยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 เสียงของทุกคน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทย

แม้การเคลื่อนไหวของเครือข่าย “ธนาธร” จะดูเหมือนมี ความเข้มแข็ง และ เด็ดเดี่ยว แต่ถ้าคาดเดาความรู้สึกที่แท้จริงของ แกนนำพรรคกก. และผู้มีบทบาทสำคัญในคณะก้าวหน้า ก็คงมองออกว่า ความพยามผลักดันการแก้ไขกฎหมาย ป้องกันการล่วงละเมิดสถาบัน ไม่มีทางทำได้สำเร็จ เพราะไม่มีใครเห็นดีเห็นงามด้วย แม้กระทั่ง “พรรคเพื่อไทย” (พท.) ซึ่งอยู่ภายใต้การชี้นำของ “โทนี่ วู้ดซั่ม” หรือชื่อไทย “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสถานะเป็นผู้ต้องหลบหนีคดี ไม่เล่นด้วย อ้างกฎหมายไม่มีปัญหา แต่อยู่ที่การบังคับใช้

หรือเป็นเพราะอดีตนายกฯยังฝังใจกับชะตากรรม “พรรคไทยรักษาชาติ” (ทษช.) ซึ่งต้องถูกยุบไป ด้วยคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) อันเนื่องมาจากการดึง “บุคคลชั้นสูง” มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แม้อยากได้เสียงสนับสนุนจากแนวร่วมกลุ่มราษฎร ซึ่งใช้สัญลักษณ์ชูสามนิ้ว แต่ก็ไม่อยากเสี่ยงกับวิบากกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังเคยพาดพิง “พล.อ. เปรม ติณสูลานท์” อดีตประธานองมนตรี และ รัฐบุรุษ ว่า “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”

แต่ถึงแม้ไม่มีใครสนับสนุน ไม่ร่วมเสนอแก้ไขกฎหมายอาญาตรา 112 แต่ทั้งพรรคกก. และ กลุ่มก้าวหน้า ก็ต้องแสดงออก ทำนองพร้อมเดินหน้าในในการแก้ไข หรือทำได้ แม้กระทั่งการยกเลิก หากคนในสังคมส่วนใหญ่ตอบรับ เพื่อลบเสียงครหา และคำติฉินนินทา ปมหลอกเด็กและเยาวชนไปติดคุก แต่ผู้อยู่เบื้องหลังกลับสุขสบายดี ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

เนื่องจากพรรคกก.และคณะก้าวหน้า สนับสนุนข้อเรียกร้อง ม็อบราษฎร” ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และองคาพยพ ต้องลาออก 2.รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันที เพื่อรับร่างแก้ไขรธน. ฉบับประชาชน และ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รธน.ตามระบอบประชาธิปไตย

จนที่ในสุดการเคลื่อนไหวม็อบราษฎร ก็นำพามาสู่เภทภัย การทำกิจกรรมหลายครั้งหมิ่นเหม่และนำมาสู่การถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 แม้บรรดาส.ส. พรรคกก.จะออกหน้ารับเป็นนายประกันให้ในหลายกรณี แต่แกนนำที่เล่นบทฮาร์ดคอร์ ไม่ว่าจะเป็น อานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน”, นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์”, นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน”, น.ส.เบนจา อะปัญ

รวมทั้งหรือผู้ร่วมอุดมการณ์ ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหากระทำความผิดมาตรา 112 ก็ไม่ได้รับการประกันตัว หลังกระทำผิดตามเงื่อนไขการประกันตัว ออกไปก่อความวุ่นวาย และกระทำผิดซ้ำ โดยเฉพาะการสื่อสารที่กระทบไปถึงสถาบัน

cr : FB โตโต้ ปิยรัฐ

ส่วนท่าที่พรรคร่วมรัฐบาล ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศท่าทีชัดเจน รัฐบาลไม่สนับสนุนให้แก้ไขกฎหมายอาญาตรา 112 พร้อมทั้งสั่งการให้ตีตกวาระแรกทันที หากมีใครนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในสภาฯ

นอกจากนี้ในร่างรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ที่ 2 (25 ก.ค.2563–25 ก.ค.2564) ซึ่งนำเสนอให้ครม.รับทราบ ยังระบุถึงผลงานในปีที่ 2 คือ การปกป้อง และ เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 

แต่ในที่สุดบทสรุปของการแก้ไขกฎหมายป้องกันการล่วงละเมิดสถาบัน คงจบลงด้วยไม่มีการแก้ไข ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนชะตากรรมของ “ก้าวไกล-ก้าวหน้า” จะเป็นอย่างไรต่อไป ยากจะคาดเดา แต่ที่แน่ๆคือ หนทางที่จะ ครอบครองอำนาจรัฐ ยิ่งยากขึ้นทุกที แม้จะมีมวลชนชูสามนิ้วคอยเป็นพลังหนุนให้ก็ตาม

………………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…. “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img