วันพุธ, เมษายน 24, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ส.ว.สายสีกากี”ลุยต้าน“นายกฯลุงตู่” อาจทำให้“ปฏิรูปตำรวจ”ถึงขั้นแท้ง!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ส.ว.สายสีกากี”ลุยต้าน“นายกฯลุงตู่” อาจทำให้“ปฏิรูปตำรวจ”ถึงขั้นแท้ง!!

ถ้าตั้งคำถาม…หน่วยงานที่มีความสำคัญกับรัฐบาล ใครเข้ามาเป็นฝ่ายบริหาร ก็อยากเข้ามาชี้นำและแทรกแซง คงหนีไม่พ้น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” (ตร.) ซึ่งหน้าที่หลักๆ คือ กำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม และทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ควบคู่กับ หน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าข่าวคราวที่เกี่ยวข้องกับแวดวงสีกากี จะอยู่ในความสนใจของกระแสสังคม ยิ่งในยุคสมัย “ทักษิณ ชินวัตร” มีอำนาจทางการเมือง (ก่อนถูกถอดยศ) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะให้ความสำคัญกับหน่วยงานนี้เป็นพิเศษ จนมักมีเสียงวิจารณ์ว่า พยายามสร้าง “รัฐตำรวจ” ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หวังช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง หลายครั้งยังผลักดันคนใกล้ชิดให้เข้ามาทำหน้าที่ “แม่ทัพสีกากี” ตัวอย่างเห็นได้ชัดคือ “พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์” ซึ่งมีสถานะเป็น “น้องเขย” ให้เข้ามาอำนาจสูงสุดในตร.

แม้กระทั่งในช่วงหลบหนีคดีไปพำนักต่างแดน มีเคหสถานพำนักอยู่ที่ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ถ้าช่วงไหนเครือข่ายข่าย “ระบบทักษิณ” ยึดครองประเทศ การแต่งตั้งนายตำรวจระดับต่างๆ มักมีข่าวอยู่เป็นประจำทำนองว่า อดีตนายกฯซึ่งมีสถานะเป็นนักโทษหนีคดี จะมีบทบาทชี้นำ ในการแต่งตั้ง ใครอยากได้เลื่อนยศปรับย้าย ต้องเดินทางไปแสดงตัว ให้ “นายทักษิณ” ทำความรู้จักถึงต่างแดน เพื่อตอกย้ำให้รู้ว่า ตนเองมีอำนาจสูงสุด

จึงไม่ใช้เรื่องแปลกเมื่อ ระบอบทักษิณ” ต้องยุติลง เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 57 อันเนื่องมาจากการถูกรัฐประหาร โดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในขณะดำรงตำแหน่ง “ผบ.ทบ.” เข้ามาสวมบท “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ยึดอำนาจล้มล้างรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากนั้นได้ออกคำสั่งที่ 7/2557 ให้ “พล.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” ผบ.ตร. มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ และให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รอง ผบ.ตร. มารักษาราชการในตำแหน่ง ผบ.ตร. แทนในทันที

เนื่องจากเคยมีข่าว “อดีตหัวหน้าคสช.” รู้สึกเจ็บปวดกับการทำงานขององค์กรสีกากี ทั้งเรื่องการทำสำนวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 53 หรือการทำเป็นนิ่งเฉย หากต้องทำหน้าที่ดูการจัดม็อบคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นเครือข่ายของ นปช. ปล่อยให้ทหารต้องเข้ามาแบกรับภาระ ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ของ ตร. จึงไม่แปลกหลัง “ระบอบทักษิณ” หลุดพ้นจากอำนาจ จะมีกระแสเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปตำรวจ” ซึ่งหัวหน้ารัฐบาลก็รับลูก สนับสนุน “นายมีชัย ฤชุพันธ์” ซึ่งรับหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ผลักดันการปฏิรูปองค์กรสีกากี ไว้ในกฎหมายแม่บทในการปกครองประเทศ

นอกจากนี้ “นายมีชัย” ยังเข้ามารับหน้าที่เป็น ประธานกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติด้วยตนเอง สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญ กับการปรับปรุงการทำงานของ ตร. ซึ่งในช่วงพฤษภาคมปี พ.ค.61 มีข่าวว่า คณะกรรมการฯชุดนี้ได้ข้อสรุปว่า

ในประเด็นองค์ประกอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และหลักเกณฑ์พื้นฐานของการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจในทุกระดับ ให้ยกเลิกคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และโอนภารกิจทั้งหมดมาให้ “ก.ตร.” ปฏิบัติแทน

โดยกำหนดองค์ประกอบใหม่ของ “ก.ตร.” มี 15 คน ดังนี้ ให้มีกรรมการโดยตำแหน่ง 7 คน ประกอบด้วย  นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาล เป็นประธาน โดยจะกำหนดให้นายกฯต้องมาประชุมด้วยตนเอง ผบ.ตร.รองผบ.ตร.จำนวน 2 คนที่มาจาก “แท่งสืบสวนสอบสวน” และ “แท่งป้องกันปราบปราม” และ “จเรตำรวจแห่งชาติ” 1 คน, อัยการสูงสุด และ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

ขณะที่ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการเลือก โดย ข้าราชการตำรวจทั่วประเทศโดยตรง และเป็น การลับ 2 ประเภทรวม 8 คน จำแนกเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยเป็นข้าราชการตำรวจ 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เคยเป็นข้าราชการตำรวจ 3 คน โดยเลือกจากรายชื่อที่เสนอโดยนายกฯ ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา ฝ่ายละ 3 คน  

โดยอำนาจหน้าที่ของก.ตร.จะปรับเปลี่ยนไปโดยพื้นฐาน จากองค์กรที่ทำหน้าที่แต่งตั้งโยกย้ายเป็นหลัก มาเป็น องค์กรกำหนดนโยบาย และ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ และกำกับควบคุมการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ โดยจะยังคงอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้าย เฉพาะตำแหน่งผบ.ตร.เท่านั้น และอาจจะรวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสูงอีกบางตำแหน่ง

กฎเกณฑ์ในการแต่งตั้งโยกย้ายจะเขียนระบุไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายหลัก ไม่ใช่กฎหมายลำดับรอง และห้ามแก้ไขยกเว้น เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นสุดวิสัย ในเบื้องต้นนี้กำหนดให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อข้าราชการตำรวจที่จะได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายไว้ล่วงหน้า

โดยข้าราชการตำรวจแต่ละคน จะได้รับคะแนนเฉพาะตัวจากเกณฑ์ 3 องค์ประกอบ องค์ประกอบที่หนึ่งคือ อาวุโส องค์ประกอบที่สองคือ ผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัด มีหลักฐานและมีดัชนีชี้วัดชัดเจน องค์ประกอบที่สามคือ ความพึงพอใจของประชาชน โดยคะแนนที่แต่ละคนจะได้รับ ทิ้งน้ำหนักที่องค์ประกอบที่หนึ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ องค์ประกอบที่สอง 30 เปอร์เซ็นต์

และองค์ประกอบที่สาม 20 เปอร์เซ็นต์ เกณฑ์ทั้ง 3 ประการนี้ จะเขียนรายละเอียดไว้ในกฎหมายหลัก ทั้งความหมาย ตัวชี้วัด กรรมการผู้ให้คะแนน ระบบการให้คะแนน การปรับคะแนน รวมถึงกลไกที่สามารถให้ข้าราชการตำรวจทุกคนสามารถตรวจสอบ

และมีสิทธิโต้แย้งคะแนนที่ตนเองได้รับ บัญชีรายชื่อจะจัดทำแยกเป็น 4 แท่งตามโครงสร้างตร.ใหม่ หากมีการแต่งตั้งโยกย้ายผิดหลักเกณฑ์เกิดขึ้น และ ศาลปกครอง (ปค.) วินิจฉัยว่าเป็นการกระทำผิด ให้ถือว่าการแต่งตั้งโยกย้ายนั้นเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157  

อย่างไรก็ตามหลังจากมีการนำร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาฯ จากนั้นก็มีการตั้งกมธ. ที่มีตัวแทนทั้งจาก ส.ส. และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จนเกิดกลายเป็น “ประเด็นร้อน” ขึ้นมา และอาจนำมาสู่การล้มกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากมีความพยายาม กีดกันหัวหน้ารัฐบาล ไม่ให้เข้าไปในบทบาทในองค์กรสีกากี

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน มีการประชุมกมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ  …พ.ศ. ในซึ่งมี “พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์” ส.ว. ในฐานะ รองประธานกมธ.วิสามัญฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งเดิมมีวาระสำคัญคือ พิจารณารับรองรายงานของคณะอนุกมธ.ศึกษารูปแบบ แต่งตั้งก.ตร.ที่มีพล.ต.อ.ชัชวาลย์ เป็นประธาน แต่จำเป็นต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากที่ประชุมมีการถกเถียงกันอย่างมาก           

“พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน” ส.ว. ในฐานะกมธ.วิสามัญฯ ซึ่งร่วมเป็นอนุกมธ.ฯด้วย เสนอให้ดึงกลับไปพิจารณาเพิ่มเติม อ้างว่า จำเป็นต้องกลับไป “แก้ไขอีกหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง” โดยเฉพาะประเด็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ที่บัญญัติไว้ในร่างเดิมที่ผ่านหลักการวาระ 1 จากรัฐสภาให้นายกฯร่วมเป็นก.ตร. หากมีการแก้ไขให้นายกฯไปอยู่ในส่วนของก.ต.ช. ชุดเดียวเท่านั้น ก็ต้องมีการแก้ไขมาตราอื่นให้สอดรับกันด้วย และมีหลายมาตราที่ต้องใช้เวลาพิจารณา     

เช่นเดียวกับ “พล.ต.อ.ชัชวาลย์” ก็เห็นให้ควรเลื่อนออกไปเช่นกัน เพราะมีหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง แต่ก็มีกมธ.หลายคนแสดงความเห็นคัดค้าน และเสนอให้พิจารณาวันนี้เลย ทำให้เกิดข้อถกเถียงในที่ประชุมจนพล.ต.อ.ชัชวาลย์ ต้องสั่งพักการประชุม หลังจากเปิดการประชุมอีกครั้งที่ประชุมได้พิจารณาถึงเหตุผลแล้ว ได้เห็นควรให้เลื่อนการพิจารณา รับรายงานของอนุกมธ.ฯออกไปโดยไม่มีกำหนด 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในกมธ.วิสามัญฯ ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า แม้พล.ต.อ.ชัชวาลย์และพล.ต.ท.อำนวย ออกมายืนยันว่าไม่มีความพยายามตั้ง “รัฐอิสระตำรวจ” ก็ตาม แต่การที่แก้ไขให้นายกฯอยู่ในก.ต.ช. เท่านั้น โดยไม่ได้ร่วมเป็นก.ตร.ตามร่างกฎหมายเดิม ก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า มีเจตนาอย่างไรเพราะปัญหาใหญ่ที่สุดในวงการตำรวจที่ผ่านมา ล้วนมาจาก การแต่งตั้งโยกย้าย จนนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูป แม้จะให้อำนาจนายกฯแต่งตั้งผบ.ตร. ก็ตาม แต่ยังมีหมกเม็ด

โดยการตั้งอนุกมธ.ฯพิจารณาหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจขึ้นมาอีก 1 ชุด โดยมีพล.ต.อ.ชัชวาลย์ นั่งเป็นประธานเช่นกัน โดยชุดนี้จะถือเป็น หัวใจสำคัญสุด เพราะมีกระแสว่ามีความพยายามปรับหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อกันอำนาจนายกฯออกไปได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ที่ผ่านมา กมธ.ฝ่ายตำรวจพยายามวาดภาพให้สังคมเชื่อว่า ต้องกันฝ่ายการเมือง ออกไปไม่ให้แทรกแซง แต่ในความเป็นจริง เป็นไปไม่ได้ที่ฝ่ายบริหารจะไม่สามารถเข้ามา และทราบมาว่า มีความพยายามดังกล่าวถึงขั้นจะให้นายกฯมีหน้าที่ เพียงนำรายชื่อ คนที่จะนั่ง “ผบ.ตร.” จากที่ก.ตร. เสนอมานำขึ้นทูลเกล้าฯเท่านั้น

เรื่องนี้ยังคงต้องว่ากันอีกยาว เพราะการพิจารณากฎหมาย ไม่มีกำหนดเรื่องเวลา ทั้งหมดเป็นความพยายามที่จะรักษาอำนาจของนายตำรวจบางกลุ่มเท่านั้น”

เมื่อเกิดประเด็นนี้ขึ้นมา หลายคนเชื่อว่า การทำคลอด “ร่างพ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ” ไม่มีทางจบได้ง่ายๆ เพราะฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล คงไม่ยอมสูญเสียอำนาจ การแต่งตั้งบุคลากรในองค์กรสีกากี เพราะในที่สุดหากมีปัญหาเกิดขึ้น หัวหน้ารัฐบาลก็ยัง ต้องรับผิดชอบอยู่ดี ดังนั้นเมื่อ “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รอง” เรื่องอะไรจะยอมเป็นแพะรับบาป 

อย่าลืมว่า “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นคนลงนามแต่งตั้งส.ว.ชุดนี้ แล้วจะมีสมาชิกสภาสูงคนไหน กล้าเล่นบทริดรอนอำนาจหัวหน้ารัฐบาล หรือถึงเวลา “บรรดาบิ๊กสีกากี” ทั้งเกษียณอายุราชการแล้ว และมีตำแหน่งในองค์กรสีกากี หวังกันอำนาจฝ่ายอื่นๆ เพื่อสร้าง “รัฐตำรวจ” ให้กลับมาเกิดครั้งใหม่!!!

……………………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย ..  “แมวสีขาว”

                                                                                        

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img