วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSไขปมร้อน“ลดโทษ”คดีทุจริต “อดีตตุลาการศาลรธน.”ชี้เป้า“รมว.ยุติธรรม”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ไขปมร้อน“ลดโทษ”คดีทุจริต “อดีตตุลาการศาลรธน.”ชี้เป้า“รมว.ยุติธรรม”

กลายเป็นเรื่องร้อน ที่กระแทกใส่ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม ไปเต็มๆ หลังองค์กรสำคัญ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ออกมาตั้งคำถาม ผลักดันแถลงการณ์คัดค้านกระบวนการลดโทษ ผู้ที่ถูกจำจองจำในคดีทุจริตรับจำนำข้าว ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “กรมราชทัณฑ์” ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงยุติธรรม

ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564 ได้พระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) พระราชทานอภัยโทษฯ นอกจากจะมีผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ และได้รับพระราชทานลดวันต้องโทษ ตามพรฎ.แล้ว 1.3 แสนราย

ในกลุ่มดังกล่าวมี นักการเมือง, อดีตข้าราชการระดับสูง ที่ถูกศาลพิพากษาในคดีสำคัญ 5 ราย ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ตามพรฎ.ราชกฤษฎีกาอภัยโทษ 2564 รอบ 2 เช่น กลุ่มนักโทษในคดีทุจริตจำนำข้าว และ คดีที่เกี่ยวข้องกับแสวงหาผลประโยชน์ ในระหว่างดำรงตำแหน่งสำคัญในฝ่ายบริหาร

อาทิ 1.ภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ ที่ได้เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ศาลฎีกาแผนคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาปี 2560 กำหนดโทษ 36 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 2564 ในรอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 12 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 64 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 8 ปี จะพ้นโทษ 25 สิงหาคม 2568

2.บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ที่ได้เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ศาลฎีกาฯพิพากษาปี 2560 กำหนดโทษ 48 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 2564 ในรอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 16 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 2564 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 10 ปี จะพ้นโทษ 21 เมษายน 2571

3.มนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ที่ได้เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ศาลฎีกาฯพิพากษาปี 2560 กำหนดโทษ 40 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 2564 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 8 ปี จะพ้นโทษ 11 ก.ค.2569 ซึ่งบุคคลทั้ง รายจำคุกมาแล้ว 4 ปี 3 เดือน 14 วัน

4.อภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ “เสี่ยเปี๋ยง” อายุ 64 ปี นักโทษชั้นเยี่ยม ศาลฎีกาฯพิพากษาปี 2561 กำหนดโทษ 48 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 2564 ในรอบแรก เหลือโทษจำคุก 9 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 2564 ในรอบสอง เหลือโทษจำคุก 6 ปี 3 เดือน 26 วัน พ้นโทษ 26 ธันวาคม  2566

5 .จุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท. ) อายุ 75 ปี นักโทษชั้นเยี่ยม ศาลฎีกาพิพากษาปี 2560 กำหนดโทษ 50 ปี ได้รับอภัยโทษปี 2564 ในรอบแรก เหลือโทษจำคุก 17 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 2564 ในรอบสอง เหลือโทษจำคุก 9 ปี 5 เดือน 24 วัน พ้นโทษ 16 ก.ย. 2569

หลังเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกมา ปรากฏเป็นข่าวสู่สาธารณชน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) ออกแถลงการณ์ทันที คัดค้านการลดหย่อนผ่อนโทษให้กับผู้ต้องขังคดีคอร์รัปชัน ระบุตอนหนึ่งว่า รัฐบาลได้ประกาศพรฎ.พระราชทานอภัยโทษฯ แก่ผู้ต้องขัง ส่งผลให้ผู้ต้องขังในคดีคอร์รัปชันหลายรายที่ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้เศรษฐกิจของประเทศ กลับได้รับการลดหย่อนโทษอย่างรวดเร็ว

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ทราบว่าด้วยเหตุใดและโดยใคร ทำให้หลักเกณฑ์ที่เคยเป็นหลักความเชื่อมั่นของระบบยุติธรรมเปลี่ยนแปลงไป จนเอื้อประโยชน์ในการลดหย่อนผ่อนโทษให้กับนักโทษ โดยเฉพาะคดีคอร์รัปชันอย่างไม่น่าได้ลดหย่อนรวดเร็ว…..จึงเป็นเรื่องสวนทางกับความรู้สึกของประชาชน บ่อนทำลายความพยายามของ ป.ป.ช., อัยการ และศาล ในการเอาคนผิดมาลงโทษ ซึ่งเท่ากับส่งเสริมให้คนโกงไม่เกรงกลัว

นอกจากนี้ในระหว่างการประชุมวุฒิสภา “วันชัย สอนศิริ” ได้ตั้งกระทู้ถาม “รมว.ยุติธรรม” ว่า “กว่าที่จะเอาคนพวกนี้มาเข้าคุกได้ เจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนักมาก แต่กรมราชทัณฑ์กลับไปลดกระหน่ำซัมเมอร์เซล และมีคนพูดว่าคนพวกนี้เป็น พวกเดียวกับท่านรัฐมนตรี เคยเป็นนักการเมืองเป็นรัฐมนตรีด้วยกัน ขอถามแบบตรงไปตรงมาว่า กระบวนการเลื่อนชั้นนักโทษเหล่านี้ ท่านรู้เรื่องบ้างหรือไม่ มีส่วนรู้เห็นมากน้อยเพียงใด มีการตรวจสอบหรือไม่ หลักเกณฑ์ในการเลื่อนระดับนักโทษ มีการวิ่งเต้นใช้เงินหรือไม่” 

สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม

ขณะที่ “นายสมศักดิ์” ตอบกระทู้ดังกล่าวว่า มั่นใจในการทำหน้าที่ สิ่งที่ได้ดำเนินการไปนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามแนวทางและครรลองต่างๆ ซึ่งมีการปฏิบัติมาตั้งแต่ พ.ศ.2459 จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 105 ปี มีพรฎ.อภัยโทษผู้ต้องขัง 52 ฉบับ และแนวทางดังกล่าวนั้น ก็แบ่งออกเป็นขั้นเป็นชั้นเป็นตอน เพื่อแยกแยะประเภทของโทษ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างชัดเจนในรูปแบบของเอกสาร และมีการปรับปรุงมาเป็นลำดับ

พร้อมทั้งยังท้าทายส.ว. ยินดีเรื่องของการตรวจสอบ เพราะ มั่นใจในความบริสุทธิ์ของตน และกระบวนการต่างๆไม่มีและจะไม่เอาข้าราชการที่ทำความผิดแบบนั้น หากท่านหรือใครจะตั้งคณะไปตรวจสอบเมื่อใด พร้อมต้อนรับ

ส่วน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ออกมาตอบคำถามสื่อถึงกรณีองค์กรต่อต้านการคอรัปชั่นออกแถลงการณ์คัดค้าน ให้มีการทบทวรการลดโทษให้ผู้ต้องขังคดีคอรัปชันว่า ได้นำเรื่องนี้มาทบทวนศึกษาว่ามีรายละเอียดอะไรที่ไม่เหมาะสมตรงไหน

“บางทีเรื่องเก่ากำหนดไว้ ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า ความผิดเสียหายมากน้อยะไรอย่างไร ไม่มีในตรงนี้ ซึ่งเรื่องการทุจริตก็เข้าเกณฑ์ในการพิจารณา แต่ต้องดูว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้มีความเหมาะสมหรือไม่ ที่ต้องแก้ไขตรงนี้หากไม่เหมาะ ก็ต้องปรับแก้ใหม่ ซึ่งปีที่ผ่านมามีการนิรโทษกรรมปีละ 2 ครั้งมาแล้ว 2 ปี จึงต้องดูว่าจะทำอย่างไรในบางกรณีมีความแตกต่างมีผลเสีย มีความเสียหาย ต้องไปแก้ไขกฎระเบียบตรงนั้น”

และในที่สุดจากปมร้อนที่เกิดขึ้น “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายสำคัญของรัฐบาล  ออกมาให้ความกระจ่าง ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า จากกรณีที่มีข่าวการคัดค้านการลดโทษหรือขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องขังคดีทุจริตคอร์รัปชันนั้น

พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการในที่ประชุมครม.ว่า ให้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมา 1 คณะ ทำหน้าที่ตรวจสอบในกระบวนการและการจัดชั้นนักโทษ รวมถึงให้ทำหน้าที่เสนอแนะว่าควรจะกำหนดหลักเกณฑ์อะไร อย่างไร ในการขอพระราชทานอภัยโทษในคราวต่อๆไป โดยคณะกรรมการชุดนี้มีเวลาการทำงาน ประมาณ 1 เดือน

ทั้งนี้นายกฯให้ข้อสังเกตด้วยว่า การขอพระราชทานอภัยโทษนั้น รัฐบาลคงจะไม่ขอพระราชทานบ่อยครั้ง เพราะถ้าบ่อยครั้ง ก็จะเป็นการลดโทษลงไปเรื่อยๆ  ซึ่งการลดโทษแต่ละครั้งคือ 1 ใน 3 ถ้าลดไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เหลือโทษไม่เท่าไหร่  ส่วนความผิดฐานใดที่จะอยู่ในเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษนั้น คณะกรรมการชุดนี้ จะไปทบทวนกันอีกครั้ง         

แต่ความเห็นที่อาจทำให้ “นายสมศักดิ์” ต้องนั่งไม่ติด และกลายเป็น “วิบากกรรม” ตามมา คงหนีไม่พ้น ท่าที “จรัญ ภักดีธนากุล” ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ซึ่งเป็นอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อบางสำนัก กรณีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เสนอลดโทษ “นักโทษในคดีทุจริตคอร์รัปชั่น” ว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เพราะกว่าจะตัดสินคนที่ทำผิดต้องตรวจสอบ ไต่สวน สืบสวนนานหลายปี เพื่อไม่ให้กล่าวหาใส่ร้ายคนที่สุจริตเนินการต่อไป

และยังกล่าวอีกว่า พรฎ.อภัยโทษ ไม่ต้องโทษหน่วยงาน เพราะรัฐมนตรีเป็นคนยกร่าง เสนอให้ครม. และให้ความเห็นชอบ แต่ยอมรับว่า ครม. ต้องพิจารณาเป็นร้อยเรื่อง พิจารณาแบบไฟลนก้น เมื่อพิจารณาเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษเห็นว่าเป็นเรื่องดี เพราะปล่อยคนจน คนยาก เป็นทานบารมี

แต่กรณีที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ คือ นำพระราชอำนาจมาใช้ ควรตรวจสอบรายละเอียดไม่ใช่ ขอเป็นการทั่วไป และต้องกลั่นกรอง และตรวจสอบในเหตุผลที่สมควร

“คดีทุจริตโกงบ้านกินเมืองที่ทำลายประเทศมากกว่าคดียาเสพติด และทำให้ประชาชนทุกยากแสนเข็ญมากกว่า ดังนั้นคดีทุจริต คอร์รัปชันต้องเคร่งครัดมากกว่าคดียาเสพติดที่มีเงื่อนไข อย่างคดียาเสพติดยังมีการขอรอบเว้นรอบ แต่คดีทุจริตนี้ ทุกรอบ คนที่โกงและจับได้ชัดๆ มีโทษจำคุก 50 ปี แต่ลดเหลือ 6 ปี 10 ปี แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องแก้ไข ไม่ปล่อยให้เป็นแบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะมีแต่คนแย่งเป็นรมว.ยุติธรรมกันหมด ผมมองว่าเรื่องดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ต้องดูแล เพราะคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการรัฐประหารต้องดูแลประเทศ” นายจรัญ กล่าว

น่าสังเกตว่า  “สมศักดิ์” ได้ถูกนักข่าวตั้งคำถามว่า มีกระแสข่าวว่าการเสนอการลดโทษครั้งนี้มี การพูดคุยกับคนแดนไกล และ พรรคเพื่อไทย (พท.) โดยรมว.ยุติธรรมตอบว่า “ผมเป็นคนตรงไปตรงมา เรื่องแบบนี้ต้องทำอะไรที่ตรงไปตรงมา”

แม้เรื่องการลดหย่อนผ่อนโทษ จะเป็นเรื่องกฎระเบียบ ไม่ใช้เรื่องการออกกฎหมายล้างผิด หรือการนิรโทษกรรม แต่ในมุมมองของใครหลายคน อาจมองว่า การช่วยเหลือคนที่มีคดีความทุจริตติดตัวอยู่ ให้ได้รับอิสรภาพ โดยอาศัยกลไกรัฐอาศัยรัฐ ถือเป็นเรื่องเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำ

ยิ่งอดีตตุลาการรัฐธรรมนญ ช่วยชี้เป้าให้สังคมเห็น ต้องรอดู “รมว.ยุติธรรม” จะหาทางออกอย่างไร เพื่อไม่ให้ตกเป็นจำเลยของสังคมได้อย่างไร

…………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย.. “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img